TRIPsจากอุรุกวัยสู่ไทยแลนด์

3 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 5683 ครั้ง


 

                การเจรจารอบอุรุกวัยในช่วงแรกเป็นไปอย่างยากลำบาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการเจรจาในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญานี้เอง เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนามีความเห็นและแนวคิดที่ต่างกัน เรื่องสิทธิบัตรเป็นประเด็นหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ มีความเห็นขัดแย้งกันมาก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาต้องการให้มีการคุ้มครองการประดิษฐ์ในทุกสาขาเทคโนโลยี แต่กลุ่มประชาคมยุโรปต้องการให้ยกเว้นการประดิษฐ์ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาก็คัดค้านในการให้ความคุ้มครองแก่สิทธิบัตรยารักษาโรค

                จากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลให้การเจรจาดำเนินไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2534 ได้มีการเสนอร่างกรรมสารสุดท้ายรวบรวมผลการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย (Draft Final Act Embodying the Result of the Uruguay Round of Multilateral Trade Negotiation) หรือ Dunkel Draft และนำไปสู่ข้อสรุปในการเจรจารอบอุรุกวัยได้สำเร็จ โดยประเทศภาคีของข้อตกลงแกตต์ได้ร่วมลงนามรับรองกรรมสารสุดท้ายในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2537 เพื่อจัดตั้งองค์การการค้าโลก และเพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ ในประเด็นการเจรจาลงไปในภาคผนวกของข้อตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลก ซึ่งข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้า (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights - TRIPs) ก็ได้ถูกเพิ่มเข้าเป็นภาคผนวก 1C ของข้อตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลกดังกล่าว (Marrakesh Agreement Establishing the World Trade Organization)

 

 

ขอบเขตและวัตถุประสงค์

 

(1)  เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

                   ข้อตกลง TRIPs มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไว้ตายตัว แต่ข้อตกลง TRIPs มีลักษณะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ (Minimum Standard) ซึ่งกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลกจะต้องให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินทางปัญญาไม่น้อยไปกว่าที่ได้กำหนดไว้ แต่ละประเทศอาจให้ความคุ้มครองสูงกว่ามาตรฐานของ TRIPs ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขคือต้องไม่ขัดต่อหลักการและข้อกำหนดในข้อตกลง TRIPs โดยข้อตกลง TRIPs มิได้กำหนดว่าประเทศต่าง ๆ จะต้องใช้วิธีการใดในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำดังกล่าว ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จึงมีอิสระในการที่จะตัดสินใจว่าจะใช้วิธีการใดในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ข้อตกลง TRIPs

                    นอกจากนี้ข้อตกลง TRIPs ยังมีความสัมพันธ์กับอนุสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น อนุสัญญากรุงปารีส อนุสัญญากรุงเบิร์น ในลักษณะที่เป็นมาตรการเสริมเพื่อให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น บทบัญญัติใน Article 2 ของ TRIPs ซึ่งกำหนดให้มีการนำเอาบทบัญญัติบางส่วนของอนุสัญญากรุงปารีสมาใช้บังคับ และยังกำหนดว่าข้อตกลง TRIPs จะไม่มีผลต่อพันธกรณีที่ประเทศภาคีสมาชิกมีต่อกันอยู่แล้ว ภายใต้อนุสัญญากรุงปารีส อนุสัญญากรุงเบิร์น และอนุสัญญากรุงโรม เป็นต้น

 

(2)  เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะและปัจเจกชน

                     ข้อตกลง TRIPs มีวัตถุประสงค์หลักในการที่จะสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ในระยะยาวของสังคมกับการให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของปัจเจกชนผู้ทำการประดิษฐ์คิดค้น

                     การสร้างสรรค์และประดิษฐ์คิดค้นก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากปราศจากการให้ความคุ้มครองแก่การประดิษฐ์คิดค้นแล้ว นักประดิษฐ์คิดค้นก็จะขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  ๆ ดังนั้นข้อตกลง TRIPs จึงสร้างหลักประกันในการให้ความคุ้มครองแก่การประดิษฐ์คิดค้นใหม่ ๆ โดยผู้ประดิษฐ์คิดค้นสามารถมั่นใจได้ว่าถ้าตนได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วด้วยการลงทุนลงแรง ก็จะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าและเหมาะสม เมื่อมีหลักประกันเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการพัฒนาและเกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อไป

                    นอกจากการให้ความคุ้มครองแก่การประดิษฐ์คิดค้นและผลประโยชน์ของปัจเจกชนแล้ว ข้อตกลง TRIPs ยังก่อให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่สาธารณะ เนื่องจากเงื่อนไขในการขอรับความคุ้มครองภายใต้ข้อตกลง TRIPs นี้กำหนดให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้นจะต้องมีการเปิดเผยรายละเอียด วิธีการ กลไกของสิ่งประดิษฐ์และเทคนิคในการประดิษฐ์ซึ่งบุคคลอื่นสามารถนำไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้แม้ยังอยู่ในระหว่างอายุการให้ความคุ้มครองแก่สิ่งประดิษฐ์นั้นก็ตาม และเมื่อสิ่งประดิษฐ์นั้นสิ้นอายุในการคุ้มครอง บุคคลใด ๆ ก็สามารถที่จะนำสิ่งประดิษฐ์นั้นไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ

                     นอกจากนี้ข้อตกลง TRIPs ยังมีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้และตีความ เพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกสามารถปรับแต่งหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการที่จะมุ่งเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่สังคมได้อีกด้วย

 

 

ภาคีสมาชิกของข้อตกลง TRIPs

 

                     ภาคีสมาชิกของข้อตกลง TRIPs นี้ ก็คือสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization) จำนวน 157 ภาคีสมาชิก นั่นเอง ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538

สามารถดูรายชื่อสมาชิกได้ที่ http://www.wto.org/english/thewto_e/whatis_e/tif_e/org6_e.htm

 

หลักการพื้นฐานของข้อตกลง TRIPs

 

(1)  หลักปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติ (National Treatment)

                   หลักปฏิบัติเยี่ยงคนในชาติภายใต้ข้อตกลง TRIPs นี้มีบัญญัติไว้ใน Article 3 กล่าวคือ ภายใต้ข้อตกลง TRIPs ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องปฏิบัติต่อคนของชาติอื่นเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อคนในชาติของตน คือต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนในชาติและคนต่างชาติไม่ว่าประเทศใด ๆ ในประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งในทางทรัพย์สินทางปัญญานั้นก็คือจะต้องมีการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนต่างชาติในประเทศภาคีสมาชิกไม่น้อยไปกว่าที่ให้แก่คนในชาติ

 

(2)  หลักปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์อย่างยิ่ง (Most-Favored-Nation Treatment – MFN)

หลักนี้บัญญัติไว้ใน Article 4 ของข้อตกลง TRIPs โดยมีหลักการสำคัญคือ หากประเทศภาคีสมาชิกหากประเทศใดให้สิทธิพิเศษแก่คนในชาติของประเทศภาคีสมาชิกอื่น คนในชาติของประเทศภาคีสมาชิกประเทศอื่น ๆ ที่เหลือจะถือว่าได้รับสิทธิพิเศษนั้นด้วยโดยทันทีและโดยไม่มีเงื่อนไข

 

ที่มา  “การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรกับการเข้าถึงยารักษาโรคของประเทศไทยในกรอบของข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวพันกับการค้า” ของ คุณนิชฌาน หัสรังค์ วิทยานิพนธ์ นิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

*******************

 

ต่อยอดจาก TRIPs เป็น TRIPs Plus 

 

                 การเพิ่มมาตรฐานเรื่องสิทธิบัตรให้สูงขึ้น เข้มงวดขึ้นกว่าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ทริปส์พลัส โดยปรับยุทธวิธีทั้งในเวทีองค์การการค้าโลก การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี และการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ดังนี้

 

                 (1) การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีโดย สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป เพื่อให้ประเทศคู่เจรจาต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากกว่าทริปส์ เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยาเกินกว่า 20 ปี จากการอ้างว่าเพื่อชดเชยเวลาที่ล่าช้าจากการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรและขึ้นทะเบียนยา; การใช้มาตรการชายแดนเพื่อยึดจับยาชื่อสามัญทางยาที่ถูกกฎหมายที่อยู่ในระหว่างขนส่ง; การผูกขาดข้อมูลทางยา (Data exclusivity) ชื่อสามัญทางยาซึ่งจะทำให้บริษัทยามีสิทธิขยายอำนาจผูกขาดตลาดด้วยการผูกขาดข้อมูลยาในกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่ว่ายานั้นจะเป็นยาที่จดสิทธิบัตรไว้ในไทยหรือไม่ก็ตาม บริษัทยาข้ามชาติจะสามารถควบคุมข้อมูลการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial Data) ได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงว่ายาต้นแบบนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิผล

                  โดยทั่วไปแล้ว บริษัทผลิตยาชื่อสามัญทางยาจะใช้ตัวยาสำคัญตัวเดียวกับยาต้นแบบมาผลิตเป็นยาได้ ก็ต่อเมื่อสิทธิบัตรของยาต้นแบบหมดอายุแล้วหรือไม่ได้จดสิทธิบัตรไว้ จากนั้นบริษัทยาชื่อสามัญทางยาจะต้องทำการศึกษาชีวสมมูลของยา (Bioequivalent Study) เพื่อพิสูจน์ว่ายานั้นมีคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ โดยที่ไม่ต้องทำการทดลองทางคลินิกซ้ำอีกครั้ง เนื่องจาก การทดลองทางคลินิกซ้ำจัดว่าเป็นการทำผิดจริยธรรมการทำวิจัยในมนุษย์ เนื่องจากทราบอยู่แล้วว่ายาดังกล่าวมีข้อมูลประสิทธิผลในมนุษย์และความปลอดภัยจากการออกตลาดของยาต้นแบบ จึงไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตมนุษย์มาทำการทดลองซ้ำอีกครั้ง ดังนั้น การผูกขาดข้อมูลทางยา จึงเป็นมาตรการกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญทางยา เมื่ออายุสิทธิบัตรยาต้นตำรับสิ้นสุดลง รวมถึงยังเป็นการป้องกันไม่ให้ประเทศต่างๆ นำมาตรการยืดหยุ่นตามข้อตกลงทริปส์มาใช้ เพราะผู้ผลิตยาชื่อสามัญทางยาจะไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ในช่วงเวลาการผูกขาดข้อมูลยา

                  ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่อประเทศ ซึ่งเป็นข้อกังวลว่า การทำข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้การแก้ไขข้อตกลงทริปส์ให้เป็นทริปส์พลัสในการเจรจาการค้าโลกระดับพหุภาคีในเวทีองค์การการค้าโลกเป็นไปได้ง่ายขึ้น

                   สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ อยู่ในสถานะแขวนการเจรจา และประเทศไทยกำลังพัฒนากรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งเราต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

 

                   (2) การเจรจาความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeiting Trade Agreement: ACTA) โดยมีประเทศที่ร่วมเจรจา ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แม็กซิโก โมรอคโค นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ และสหรัฐฯ สรุปเนื้อหาการเจรจาครั้งสุดท้ายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 ประกอบด้วยกลไกและมาตรการต่างๆ ที่จะจำกัดการผลิตยาชื่อสามัญทางยา โดยเฉพาะประเด็นระเบียบศุลกากร ซึ่งในปี 2553 มีผู้ป่วยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากระเบียบศุลกากรของสหภาพยุโรปโดยยาชื่อสามัญทางยาถูกกักที่ท่าเรือในสหภาพยุโรประหว่างการจัดส่งไปประเทศกำลังพัฒนามากถึงกว่า 17 ครั้ง ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่ได้รับยาที่จำเป็น

 

                   (3) สนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร (Patent Co-operation Treaty : PCT) ประเทศไทยได้ลงนามเป็นสมาชิกใน PCT เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 PCT เป็นสนธิสัญญาเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับขั้นตอนขอรับสิทธิบัตร รวมทั้งการตรวจสอบคำขอรับ โดยอาจให้สำนักงานสิทธิบัตรของประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นภาคี ทำหน้าที่ในการรับคำขอและตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรแทนสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศกำลังพัฒนา ส่วนขั้นตอนการออกเอกสารสิทธิบัตรยังเป็นของประเทศสมาชิก

                    แม้ว่า การให้ประเทศต่างๆ มีระบบรับจดและจัดการสิทธิบัตรที่สะดวกมากขึ้น แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการรับจดสิทธิบัตรที่ไม่สมควรจะได้รับความคุ้มครอง และการพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญการประเมินของประเทศต่างๆ ทั้งนี้เพราะประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่ยอมลงทุนพัฒนากำลังคน แต่ไปใช้บริการของบางประเทศแทน

 

                    (4) ระบบสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Evergreening Patent) เป็นกรณีที่ธุรกิจยาต่างชาติ ใช้เล่ห์กลด้วยการเจาะช่องโหว่ หาช่องว่างของกฎหมายเพื่อเอื้อให้มีการผูกขาดตลาดยาได้ยาวนานยิ่งขึ้นกว่าเดิม จากการศึกษาของจิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ ที่ได้วิเคราะห์คำขอจดสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ระหว่าง ปี 2535-2545 พบว่าร้อยละ 72 ไม่ได้เป็นการประดิษฐ์คิดค้นตัวยาใหม่ หากแต่เป็นเพียงการพัฒนาเพียงเล็กน้อยของตัวยาเดิม เรียกกันว่า “ยาต่อท้าย” (Me-too Products) ซึ่งทำในหลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น -นำยาเก่าที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้วมาจดสิทธิบัตรใหม่ โดยอ้างว่า ยาตัวดังกล่าวมีผลในการรักษาอาการอื่นด้วย จึงถือว่าเป็น “ความใหม่ในการรักษา”; -ปรับวิธีการใช้ยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว เช่น จากที่ใช้วันละ 3 ครั้ง มาเป็นวันละ 2 ครั้ง แล้วอ้างว่าเป็น “ความใหม่ในการใช้ยา” หรือมีการดัดแปลงโครงสร้างสารเคมีเพียงเล็กน้อย แต่อ้างว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เป็นต้น

 

                    ทั้งหมดคือ เงื่อนไขที่สร้างขึ้นจากกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีสูงกว่า และพยายามเบียดบังกลุ่มประเทศที่อ่อนด้อย และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนตั้งแต่ข้อตกลงทริปส์ จนถึง ทริปส์ผนวก และต่อไป.....ที่หลายต่อหลายประเทศต้องยินยอมด้วยความกล้ำกลืน

                    ปัจจัยหนึ่งที่จะหยุดยั้งยุทธวิธีหรือเล่ห์กลทางการค้านี้ได้ คือการรู้เท่าทัน สร้างความตื่นตัวของภาคประชาชน เพื่อทำให้นโยบายของรัฐสนับสนุนการเข้าถึงยาของคนไทยทุกคนและให้ความสำคัญต่อสุขภาวะของสังคมไทยมากกว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจ

 

ที่มา www.thaidrugwatch.org

 

 

*******************

 

ความจริงอีกแง่มุมหนึ่งของ TRIPS

                TRIPS กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองขั้นต่ำสำหรับทรัพย์สินทางปัญญาหลายด้าน รวมทั้งสิทธิบัตร ลิขสิทธ์ และเครื่องหมายการค้า ทำให้ประเทศสมาชิก WTO ต้องออกกฎระเบียบรองรับ รวมทั้งกำหนดกระบวนการพิจารณาคดีความด้านทรัพย์สินทางปัญญาในศาลภายในประเทศ ซึ่งทำให้ผู้ทรงสิทธิไม่ว่าจะเป็นคนในชาติหรือคนต่างชาติสามารถยื่นคำร้องขอความคุ้มครองและชดเชยในกรณีที่สิทธิถูกละเมิด และหากประเทศสมาชิก WTO ไม่ปฏิบัติตามความตกลง TRIPS ก็อาจถูกฟ้องร้องตามระบวนการยุติกรณีพิพาทของ WTO

                TRIPS มีหลักการที่จะสร้างความสมดุลระหว่างวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆและการพัฒนาเทคโนโลยี กับการใช้ประโยชน์ของสาธารณชนจากความรู้ใหม่ๆ แต่สาระของความตกลงเน้นน้ำหนักที่การคุ้มครองสิทธิเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าในด้านสิทธิบัตร เมื่อพิจารณาตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การให้ความคุ้มครองอย่างเข้มข้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์สองด้านคือ ในระยะสั้นจะทำให้ผู้ทรงสิทธิมีอำนาจผูกขาดและลดการแข่งขัน ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ และทำให้สินค้าที่ผลิตตามสิทธิบัตรมีราคาสูง แต่ในระยะยาวจะเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา(R&D) เพราะจะทำให้ได้กำไรคุ้มกับการลงทุน และส่งผลต่อเนื่องในการพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาสินค้า แต่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลทางเศรษฐกิจที่ต่างไปเนื่องจากสาเหตุสองประการ คือ

                 (1) ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรสุทธิ (net user) ไม่ใช่ผู้ส่งออกสินค้าที่เป็นผลพวงจาก R&D จึงไม่ได้รับประโยชน์จากกำไรที่เกิดจากการผูกขาดเพราะการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร และในทางตรงกันข้าม ผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาก็เผชิญกับสภาวะที่สินค้านั้นๆมีราคาสูง

                 (2) ตลาดของประเทศกำลังพัฒนามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับความต้องการสินค้าในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษาโรคที่เป็นปัญหาระดับโลกอย่างเช่น มะเร็ง และความดันสูง เป็นต้น ทำให้การดำเนินการเพื่อคุ้มครองสิทธิบัตรของประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจสร้างข้อจูงใจได้มากนักสำหรับการทำ R&D

                  ฉะนั้น ผลระยะสั้นจากการคุ้มครองสิทธิที่ทำให้สินค้าราคาสูงบวกกับการที่ไม่ได้รับประโยชน์ระยะยาวในด้าน R&D หมายถึงการที่ประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มระดับการคุ้มครองสิทธิบัตร และมีผลการศึกษาหลายฉบับที่ชี้ให้เห็นผลในทางลบที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างชัดเจน เช่น ราคายาอาจสูงขึ้นถึง 25-50% หากมีการคุ้มครองสิทธิบัตรยานั้นๆ และมีการศึกษาเปรียบเทียบราคายาบางชนิดในสหรัฐฯและอังกฤษซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง กับราคาในอินเดียและบราซิลซึ่งให้การคุ้มครองต่ำ ปรากฏว่ายาที่ใช้รักษาโรค AIDS ในสองประเทศแรกสูงถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่ในสองประเทศหลัง ราคายาชนิดเดียวกันมีราคาเพียง 200-350 เหรียญสหรัฐฯ แตกต่างกันถึง 4,000 %

 

                  ความตกลง TRIPS ได้วางหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และได้เปิดประเด็นหลายประเด็นที่ไปไกลกว่ากรอบของ WTO ประเด็นสำคัญคือ

                   (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับยา เป็นที่ยอมรับกันว่าประเทศที่ยากจนที่สุดไม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่ม R&D ในระดับโลก แต่ในประเด็นข้อเรียกร้องให้ประเทศที่กำลังพัฒนาที่ใหญ่กว่าหรือรวยกว่ามีส่วนร่วมในการลงทุนด้าน R&D นั้น จนถึงบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปร่วมกันในระดับนานชาติ

                   (2) ประเทศกำลังพัฒนาประสบปัญหามากเกี่ยวกับการระบาดของโรคเมืองร้อน เช่น อหิวาต์ มาเลเรีย โปลิโอ และหัด เป็นต้น ซึ่งการคุ้มครองสิทธิบัตรจะช่วยสร้างแรงจูงใจในการศึกษาวิจัยเพื่อบำบัดรักษา แต่การที่ประเทศกำลังมีตลาดขนาดเล็กและรายได้ต่อหัวต่ำ ก็ไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจมากนัก ขณะนี้ ความสนใจขององค์กรนานาชาติได้มุ่งไปที่การหาหนทางแก้ไขปัญหาของประเทศที่ยากจนที่สุด โดยเฉพาะอัฟริกา ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปจึงไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร

                   (3) ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันมุ่งไปในทิศทางการให้อำนาจผูกขาดแก่ผู้ทรงสิทธิซึ่งเป็นการส่งเสริม R&D แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายสินค้าที่เป็นผลจากสิทธิบัตรและก่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป

 

                    ทรัพย์สินทางปัญญา จึงยังคงเป็นเรื่องสำคัญในการเจรจาระหว่างประเทศ ทั้งในเวที WTO และ FTA ประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป รวมทั้งไทย จำเป็นที่จะต้องตั้งหลักให้ดีเพื่อต่อสู้ป้องกันผลประโยชน์โดยชอบธรรมทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

                    ประเทศไทยนั้น เราได้ยอมรับการจดสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2535 และได้มีการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรให้เป็นไปตามความตกลงทริปส์เรียบร้อยแล้วในปี พ.ศ. 2542 หมายถึงนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ไทยไม่สามารถผลิตหรือนำสั่งยาตัวเดียวกับเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อนำมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าได้อีกต่อไปจะต้องรอจนกว่าสิทธิบัตรหมดอายุ คือ 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทย

 

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/TRIPS

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: