ชาวเลอันดามันร้องนายกฯหน่วยงานรัฐฝืนมติครม. ยื่น5ข้อตั้งกก.แก้ปัญหาที่ทำกินค่ารักษาพยาบาล

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 13 พ.ย. 2555


 

หน่วยงานรัฐขัดมติครม.เขตพิเศษชาวเล

 

 

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล  ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล ที่เสนอโดยกระทรวงวัฒนธรรมและมอบให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ซึ่งแผนดังกล่าวประกอบไปด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย  การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงหาทรัพยากรตามเกาะต่าง ๆ ได้โดยผ่อนปรนพิเศษให้ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล การให้ความรู้ช่วยเหลือด้านสาธารณสุข เพื่อฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการดำน้ำทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ การแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษ หลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนชาวเล การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเล  และการส่งเสริมชุมชนและเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง รวมทั้งให้มีงบประมาณส่งเสริม วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเลด้วย

 

อย่างไรก็ตามปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมตามมติครม.ดังกล่าว  ในขณะที่ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเลยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติยังจับกุมชาวเลที่หาปลาในพื้นที่อุทยาน ไม่มีการละเว้นซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ชุมชนชาวเลยังมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ในกรณีที่มีการออกเอกสารสิทธิ์มิชอบ ทับที่ดินชุมชนและฟ้องขับไล่ รวมทั้งพื้นที่พิธีกรรม สุสานของชาวเลถูกรุกรานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในหลายพื้นที่ที่ไม่สามารถคัดค้านได้ เพราะถูกข่มขู่คุกคาม รวมทั้งชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล และปัญหาอื่น ๆ ฯลฯ ซึ่งมีรายละเอียดที่เครือข่ายชาวเลพยายามผลักดัน และเสนอต่อรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชาวเลบุกทำเนียบยื่นข้อเสนอนายกฯ

 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ชาวเลหรือชาวไทใหม่จากอันดามันประมาณ 30 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553

 

นายไมตรี จงไกรจักร ในฐานะผู้ประสานงาน กล่าวถึงข้อเสนอที่กลุ่มชาวเลได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องในมติคณะรัฐมนตรีส่งผู้แทนระดับที่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าเป็นกรรมการ และเข้าร่วมประชุมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้รายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรทุกเดือน

 

2.ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล โดยมอบหมายให้พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ธรณีพิบัติเป็นประธาน ฯ และให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องในมติคณะรัฐมนตรีส่งผู้แทนระดับที่มีอำนาจในการตัดสินใจเข้าร่วมประชุมต่อเนื่อง รวมทั้งให้นำมติของอนุกรรมการฯ เสนอต่อ คณะกรรมการเพื่อบูรณาการในการแก้ปัญหาชาวเล และนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 เดือน เพื่อให้มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

“เนื่องจากที่ผ่านมา พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม รวมทั้งสุสานของชาวเลถูกนายทุนออกเอกสารสิทธิ์ทับ ทำให้ชาวเลไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ได้”

 

 

นอกจากนี้กลุ่มชาวเลได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุติการจับกุมชาวเล โดยให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ต้องถอนฟ้องชาวเล 15 ราย ที่ถูกจับกุมด้วย

 

ขณะที่ส่วนกองกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมต้องจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้แก่ชาวเล ทั้งเงินประกันตัว และค่าความเสียหายอื่น ๆ กรณีกรมอุทยานฯ จับกุม รวมทั้งกองทุนยุติธรรมเข้าช่วยเหลือกรณีชุมชนชาวเลราไวย์ถูกเอกชนฟ้องขับไล่ด้วย และข้อ 5.ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย แก้ไขปัญหาบัตรประชาชนให้ชาวเลที่เหลือประมาณ 600 คน เช่นเดียวกับชาวเลจากหมู่เกาะสุรินทร์ คือ การเพิ่มชื่อในทะเบียน ทั้งนี้เพราะเป็นกลุ่มคนเดียวกัน

 

นายไมตรีกล่าวอีกว่า ตัวแทนจากศูนย์บริการประชาชนทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มารับข้อเสนอ รับปากว่าจะรวบรวมข้อเสนอทั้งหมดนำเรียนต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และจะแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หามาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน ในขณะที่รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมรับปากจะเร่งดำเนินการให้ วัฒนธรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้องเข้าเป็นคนกลางในการให้ความช่วยเหลือชาวเลในประเด็นเร่งด่วน เช่น เรื่องถูกจับกุมในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 9 ราย และเรื่องการรักษาพยาบาลและเสียชีวิตในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และไม่มีค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งจะเร่งนำเสนอรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมให้เสนอกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาชาวเลทั้งระบบ เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งแต่งตั้งโดยด่วน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาทั้งระบบ

 

นอกจากนี้กลุ่มชาวเลได้ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา โดยให้ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าทำไมจึงไม่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: