'กองทุนตั้งตัวได้'หรือจะเป็นโอกาสของนักล่าฝัน?

17 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1164 ครั้ง


 

                กองทุนตั้งตัวได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจสนับสนุน Start up Fund และ Seed Fund แก่ผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจนวัตกรรม ที่พัฒนาต่อยอดจากผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนแก่ผู้ประกอบการ โดยส่งเสริม ๓ กลุ่มธุรกิจ คือ       (๑) วิสาหกิจชุมชน SMEs และธุรกิจตาม ๕ กลุ่มทักษะอาชีพ (ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล) (๒) ผู้ประกอบการของศูนย์บ่มเพาะฯ (Start up & Spin off Companies) (๓) การลงทุนธุรกิจนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา (University Enterprise)

                ทั้งนี้ วิสาหกรรมอุดมศึกษา (University Enterprise) และศูนย์บ่มเพาะฯยังเป็นสถานที่ปฏิบัติงานของนักศึกษาระบบ Work-integrated Learning/WIL และปฏิบัติการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ ๕ กลุ่มอาชีพตามศักยภาพพื้นที่ เพื่อคัดกรองการสร้างธุรกิจใหม่จากการถ่ายทอดองค์ความรู้-เทคโนโลยีแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจ

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑)            เพื่อจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนระดับอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ การจ้างงาน และสร้างอาชีพ จากองค์ ความรู้และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา นักเรียน คณาจารย์ และผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม

๒)           เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนของสถาบันอุดมศึกษาให้สร้างธุรกิจนวัตกรรมที่มาจากทรัพย์สินทางปัญญาผลงานวิจัย เทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ ผ่านกลไกหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business  Incubator/UBI)

๓)           เพื่อสนับสนุนระบบเงินทุนเริ่มต้นของผู้ประกอบการรายย่อย (Start up & Spin off   Companies) ที่มีศักยภาพสูงและ พัฒนาธุรกิจ-ผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยและองค์ความรู้ทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา

๔)           เพื่อสนับสนุนให้หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) และบริษัทธุรกิจนวัตกรรม ยกระดับเป็นองค์กร ผู้ใช้บัณฑิตร่วมดำเนินภารกิจการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work Integrated Learning/WIL) สร้างโอกาสการปฏิบัติงานแก่นักเรียน นักศึกษา

๕)           เพื่อเป็นกองทุนกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษา ในการสร้างอาชีพ พัฒนาทักษะ องค์ความรู้ตามกระบวนการของหลักสูตรศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (WIL)

๖)            เพื่อให้เกิดธุรกิจใหม่ การจ้างงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยี-ทรัพย์สินทางปัญญา และสร้างวงจรรายได้กลับสู่สถาบันอุดมศึกษา

 

เป้าหมาย(เชิงปริมาณ/เชิงคุณภาพ)

                จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนระดับอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ การจ้างงาน และสร้างอาชีพ จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาแก่นิสิต นักศึกษา นักเรียน คณาจารย์ และผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม

                เชิงปริมาณ

                - ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ  จำนวน ๑ ฉบับ

                - จำนวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับทุน จำนวน ๕๐๐ คน/ปี

                - เกิดธุรกิจนวัตกรรม-เทคโนโลยีจากองค์ความรู้ จำนวน ๕๐ ราย/ปี

                เชิงคุณภาพ

                - เกิดการจ้างงานจากธุรกิจนวัตกรรม-เทคโนโลยี ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน จำนวน ๕๐๐ ตำแหน่ง

                        - เกิดการหมุนเวียนรายได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสนับสนุนของกองทุนฯ ไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ล้านบาท/ปี

 

แผนการดำเนินงาน

๑)            ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย กองทุนตั้งตัวได้ พ.ศ. .... รับผิดชอบกองทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

๒)           กำหนดโครงสร้างการบริหารกองทุนเป็น ๓ ระดับคือ

๒.๑)       คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติว่าด้วยกองทุนตั้งตัวได้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเลขานุการ  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และเป้าหมายผลผลิต และตรวจสอบการดำเนินงานกองทุน

๒.๒)      คณะกรรมการอำนวยการกลาง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนจากสถาบันการเงิน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรม-เทคโนโลยีจากสถาบันการศึกษา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ระบบบริหารจัดการ อนุมัติเงินกู้ รวมทั้งประเมินผลการดำเนินงานกองทุน

๒.๓)       คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนตั้งตัวได้ ระดับเครือข่ายอุดมศึกษา ๙ คณะ ประกอบด้วยอธิการบดี ประธานเครือข่ายอุดมศึกษา (เครือข่าย B) เป็นประธานอนุกรรมการ มีผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการเงิน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย ผู้แทนกลุ่มจังหวัดทุกจังหวัดผู้ทรงคุณวุฒิด้านนวัตกรรม และกฎหมาย รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เป็นอนุกรรมการโดยให้ ผู้แทน สสว. เป็นเลขานุการ ประธานเครือข่ายเชิงประเด็นหน่วยบ่มเพะวิสาหกิจในเครือข่าย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ทำหน้าที่ในระดับการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี ตรวจสอบกลั่นกรองเพื่อรับรองการอนุมัติเงินกู้ และกำกับติดตามรายงานผลการดำเนินงาน

๒.๔)       กำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติของแต่ละกิจกรรมที่สถาบันอุดมศึกษาและเครือข่ายฯ ต้องดำเนินการ (ประเภทวิสาหกิจที่ควรสนับสนุน/ลักษณะการให้ทุน/การตีมูลค่าเทคโนโลยี/การกำกับติดตามระดับปัจเจก ฯลฯ)

๒.๕)       สถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการกองทุนฯ ดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม สนับสนุนการศึกษาหลักสูตร WIL การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะอาชีพ และกลั่นกรองคัดเลือกโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมการลงทุนในแต่ละประเภทต่อคณะกรรมการฯ

๒.๖)       การแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประเมินผล จำนวน ๙ คณะแยกตามเครือข่ายอุดมศึกษา โดยมีองค์ประกอบ ๓ ส่วนผู้แทนจากภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ กำกับติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานทุกระยะเวลา ๖ เดือน

๒.๗)       การรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ต่อคณะกรรมการระดับชาติทุกไตรมาส เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานและประเมินแนวทางปรับปรุงนโยบายทุกๆ ปี จนครบระยะ ๔ ปี

๒.๘)       นับแต่ปีงบประมาณ ๒๕๕๙ เป็นต้นไป กองทุนตั้งตัวได้จะเป็นกองทุนคงเงินต้น โดยไม่รับงบประมาณสมทบเพิ่มอีกต่อไป

 

กรอบการพิจารณาผู้รับการจัดสรรของกองทุนตั้งตัวได้

รูปแบบผู้มีสิทธิ์รับเงินทุน    เกณฑ์ตรวจสอบคุณสมบัติและประเมินศักยภาพ

๑.            ผู้ประกอบการใหม่(Entrepreneurs) ที่ผ่านการบ่มเพาะธุรกิจจากหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI)   

                - เป็น Start up & Spin off companies ที่ดำเนินธุรกิจนวัตกรรม

- พัฒนา Product จากงานวิจัย/เทคโนโลยี/องค์ความรู้ของ ม/ส

- ผ่านการประเมิน Business plan & Technology/FS และได้รับใบ Certificate จากหน่วย UBI

๒.           นักศึกษา(ป.ตรี-เอกใน ม/ส) ที่ผ่านการปฏิบัติงานหลักสูตร Work-integrated Learning :WIL     

                 -เป็นผู้สำเร็จการศึกษาแลผ่านการปฏิบัติงานตามหลักสูตร WIL ใน Start up & Spin off companies ของหน่วย UBI

-ต้องการสร้างธุรกิจจากองค์ความรู้ตามศาสตร์ที่เข้าศึกษาหรือผลงานวิจัย เทคโนโลยีจาก Start up & Spin off companies ที่ปฏิบัติ

-ผ่านการประเมิน Business plan & Technology/FSและได้รับใบ Certificate จากหน่วย UBI

๓.            กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและ SMEs           

-  เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน (OTOP) และ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่และสอดคล้องตามศักยภาพท้องถิ่น

               -ต้องรับการพัฒนาศักยภาพธุรกิจจากองค์ความรู้ ผลงานวิจัยเทคโนโลยีจากหน่วย UBI : สถานศึกษา สพฐ./สอศ./สช./กศน./ม/ส

               - ผ่านการประเมิน Business plan & Technology/FS และได้รับใบ Certificate จากหน่วย UBI

 

 

 

โครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (University Business Incubator : UBI

เกี่ยวข้องกับ "กองทุนตั้งตัวได้" อย่างไร?

                สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เริ่มโครงการ “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา” (University Business Incubator : UBI)  ในช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๔๗  โดยมีเป้าหมายให้ UBI  ในสถาบันอุดมศึกษา  ทำหน้าที่บ่มเพาะให้เกิด “ผู้ประกอบการใหม่” (Entrepreneur)   และ “บริษัทจัดตั้งใหม่” (Start-up Companies) ที่จะได้รับการดูแลให้มีพัฒนาการเติบโต   โดยใช้ข้อได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมทางวิชาการ  เสริมสร้างความเข้มแข็ง  และสามารถพัฒนาเป็น “บริษัทธุรกิจเต็มรูปในอนาคต”(Spin-Off Companies)   รวมทั้งเป็นช่องทางการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์  และนวัตกรรมที่สร้างในสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาสู่กระบวนการใช้งานเชิงพาณิชย์   สร้างวงจรรายได้เพื่อให้ผลประโยชน์กลับสู่สถาบันอุดมศึกษาและประเทศในระยะยาว

                UBI เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและความรู้ด้านธุรกิจที่หลากหลาย  การใช้พื้นที่และเวลาร่วมกันในการงาน (Shared Actions in space and Time)  เพื่อการลดต้นทุนในการจัดตั้งบริษัทใหม่   การสนับสนุนด้านปัจจัยเชิงธุรกิจต่างๆ ที่สามารถเร่งอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทจนพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง    ดังนั้น การดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะของหน่วย UBI  จึงต้องมีความพร้อมด้านอาคารสถานที่ (Physical & Facility) ด้านการบริการให้คำปรึกษาเชิงธุรกิจ (business Consultant) ด้านบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialist & Expert) และด้านการบริหารจัดการ (Management) ปัจจุบันโครงการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) ได้สนับสนุนการจัดตั้งหน่วย UBI ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน จำนวนทั้งสิ้น  ๕๖ แห่ง (หน่วย)

                การดำเนินงานโครงการฯ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ข้อ ๑.๑๐.๓  “กองทุนตั้งตัวได้” ที่ระบุให้ใช้กลไกของ “หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ” ในการสนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถกู้ยืมเงินเพื่อการสร้างอาชีพได้

 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑)            เพื่อสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพให้จัดตั้งศูนย์/หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ (University Business Incubator/UBI) ในสถาบันอุดมศึกษา ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ   ดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจ และเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม เทคโนโลยี

๒)           เพื่อส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางวิชาการ  มาพัฒนา/ต่อยอด นำมาสู่การใช้ประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมการผลิต และพาณิชยกรรม

๓)           เพื่อเสริมสร้างความตระหนักให้นิสิต นักศึกษา บัณฑิต นักวิจัยและคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้น  เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่มีศักยภาพสูง

๔)           เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคเอกชน ทุกระดับ (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  สภาหอการค้าไทย  สมาคมธนาคารไทย)  ทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

๕)           เพื่อสร้างค่านิยม-วัฒนธรรม  การสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนา ที่ตอบสนองต่อความต้องการของ Demand Side/ผู้ใช้ประโยชน์ (User)

 

เป้าหมาย (เชิงปริมาณ/เชิงคุณภาพ)

                เชิงปริมาณ

                - จำนวนผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นใหม่ (Startup companies & Spin off companies) ๑๐๐ ราย

- จำนวนหน่วยบ่มเพาะฯ ที่เพิ่มขึ้น จำนวน ๔ ราย

- จำนวนนักเรียนระดับประถม มัธยมประชาชนเข้ารับการอบรมทักษะการประกอบอาชีพ ๔,๐๐๐ ราย/ปี

- จำนวนนักศึกษา WIL ที่เข้าปฏิบัติงานในบริษัทธุรกิจในหน่วย UBI จำนวน ๑๐๐ ราย/ปี

                เชิงคุณภาพ

                                - จำนวนงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ใช้ในเชิงพาณิชย์/อุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า ร้อยละ ๒๐

- จำนวนการจ้างงาน ไม่น้อยกว่า ๕๐ คน

- ผู้เข้าอบรม/ปฏิบัติงานในหน่วย UBI ที่เป็นนักเรียน นักศึกษาประชาชน สามารถประกอบอาชีพได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๑๐ ของผู้เข้ารับการอบรม

                                - เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ       ไม่น้อยกว่า ๓๐ ล้านบาท

                                                              

ผลการดำเนินงาน

                ปัจจุบันมีหน่วย UBI จำนวน ๕๖ แห่งกระจายตามเครือข่ายอุดมศึกษา ๙ ภูมิภาค ระหว่างปี ๒๕๕๒ - ๒๕๕๔  มีผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ารับการบ่มเพาะอยู่ในหน่วย UBI รวม ๒๑๗ ราย แยกระดับสถานะธุรกิจเป็น Startup Company จำนวน ๑๒๖ ราย และเตรียมพัฒนาเป็น Spin off Company อีก ๘๗ ราย ผลการดำเนินงานหน่วย UBI จำนวน ๔๓ แห่งที่เข้าระบบเครือข่าย สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดจำนวนรวม ๑๕๔ ราย โดยมีผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็น Startup Company ยังคงรับการบ่มเพาะธุรกิจอีก ๑๐๔ ราย และผู้ประกอบการที่ผ่านการประเมินศักยภาพเป็น Spin off Company จำนวน ๕๑ ราย หรือคิดเป็นร้อยละ ๘๑.๗๕ และ ๕๘.๖๒ ตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ถึงพฤษภาคม ๒๕๕๔ ผู้ประกอบการในหน่วย UBI ยังสามารถสร้างรายได้รวม ๑๑๒.๒๗ ล้านบาท

 

งบประมาณ

                กรอบวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ๗๒,๐๐๐,๐๐๐.- บาท งบประมาณที่ใช้ไป ๓,๓๖๕,๐๐๐.- บาท

 

ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน

๑)            การวิจัยโครงการต่างๆ ในสถาบันอุดมศึกษา ต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน ดังนั้น เงื่อนเวลาเป็นอุปสรรคต่อการประเมินความสำเร็จ

๒)           การนำองค์ความรู้ งานวิจัย หรือนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ ต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจ ซึ่งเป็นภาคเอกชนมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาจารย์ในสถาบันซึ่งเก่งในเชิงทฤษฎี  อุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนที่จะเข้ามาให้คำปรึกษา หรือชี้แนะการประกอบธุรกิจ

๓)           จำนวนหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษายังไม่เพียงพอและกระจายทั่วประเทศ ซึ่งทำให้การสร้างทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน อาจไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ

 

 

ที่มา รายงานผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ ในรอบ ๖ เดือน (สิงหาคม ๒๕๕๔ - กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) ในส่วนของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: