นครปฐมไม่ไว้ใจ‘ฟลัดเวย์’ เตรียมชงพิมพ์เขียวให้กบอ.

13 เม.ย. 2555


 

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เครือข่ายความร่วมมือ จ.นครปฐม จัดเวทีสาธารณะ “คนนครปฐมคิดอย่างไร กับฟลัดเวย์” โดยมี นายประเชิญ คนเทศ ที่ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร ศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นแกนหลักในการจัดงาน และมีเครือข่ายองค์กร ตัวแทนประชาชนและนักศึกษาประมาณ 500 คน ร่วมงาน ที่อุทยานการอาชีพ มูลนิธิชัยพัฒนา อ.เมือง จ.นครปฐม

นายประเชิญกล่าวถึงจุดประสงค์ในการรวมตัวว่า เนื่องจากชาวนครปฐม ต้องตั้งรับน้ำจากทางเหนือมาโดยตลอด เมื่อพิจารณาจากแผนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ระบุว่า จะเสริมคันสูงใต้คลองพระยาบันลือ คลองพระพิมลราชา และหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ตั้งแต่ประตูน้ำทวีวัฒนาเลียบมาถึงแม่น้ำท่าจีน ทำให้คนนครปฐมรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย และไม่ไว้วางใจ เนื่องจากแนวคันดินมีโอกาสที่จะรับน้ำสูง

นายประเชิญกล่าวว่า เพื่อความสอดคล้องกัน กบอ.จะใช้แนวทางคู่ขนานแม่น้ำท่าจีนตะวันออก ที่มีแผนชัดเจนตั้งแต่ใต้คลองพระยาบันลือ เสริมคันกั้นสูง 150 เมตร จากเดิม 2 เมตร ที่แม้จะรับน้ำได้มากขึ้น แต่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ก็จะเสริมคันดินขึ้นอีก เท่ากับว่าจะเกิด "แม่น้ำประดิษฐ์" โดยมีแม่น้ำท่าจีนอยู่ตรงกลาง กินบริเวณยาว 70 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก การดำเนินการดังกล่าวนี้ ชาวนครปฐมมีความกังวลว่ารัฐบาลจะจัดการกับการส่งและควบคุมน้ำจำนวนมหาศาลได้อย่างไร

 

“เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก หากเกิดปัจจัยเสริม เช่น ลมพายุ ที่จะเสริมให้ปริมาณน้ำมีมากขึ้น ในขณะที่ระยะเวลาในการสร้างคันกั้นน้ำมีสั้น จะทำได้ทันหรือไม่ เพราะหากรัฐบาลทำไม่ทัน น้ำมีโอกาสเซาะหรือไหลบ่าข้ามกำแพงที่ยกคันกั้นไว้ให้เอ่อเข้าทุ่งพระพิมลราชา ที่กินอาณาเขตไปถึงบางใหญ่ บางบัวทองและบางกรวย การที่ข้อมูลยังไม่มีความชัดเจนเช่นนี้ เป็นที่มาให้ชาวนครปฐมเกิดความกังวลและรวมตัวกันตั้งเครือข่ายความร่วมมือขึ้น เพื่อหาคำตอบและข้อเสนอในประเด็นที่ว่า คิดอย่างไรกับฟลัดเวย์ ซึ่งเบื้องต้นสรุปได้ว่า คนนครปฐมไม่วางใจในฟลัดเวย์”

 

นายประเชิญกล่าวถึงการขับเคลื่อนของเครือข่ายความร่วมมือในจ.นครปฐม ภายหลังเวทีนี้ ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มจิตอาสาหลายภาคส่วน เช่น ภาควิชาการ ธุรกิจ อุตสาหกรรม เอกชน ประชาสังคม จะนำข้อคิด ข้อเสนอแนะ และข้อแนะนำมาประมวลผล เพื่อคืนสู่เครือข่ายในการเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ต่อไปว่า หากน้ำมาจะจัดการอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องชีวิต ความปลอดภัยและทรัพย์สินทั้งก่อนและระหว่างน้ำมา รวมทั้งศึกษาเครือข่ายคลองอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คลองแนวตรงแบ่งเบาภาระน้ำลงทะเลได้มากขึ้น

นายประเชิญกล่าวด้วยว่า ในปีนี้ชาวนครปฐมจะไม่รอให้ใครมาคิดแทน เนื่องจากปีที่ผ่านมาเสียหายมามากพอแล้ว ชาวนครปฐมเป็นแหล่งเกษตรกรรม แหล่งผลิตอาหารของประเทศ ทั้งนี้ ยังเป็นเมืองเศรษฐกิจสามขา ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต่ำที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหากเครือข่ายฯร่วมกันรักษาแหล่งอาหารที่มั่นคงนี้ไว้ได้ ก็จะสามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น หลักคิดของชาวนครปฐมจึงมองที่จุดร้ายแรงสุดของปัญหา คือมองว่าท่วมไว้ก่อน เพื่อหาแผนในการบริหารจัดการให้เสียหายน้อยที่สุด และเชื่อว่าการผนึกกำลังของคนทั้งจังหวัดจะช่วยให้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเบาบางลงได้

ขณะที่น.ส.สมลักษณ์กล่าวว่า พื้นที่นครปฐมเป็นความมั่นคงทางอาหารของคนไทย ที่หากเกิดน้ำท่วมต้องคิดให้หนักว่าจะปกป้องกันอย่างไร เพราะการที่จะปกป้องกรุงเทพฯ แล้วปล่อยให้นครปฐมท่วม ตนเห็นว่าเป็นความเขลา และความประมาท ทั้งนี้ ตนได้ติดต่อขอข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้พบว่าสถานการณ์อุทกภัยปีที่ผ่านมา เป็นข้อมูลที่มีในเอกสารผังประเทศ 2600 ที่กรมทรัพยากรน้ำทำไว้แล้ว แต่ไม่มีการแจงให้ประชาชนรับทราบและไม่มีแผนป้องกัน

 

“บทเรียนจากเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถปรบใช้ได้ คือ การทำข้อมูล 100 ปีข้างหน้า เพื่อบอกระดับการเปลี่ยนแปลงของน้ำที่กระทบบ้านเรือนประชาชน บอกถึงสิ่งที่ที่ควรและไม่ควรทำ ให้ประชาชนเห็นภาพล่วงหน้า เช่นเดียวกับการที่จะสร้างกำแพงหรือคันดินกั้นน้ำ ที่ต้องเห็นภาพนี้ก่อนว่า บ้านเรือนประชาชนหรือสถานที่ต่างๆ อยู่ในสถานะใด อะไรควรปกป้อง อะไรควรปล่อย แล้วค่อยวางแผน และมีการชดเชยที่เป็นธรรม" น.ส.สมลักษณ์กล่าว

 

น.ส.สมลักษณ์กล่าวต่อว่า การชดเชยมีความชัดเจนถึงขั้นที่ว่า หมู่บ้านไหนจะจ่ายเงินชดเชยเท่าใด เมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นฉันทามติของสังคมว่า หมู่บ้านที่อยู่ใกล้น้ำจะได้รับการชดเชยมากกว่าหมู่บ้านที่อยู่ไกลน้ำสิ่งที่แตกต่างกันชัดเจนระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์คือ องค์กรบริหารจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์เป็นองค์กรอิสระจากรัฐ เป็นนักวิชาการอิสระ ที่ไม่ใช่นักกำกับดูแล หน่วยงานรัฐหรือราชการมีหน้าที่รับข้อเสนอจากองค์กรมาปฏิบัติตาม ฉะนั้น สิ่งที่เราควรทำ ประชาชนต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง นักวิชาการมีความเป็นอิสระจากผลประโยชน์ หน่วยงานรัฐและสื่อต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ในการป้องกันเกษตรกรรมที่เป็นความมั่นคงของไทย ขอเพียงขยับตัวและบอกตรงกันดังๆ ว่า พิมพ์เขียวของชาวนครปฐมจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่สามารถไม่ฟังเสียงประชาชน

ด้านนางกรรณิการ์กล่าวว่า คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้เกิดกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อหาทางออกของปัญหา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเป็นพลเมือง ตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่พลเมืองต้องช่วยกันกำหนดโครงการต่างๆ ที่จะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของตนเอง รวมทั้งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการ โดยที่กระบวนการมีส่วนร่วม และการรวมตัวเกิดขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลติดตามนโยบายภาครัฐ ไม่ใช่การรวมตัวประท้วง

 

“สิ่งที่กระบวนการสมัชชาพยายามทำคือ รวมความเห็นของคนเล็กคนน้อยจากการพูดคุยในเวทีสมานฉันท์ เพื่อหาข้อสรุป หรือข้อตกลงร่วมกัน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ และจากนี้ประชาชนไม่จำเป็นต้องลุกฮือประท้วงว่า เราไม่เอาฟลัดเวย์ เพราะเรามีเวทีที่พูดคุยกันก่อนแล้ว”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อจากนี้ผลการแสดงความคิดเห็น ข้อซักถามและข้อกังวลห่วงใยของประชาชนในจ.นครปฐมและผู้เกี่ยวข้องในเวทีนี้ เครือข่ายฯจะวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล เสนอเป็นพิมพ์เขียวในการบริหารจัดการอุทกภัยปี 2555 จากภาคประชาชนต่อ กบอ. ให้ได้รับทราบแผนยุทธศาสตร์ของชาวนครปฐม เพื่อให้แผนปฏิบัติงานสอดคล้องกัน และร่วมกันส่งน้ำลงทะเลโดยเร็วที่สุด โดยอาจไม่ต้องทำเป็นโครงการใหญ่ แต่ใช้ศักยภาพของเครือข่ายคลองแนวตรงที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: