หลากมุมต่างมองเมดิคัลฮับ

7 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2508 ครั้ง


 

                ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพด้านการแพทย์ และมีศักยภาพในการลงทุนด้านนี้ ทั้งในส่วนการวิจัยและพัฒนา และโอกาสทางการตลาด ไทยมีศักยภาพในด้านการทดลองทางการแพทย์ อุตสาหกรรมชุดตรวจวินิจฉัย การบริการทางการแพทย์ และ life science จึงนำเสนอแนวคิดดังกล่าว และได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นอย่างมาก เพราะหากเทียบมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาลนั้น ไทยเราไม่เป็นรองใคร วัดได้จากจำนวนคนไข้ที่เข้าประเทศปีละ ๑.๕ ล้านรายจากทั่วโลก และล้วนเป็นคนไข้ที่มีฐานะดี หากคนกลุ่มนี้ไม่มั่นใจในมาตรฐานฯ คงไม่เลือกรักษาที่ประเทศไทย ซึ่งไทยเองไม่เพียงมีบริการที่ดี แต่ยังมีวัฒนธรรมการต้อนรับที่ดี เป็นเมืองยิ้ม ต่างชาติจึงมุ่งมาประเทศไทย

 

                นอกจากนี้ ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากที่สุดในโลก และสามารถเพิ่มมูลค่าจากการรักษาโรคให้ชาวต่างประเทศได้มากขึ้นอีก ด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น มีบริการที่ดีขึ้น ไทยจึงมีความได้เปรียบด้านนี้อย่างหลากหลาย สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพได้มากขึ้น โดยชวนต่างชาติมาทำธุรกิจ มาลงทุน

 

 

จุดแข็งโรงพยาบาลไทย

 

 

                ข้อได้เปรียบหรือจุดแข็งของโรงพยาบาลไทย นายวิชัย บอกว่า มี ๓ ประเด็นใหญ่ๆ คือ ๑.ความสามารถในการรักษาของแพทย์ไทยที่ไม่เป็นสองรองใคร ๒.ราคาไม่แพง หากเปรียบเทียบกับระดับมาตรฐานการรักษาเดียวกัน ไทยถือว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสูงติดอันดับโลก ในขณะที่ราคาสามารถเทียบเคียงได้กับอินเดียเท่านั้น และ ๓. เป็นเรื่องของการให้บริการ (Hospitality) ที่ดีของไทย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ของไทยเป็นที่ชื่นชอบของต่างชาติมาก เรื่องยิ้มแย้มมิตรไมตรีต่างๆ เมื่อมีการให้คะแนน ไทยจึงเป็นที่หนึ่งมาตลอด

 

                อย่างไรก็ตาม นายวิชัยแนะว่า หากไทยจะก้าวสู่การเป็น"เมดิคัลฮับ" สิ่งแรกที่รัฐบาลจะต้องทำ คือลดขั้นตอนของคนที่จะเข้ามาในประเทศไทย เช่น การทำวีซ่าต้องไม่ยุ่งยาก และเรื่องระยะเวลาที่ให้อยู่ในประเทศไทย เพราะคนต้องการเข้ามารักษานั้น ปกติต้องเป็นคนป่วยคนเจ็บ แต่ในอนาคต เชื่อว่าคนจะป้องกันมากกว่าการรักษา ดังนั้น เมื่อคนเข้ามาตรวจร่างกาย เช็กสุขภาพ มาดูแล ทางเลือกต่างๆ จึงอยากให้แยกระหว่างโรงพยาบาล กับเฮลท์แคร์ เพราะโรงพยาบาลเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของเฮลท์แคร์ และรัฐบาลต้องมุ่งเน้นที่จุดนั้นด้วย เพราะหากทำตลาดมุ่งเน้นเฮลท์แคร์ที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาลอย่างเดียว จะทำให้จำนวนประชากรที่เข้ามารักษามากขึ้น และช่องทางนี้ จะช่วยเรียกเม็ดเงินเข้าประเทศได้เป็นจำนวนมหาศาลเนื่องจาก การพักฟื้นของผู้ป่วยที่ต้องการพักที่เมืองไทย เป็นระยะเวลายาวนานเท่าไหร่ ก็หมายถึงรายได้เข้าประเทศมากขึ้นนั่นเอง

 

                และทั้งหมดนี้ คือเหตุผลที่ทำไมรัฐบาลปัจจุบัน ควรสานต่อนโยบายและเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะมองในมุมหนึ่งจะพบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหรือ มีศักยภาพด้านการแพทย์และการลงทุนด้านนี้รองรับในระดับที่น่าพอใจอยู่แล้ว

 

 

ความคาดหวังจากนโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพฯ

 

 

                นโยบายศูนย์กลางด้านสุขภาพฯ หรือ Medical Hub เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ได้เสนอต่อรัฐสภา ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องรับมาดำเนินการ และคาดหวังว่าจะเป็นทางหนึ่งในการนำรายได้เข้าประเทศ นอกเหนือจากการท่องเที่ยวที่ค่อนข้างซบเซา ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือกับแพทยสภาเพื่อศึกษาระเบียบข้อบังคับ ให้แพทย์ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายเทแพทย์และพยาบาลของรัฐไปสู่เอกชน และต้องไม่กระทบสิทธิคนไทย และ สธ.จะสนับสนุนให้โรงพยาบาลในเขตพื้นที่พิเศษ เช่น จังหวัดที่มีประชากรแฝงจากแรงงานต่างชาติจำนวนมาก บริหารงานแบบองค์กรมหาชนอย่าง รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อรองรับความแตกต่างของเมือง พร้อมทั้งประสานงานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดสรรทุนการศึกษาให้กับเด็กในตำบล อำเภอและจังหวัด จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลน

 

                มีข้อมูลผลวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "แนวทางการพัฒนาศูนย์กลางสุขภาพของประเทศไทย" จาก ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตรสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ถ้าดำเนินนโยบายเมดิคัลฮับ จะส่งผลให้มีรายได้เข้าประเทศประมาณ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ ๐.๔ ของจีดีพี จากการประมาณการในปี ๒๕๕๒ นี้ประเทศไทยน่าจะมีรายรับที่เป็นค่ารักษาพยาบาลคนไข้ต่างชาติประมาณ ๔๖,๐๐๐-๕๒,๐๐๐ ล้านบาท เป็นที่พักท่องเที่ยวประมาณ ๑๒,๐๐๐-๑๓,๐๐๐ ล้านบาท รวมเป็นรายรับประมาณ ๕๘,000-๖๕,000 ล้านบาทต่อปี และเมื่อคิดตามมูลค่าเพิ่ม เชื่อว่ารายได้จากส่วนนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเป็น ๕๙,๐๐๐-๑๑๐,๐๐๐ ในปี ๒๕๕๕ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก แต่ผลกระทบที่ได้รับพบว่าส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น เพราะ รพ.เอกชนส่วนใหญ่มีการตั้งราคารักษาพยาบาลราคาเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ส่วนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีแนวโน้มถูกดึงออกจากภาครัฐมากขึ้น ถ้าปล่อยให้เติบโตในระยะยาวไม่ดูแลจะยิ่งเกิดช่องว่างการบริการรักษาระหว่าง รพ.รัฐและเอกชนมากขึ้น

 

                ดังนั้น รัฐจะต้องมีการวางมาตรการรองรับผลกระทบที่ตามมาคือ ๑.เร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มในทุกด้าน ๒.ดึงแพทย์ที่เกษียณอายุมาช่วยงานรักษา ๓.เปิดให้แพทย์ต่างชาติสามารถรักษาในเมืองไทยได้ ๔.เก็บภาษีคนไข้ต่างชาติ โดยนำเงินเหล่านี้มาใช้ผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพิ่ม และ ๕.การเพิ่มค่าตอบแทนของบุคลากรทางการแพทย์ทั้งระบบของรัฐให้ใกล้เคียงกับเอกชนมากที่สุด

 

 

เสียงสะท้อนจากแพทย์ไทย

 

 

                แน่นอนว่าทุกนโยบายที่รัฐกำหนดขึ้น ย่อมมีข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นก่อนนำไปใช้เป็นรูปธรรม รัฐ จะต้องคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาสมองไหลของแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้ รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เห็นว่า เมดิคัลฮับ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าว จะต้องมีการวางแผน กรอบการดำเนินการ ซึ่งได้เสนอไปยังรัฐบาล ๓ ข้อ คือ ๑.โรงพยาบาลจะต้องกำหนดสัดส่วนการให้บริการสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติ ๒.กำไรที่ได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติต้องนำมาพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขในภาพรวมของทั้งประเทศ โดยนำงบมาพัฒนาสาธารณสุขชุมชน ไม่ใช่ค้ากำไรไว้เพียงผู้เดียว หรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เป็นผู้ผลิตแพทย์เอง และ ๓.ควรให้มีเมดิคัลฮับสำหรับสถานพยาบาลของภาครัฐที่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งปัจจุบันมีชาวต่างชาติมารักษาในโรงพยาบาลของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถเก็บค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นได้ หากเก็บค่ารักษาสำหรับชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นได้ก็จะได้นำกำไรที่ได้ไปใช้ในผู้ป่วยคนไทยรายอื่นๆ ได้

 

                สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นห่วงคือ หากนโยบายเมดิคัลฮับเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเน้นให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทยนั้น ผลกระทบที่จะตามมา จะมีข้อเสียอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสมองไหล เช่นเดียวกับที่ตนเองเคยทำวิจัยและได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนนโยบายรัฐบาลใหม่คงต้องศึกษาและหารายละเอียดเพิ่มเติม

 

                สิ่งที่อยากเสนอรัฐบาล คือ ควรดำเนินการในโครงการเมดิคัลฮับอย่างเป็นรูปธรรม โดยการสนับสนุนด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าเป็นเมดิคัลสปา หรือนวดแผนไทย ซึ่งจะไม่เกิดผลเสียหาย แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย แต่หากรัฐบาลคิดว่า การส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเข้ามารักษาในไทยแล้วจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวด้วยเป็นความคิดที่ผิด เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนจะมีบริการรับชาวต่างชาติที่สนามบิน เพื่อเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ภายหลังการรักษาก็ส่งกลับประเทศโดยไม่มีการใช้จ่ายเงินในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างที่คาดหวังไว้เลย

 

                เช่นเดียวกับแพทย์หญิงเชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่า ปัญหาเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุขอันดับแรกที่ควรได้รับการแก้ไขจากผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงสาธารณสุข คือ การแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรอื่นๆ ในรพ.ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่การแก้ปัญหาแพทย์ใน รพ.เอกชน

 

                ส่วนปัญหาที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลมากขึ้นจนเกิดปัญหาความแออัด คนไข้ล้นโรงพยาบาล สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประชาชนไม่มีความรู้ความสามารถที่ถูกต้อง/เหมาะสมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ปฐมพยาบาล นอกจากนี้ ประชาชนบางส่วนมักเรียกร้องการตรวจรักษาฟรีตามสิทธิใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเว้นประชาชนที่ยากจนจริงๆ เท่านั้น ซึ่งการที่ประชาชนมาโรงพยาบาลมากขึ้นกลับทำให้แพทย์ต้องรีบเร่งทำงาน ประชาชนเกิดความเสี่ยงอันตรายจากการตรวจรักษาของแพทย์ และรัฐบาลต้องจ่ายเงินงบประมาณผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มากขึ้นทุกปีซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีจะต้องแก้ไข

 

                ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) บอกว่า หากจะมีการอนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเพื่อรักษาคนไข้ต่างชาติรองรับนโยบายเมดิคัลฮับนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการวางแผนกำหนดกรอบปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนด้วย เช่น การกำหนดระยะเวลาใบประกอบวิชาชีพสำหรับแพทย์ต่างชาติที่จะให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ในช่วงเวลาที่ไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ เมื่อสามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอหรือแก้ปัญหาระบบขาดแคลนบุคลากรได้ก็ให้กลับประเทศไป

 

 

 มุมมองนักเศรษฐศาสตร์

 

 

                ยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศภายใต้กรอบการค้าเสรีก็คือ การประกาศตัวที่จะเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพ” (Medical Hub of Asia) ของเอเชีย คำถามที่ตามมาก็คือ ประเทศจะทำอย่างไรถึงจะบรรลุต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว และเราจะเป็นได้อย่างที่หวังเอาไว้จริงหรือไม่ โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งในปัจจุบันได้ดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Strategy) โดยให้ความสนใจกับผู้รับบริการจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการเสนอแพ็กเกจเพื่อดึงดูดคนไข้ต่างชาติด้วยระบบการรักษาพยาบาลอย่างครบวงจรตั้งแต่บริการจองโรงแรม จองสายการบิน มีรถพยาบาลไปรับที่สนามบิน บริการรับส่งคนไข้ที่อาการไม่หนักพร้อมญาติไปช้อปปิ้ง

 

                ความได้เปรียบที่สำคัญของการให้บริการสุขภาพของไทยก็คือ การมีแพทย์ที่มีชื่อเสียงในการรักษาพยาบาลในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการทำศัลยกรรมตกแต่งด้วยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และการบริการที่มีมิตรไมตรีและยิ้มแย้มแจ่มใสตามบุคคลิกนิสัยเฉพาะของคนไทย

 

                แต่ทว่า อุปสรรคที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ “ความไม่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์” โดยถ้านำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของอุปสงค์และอุปทานเข้ามาอธิบายแล้วจะพบว่าอุปทานของการรักษาพยาบาลในประเทศไทยยังไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ของการรับบริการจากผู้ป่วยต่างชาติในหลายๆ ประเด็นเช่น

 

                เมื่อดูจากจำนวนคนไข้ประเภทผู้ป่วยนอก ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้รับบริการชาวจีนที่เข้ามาใช้บริการประเภททันตกรรมพบว่า มีการให้บริการไม่เพียงพอต่อการใช้บริการ โดยดูจากเก้าอี้ทำฟันและชั่วโมงที่ใช้ต่อคนไข้ 1 คน มีศักยภาพรองรับคนไข้ทำฟันเพียง ๖๐,๘๔๐ คน จากอุปสงค์ของชาวต่างชาติที่มากถึง ๗๒,๖๗๑ คน ในส่วนของเครื่องมือที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นเครื่องมือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทันตกรรมที่มีอุปสงค์ของชาวต่างชาติในการใช้บริการจำนวนมาก

 

                ในด้านศัลยกรรมตกแต่งที่ประเทศไทยมีแพทย์ที่ชำนาญและมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกนั้นพบว่า มีการเข้ามาใช้บริการของชาวต่างชาติในจำนวนที่น้อยกว่าการรักษาพยาบาลประเภทอื่น เมื่อเปรียบเทียบด้วยจำนวนแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานี้

 

                นอกจากนี้แพทย์ที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ซึ่งถือว่าการเตรียมความพร้อมด้านอุปทานทางการแพทย์ยังไม่เหมาะสม เนื่องจากผู้รับบริการจากต่างประเทศจะเข้ามารับบริการในสาขานี้น้อยมาก

 

                หากเป็นการพิจารณาตามเหตุผลของอุปทานต่ออุปสงค์ดังกล่าวข้างต้นเราจะได้คำตอบว่า “ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมคงหลีกไม่พ้นการผลิตแพทย์ให้ตรงกับความต้องการการรักษาพยาบาลของชาวต่างชาติควบคู่ไปกับความต้องการการรักษาพยาบาลของผู้รับบริการในประเทศ” ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทสำคัญในการผลิตแพทย์โดยมีภาครัฐทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพ และเพิ่มยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการโดยเน้นการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นที่สำคัญมากกว่าการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคา การให้ความสำคัญในการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ (โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งปัจจุบันยังได้รับการสนใจน้อยมาก) ยังคงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ไม่ควรเพิกเฉย

 

                อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีทางด้านสุขภาพอาจนำมาสู่ความล้มเหลวของระบบตลาดสุขภาพ (Market Failure) และทำให้เกิด “ต้นทุนทางสังคม” (Social Cost) อย่างมหาศาลตามมาได้เช่น

 

๑) ปัญหาสมองไหลของแพทย์จากภาคราชการไปสู่ภาคเอกชนเนื่องจากภาคเอกชนมักเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าราชการถึงกว่า ๑๐-๒๐ เท่า โดยเฉพาะในเข้าไปสู่โรงพยาบาลเอกชนที่เน้นรักษาคนต่างชาติมากกว่าคนไทย

 

๒) การให้บริการทางการเพทย์ที่ไม่ทั่วถึงแก่คนชนบทและคนยากจน รวมถึงการไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ

 

๓) ค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นภาระแก่ระบบการเงินทางด้านสาธารณสุขของรัฐ (Health Financing)

 

                ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลทางลบ (มากกว่าทางบวก) ต่อสุขภาพอนามัยของคนไทยโดยรวมก็เป็นได้ ภาครัฐสามารถมีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาความล้มเหลวของระบบตลาดสุขภาพ (Market Failure) ได้โดยการ ควบคุมการประกอบโรคศิลป์ การให้หลักประกันทางด้านสุขภาพ (Health Insurance) และการสนับสนุนในการดูแลรักษาสุขภาพ เป็นต้น

 

 

 มุมมองนักวิจัย

 

 

                หลายท่านคงทราบดีว่า ภาคเอกชนได้นำร่องดำเนินการไปสู่การเป็นเมดิคัลฮับ ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนชัดเจน เมื่อรัฐบาลเห็นว่าเมดิคัลฮับ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท จึงได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย (พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๑)” ขึ้น และสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ปัญหาสมองไหลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง จากภาครัฐไปสู่ภาค เอกชนมากขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภาพรวมทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนไทยมีปัญหาการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

                มีข้อเสนอจากที่ประชุมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวที่น่าสนใจ อาทิ เช่น การเสนอให้มีกลไกจัดสรรรายได้จาก medical hub ไปสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศในรูปของภาษี ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

 

                มีข้อเสนอ/ความคิดเห็นจากผู้แทนจากโรงพยาบาลภาครัฐบางแห่ง ที่เสนอให้พัฒนาโรงพยาบาลรัฐเป็น medical hub โดยให้เหตุผลที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับคนไทยเพิ่มมากขึ้น การดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติจะทำให้โรงพยาบาลสามารถหารายได้เพิ่ม (และอนุมานว่าน่าจะช่วยลดภาระภาครัฐในการดูแลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับคนไทย) นอกจากนี้ยังทำให้แพทย์ในภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาสมองไหลที่กำลังเป็นที่วิตกในปัจจุบัน

 

 

ข้อเสนอผู้แทนโรงพยาบาลภาครัฐดังกล่าวดังนี้

 

 

๑. ภาระการจัดหางบประมาณสำหรับการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยโดยรวม เป็นหน้าที่ของแต่ละโรงพยาบาลหรือเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องรับผิดชอบ ปัจจุบันรัฐรับผิดชอบผ่านระบบประกันสุขภาพต่างๆ หากรัฐจัดสรร/บริหารระบบไม่ดีพอ (จนเงินไม่พอให้จัดบริการสุขภาพให้คนไทย) ควรผลักภาระนี้ให้กับแต่ละโรงพยาบาลหรือไม่

 

๒. การที่โรงพยาบาลรัฐเสนอให้การดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ขึ้น จะนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยหรือไม่ หากจะให้เกิดขึ้นจริง โรงพยาบาลรัฐอาจต้องยอมให้ลดงบประมาณสนับสนุนการดูแลสุขภาพคนไทย (ภายใต้ระบบใดๆ ก็ตาม) ตามสัดส่วนรายได้ที่โรงพยาบาลรัฐนั้นๆ ได้รับจากการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติ หรือรายได้จากการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติให้โรงพยาบาลรัฐส่งคืนให้กระทรวง การคลัง เพื่อจัดสรรใหม่ให้แต่ละโรงพยาบาลตามความเหมาะสมต่อไป เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลรัฐยอมรับได้หรือไม่

 

๓. ปัจจุบันเกิดปัญหาการให้บริการต่างมาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพที่มีระบบการจ่ายเงินแตกต่างกันอยู่ แล้ว การเป็น medical hub เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อสูง จะสามารถมีหลักประกันได้อย่างไรว่า คนไทยจะไม่ได้รับบริการชั้นสองหรือชั้นสาม

 

        ปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นจากประเด็นที่ ๑ คือ รัฐไม่ควรผลักภาระให้โรงพยาบาลต้องดิ้นรนหายรายได้ส่วนขาดเอง (ยกเว้นเป็นปัญหาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ) ปัญหาจาก medical hub ภาคเอกชนยังแก้ไขไม่ได้ อย่าเพิ่งเพิ่มปัญหาเลย

 

 

มุมมองวิชาการ

 

 

                ตามที่นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ นั้น  แนวคิดดังกล่าวมีความน่าเป็นห่วงอะไรบ้าง การตีแผ่วิพากษ์ในทางวิชาการ เพื่อประกอบการร่วมตัดสินใจของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น 

 

ประการแรก  การเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิหรือสินค้า มีมุมมองต่อสุขภาพมีสองขั้วใหญ่ๆ คือ

 

๑. มุมมองด้านมนุษยนิยม  มองว่าการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน  ทุกคนไม่ว่ารวยหรือจน บ้านอยู่กรุงหรืออยู่บนดอย เชื้อชาติศาสนาใดๆ ก็ตาม มีบัตรประชาชนหรือไม่ก็ตาม  ย่อมควรต้องมีสิทธิเสมอกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ รัฐต้องจัดบริการให้ดีที่สุดโดยมีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  แนวคิดนี้มองว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนของทุกคน ประเทศที่เดินตามทิศทางนี้คือประเทศในยุโรป  รวมทั้งประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

๒. มุมมองด้านวัตถุนิยม  มองว่าการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเป็นสินค้า  การไปรับบริการด้านสุขภาพเป็นเหมือนการซื้อเสื้อผ้า  บริการสุขภาพควรมีทั้งอย่างหรูสำหรับคนมีเงิน มีอย่างปานกลางสำหรับคนทำงาน และมีอย่างสังคมสงเคราะห์สำหรับคนยากคนจน  แม้ไม่มีเงินสังคมก็ควรได้รับการดูแลรักษา  แนวคิดนี้ไม่ยอมรับความเท่าเทียมเพราะความจริงโลกนี้แตกต่าง  และบริการสุขภาพก็ขายได้ เป็นสินค้าสำคัญที่สังคมต้องการ  ประเทศที่เดินตามทิศทางนี้ คือ สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากอเมริกานั่นเอง

 

ประการที่สอง  มุมมองเพื่อวิเคราะห์ว่าโรงพยาบาลใดเห็นสุขภาพเป็นสิทธิหรือเป็นสินค้า

 

                ด้วยสภาพสังคมที่ซับซ้อนในปัจจุบัน  การมองว่าโรงพยาบาลของรัฐนั้นจัดบริการเพื่อประโยชน์สาธารณะนั้นไม่จริงเสมอไป  หรือจะมองว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งเห็นสุขภาพเป็นสินค้าเท่านั้นก็อาจไม่ใช่  เพราะองค์กรเอกชนที่ทำเพื่อสังคมโดยไม่แสวงหากำไรก็มี

 

                การเปิดเมดิคัลฮับจึงท้าทายจริยธรรมของโรงพยาบาลของรัฐนั้นๆ ว่า  จะเป็นจุดเริ่มต้นของการผันตนเองไปเป็นโรงพยาบาลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแสวงหากำไรและละทิ้งอุดมการณ์เพื่อสาธารณะในระยะยาวต่อไปหรือไม่

 

ประการที่สาม แนวคิดโรบินฮู้ด ปล้นคนรวยเพื่อช่วยคนจน แค่ไหนจึงจะพอดี

 

                เหตุผลประการสำคัญที่สมควรสร้างให้มี เมดิคัลฮับนั้น  ก็เป็นไปเพื่อการเก็บเงินจากคนรวยคนต่างชาติที่มีอันจะจ่ายมาใช้ในการช่วยเหลือคนจน หรือแนวคิดแบบโรบินฮู้ดนั่นเอง  ซึ่งโดยพื้นฐานเป็นแนวคิดที่น่าชื่นชม   ศ.นพ. Jean-Pierre Unger แห่งสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนประเทศเบลเยียม ได้กล่าวไว้ว่า การหารายได้ของโรงพยาบาลแบบโรบินฮู้ดเพื่อนำมาพัฒนาโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่ดี จำเป็นและทำได้ แต่ต้องยืนบนหลักการสำคัญสองประการให้มั่นคง กล่าวคือ

 

๑. การหารายได้จากบริการนั้นๆ ต้องไม่ทำให้เกิดสองมาตรฐานในการให้บริการทางการแพทย์ คือ มาตรฐานคนรวยอย่างสูง มาตรฐานคนจนอย่างต่ำ ซึ่งขัดต่อจริยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์

 

๒. ค่าบริการที่เก็บนั้นต้องเก็บให้สูงให้มีกำไรมากพอที่จะนำส่วนเกินไปช่วยคนจนได้จริง  ไม่ใช่เพียงเพื่อพอจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าวัสดุและค่าตอบแทนแพทย์เท่านั้น หากไม่มีส่วนเหลือมากพอที่จะนำมาใช้เพื่อเกื้อกูลคนจนตามความตั้งใจเดิม  ก็ไม่รู้จะจัดบริการนั้นไปทำไม  ให้เอาแรงเอาทรัพยากรไปทำอย่างอื่นดีกว่า

 

                จากสองหลักการนี้  รูปแบบของวิธีการแบบโรบินฮู้ดที่ดีที่สุดที่ปฏิบัติกันมาในทุกโรงพยาบาล ก็คือ  การจัดบริการห้องพิเศษแก่คนที่พอจะจ่ายได้นั่นเอง  โดยที่มาตรฐานการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างจากเตียงสามัญ  ต่างกันแต่ความสะดวกสบายของสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น และรายได้นั้นนำมาจัดบริการเพื่อช่วยเหลือคนจนต่อไป  ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมและจริยธรรมทางการแพทย์ยอมรับได้

 

                คำถามคือ  แล้วเมดิคัลฮับ จะทำให้เกิดสองมาตรฐานในโรงพยาบาลนั้นๆ หรือไม่   หากมีเมดิคัลฮับแล้ว จริงหรือไม่ที่จะทำให้คนต่างชาติหรือคนมีฐานะได้แซงคิวผ่าตัดก่อน  มียาสองบัญชี มีแนวทางการรักษาโรคตามความสามารถในการจ่ายเงิน มีเครื่องมือราคาแพงที่คนไม่จ่ายเงินพิเศษไม่มีสิทธิได้บริการ หรือคนไทยได้ตรวจกับนักเรียนแพทย์หรือแพทย์ฝึกหัด แต่ฝรั่งได้ตรวจกับอาจารย์แพทย์ฝีมือดี  แพทย์มือดีก็มีแค่สองมือมีเวลาแค่ ๒๔ ชั่วโมง เช่นนี้แล้วคนไทยที่ไม่รวยจริงจะได้ตรวจกับใคร หากเกิดสองมาตรฐานเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดหลักจริยธรรมทางการแพทย์ เนื่องจากเมดิคัลฮับนั้นเป็นแนวคิดที่ตามก้นอเมริกา จึงมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะเกิดสองมาตรฐานเช่นนี้ในโรงพยาบาล

 

ประการที่สี่  การเอาเมดิคัลฮับไปตั้งในโรงเรียนแพทย์ ส่งผลดีผลเสียต่อการผลิตแพทย์อย่างไร

 

                โรงเรียนแพทย์คือหัวใจห้องสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เพราะมีหน้าที่ในการผลิตแพทย์ออกมาทำหน้าที่เป็นหมอที่ดีของสังคม มีจริยธรรม มีความรู้ มีเหตุผล มีความรับผิดชอบ เข้าใจสภาพสังคมและที่สำคัญ คือ มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุ่มเทให้เขาทุกคนพ้นจากความเจ็บป่วยไม่ว่ารวยหรือจน แต่เมดิคัลฮับมีแนวโน้มที่จะเน้นรักษาคนต่างชาติและคนรวยเป็นสำคัญ  การสั่งตรวจเกินจำเป็นเกินมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อการหารายได้และตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยทั้งๆ ที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เป็นปกติของการแพทย์ที่เห็นสุขภาพเป็นสินค้า การมีสองมาตรฐานในการรักษา 

 

                รวมทั้งการที่นักศึกษาจะได้เห็นวิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ตลอด ๖ ปีในโรงเรียนแพทย์ เช่นนี้แล้วจะสามารถสอนแพทย์ให้มีจริยธรรม มีความมีเหตุมีผล มีความเสียสละ มีอุดมคติในการรับใช้สังคมได้อย่างไร

 

                หากจะตั้งเมดิคัลฮับเพื่อการหารายได้เข้าประเทศจริงๆ  เราหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจริงๆ  ทรัพยากรด้านการบริการสุขภาพมีเหลือเฟือแล้วจริงๆ  ก็ควรตั้งโรงพยาบาลพิเศษขึ้นมาเพื่อการนี้  แล้วจัดบริการแข่งกับเอกชน แต่ต้องไม่ไปตั้งในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสอนแพทย์ให้มีอุดมคติของการดูแลผู้ป่วยโดยไม่แบ่งแยก  การเรียนรู้ด้วยการซึมซาบในวิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ที่ซึมลึกเข้าสู่โรงเรียนแพทย์แล้วนั้น คือหายนะที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งของระบบแพทยศาสตร์ศึกษาในปัจจุบัน

 

                บทสรุปของเมดิคัลฮับ  คือ การแปรรูปโรงพยาบาลไทยสู่การเป็นสองมาตรฐาน

 

                จากบทวิเคราะห์ทั้ง 4 ประการ  น่าจะพอเห็นชัดเจนว่า  เมดิคัลฮับยืนในมุมที่เห็นสุขภาพเป็นสินค้าที่ขายได้ทำกำไรได้  เมดิคัลฮับมีแนวโน้มที่จะนำพาโรงพยาบาลของรัฐที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะไปสู่การเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มุ่งแสวงหาผลกำไรในอนาคต   เมดิคัลฮับจะทำให้เกิดระบบบริการสองมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และเมดิคัลฮับในโรงเรียนแพทย์จะทำให้วิถีแห่งแพทย์พาณิชย์ซึมลึกสู่นักศึกษาแพทย์จนสูญเสียอัตลักษณ์และอุดมคติของการเป็นแพทย์ที่ดี  ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมถึงปัญหาผลข้างเคียงที่จะตามมาจากปัญหาสมองไหลกลับจากชนบทสู่เมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากการเข้าถึงบริการที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ปัญหาการเสียดุลการค้าจากการนำเข้าเทคโนโลยีราคาแพงที่ไม่สมเหตุผลทางการแพทย์ เป็นต้น

 

                หากเราไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้า หรือ ปตท.  และไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปมหาวิทยาลัยของรัฐ  ก็ไม่เห็นว่ามีเหตุผลใดที่ควรจะเห็นด้วยกับการแปรรูปโรงพยาบาลของรัฐหรือโรงเรียนแพทย์ของรัฐในนามของ เมดิคัลฮับ เพราะเป็นตรรกะอันเดียวกัน

 

                หากคนไทยจะมุ่งหวังให้สุขภาพไม่ใช่สินค้า ไม่ต้องการการแพทย์สองมาตรฐาน ประเทศไทยก็ต้องหยุดนโยบายในการสนับสนุนให้โรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเมดิคัลฮับโดยทันที   เพราะหากก้าวพลาดไปอีก แล้วจะกู่ไม่กลับ วันนี้ยังไม่สายจนเกินไป

 

 

 

มุมมองการศึกษา

 

 

                โรงเรียนแพทย์และผลผลิตในปัจจุบัน ปี ๒๕๕๒ ประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์ ๑๗ แห่ง และมีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก ในสังกัดโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข อีก ๓๐ แห่ง ร่วมกันผลิตบัณฑิตแพทย์ในทุกโครงการ ทั้งการรับกลางจากระบบ admission,การรับตรงผ่านกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ระบบโควตาตามภูมิภาค โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งแพทย์ (ODOD) นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเอง เช่น โครงการจุฬา-ภูมิพล โอลิมปิกวิชาการชีววิทยา เป็นต้น รวมปีละประมาณ ๒,๔๔๐ คน

 

                หลักสูตรแพทย์ในปัจจุบันกำหนดให้บัณฑิตแพทย์ทุกคนจากทุกโครงการต้องฝึกเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลจังหวัด ๑ ปี และใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนอีก ๒ ปี ยกเว้นบัณฑิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์เอกชน ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวคือ มหาวิทยาลัยรังสิต (กำลังการผลิต ๑๐๐ คน)

 

                ด้วยกำลังการผลิตปัจจุบันจะทำให้ปี ๒๕๕๕ เป็นปีแรกที่ตัวเลขรวมของแพทย์ในประเทศไทยสูงกว่าความต้องการที่คาดการณ์โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรของประเทศไทย ควรอยู่ที่ ๑ : ๑,๘๐๐ กล่าวคือคาดว่าจะมีแพทย์ทั้งสิ้น ๔๒,๑๔๑ คน ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ ๔๐,๘๗๘ คน ส่วนจำนวนแพทย์ในปี ๒๕๕๒ อยู่ที่ ๓๔,๘๒๑ ความต้องการ ๔๐,๐๙๕ คน (สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ คำนวณจากฐานตัวเลขจากแผนแม่บทกำลังคนด้านสาธารณสุขปี ๒๕๔๖)

 

                อย่างไรก็ดี จำนวนรวมของแพทย์ที่อาจเพิ่มมากจนเกินความต้องการที่คาดการณ์ตามสัดส่วนประชากรไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นปัญหาการขาดแคลนในพื้นที่ชนบท เนื่องจากค่านิยมของแพทย์ไทยส่วนมากมีความต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทาง โดยในระยะหลังพบว่ามีแพทย์เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางมากกว่าจำนวนแพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มพูนทักษะไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท เช่นปี ๒๕๕๐ มีแพทย์เข้าสู่ระบบด้วยการใช้ทุนในชนบทเพียง ๑,๒๙๑ คน (กำลังการผลิตแพทยศาสตรบัณฑิตในปี  ๒๕๕๐ อยู่ที่ ๑,๕๗๘ คน) ขณะที่มีแพทย์เข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทางในปีเดียวกันเป็นจำนวนสูงถึง ๑,๔๒๐ คน ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์จำนวนมากไหลออกจากชนบทเข้าไปทำงานในเมืองในที่สุด

 

                แม้ผลการประชุมแพทยศาสตร์ศึกษาครั้งที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๔๔) จะกำหนด สัดส่วนแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางที่  ๕๐  : ๕๐ แต่ในทางปฏิบัติจริงยังไม่สามารถทำได้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี ๒๕๔๗ ระบุว่ามีแพทย์เฉพาะทางมากถึงร้อยละ ๗๗.๖๘ ของแพทย์ทั้งหมด

 

                นอกจากนี้ยังพบว่าสถานบริการสุขภาพเอกชนมีความต้องการแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากนโยบายการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพแห่งภูมิภาค มีรายงานวิจัยคาดการณ์ความต้องการแพทย์ของคนไข้ต่างชาติว่าจะเพิ่มขึ้นจาก ๓๔๕-๔๘๐ คน ในปี ๒๕๕๐ เป็น ๔๗๗-๗๓๒ คนในปี ๒๕๕๔, ๔๓๕-๗๒๖ คนในปี ๒๕๕๖ และ ๕๒๘-๙๐๙ คนในปี ๒๕๕๘

 

                โรงเรียนแพทย์ชั้นนำของประเทศไทยทั้งคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความสนใจในการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษานานาชาติตั้งแต่ประมาณ ๑๐ ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเปิดได้เนื่องจากขาดความพร้อม ในด้านศักยภาพของตนเอง โดยเฉพาะในส่วนของตัวคณาจารย์ แต่ก็มีความพยายามในการเตรียมความพร้อมมาตลอด นอกจากนี้แพทยสภาก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษานานาชาติ ซึ่งต้องเรียนและสอนเป็นภาษาอังกฤษ การประเมินหลักสูตรในปัจจุบัน (หากโรงเรียนแพทย์แห่งใดประสงค์จะเปิด) จึงยังต้องใช้เกณฑ์มาตรฐาน ของหลักสูตรภาษาไทยในการพิจารณาสถานการณ์แพทย์สะท้อนความพร้อมเปิดหลักสูตร

 

                นพ.ทินกร โนรี สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณสุขระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า ก่อนที่จะตอบคำถามว่าวันนี้เราพร้อมหรือยังกับหลักสูตรแพทย์นานาชาตินั้น คงต้องมามองถึงสถานการณ์แพทย์ในประเทศไทยกันก่อน โดยมีการถามกันมากถึงจำนวนแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งผู้ที่จะตอบได้ดีคือแพทยสภาตามจำนวนแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา โดยคาดว่าในปี ๒๕๔๙ มีจำนวนประมาณ ๓๓, ๐๐๐  คน จากจำนวนนี้ถามว่าประเทศไทยขาดแคลนแพทย์หรือไม่นั้นต้องดูจากการกระจายแพทย์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี  ๒๕๔๘ พบว่า แพทย์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในภาคกลาง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นส่วนมาก และขาดแคลนอย่างมากในภาคอีสาน

 

                อย่างไรก็ตาม จากแผนแม่บทบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขในปี ๒๕๔๖ ได้กำหนดให้แพทย์  ๑ คนต่อประชากร ๑, ๘๐๐  คน โดยในเขตกรุงเทพฯ แพทย์ ๑ คนต่อประชากร  ๘๐๐  คน ภาคอีสาน แพทย์ 1 คนต่อประชากร ๗, ๐๐๐  คน และถ้าเป็นระดับจังหวัด ตัวอย่างเช่น จ.ศรีสะเกษ แพทย์ ๑ คนต่อประชากร ๑๐,๐๐๐คน ซึ่งจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก แสดงถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ว่ายังคงอยู่

 

                นพ.ทินกร กล่าวอีกว่า จำนวนแพทย์ไทยตอนนี้กล่าวได้ว่ามีจำนวนไม่เพียงพอกับทั้งประเทศ หากเทียบกับประเทศที่มีฐานะดี มีจีดีพีใกล้เคียงกับประเทศไทย ประกอบกับการกระจายตัวของแพทย์มีปัญหา แม้กำลังการผลิตจะอยู่ที่ ๒,๐๐๐ คนต่อปี แต่ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้าจะมีแนวคิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ด้วยการรับนักศึกษาต่างชาติหรือสอนนักศึกษาไทยด้วยภาษาต่างชาติจะเป็นการแก้ปัญหาในจุดไหน ระหว่างโลกาภิวัตน์ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในประชาคมโลกและอาเซียนกับสุขภาพคนไทย ต้องเลือกหรือสามารถดำเนินการควบคู่ไปทั้ง ๒ อย่างได้

 

                ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำเรื่องนี้เข้ามา และเป็นคณะแรกที่ได้นำเสนอหลักสูตร แพทยศาสตร์ศึกษานานาชาติเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับสังคมไทย โดย มศว มีโอกาสทำร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งโปรแกรมการศึกษาที่ได้ดีไซน์ขึ้นนั้นเพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ให้เกิดมีความสมบูรณ์และมีความพร้อมที่จะยืนอยู่บนเวทีนานาชาติได้อย่างสง่างาม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ทางด้านวิชาการ ทางด้านบริหาร หรือขับเคลื่อนนโยบายทางสาธารณสุขในระดับเวทีโลก

 

 

มุมมองผู้ประกอบการธุรกิจโรงพยาบาล

 

 

                นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการเครือโรงพยาบาลพญาไท ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาล เห็นว่า นโยบายรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็น "Medical Hub" หรือศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย เป็นเรื่องที่ดี เพราะได้วางเดิมพันกับธุรกิจโรงพยาบาลไว้ค่อนข้างสูงว่า จะเป็น"Core Business" ในอนาคต จากที่เห็นแนวโน้มการเติบโตในแต่ละปีจากตัวเลขมูลค่าตลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจำนวนลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาล และหากมีแรงหนุนจากนโยบายรัฐบาล ที่คิดจะให้ไทยเป็น "Medical Hub" หรือศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียแล้ว เท่ากับเป็นแรงเสริมที่จะเคลื่อนธุรกิจนี้ให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น

 

                "ความจริง เรื่องฮับสุขภาพ ผมอยากให้ภาครัฐ และภาคสื่อมวลชนทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร เห็นความสำคัญเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวิชั่นที่เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก แม้ว่าวันนี้ ผู้คนอาจจะพูดกันน้อย โดยอาจคิดว่าเป็นได้เพียงนามธรรมเท่านั้น...ผมอยากบอกว่า เมืองไทยเป็นฮับได้ เพราะเรามีจุดแข็งทางด้านสุขภาพ ที่ผ่านมาจะสังเกตเห็นว่ามีผู้นำของหลายประเทศ มีพระราชาของหลายประเทศเข้ามาใช้บริการในประเทศไทย และได้รับการชื่นชมจากบรรดาประเทศเหล่านั้น....”

 

                นายวิชัย ยังบอกอีกว่า หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่นสิงคโปร์ที่ดำเนินนโยบายคล้ายไทยในเรื่องนี้ จะเห็นว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก โดยประกาศเป็นวาระแห่งชาติ และประกาศเป็นคู่แข่งไทยในด้านสาธารณสุขอีกด้วย และสิ่งที่สิงคโปร์ดำเนินการเป็นรูปธรรม คือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องการสร้างบุคลากร เรื่องภาษีนำเข้าเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ที่มีความชัดเจนมาก

 

                อย่างไรก็ตาม หากจุดวัดการแพ้ชนะ อยู่ที่จำนวนผู้มาใช้บริการ และรายรับจากค่ารักษาพยาบาล ที่ใช้เป็น 2 ดัชนีวัดสำคัญ จะพบว่า วันนี้ ไทยยังได้เปรียบสิงคโปร์อยู่หลายปัจจัย แต่ก็ไม่ควรประมาทอย่างยิ่ง เพราะหากไทยนิ่งหรือชะล่าใจในศักยภาพเกินไป ก็อาจเสียผลประโยชน์ที่พึงได้ไปมหาศาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: