คณะทำงานชุมชนชาวเล เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน เห็นว่า ในโอกาส ใกล้งานบุญเดือนสิบ ของชาวเลมอแกน และ พิธีลอยเรือของชาวเลอูรัคลาโวย ควรมีการฟื้นฟูวีถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมของชาวเล โดยการจัดงาน “ วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล” ขึ้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งชุมชน และหนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายชาวเลอันดามัน ฟื้นฟูประเพณี วิถีชีวิต และรักษาความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมทั้งเผยแพร่วิถีชีวิตวัฒนธรรมของชาวเลต่อสังคม และสาธารณะให้เข้าใจมากขึ้น
หลังภัยพิบัติ ถึงแม้จะมีตัวอย่างการฟื้นฟูวิถีชีวิต แต่มีปัญหาต่างๆตามมา ทั้งปัญหาเดิมที่สะสมมานาน และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติ คือ ปัญหาที่ดิน ทรัพยากรชายฝั่ง ปัญหาคนชายขอบ ทั้งคนไทยพลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว และปัญหาชาวเล โดยเฉพาะชาวเล เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของชายฝั่งอันดามัน รักอิสระ สันโดษ ประนีประนอมสูง ไม่นิยมการมีเรื่องมีราวกับผู้ใด ไม่ชอบการจัดการ ยังขาดความรู้และความเข้าใจในสิทธิ การเข้าไม่ถึงข้อมูลความรู้ทางกฎหมายมักจะเสียเปรียบ ชาวเลประกอบด้วย 3 กลุ่ม ดังนี้
“มอแกน” เป็นกลุ่มชาวเลที่มีวิถีหาอยู่หากินกับทะเลมากกว่าบนฝั่ง ส่วนใหญ่ยังพูดภาษามอแกน เช่น เกาะเหลา เกาะสินไห เกาะช้าง และเกาะพยามในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา และหมู่บ้านราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต มีประชากรกว่า 800 คน
“มอแกลน” เป็นกลุ่มชาวเลที่มีวิถีผสมผสานกับสมัยใหม่ เช่น หมู่บ้านชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และ เกาะพระทอง มีประชากรกว่า 3,000 คน
“อูรักลาโวย” เป็นชาวเลที่มีภาษาพูดเฉพาะแตกต่างจาก มอแกน และมอแกลน อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ เช่น เกาะลันตา เกาะ พีพี ตรังและสตูล มีประชากรกว่า 5,000 คน
ปัญหาหลักๆ เกี่ยวกับการขาดความมั่นคงของบุคคลและชุมชนของชาวเลทั้งสามกลุ่ม คือ
1.ปัญหาการไร้รัฐและการถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน
ชาวเลมอแกนส่วนใหญ่ยังเผชิญปัญหาการไร้รัฐ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา คือไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย และไม่ได้รับบริการพื้นฐานหลายอย่าง จากการเก็บข้อมูลโดยมูลนิธิกระจกเงา ร่วมกับโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม และองค์กรภาคีในช่วงปี พ.ศ. 2548 พบว่ามีชาวมอแกนในประเทศไทยกว่า 800 คน ซึ่งในจำนวนนี้ ชาวมอแกนที่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์ 94 คน ได้รับบัตรประชาชนหรือได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านแล้ว แต่ยังมีชาวมอแกนกว่า 700 คนที่ได้รับการสำรวจโดยหน่วยงานรัฐแล้วและรอการทำบัตรสถานะบุคคลอยู่ ซึ่งบัตรสถานะบุคคลยังไม่ได้มีการกำหนดสิทธิต่างๆ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นทางการแต่จะไม่ครอบคลุมสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเดินทางออกนอกพื้นที่ และสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองแรงงาน ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายที่ใช้โอกาสนี้ในการข่มขู่และเรียกเก็บเงินจากมอแกนในฐานะคนที่ไม่มีบัตรประชาชน
2.ปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย
เหตุการณ์สึนามิทำให้ปัญหาเรื่องการไร้กรรมสิทธิ์ที่ดินปรากฏสู่สายตาของสาธารณชนมากขึ้น เพราะมีการอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินชายฝั่งทะเล มีการฟ้องร้องเรื่องการบุกรุก ส่วนผู้คนที่ประสบปัญหาก็ลุกขึ้นมาตอบโต้และพยายามที่จะพิสูจน์สิทธิในเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัย ชุมชนชาวเลส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งทำให้ผู้คนในชุมชนหวั่นวิตกว่าจะถูกไล่รื้อทำให้ครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัย
ในปัจจุบัน มีชุมชนชาวเลที่มีปัญหาที่ดิน ไม่น้อยกว่า 25 แห่ง ชาวเลบางส่วนอาศัยในที่ทับซ้อนกับที่ดินเอกชน เช่น ชาวมอแกลนที่ทับตะวัน จังหวัดพังงา ชาวมอแกนและอูรักลาโว้ยที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต บ้างก็อาศัยในที่ดินรัฐ เช่น ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา (ที่อุทยานแห่งชาติ) ชาวมอแกลนบ้านทุ่งหว้า จังหวัดพังงา (ที่สาธารณะประโยชน์) ชาวมอแกลนที่แหลมหลาหรือท่าฉัตรไชย (ที่ราชพัสดุ) การขาดกรรมสิทธิ์ที่ดินส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและสวัสดิการอื่นๆ เช่น ต้องใช้น้ำประปา ไฟฟ้าราคาแพงเพราะต่อพ่วง ชุมชนขาดโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ชุมชนที่หาดราไวย์มีสาธารณูปโภคที่จำกัด บ้านบางหลังต้องใช้เทียนหรือตะเกียงเพราะไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้น้ำบ่อซึ่งน้ำกร่อยและมีถนนสาธารณะคั่นระหว่างบ่อน้ำกับชุมชน ต้องใช้ชายหาดเป็นที่ขับถ่ายเพราะไม่มีส้วม แม้ อบต.จะเห็นใจชาวเล แต่กลัวถูกฟ้อง จึงไปลงพัฒนาไม่ได้ และที่ผ่านมา มีชาวมอแกนบ้านราไวย์ถูกฟ้อง ข้อหาบุกรุก เมื่อพยายามปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรม และชุมชนที่เกาะสุรินทร์ถูกห้ามไม่ให้สร้างบ้านเสาสูงริมหาดแบบดั้งเดิมโดยอุทยานฯ อ้างถึงความเป็นระเบียบและความปลอดภัยจากคลื่น
นอกจากนี้ สถานที่ประกอบพิธีกรรม และ สุสานก็ถูกรุกราน เช่น สุสานบ้านทุ่งหว้าจังหวัดพังงา ที่ดินเหลือน้อยลง พื้นที่ประกอบทำพิธีกรรมใกล้หาดบ้านราไวย์ เอกชนต้องการพื้นที่ทำรีสอร์ต ทำให้ชาวมอแกนบ้านราไวทย์ ต้องย้ายพื้นที่ทำพิธีกรรม พื้นที่ชายทะเลหาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต ชาวมอแกนใช้ในการทำพิธีนอนหาดทุกปี หากแต่ตอนนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่าจะมีการสร้างโรงแรมชาวเล ชาวมอแกนเกรงว่าเอกชนจะไม่ยอมให้เข้ามาทำพิธีนอนหาดอีกต่อไป รวมทั้งสุสานของชาวเลบ้านสิเหร่ จ.ภุเก็ต ก็ถูกทำรั้วปิดกั้นไว้ห้าม เดินผ่าน หากต้องการฝั่งศพจึงจะไปขอกุญแจมาเปิด ฯลฯ
3.ปัญหาการทำงานที่เสี่ยงอันตรายและถูกผลักเข้าสู่สิ่งผิดกฎหมาย
ชาวเลมอแกนที่เกาะเหลา เกาะพยาม และเกาะสินไหไม่มีบัตรประชาชน จึงไม่สามารถจะทำงานรับจ้างที่ได้รับการคุ้มครองแรงงานได้ ชาวมอแกนส่วนหนึ่งจึงถูกชักชวนโดยกลุ่มนายทุนให้ทำงานระเบิดปลาบริเวณน่านน้ำพม่า และงานจับปลา ปลิงและจระเข้ ที่หมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามัน ซึ่งเป็นงานที่ผิดกฎหมายและเสี่ยงอันตราย ในชุมชนมีชายมอแกนที่เสียชีวิตและพิการหลายคนจากการใช้ระเบิด และในเดือนพฤษภาคม 2550 มีชายมอแกน 19 คนจากเกาะเหลาถูกจับที่หมู่เกาะนิโคบาร์-อันดามันเพราะลักลอบเก็บหาทรัพยากรทางทะเล หนึ่งในจำนวนนั้น อายุ 19 ปี ถูกน้ำหนีบ (การขึ้นจากน้ำเร็วปรับตัวไม่ทัน) เป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดระนอง กว่า 1 ปี แล้ว และเสียชีวิตในที่สุด
ในขณะที่การขยายเขตอนุรักษ์ของรัฐได้จำกัดการทำมาหากินทางทะเลของชาวเลทั้งสามกลุ่ม การขยายตัวของพื้นที่เอกชนอันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวก็ทำให้โอกาสการทำประมงลดลงด้วย แนวทางในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันได้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจตราและจับกุมมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการยึดเรือ และของกลางอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นอุปสรรคในการทำมาหากินแล้ว ยังทำให้ต้องเสียค่าปรับและถูกจับกุมคุมขังอีกด้วย
ชาวอูรักลาโวยที่ทำมาหากินเหนื่อยยากด้วยความสุจริตพบว่าอุปกรณ์ทำมาหากินถูกทำลายแม้ในบริเวณที่ไม่ได้เป็นแหล่งหวงห้าม บ่อยครั้งที่ไซดักปลาถูกนักท่องเที่ยวนักดำน้ำตัดลวดตัดตาข่ายหรือเปิดประตูไซ นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแถบภูเก็ต-กระบี่หลายคนมีอคติว่า 'ชาวเล' เป็นผู้ที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มุมมองเช่นนี้แทนที่จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจในความยากลำบากของผู้ทำอาชีพประมง กลับทำให้เกิดการทำลายอุปกรณ์และขัดขวางความพยายามในการทำประมง ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรมากขึ้นอีก
ชาวอูรัคลาโวย ที่เกาะลันตา จ.กระบี่ เคยหากินด้วยการตักกุ้งเคยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยเครื่องมือแบบโบราณ และเจ้าหน้าที่ ตีความเครื่องมือนี้เช่นเดียวกับกฎหมายที่ออกมาใหม่ ทั้งที่เครื่องมือไม่เหมือนกัน ทำให้ชาวอูรัคลาโวย เกาะลันตาถูกจับดำเนินคดี โดยไม่สื่อสารกับชาวเล
ชาวอูรักลาโวยเป็นกลุ่มเดียวที่ดำน้ำลึกมากด้วยการใช้เครื่องลม งานประมงของชาวอูรักลาโว้ยจึงมีความเสี่ยงต่อโรค 'น้ำหนีบ' ในชุมชนอูรักลาโว้ยมีชายที่เสียชีวิตและพิการจากโรคน้ำหนีบนี้อยู่หลายคน บางคนเสียชีวิตในขณะที่อายุยังไม่มาก ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับครอบครัวด้วย เมื่อไร้ผู้นำ ครอบครัวก็เดือดร้อนและขาดอนาคต
4.ปัญหาการเข้าถึงการบริการรักษาพยาบาล
ชาวมอแกนที่ไม่มีบัตรประชาชนจะไม่ได้รับ “บัตรสามสิบบาท” และมักจะถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเมื่อขึ้นมารักษาตัวเช่นที่โรงพยาบาลระนองและโรงพยาบาลตะกั่วป่า นอกจากนั้น การขึ้นฝั่งมาโรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าอาหารของญาติที่มาเฝ้าผู้ป่วย เคยมีหญิงมอแกนจากเกาะเหลาขึ้นมาคลอดบุตรที่โรงพยาบาลระนอง แต่เกรงว่าจะต้องถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย จึงรีบเร่งเดินทางกลับเกาะเหลาทั้งที่ยังสุขภาพยังไม่แข็งแรงและต่อมาก็เสียชีวิตที่เกาะเหลา เดือนมกราคม 2552 ชาวมอแกนเกาะเหลา ต้องคลอดลูกในเรือเพราะการเดินทางลำบาก ไปโรงพยาบาลไม่ทัน มีเรื่องบอกเล่าว่า ด้วยความที่มอแกนเกาะเหลา ไม่รู้หนังสือเมื่อลูกป่วย ก็ให้กินยาผิด ทำให้อาการป่วยแย่ลง
ชาวมอแกนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลมากนัก ยกเว้นจะเจ็บหนักจริงๆ เนื่องจากไม่คุ้นกับการรักษาพยาบาลสมัยใหม่และเกรงกลัวการผ่าตัด อย่างไรก็ดี โรคที่พบในกลุ่มมอแกน คือ มาลาเรียและวัณโรคนั้นเป็นโรคที่ต้องอาศัยการกินยาอย่างสม่ำเสมอและการติดตามอาการจากแพทย์-พยาบาล เพื่อที่จะให้หายขาดจากอาการป่วยไข้
5.ปัญหาการขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม
ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงของบุคคลและชุมชน แต่ชาวเลก็เผชิญกับปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณด้วย แม้ว่าชาวเลจะเป็นคนพื้นเมือง เป็นผู้อยู่อาศัยแต่ดั้งเดิมในบริเวณชายฝั่งทะเลแถบอันดามัน แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่นนัก ในหลายพื้นที่ คำว่า 'ชาวเล' เป็นคำที่มักจะใช้ในทางลบ คือใช้เรียกคนที่ละเลยเรื่องอนามัยและความสะอาด ไม่เอาใจใส่การเล่าเรียน หรือคนที่จับจ่ายใช้สอยจนไม่มีเงินเหลือเก็บ การเรียกเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างภาพลักษณ์ด้านลบที่หยุดนิ่งตายตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ชาวเลส่วนใหญ่ในปัจจุบันยินดีที่จะถูกเรียกว่า 'ไทยใหม่' มากกว่า 'ชาวเล' อคติหรือ “มายาคติ” เหล่านี้ขึ้นมาจากความรู้ความเข้าใจที่ตื้นเขิน และการมองเพียงด้านเดียว
ชาวเลทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มมอแกลน กำลังเผชิญกับวิกฤติด้านวัฒนธรรมอันเนื่องมาจากการขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม การเรียนการสอนในหลักสูตรสากลนั้นเป็นการเชิดชูความเป็นไทย แต่ก็ทำให้ความรู้และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นลดถอยลง ปัจจุบันภาษามอแกลนแทบจะสูญหายไป ไม่ได้รับการสืบทอดกันในชุมชน เมื่อภาษาถูกหลงลืม วิถีอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับคำศัพท์เฉพาะในภาษาก็ค่อยๆ เลือนรางไป ความเคารพนบนอบต่อธรรมชาติและผู้อาวุโสในชุมชนก็ลดน้อยลง จารีตประเพณีซึ่งช่วยธำรงกฎระเบียบทางสังคมและเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นในชุมชนก็เสื่อมถอย ปัญหาการขาดความมั่นคงด้านวัฒนธรรมและการไร้สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณทำให้เกิดปัญหาทางด้านจิตใจและด้านสังคมตามมา
ข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาชาวเล :
1.ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตชุมชนชาวเล 30 แห่ง ในพื้นที่อันดามัน เพื่อหาแนวทางประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์พิเศษทางวัฒนธรรมของชาวเล ( รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งคณะกรรมการอำนวยการ บูรณาการ เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อ 3 กพ.52 )
2.สร้างความมั่นคงเรื่องที่ดินในลักษณะสิทธิร่วมของชุมชน ปรับปรุงที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่ประกอบพิธีกรรม สนับสนุนการฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรม
3.สนับสนุนกองทุนการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวเลทั้งการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การพัฒนาอาชีพ
4.สนับสนุน การศึกษาของเด็กเยาวชนชาวเล โดยบรรจุเรื่องชาวเลในหลักสูตรท้องถิ่น
5.สนับสนุนด้านการรักษาพยาบาลและการดูแลเรื่องสุขภาวะที่ดี
6.ติดตามความคืบหน้าของมติครม. เรื่องออกบัตรประชาชน แก่กลุ่มชาวเล ที่ตกค้าง จำนวน 724 คน (มีการออกบัตรไปบ้างแล้ว หลังมติ ครม. แต่ยังไม่ครบ)
7.สนับสนุนการศึกษาและสื่อเผยแพร่วิถีชีวิตวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม การแสดงของชาวเล เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อันดามัน
*********************************************
มติครม.
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 มีมติคณะรัฐมนตรีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติ ดังนี้
1. มาตรการฟื้นฟูระยะสั้น ดำเนินการภายใน 6-12 เดือน | หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
1.1 การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ด้วยการจัดทำโฉนดชุมชนเพื่อเป็นเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล โดยให้มีการพิสูจน์สิทธิในที่อยู่อาศัยของชุมชนผ่านภาพถ่ายทางอากาศและด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช้เอกสารสิทธิแต่เพียงอย่างเดียว และให้แต่งตั้งอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อการพิสูจน์ที่ดินชุมชนชาวเลเป็นการเฉพาะ |
กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) |
1.2 การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมง หาทรัพยากรตามเกาะต่าง ๆ ได้ และเสนอผ่อนปรนพิเศษในการประกอบอาชีพประมงที่ใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเลในการเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่อุทยานและเขตอนุรักษ์อื่น ๆ และกันพื้นที่จอด ซ่อมเรือ เส้นทางเข้า-ออกเรือ เนื่องจากส่วนมากทับซ้อนพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว มีความขัดแย้งกันเป็นระยะ รวมถึงการควบคุมเขตการทำประมงอวนลากและอวนรุนให้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างแท้จริง (รุกล้ำเขตประมงชายฝั่ง) |
ทส. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) |
1.3 การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขเพื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพหาปลา/ดำน้ำทำให้เกิดโรคน้ำหนีบ และการมีปัญหาด้านสุขภาพ | กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
1.4 การช่วยแก้ปัญหาสัญชาติในกลุ่มชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน | มท. |
1.5 การส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กและสนับสนุนทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดตั้งการศึกษาพิเศษ/หลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน เนื่องจากเด็กชาวเลออกจากโรงเรียนก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ | กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) |
1.6 การแก้ปัญหาอคติทางชาติพันธุ์และให้มองชาวเลอย่างมี ศักดิ์ศรีมีความเป็นมนุษย์ | วธ. |
1.7 การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเลและสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ส่งเสริมให้มีโรงเรียนสอนภาษาวัฒนธรรมในชุมชน ส่งเสริมให้มีการสอนศิลปวัฒนธรรมชาวเลในหลักสูตรสามัญส่งเสริมชมรมท้องถิ่นในโรงเรียน เช่น ชมรมภาษา ชมรมร็องแง็ง ส่งเสริมการใช้สื่อที่หลากหลาย สื่อบุคคล สื่อพื้นบ้าน สื่อสมัยใหม่ ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชน เป็นต้น |
วธ. ศธ. |
1.8 ชุมชนที่มีกลุ่มองค์กรที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ขอให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมชุมชนให้เกิดกิจกรรมที่มีความต่อเนื่อง | กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) |
1.9 การจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายชาวเล ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมและให้มีงบประมาณส่งเสริม “วันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล” เพื่อจัดกิจกรรมและการพบปะแลกเปลี่ยน (ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี) โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนขอเป็นหลักในการจัดกิจกรรมดังกล่าว |
พม. วธ. |
2. มาตรการการฟื้นฟูในระยะยาว ดำเนินการภายใน 1-3 ปี | หน่วยงานรับผิดชอบ |
2.1 พิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะ |
ทส.มท.พม.ศธ.วธ. |
สาระสำคัญของเรื่อง กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า
1. ปัจจุบันมีชุมชนชาวเลใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมกันประมาณ 10,000 คน ชาวเลส่วนใหญ่อยู่อาศัยบริเวณเกาะหรือชายฝั่งทะเลจึงได้รับผลกระทบจากสึนามิมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ที่ตั้งและลักษณะของชุมชนบวกกับแรงปะทะของคลื่น ภายหลังเหตุการณ์สึนามิเรื่องราวของชาวเลเป็นที่รับรู้มากขึ้นเพราะการนำเสนอของสื่อมวลชน และมีองค์กร หน่วยงาน มูลนิธิต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลือและทำงานกับกลุ่มนี้ สาธารณชนให้ความสนใจในวิถีวัฒนธรรมชาวเลมากขึ้นทำให้ชาวเลมีภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันปัญหาที่สะสมมานาน ได้แก่ ปัญหาเรื่องที่ดินและการทำมาหากินกลับมีความรุนแรงและเข้มข้นขึ้นทั้งที่เป็นผู้อยู่อาศัยและทำมาหากินในบริเวณเกาะและชายฝั่งอันดามันมานาน แต่ชาวเลส่วนใหญ่กลับพบว่าผืนดินที่เคยอยู่อาศัยและทำมาหากิน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกจับจองครอบครองหรือประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองทำให้การทำมาหากินยากลำบากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายและไม่ได้รับบริการพื้นฐาน เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการเดินทางออกนอกพื้นที่ ฯลฯ และปัญหาการขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจและสังคมตามมา
2. กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเลให้ยั่งยืนด้วยการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนและรากฐานทางวัฒนธรรมชาวเลมีความเข้มแข็งทั้งในการดำรงชีวิตและการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูลเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการและเลขานุการ
3.คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาปัญหาอันเป็นวิกฤตสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตชาวเลที่มีภูมิลำเนาในบริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และสตูล ที่ประกอบด้วย 5 ปัญหาหลัก ดังนี้
3.1 ปัญหาเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
3.2 ปัญหาเรื่องให้การศึกษากับชาวเลรวมทั้งการจัดทำหลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น
3.3 ปัญหาเรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมรวมทั้งการพัฒนาท้องถิ่นให้ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
3.4 ปัญหาเรื่องส่งเสริมสุขภาพและบริการสาธารณสุข
3.5 ปัญหาเรื่องจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชน
คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้มีมติให้มีการบริหารจัดการแบบบูรณาการในระดับจังหวัด โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการโดยการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูชีวิตชาวเลระดับจังหวัด 5 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง และสตูล ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนชาวบ้านเป็นกรรมการ และวัฒนธรรมจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลที่กำลังเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วทั้ง 5 จังหวัด
4. คณะอนุกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลทั้ง 5 จังหวัด ได้ดำเนินการช่วยเหลือชาวเลและได้เสนอมาตรการต่าง ๆ มายังกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งคณะกรรมการการอำนวยการฯ ได้รวบรวมข้อเสนอแนะและมาตรการต่าง ๆ ตามที่ คณะอนุกรรมการดังกล่าวเสนอ และกำหนดมาตรการในการฟื้นฟูและช่วยเหลือชาวเล ประกอบด้วยมาตรการฟื้นฟูระยะสั้นและมาตรการฟื้นฟูระยะยาว ดังนี้
4.1 มาตรการการฟื้นฟูระยะสั้น ดำเนินการภายในระยะเวลา 6 – 12 เดือน
4.2 มาตรการการฟื้นฟูระยะยาว ดำเนินการภายในระยะเวลา 1 – 3 ปี
************************************
การแก้ปัญหาที่ผ่านมา
หลังภัยพิบัติสึนามิ มูลนิชุมชนไท และภาคีความร่วมมือสนับสนุน ให้เกิดเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนมิ เพื่อร่วมกันพัฒนาและหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่ยังคงมี อย่างต่อเนื่อง ชุมชนชาวเล เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการทำงาน แนวทางการทำงาน ที่ผ่านมา ที่ประสบความสำเร็จ คือการสนับสนุนให้ชุมชนชาวเลมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายร่วมกับชุมชนอื่นๆ ที่มิใช่ชาวเล เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือและดูแลซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ มีการสืบค้นและจัดทำประวัติของชาวเลในบางหมู่บ้าน โดยทีมเยาวชนของชาวเลร่วมกันทำ ร่วมกับภาคีความร่วมมือต่างๆ สนับสนุนการจัดทำศูนย์วัฒนธรรมของชาวเล ในพื้นที่อันดามัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ความภูมิใจ เยาวชนคนรุ่นหลังทั้งชาวเล และกลุ่มอื่นๆได้เรียนรู้ ในพื้นที่ต่างๆ คือ
1). ศูนย์วัฒนธรรมชาวเลบ้านทุ่งหว้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อบอกเรื่องราวชาวเลพื้นที่อันดามัน ทั้งหมด 2).บ้านวัฒนธรรมมอแกนทับตะวัน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อเล่าเรื่องราวปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และความเป็นมาของชุมชนชาวมอแกลนทับตะวัน 3). ศาลารองแง็งและหอชาติพันธ์ชาวอูรัคลาโวย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นพื้นที่พบปะ ประกอบพิธีกรรม ของชาวอูรัคลาโวย 4).ศูนย์วัฒนธรรมชาวเกาะลันตา จ.กระบี่ ที่บอกเรื่องราวการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและพึ่งพากันมายาวนานกว่าสามร้อยปี ของชาวเล คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม
และยังมีการสนับสนุนการฟื้นฟูพิธีกรรมการแสดง ศิลปิน ของชาวเล จำนวนมาก เช่น พิธีลอยเรือ พิธีนอนหาด การแสดงรองแง็งที่ภูเก็ต เกาะลันตา รำวงถุงสามปล้อง บทเพลงภาษามอแกน “ดันอีดูนเอาดะ” ชวนคนรุ่นใหม่ร่วมพิธีนอนหาด และเพลง “ยาวะมอแกน” บอกเล่าความลำบากของชีวิตมอแกนเกาะเหลา โดยเผยแพร่เป็นซีดีในอัลบั้มเสียงในอันดามัน
ภาคีความร่วมมือ สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัย ของชุมชนชาวเล เป็นการนำร่องในหลายพื้นที่พื้นที่ โดยเครือข่าย ฯ เสนอของบสนับสนุนจากโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมน ( พอช.) เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต พัฒนาที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภค ในพื้นที่ ชุมชนมอแกนบ้านหินลูกเดียว ชุมชนมอแกนบ้านแหลมหลา ชุมชนอูรัคลาโวยบ้านสะปำ ส่วนชุมชนชาวเลบ้านราไวย์เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีปัญหาเอกชนออกเอกสารทับซ้อนชุมชนชาวเล มีการสนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญทางแผนที่จัดทำและอ่านแปลแผนที่ทางอากาศเพื่อพิสูจน์สิทธิการครอบครองระหว่างชาวเลกับเอกชนผู้อ้างสิทธิ รวมทั้งทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างจังหวัด และคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่อันดามัน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
สำหรับชุมชนชาวเลบ้านเกาะเหลา จ.ระนอง มีทั้งปัญหาสภาพความเป็นอยู่และบ้านเรือนที่ทรุดโทรมมาก การไม่รู้หนังสื่อ การทำมาหากิน ไม่มีบัตรประชาชน ที่ผ่านมา ภาคีความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำโครงการเสนอของบสนับสนุนในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวนหนึ่งแต่ไม่เพียงพอ จึงมีการจัดระดมทุนจากภาคส่วนต่างๆ และสนับสนุนให้เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ และเครือข่ายองค์กรชาวบ้านจากพื้นที่ต่างๆไปร่วมกันลงแรงสร้างบ้าน จำนวน 50 หลังให้แก่ชาวมอแกนบ้านเกาะเหลา
เหล่านี้เป็นเพียงการเริ่มต้นการแก้ปัญหาชาวเล โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือในการจัดทำวีดีทัศน์ การเผยแพร่ปัญหาผ่านสื่อมวลชน และสื่อต่างๆ อาทิ เช่น “จากผู้บุกเบิกเป็นผู้บุกรุก” “ชาติพันธ์ชาวเล” “ ชาวเลชีวิตที่ถูกกลืนหาย” รวมทั้งการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อรัฐบาล ในวาระครบรอบ 5 ปีสึนามิ ทั้งนี้ เพื่อให้ระดับนโยบายและสาธารณะได้เข้าใจมากขึ้น ปรับเปลี่ยนทัศนะความรู้สึกของคนในสังคมของต่อชาวเล รวมทั้งมุ่งหวังให้เพิ่มพูนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อันดามัน ให้คนไทยได้ตระหนักว่าชาวเลชนเผ่าดั้งเดิมเป็นเจ้าของทะเลอันดามันที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาที่ต้องดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เพราะในพื้นที่อันดามันมีชุมชนชาวเล อยู่ประมาณ 30 ชุมชน ( ประมาณ 10,000 คน ) มีปัญหาความไม่มั่นคง ความไม่ชัดเจนในการอยู่อาศัย อย่างน้อย 23 หมู่บ้าน นอกจากนั้นมีปัญหาทั้งที่ทำกิน ที่ประกอบพิธีกรรมและสุสานถูกรุกราน เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยที่กลุ่มคนชาวเลไม่มีความรู้ ไม่มีความมั่นใจ ไม่มีโอกาสในการ เรียกร้องสิทธิแต่อย่างใด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ