เปิดใจ'ซีอีโอแอลจีที'เดินหน้า‘หวยเครื่อง’ แค่รับจ้างกองสลาก-ขายได้เบอร์ละ75สต. คาด4ปีได้คืน3พันล.-ยันระบบ‘โกง’ไม่ได้

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล, ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 12 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3093 ครั้ง

มหากาพย์หวยออนไลน์ที่ค้างคามาตั้งแต่ปี 2548 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นำโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเป็นที่เรียบร้อย ตามความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

เหตุผลของ ป.ป.ช. ก็คือการนำเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์มาจำหน่ายสลาก 6 หลัก และสลากเลขท้าย 2-3 ตัว ด้วยเหตุผลว่า จะช่วยแก้ปัญหาความต้องการหมายเลขของผู้ซื้อได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ เพราะสามารถซื้อเลขที่ต้องการจากเครื่องจำหน่ายสลากได้ เป็นการแก้ปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา แก้ปัญหาการทุจริตการจัดสรรโควตาให้พ่อค้าคนกลาง และป้องกันการฟอกเงินจากกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

นี่คงเป็นฉากจบที่เซียนหวยต่างรอคอย แต่ผู้ที่น่าจะดีอกดีใจที่สุดกับมติครม.ครั้งนี้ คงหนีไม่พ้น บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (แอลจีที) บริษัทที่รับผิดชอบการติดตั้งและบำรุงรักษาเครื่องจำหน่ายสลาก รวมถึงการออกแบบและดูแลระบบเกมสลาก ที่เซ็นสัญญาไว้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2548 แต่ด้วยเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองต่าง ๆ หวยออนไลน์จึงยืดเยื้อเรื่อยมา จนแอลจีทีต้องตัดสินใจฟ้องศาลปกครองเพื่อบังคับให้สำนักงานสลากฯ ปฏิบัติตามสัญญา

 

แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้าหวยออนไลน์แล้ว พิเศษ ดิศวัฒน์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด (แอลจีที) ยืนยันว่า “เรื่องคดีทุกอย่างก็จบ ถอนฟ้อง” แม้ว่าที่ผ่านมาแอลจีทีจะเสียหายไปกว่า 3,000 ล้านบาทแล้วก็ตาม

 

ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์เจาะลึก พิเศษ ดิศวัฒน์ ผู้บริหารแอลจีที ถึงเส้นทางหวยออนไลน์ ทุกเม็ด ทุกมุม ที่สังคมสงสัย

 

 

ผู้บริหารแอลจีทีแจง ไม่ใช่ ‘หวยออนไลน์’

 

 

พิเศษเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า สิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘หวยออนไลน์’ เป็นการสื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต และซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนกับการกดเอทีเอ็ม ซึ่งพิเศษปฏิเสธว่าไม่ใช่ ถ้าจะเรียกกันให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว ต้องเรียกผลิตภัณฑ์ตัวนี้ว่า การจำหน่ายสลากด้วยเครื่อง ซึ่งเป็นระบบสากลเหมือนในต่างประเทศ คือมีผู้ขายให้ มิใช่ให้ผู้ซื้อไปกดเองหรือซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต

 

 

              “ลักษณะการซื้อสลากผ่านเครื่องจำหน่ายสลากจะมีคนซื้อ คนขาย ไม่ใช่ว่ามีเครื่องอยู่ในร้านสะดวกซื้อ อยากจะขายหวย 24 ชั่วโมงก็ได้ แบบนี้ไม่ใช่ เวลาเราปิดระบบที่บริษัท ทุก ๆ ที่ในประเทศจะขายไม่ได้ ซึ่งช่วยให้ควบคุมได้ง่ายขึ้น”

 

 

เมื่อถามว่า บริษัท ล็อกซเล่ย์ คิดอย่างไรจึงจับมือกับจีเท็คกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้ พิเศษออกตัวว่า เขาไม่สามารถตอบแทนผู้บริหารล็อกซเล่ย์ได้ แต่ขอตอบตามความเข้าใจของตนเองว่า ณ ขณะนั้น ผู้บริหารล็อกซเล่ย์ คงมองเห็นโอกาสว่า ธุรกิจเกมสลากน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคต เพราะจะสร้างความสมดุลและความเสมอภาคให้แก่ผู้ซื้อ ช่วยแก้ปัญหาการขายสลากเกินราคา ซึ่งเป็นประโยชน์ในภาพรวม ส่วนการที่เลือกร่วมทุนกับจีเท็ค ก็เพราะเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในสายธุรกิจนี้ และมีส่วนแบ่งตลาดเกมมิ่งในระดับโลกถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นบริษัทที่ออกแบบเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ปี 2548 หลังจากแอลจีทีตกลงเซ็นสัญญากับสำนักงานสลากฯ เป็นที่เรียบร้อย แอลจีทีจึงเดินหน้าติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากจำนวน 3,000 เครื่อง จนล่วงเลยถึงปี 2549 การติดตั้งใกล้เสร็จสิ้นแล้ว ก็เกิดวิกฤตทางการเมืองและรัฐประหาร นโยบายการจำหน่ายสลากด้วยเครื่อง จึงถูกระงับไปและถูกตีความว่าผิดกฎหมายในภายหลัง เนื่องจากหวยบนดินในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรูปแบบสลากกินรวบไม่ใช่สลากกินแบ่งตามที่กฎหมายกำหนด

 

 

กฤษฎีกาชี้กองสลากขายหวยบนดินได้

 

 

ผลพวงจากการเมืองทำให้สัญญาระหว่างแอลจีทีและสำนักงานสลากฯ ถูกจับตา ตั้งคำถาม และถูกส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตีความในประเด็นว่า สำนักงานสลากฯ สามารถจำหน่ายสลากผ่านเครื่องได้หรือไม่ อีกประเด็นคือ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือไม่

 

ประเด็นแรกกฤษฎีกาตอบกลับมาว่า สำนักงานสลากฯ มีอำนาจออกสลากกินแบ่งรัฐบาลรูปแบบใดก็ได้ แต่การจัดสรรเงิน ต้องเป็นไปตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ที่ระบุว่า เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องจัดสรรเป็น 3 ส่วน คือ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินรางวัล 28 เปอร์เซ็นต์เข้ารัฐ และอีก 12 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ

 

เมื่อเข้าสู่ยุคของพรรคพลังประชาชน จึงมีการหยิบคำตีความของกฤษฎีกามาใช้ เพื่อเดินหน้านโยบายการขายสลากด้วยเครื่องต่อ ปี 2551 สำนักงานสลากฯ จึงสั่งให้ทางแอลจีทีแก้ไข พัฒนา ซอฟต์แวร์จากเดิมที่ทำไว้เป็นลักษณะสลากกินรวบ ให้เป็นโครงสร้างของสลากกินแบ่ง ตามที่กฎหมายกำหนด ทว่า ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายอีกครั้ง ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ โครงการจึงถูกชะลอออกไปอีก

 

พิเศษบอกว่า หากรัฐบาลมีนโยบายที่จำหน่ายสลากด้วยเครื่อง ทางแอลจีทีก็พร้อมที่จะจัดการตามสัญญา เพราะได้ดำเนินการปรับปรุงซอฟต์แวร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งเครื่องจำหน่ายสลาก ทางแอลจีทีก็ได้ติดตั้งทั่วประเทศแล้วเช่นกัน

 

 

ย้ำเป็นสัญญาจ้างงานได้เบอร์ละ 75 ส.ต.

 

ส่วนประเด็นที่ว่า สัญญาระหว่างแอลจีทีกับกับสำนักงานสลากฯ กฤษฎีกาก็ชี้ว่า ไม่ใช่สัญญาร่วมทุน แต่เป็นสัญญาจ้างงาน พิเศษอธิบายว่า

 

 

                   “สัญญาร่วมทุนกับจ้างงานต่างกันอย่างไร ต้องไปดูที่ตัวรายได้ของบริษัท ที่เราบอกว่าเป็นการจ้างบริการเพราะแอลจีทีได้ 0.75 เปอร์เซ็นต์ ง่ายๆ คือ 75 สตางค์ต่อ 1 รายการจำหน่าย สลากใบหนึ่งรับได้ 1-5 รายการจำหน่าย แต่ละรายการจำหน่ายขึ้นกับคนซื้อว่าจะซื้อเท่าไหร่ ถ้าซื้อ 20 บาท บริษัทก็ได้ 75 สตางค์ ซื้อ 100 บาท บริษัทก็ได้ 75 สตางค์ ไม่ว่าผู้เล่นจะเดิมพันเงินสูงแค่ไหน บริษัทก็ได้ 75 สตางค์ต่อหนึ่งรายการ เพราะนี่คือการจ้างบริการต่อ 1 รายการจำหน่าย จึงถูกตีความว่าเป็นการจ้างบริการ”

 

 

ขณะที่ถ้าเป็นสัญญาร่วมทุน เอกชนจะมีรายได้เป็นเปอร์เซ็นต์แปรผันตามกับยอดจำหน่าย เช่น ถ้ายอดจำหน่ายจะกี่รายการแก้ตามมียอดรวม 100 บาท ถ้าข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์คือ 3 เปอร์เซ็นต์ เอกชนจะมีรายได้ 3 บาท แต่ถ้ายอดจำหน่ายเท่ากัน 500 บาท รายได้ส่วนนี้ จะเพิ่มเป็น 15 บาท เป็นต้น ซึ่งเกณฑ์รายได้ตรงนี้ แตกต่างจากสัญญาจ้างชัดเจน

 

พิเศษชี้แจงกรณีความเข้าใจผิดที่คิดว่า แอลจีทีเป็นเจ้ามือเสียเองว่า แอลจีทีไม่ใช่เจ้ามือ เป็นเพียงผู้รับจ้างให้บริการ ทำระบบเกมสลากและติดตั้งเครื่องจำหน่ายสลากให้ ตามคำสั่งของสำนักงานสลากฯ เท่านั้น ส่วนใครจะเป็นตัวแทนจำหน่ายทางสำนักงานสลากฯ เป็นผู้คัดเลือก แล้วส่งรายชื่อให้แก่ทางบริษัท เพื่อให้ทางบริษัทไปดำเนินการติดตั้ง ตามคำสั่งของสำนักงานสลากฯ ซึ่งขณะนี้ติดตั้งไปแล้วประมาณ 6,000 เครื่อง เขาย้ำว่า เจ้ามือคือสำนักงานสลากฯ ไม่ใช่แอลจีที

 

 

               “เรายังมีการบริการหลังการขายด้วย เช่น การบำรุงรักษาเครื่อง รวมถึงพวกวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ อย่างกระดาษที่ใช้ในการพิมพ์ เราก็เป็นผู้จัดหาให้ สำนักงานสลากฯ ไม่ต้องลงทุนในส่วนนี้เลย ทางบริษัทเป็นคนทำให้หมด ตั้งแต่ระบบ การติดตั้งเครื่อง การบำรุงรักษา ไปจนถึงวัสดุสิ้นเปลือง”

 

 

ที่ผ่านมาหลังจากนโยบายถูกระงับ เครื่องที่เคยนำไปติดตั้งให้แก่ตัวแทนจำหน่ายหลายแห่งถูกเก็บลงกล่อง โดยแอลจีทีได้ลงไปตรวจสอบเป็นระยะ ๆ เพื่อดูความพร้อมของตัวเครื่อง แน่นอนว่าต้องมีบางส่วนที่เสีย ซึ่งแอลจีทีก็จัดการซ่อมแซมให้ตามสัญญา

 

ส่วนเครื่องจำหน่ายสลากอีก 6,000 เครื่องที่เหลือจะติดตั้งที่ไหน อย่างไร พิเศษกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทางนโยบายของสำนักงานสลากฯว่า หลังจากนี้จะให้แอลจีทีติดตั้งเครื่องอีกกี่เครื่อง และจุดไหนบ้าง เนื่องจากส่วนนี้แอลจีทีไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติตาม

 

จีเท็คออกแบบระบบ ยันไม่มีใครโกงระบบได้

 

 

ในด้านเทคโนโลยี พิเศษบอกว่า เกมสลากของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน การออกแบบซอฟต์แวร์ จึงต้องทำให้สอดคล้องกับเกมของแต่ละประเทศ จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ออกแบบเกมออกมา ให้ตรงกับรูปแบบที่กองสลากกำหนดเอาไว้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของจีเท็คที่ต้องดูตรงนี้ร่วมกับทีมของล็อกซเล่ย์ เช่น สำนักงานสลากฯ จะทำสลาก 2 ตัว 3 ตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายปี 2517 โครงสร้างเงินรางวัลต้องเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ทางแอลจีทีก็ต้องออกแบบซอฟต์แวร์ให้เป็นไปตามโครงสร้างการจัดสรรเงินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจีเท็คมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้ว

 

ตัวเครื่องที่ติดตั้งให้แก่ตัวแทนจำหน่าย เป็นหน้าจอเป็นทัชสกรีน ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เปรียบเหมือนเป็นตัวรับข้อมูลที่ไปติดตั้งไว้ แต่ตัวหลักจริงๆ อยู่ที่ศูนย์ประมวลผลหลักที่ บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท (CAT) โดยข้อมูลจะถูกส่งจากศูนย์ประมวลผลหลัก ไปยังเครื่องจำหน่ายที่เป็นเหมือนเป็นเครื่องรับ-ส่งธรรมดา เมื่อเกิดการซื้อ-ขายขึ้น ก็จะส่งข้อมูลการซื้อ-ขายกลับมาที่ศูนย์ประมวลผลหลัก ซึ่งจะทำงานพร้อมกันไปกับศูนย์ประมวลผลสำรองที่ จ.นนทบุรี ส่วนรูปแบบเกมนั้น ก็ขึ้นกับทางสำนักงานสลากฯ ว่าต้องการรูปแบบเกมชนิดใด ซึ่งทางแอลจีทียืนยันว่าสามารถทำได้หมด

 

 

                 “เช่น เกม 3 ตัวตรง สมมุตมียอดรวมที่คนแทงเข้ามาทั้งหมดคือ 1 ล้านบาท 60 เปอร์เซ็นต์คือ 600,000 บาท ก็จะถูกดึงออกมาตั้งเป็นเงินรางวัล ทีนี้ก็ต้องดูว่าเลขที่ออกมียอดซื้อเท่าไหร่ สมมติถ้าเลขที่ออกมียอดซื้อเข้ามา 60 บาท เขาก็เอา 600,000 ตั้ง เอา 60 บาทไปหาร ก็จะได้อัตราการจ่ายต่อ 1 บาท เท่ากับบาทละ 10,000 บาท นี่เป็นหลักการคร่าว ๆ เพราะยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก เช่น รางวัลทั่วไปตั้งไว้ 57 เปอร์เซ็นต์ รางวัลพิเศษ 2 เปอร์เซ็นต์ รางวัลแจ็กพ็อต 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ตรงนี้อธิบายไปจะซับซ้อน เอาเป็นง่าย ๆ ว่า เป็นรางวัลผันแปรสำหรับรางวัลทั่วไป รางวัลพิเศษก็ 2 เปอร์เซ็นต์ หมายถึง ยอดจำหน่ายทุก ๆ 10 ล้านบาท จะมีคนถูกรางวัลพิเศษ 1 คน ประมาณ 200,000 บาท รางวัลแจ็กพ็อต 1 รางวัล สมมุตยอดขาย 10 ล้านบาท 1 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ 100,000 บาท ถ้ายอดขาย 1,000 ล้าน 1 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ 10 ล้านบาท ซึ่งตัวรางวัลแจ็กพ็อต จะเป็นตัวปัดเศษ เพราะตัวรางวัลทั่วไป 57 เปอร์เซ็นต์ บางครั้งหารออกมาแล้วไม่ลงตัว เศษจึงต้องไป เช่น 1 บาท จ่าย 501 บาท 27 สตางค์ 27 สตางค์ จ่ายไม่ได้ ก็ต้องจ่ายที่ 501 บาท 27 สตางค์ก็ปัดมาที่รางวัลแจ็กพ็อต แต่เมื่อนำรางวัลทั้ง 3 มารวมกันแล้วจะได้เท่ากับ 60 เปอร์เซ็นต์พอดีตามกฎหมาย” พิเศษอธิบาย

 

 

ตรงนี้แตกต่างจากหวยบนดินยุครัฐบาลไทยรักไทยที่เป็นสลากกินรวบ หมายถึงยิ่งแทงมาก ก็ได้มาก จ่ายเงินรางวัลคงที่ พิเศษอธิบายเพิ่มเติมว่า

 

             “มันจะมีเกมย่อยทั้งหมด 5 เกม แต่ละเกมเป็นอิสระต่อกัน เกม 3 ตัวตรงก็จะดูยอดจำหน่ายเฉพาะเกม 3 ตัวตรง แล้วดึง 60 เปอร์เซ็นต์ออกมาตั้งเป็นรางวัลของเกม 3 ตัวตรง เลขที่ออกมีอัตราการจ่ายเท่าไหร่ก็เอามาหารกลับ เกม 3 ตัวโต๊ด หรือเกมอื่นๆ ก็ทำเหมือนกัน”

 

 

เมื่อถามว่าสามารถโกงระบบนี้ได้หรือไม่ พิเศษตอบว่า เขาเชื่อว่าคงมีคนทั่วโลกที่พยายามโกงระบบนี้มาตลอด แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครสามารถแฮ็กเทคโนโลยีของจีเท็คได้ และนอกจากตัวระบบแล้ว กระดาษที่ใช้พิมพ์สลากก็เป็นกระดาษ ที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย  ไม่ใช่กระดาษทั่วไป การพิมพ์พิมพ์ด้วยระบบความร้อน ถ้านำไปถ่ายเอกสาร ฉบับสำเนาที่ออกมาจะกลายเป็นสีดำ หมึกที่ใช้พิมพ์ก็สามารถคงอยู่ได้เป็นปี ๆ กล่าวได้ว่า ในตัวสลากเองก็มีระบบรักษาความปลอดภัยอยู่ด้วย

 

 

กองสลากแบ่ง 7.5 เปอร์เซ็นต์ ให้ตัวแทนจำหน่าย

 

 

               “วิธีซื้อที่คนมักเข้าใจว่า ใครจะไปกดซื้อเมื่อไหร่ก็ได้นั้น ไม่เป็นความจริง แต่ตัวแทนจะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยทางผู้ซื้อแจ้งหมายเลขหรือกรอกตัวเลขที่ต้องการ บนใบเลือกเลขที่มีอยู่ตามจุดติดตั้ง แล้วนำใบเลือกเลขไปให้ตัวแทนดำเนินการ โดยผู้ซื้อคนหนึ่งสามารถซื้อได้มากสุด 5 รายการหรือหมายเลขต่อสลาก 1 ใบ ถ้าต้องการซื้อ 10 รายการ ก็ต้องซื้อ 2 ใบ วิธีการนี้ถือเป็นมาตรการขั้นต้นที่จะป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันประเภทนี้ ซึ่งพิเศษกล่าวว่ามาตรการอื่นๆ ทางสำนักงานสลากฯ ต้องเป็นผู้กำหนดเอง เนื่องจากทางแอลจีทีไม่มีอำนาจในส่วนนี้”

 

 

กรณีต้องการตรวจรางวัล ผู้ซื้อสลากสามารถนำไปตรวจที่ใดก็ได้ที่มีตัวแทนจำหน่าย โดยตัวแทนจำหน่ายจะนำสลากใส่เข้าไปในตัวเครื่องเพื่อตรวจผลรางวัล ไม่จำเป็นว่าต้องตรวจกับตัวแทนจำหน่ายที่ซื้อสลากเพียงแห่งเดียว ส่วนการขึ้นรางวัลทางสำนักงานสลากฯ จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกติกาออกมา แต่ทางพิเศษยกตัวอย่างว่า สมมติถ้าถูกต่ำกว่า 200,000 บาท ให้รับเงินที่ตัวแทน แล้วตัวแทนก็ไปเรียกเก็บจากกองสลากต่อพร้อมกับค่าตอบแทนการจ่ายรางวัล แต่ถ้ามากกว่า 200,000 บาท ก็อาจต้องไปรับที่สำนักงานสลากฯ โดยตรง

 

 

              “การแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างสำนักงานสลากฯ กับตัวแทนจำหน่าย ผมทราบมาว่า เงิน 12 เปอร์เซ็นต์ในส่วนของค่าบริหารจัดการ จะแบ่ง 7.5 เปอร์เซ็นต์ให้กับตัวแทนจำหน่าย ยกตัวอย่าง ถ้าตัวแทนจำหน่ายเจ้าหนึ่งขายได้งวดหนึ่ง 3 แสนบาท คูณ 2 เพราะเดือนหนึ่งมี 2 งวด เท่ากับ 6 แสน ก็เอา 7.5 เปอร์เซ็นต์มาคูณ ก็จะได้ประมาณ 45,000 ต่อเดือน แต่อนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับสำนักงานสลากฯ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ย้ำเด็ก-เยาวชนกองสลากต้องจัดการ

 

 

การจำหน่ายสลากด้วยเครื่องนับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวเรื่องหนึ่งในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางสังคมต่อเด็กและเยาวชนที่อาจจะเกิดตามมา เพราะสิ่งนี้กำลังจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการพนันได้ง่ายดายขึ้นกว่าเดิม

 

ประเด็นนี้ พิเศษกล่าวว่า ทางสำนักงานสลากฯ ได้วางมาตรการไว้แล้ว เช่น จุดติดตั้งเครื่องจำหน่ายต้องไม่อยู่ใกล้วัดและโรงเรียน ตัวแทนจำหน่ายต้องไม่ขายให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นต้น ซึ่งหากตัวแทนจำหน่ายคนใดละเมิดระเบียบที่วางไว้ ทางสำนักงานสลากฯ จะมีบทลงโทษตามมา

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการข้างต้นไม่ใช่เครื่องการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าจะปฏิบัติได้ผล สถานการณ์ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างการนำใบเลือกเลขมากรอกแล้วฝากผู้ใหญ่ซื้อให้ดูจะเป็นเรื่องที่คงต้องเกิดขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถจัดการได้ พิเศษยอมรับว่า เทคโนโลยีจัดการเรื่องทำนองนี้ไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

              “ผมจึงบอกว่าการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องต้องมีคนขาย ไม่ได้ซื้อเองหรือขายทางอินเตอร์เน็ต ดังนั้น วิธีการควบคุมตั้งแต่ต้น ตัวแทนจำหน่ายเองต้องมีความรับผิดชอบที่จะไม่ขายให้เยาวชน ถ้าเด็กมาซื้อเอง ปฏิเสธการซื้อขายได้ เพราะเห็นตัวตน แต่ถ้าฝากใครมาซื้อ ควบคุมไม่ได้หรอกด้วยกลไกแบบนี้ ซึ่งการป้องกันตรงนี้ ผมว่าเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนครับที่ต้องร่วมกันรณรงค์ ทางสำนักงานสลากฯ ก็ใส่ใจตรงนี้เหมือนกัน เกรงว่าจะมีเยาวชนเข้ามาเล่น สำนักงานสลากฯ ก็ต้องวางมาตรการเพื่อควบคุมดูแลตัวแทนจำหน่าย จุดนี้ต้องขึ้นกับกฎระเบียบที่ตั้งไว้ เขาจะมีคนออกสำรวจ ตรวจสอบได้ ว่าตัวแทนคนไหนทำผิดระเบียบ”

 

 

แต่พิเศษมีแสดงความเห็นว่า เคยมีงานวิจัยระบุว่า เยาวชนเล่นหวยน้อยมาก เพราะ 15 วันออกที ไม่ทันใจ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเล่นพนันบอลมากกว่า ดังนั้นส่วนนี้จึงไม่น่าวิตกเท่ากับการนำใบเลือกเลขไปทำหวยใต้ดิน เพราะเจ้ามือสามารถถือโพยได้อิสระ โดยบอกว่าจะเอาไปหยอดที่เครื่อง

 

 

              “ตรงนี้ก็ต้องปรับตามสภาวะที่เกิดขึ้น ถ้ามีอย่างนี้เยอะ ๆ อาจต้องลดการใช้ใบเลือกเลขลง เพราะใบเลือกเลขไม่ใช่สาระสำคัญที่จะเป็นหลักฐานการซื้อขาย แต่ตัวสลากต่างหากคือหลักฐานการซื้อขาย ใบเลือกเลขเป็นเพียงเครื่องมือช่วยจำหน่ายให้เร็วขึ้น ถ้าใบเลือกเลขส่งผลกระทบมากก็ลดจำนวนลงได้ ไม่ใช่ปัญหา”

 

 

ส่วนประเด็นว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของล็อกซเล่ย์หรือไม่ พิเศษกล่าวว่า เขาไม่สามารถตอบแทนผู้บริหารของล็อกซเล่ย์ได้ แต่ถ้าตอบในมุมกว้างๆ ว่า สิ่งที่แอลจีทีทำคือการทำระบบให้เท่านั้น ถ้ารัฐบาลมีนโยบายจะทำ ถ้าล็อกซเล่ย์ไม่ทำ ก็ต้องมีเอกชนรายอื่นเข้ามาทำอยู่ดี

 

 

แอลจีทีสูญแล้ว 3,400 ล้าน แต่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

 

 

              “ถึงจบปี 2553 ตัวเลขที่แอลจีทีสูญเสียไปจากการล่าช้า ในการดำเนินงานประมาณ 1,400 ล้านบาท ส่วนนี้เฉพาะความเสียหายจากการล่าช้าเท่านั้น หนึ่ง-ดอกเบี้ยที่กู้มาทำระบบต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2548 สอง-การเช่าระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นและถูกสะสมมาเรื่อย ๆ กระทั่งถึงปลายปี 2553 ค่าเสียหายจากการล่าช้าประมาณ 1,400 ล้าน ยังไม่นับเงินลงทุนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมแล้วเราเสียหายไปประมาณ 3,400 ล้านบาท”

 

 

และนอกจากรายได้ 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อ 1 รายการจำหน่ายแล้ว ก็ไม่มีรายได้ส่วนอื่นอีก ซึ่งผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด แต่เท่าที่ทางแอลจีทีเคยคำนวณไว้ ก็น่าจะคุ้มทุนในระยะเวลาประมาณ 4 ปีกว่า ๆ นับจากเริ่มขาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                   “ผมเรียกว่าจะช่วยชดเชยไปได้บางส่วนดีกว่า เพราะเราก็มีขาดทุนสะสมอยู่เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดและการตอบรับเกมใหม่ๆ ว่าเป็นอย่างไร คนอาจจะคิดว่า ได้ทำตรงนี้ รวยจัง ไม่ขนาดนั้นครับ ต้องย้อนกลับไปสมัยก่อนว่า ถ้าเป็นไปตามเกณฑ์และได้จำหน่ายขึ้นมา ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ปัจจุบัน ถ้าได้จำหน่ายขึ้นมาก็ถือเป็นเรื่องที่ดีอีกเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ดี อย่างน้อยก็ชดเชยส่วนที่ขาดทุนได้ เทียบอย่างนี้ดีกว่า เราเสียไปแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็เสียไปเลยเปล่า ๆ แต่ถ้าทำอะไรบ้างก็อาจจะเสียน้อยกว่าเดิม เสียแบบไหนดีกว่ากัน ถ้าจะมองในเรื่องเสีย”

 

 

ในตัวสัญญาระบุให้แอลจีทีเป็นผู้ดูแลระบบเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นสามารถต่อสัญญาได้ครั้งละปี ไม่เกิน 3 ครั้ง โดยสัญญาจะเริ่มนับเมื่อเริ่มจำหน่ายจริง

 

 

เพิ่งออกเดินยังไม่คิดเรื่องต่อสัญญาในอนาคต

 

 

             “ส่วนเราจะต่อสัญญาหรือไม่ คงต้องรอให้เริ่มขายก่อนแล้วค่อยคิด เพราะยังเป็นอนาคตอีกไกล ยังไม่มีแผน ถ้าตามสัญญา เราก็มีสิทธิที่จะต่อสัญญา แต่ก็ขึ้นกับสำนักงานสลากฯ ด้วย ส่วนความเสี่ยงเรื่องการเมือง เราต้องประเมินอยู่แล้วครับ แต่เป็นความเสี่ยงที่เราต้องแบกรับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้”

 

 

คาดว่าประมาณต้นปี 2556 เซียนหวยน่าจะได้ทดลองซื้อเลขเด็ด จากเครื่องจำหน่ายสลากออนไลน์เครื่องนี้กันถ้วนหน้า โดยรายได้จากการจำหน่าย ทาง ป.ป.ช. เสนอว่า ควรจัดสรรเงินคืนสู่ชุมชนพื้นที่จำหน่ายเพื่อตั้งเป็นกองทุนรณรงค์ต่อต้านการเล่นการพนัน โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเกี่ยวข้องกับการบริโภคสลากฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานสลากฯ ต้องกำหนดมาตรการอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: