สลดนักสูบหน้าใหม่ไทยเริ่ม6ขวบ จี้รัฐเร่งออกกฎหมายคุมเข้ม'บุหรี่' ชี้ทั้งปท.มีนักกฎหมายดูแลแค่2คน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 13 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1998 ครั้ง

 

ปัญหาพิษภัยจากการสูบบุหรี่ ยังคงเป็นปัญหาหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ในความพยายามที่จะจำกัดการขยายจำนวนของนักสูบหน้าใหม่ แม้ในความเป็นจริง จะยังไม่สามารถควบคุมได้อย่างจริงจังนัก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจการซื้อขายบุหรี่ ยังคงเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคออนไลน์ ที่ผู้สูบสามารถหาซื้อได้ง่าย ภายใต้ข้อจำกัดน้อยนิด ทำให้ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง การป้องกันการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบหรือ บริษัทบุหรี่

 

เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พยายามใช้วิธีการต่าง ๆ นานา ที่จะขัดขวางนโยบาย หรือ มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ นโยบายสาธารณสุข ที่ต้องการลดจำนวนผู้ป่วย ที่เกิดจากยาสูบด้อยประสิทธิภาพลง จนเกิดเป็น “กรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลก ว่าด้วยการควบคุมยาสูบ” (WHO FrameworkConvention on Tobacco Control) หรือ FCTC เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรก ขององค์การอนามัยโลก ที่มีความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่าง ๆ เป็นรัฐภาคีกรอบอนุสัญญา FCTC จำนวน 174 รวมถึงประเทศประเทศไทย ที่ได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา FCTC เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 รัฐภาคีจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม FCTC มาตรา 5.3 (หรือมาตรา 5 วรรค 3) และแนวปฏิบัติ ในเรื่องการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของอุตสาหกรรมยาสูบ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จี้รัฐคุมเข้มออกระเบียบยาสูบ หลังครม.มีมติแต่ไม่มีใครทำตาม

 

 

น.พ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-51) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก ดำเนินมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลกมาตรา 5.3 การกำหนดและบังคับใช้นโยบายสาธารณะว่าด้วยการควบคุมยาสูบ เพื่อให้ประเทศภาคีอนุสัญญาปกป้องการแทรกแซงจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง ในอุตสาหกรรมยาสูบนี้แล้วหลายประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคม 2553 มีมติเห็นชอบ “มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบ” เป็นมติสมัชชาระดับชาติ กระทั่งมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อลงความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำตามแนวทางของกรอบอนุสัญญา

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่า “มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบ” จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า ไทยยังไม่มีกฎระเบียบทางราชการออกมาบังคับใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเพียงระเบียบที่ใช้ภายในหน่วยงานที่รับผิดชอบการควบคุมยาสูบเท่านั้น ทำให้เกิดความอ่อนแอต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งที่ในอดีตไทยได้รับการยกย่องจากประเทศต่าง ๆ ว่า เป็นผู้นำด้านการควบคุมยาสูบประเทศหนึ่ง จนมีคำกล่าวว่า Thailand is again a world leader in tobacco control ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความสำคัญและเร่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามมติ ครม.

 

 

 

บริษัทยาสูบข้ามชาติใช้ซีเอสอาร์ทำการตลาด

 

 

ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต นักวิชาการจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งได้ทำงานวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบมาตรการควบคุมยาสูบ ระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ พบว่า มาตรการของไทยในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และไม่เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 5.3 โดยเฉพาะการออกกฎหมาย เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากอุตสาหกรรมยาสูบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และการป้องกันการโฆษณา การทำการตลาดทางตรงและทางอ้อม เพราะพบว่าบริษัทยาสูบจากต่างประเทศชื่อดัง ยังคงใช้วิธีการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และทำการตลาดผ่านวิธีการทำซีเอสอาร์ (CSR- Corporate Social Responsibility) หรือ กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การบริจาคสิ่งของเพื่อสาธารณกุศล ตามโรงเรียน หรือองค์กรการกุศลต่างแต่ โดยหน่วยงานการกุศลเหล่านั้นก็มักจะรับความช่วยเหลือ โดยไม่ทราบว่าบริษัทใช้เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดโดยไม่รู้ตัว

 

ขณะเดียวกับองค์กรของรัฐก็ไม่ได้มีระเบียบการควบคุม ป้องกันอย่างเด่นชัด โดยจะเห็นได้ว่า หน่วยงานของรัฐบาลหน่วยงานก็ยังรับความช่วยเหลืออยู่ แต่อย่างไรก็ตามล่าสุด นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้เพิ่มนโยบายให้กับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ให้รับความช่วยเหลือ จากบริษัทยาสูบเหล่านี้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่สำหรับอีกหลายหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้

 

 

กฎหมายป้องกันยาสูบไทยอ่อนด้อยจนน่าห่วง

 

 

นายไพศาลกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการทางกฎหมายด้านการป้องกันยาสูบในประเทศไทย ยังพบว่ามีอยู่น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เช่น ประเทศแคนาดา ออกกฎหมายให้อุตสาหกรรมยาสูบ ต้องรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน เช่น ปริมาณการผลิต ยอดจำหน่ายยาสูบจำแนกตามประเภทและยี่ห้อ ประเทศฟิลิปปินส์ ร่วมกับ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ออกระเบียบปฏิบัติ ป้องกันการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และประเทศเคนยา มีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติป้องกันคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ที่มีส่วนได้เสียกับอุตสาหกรรมยาสูบ ต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ประกอบการ, ห้ามการจัดกิจกรรมโฆษณา ส่งเสริมการขาย ไม่ให้เกี่ยวข้องกับโครงการด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การสันทนาการ การศึกษา เป็นต้น

 

 

                “ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง ในการปฏิบัติตามพันธกรณีตาม FCTC มาตรา 5.3 บางเรื่องคือ มีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ. 2553 – 2557” และออก“ระเบียบกรมควบคุมโรค ว่าด้วยการติดต่อกับผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ยาสูบ พ.ศ. 2553”  แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการจัดทำแนวปฏิบัติหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สามารถใช้บังคับกับ “คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ” (คบยช.) ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับในหน่วยงานต่าง ๆ เหมือนในกรณีศึกษาต่างประเทศ” นายไพศาลกล่าว

 

 

 

ไทยขาดนักกฎหมายดูแลเฉพาะด้าน ทั้งประเทศมีเก่งแค่ 2 คน

 

 

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับการดูแลเรื่องกฎหมายด้านยาสูบในประเทศไทย คือขาดบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในด้านนี้ เพราะพบว่ามีอยู่จำนวนน้อยถึงน้อยมาก เนื่องจากในสถาบันการศึกษาของไทย พบว่าในคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยจะพบว่า ไม่มีการศึกษาว่าด้วยเรื่องกฎหมายยาสูบโดยตรง ซึ่งแตกต่างกับต่างประเทศ ที่จะมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะในต่างประเทศมีกรณีการต่อสู้ระหว่างบริษัทยาสูบกับประชาชนอยู่มาก แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก ทำให้วิชาเกี่ยวกับกฎหมายนี้จะถูกนำไปรวมอยู่ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยเรื่องสุขภาพ ซึ่งไม่เด่นชัดนัก ทำให้ปัจจุบันไทยไม่มีบุคลากรด้านนี้เลย ถึงแม้จะมีนักกฎหมายไทยที่มีความรู้ด้านนี้บ้าง ก็มักจะถูกบริษัทฯ จ่ายค่าจ้างในราคาที่แพง เพื่อให้เข้าไปดูแลงานด้านกฎหมายให้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผ่านมา เรามักจะไม่พบว่ามีการฟ้องร้อง หรือต่อสู้ในรายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยยาสูบในประเทศไทย

 

 

               “ก่อนหน้านี้เราคงจำได้ว่าประเทศไทยเคยถูกประเทศฟิลิปินส์ฟ้องร้องในศาลโลก กรณีการขึ้นภาษียาสูบ และในที่สุดเราก็แพ้ เพราะไม่การต่อสู้ในข้อกฎหมาย หยิบยกในประเด็นข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ  ขึ้นมา ขณะที่เราเองไม่มีความรู้ด้านนี้มากนัก ปัจจุบันผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายยาสูบของประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ปรึกษากลุ่มคนทำงานนี้ในขณะนี้คือ น.พ.หทัย ชิตานนท์ และ น.พ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง” นายไพศาลกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

งานวิจัยระบุอัตราการสูบบุหรี่คนไทยไม่ลดแม้รณรงค์มาหลายปี

 

 

สำหรับสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยปัจจุบัน มีข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยรายจังหวัด พ.ศ.2554 ของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโดย ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์, กุมภการ สมมิตร และ ประภาพรรณ เอี่ยมอนันต์ ระบุว่า ในปี 2554 คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ในภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ที่ ร้อยละ 21.36 ไม่แตกต่างจากปี

พ.ศ.2550 มากนัก ที่อยู่ที่ร้อยละ 21.22 ในขณะที่ปี 2552 มีการสำรวจอื่น แสดงให้เห็นว่า เป็นปีที่มีการสูบบุหรี่ลดลงต่ำที่สุด ก่อนที่จะมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อีกครั้ง

 

 

ใน ปี 2554 ประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน  ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นเพศชาย โดยพบว่าในพื้นที่ภาคใต้ มีจำนวนคนสูบบุหรี่สูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, ภาคกลาง (ไม่รวม กรุงเทพมหานคร), และ กรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงสุด 10 อันดับแรก ในปี พ.ศ. 2554 คือ แม่ฮ่องสอน สตูล ปัตตานี ระนอง นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ขอนแก่น กาญจนบุรี หนองบัวลำภู และเลย ตามลำดับ

 

 

 

สลดเด็กไทยเริ่มต้นสูบบุหรี่อายุแค่ 6 ขวบ

 

 

ขณะที่จังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำสุดในปี พ.ศ. 2554 คือ นนทบุรี ในขณะที่กรุงเทพมหานครเคยมีตัวเลขอัตราการสูงบุหรี่ต่ำสุดในปี พ.ศ.2550 สำหรับความนิยมในการสูบบุหรี่ของคนไทย ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประชากรนิยมสูบบุหรี่ซองเป็นอันดับแรก ร้อยละ 53.13, นิยมสูบบุหรี่มวนเองเป็นอันดับแรกร้อยละ 46.50, ที่เหลือ นิยมสูบยาสูบอื่น ๆ  และ ผู้สูบบุหรี่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการสูบบุหรี่ 11.9 บาทต่อคนต่อวัน

 

นอกจากนี้ข้อมูลรายงานที่น่าตกใจพบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเริ่มต้นสูบบุหรี่ในอายุเพียง 8 ปี ในขณะที่ในพื้นที่ภาคอื่น พบว่ามีการเริ่มสูบบุหรี่ในช่วงอายุเริ่มต้นที่ 6 ปีเท่านั้น ในขณะที่อายุโดยเฉลี่ยประชากรไทยจะเริ่มสูบบุหรี่กันที่อายุ 18.08 ปี

 

 

โพลล์ระบุไม่พอใจมาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบของรัฐ

 

 

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจความพึงพอใจเรื่อง มาตรการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบของรัฐบาล โดยสำรวจจาก 38 องค์กรสุขภาพ หลังครบรอบ 6เดือน ที่ครม.มีมติเห็นชอบ มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพต้านยาสูบพบว่า คะแนนรวมความพึงพอใจในการดำเนินนโยบายยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เฉลี่ย 3.3 จากเต็ม 10 คะแนน โดยกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายควบคุมยาสูบโดยตรง ได้คะแนนความพอใจมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ดร.ศิริวรรณกล่าวว่า มาตรการที่ได้ดำเนินการสำเร็จแล้วคือ การขึ้นภาษีตามปริมาณ ช่วยทำให้เยาวชนเข้าถึงบุหรี่น้อยลง, การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ และประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ด้านการควบคุมยาสูบในสถานศึกษา ส่วนนโยบายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จคือ กฎหมายควบคุมในการห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ, การห้ามโฆษณายาสูบทางอินเตอร์เน็ต, การเพิ่มสิทธิหลักประกันการรักษาโรคติดบุหรี่, การบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย และการปราบปรามการลักลอบบุหรี่เถื่อน เป็นต้น

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: