‘วีรพัฒน์’หวั่นศาลสร้างระบอบตุลาธิปไตย ระบุต้องยอมรับว่า'ไม่มีอำนาจออกคำสั่ง' แนะปรับวิธีสรรหาตุลาการ-แต่อย่ายุบศาล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 11 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1815 ครั้ง

พลันที่คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างมาตรา 68 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาวาระ 3 ที่เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ก่อให้เกิดปมถกเถียงเชิงกฎหมายขยายตัวออกไป และสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคนเสื้อแดง ถึงกับล่ารายชื่อเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่อัยการสูงสุดมีมติว่า การแก้มาตรา 291 ถูกต้อง ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและจะยื่นถอดถอนเช่นกัน เกิดสภาพอิหลักอิเหลื่อทางกฎหมาย

 

เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้แจงอีกครั้งว่า อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่คนละส่วน จึงไม่ตัดอำนาจศาลในการรับคำร้อง กลายเป็นการงัดข้อระหว่างกันที่ต่างก็มีฝ่ายหนุนเช่นเดียวกัน

 

แน่นอนว่า ผู้ที่จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ย่อมต้องเป็นนักกฎหมาย ทว่าในหมู่นักกฎหมายเองก็มิได้มีความเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน กลุ่มนิติราษฎร์กล่าวชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังขยายอำนาจ จนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ขณะที่นักวิชาการนิติศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่จะทำได้

 

ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระรุ่นใหม่ ว่า มีมุมมองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร และไปไกลกว่าข้อถกเถียงเฉพาะหน้าด้วยว่า เมื่อถึงเวลาที่จะต้องจัดภูมิทัศน์ทางอำนาจ ระหว่างบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการกันใหม่ หน้าตาควรออกมาเป็นเช่นไร ซึ่งสิ่งที่วีรพัฒน์ย้ำเสมอก็คือ ถึงที่สุดแล้วจะต้องให้โอกาสและเวลาแก่สังคมมากพอ เพื่อสร้างการเรียนรู้และประสบการณ์ทางการเมือง

 

 

ศาลตีความมาตรา 68 กว้าง เท่ากับสร้างระบอบตุลาธิปไตย

 

 

วีรพัฒน์อธิบายภาพกว้างว่า สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเกิดจากกระแสแนวคิดทางกฎหมายและการเมือง 2 ค่าย คือ ค่ายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มองว่าต้องเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหาร ศาลตรวจสอบได้ แต่ต้องมีข้อจำกัด สมาชิกวุฒิสภาตรวจสอบได้ แต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แต่เมื่อผ่านไปประมาณแปดเก้าปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย ก็เริ่มมีนักกฎหมายอีกค่ายหนึ่งบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ใช่ไม่ได้ นำมาสู่รัฐธรรมนูญปี 2550 กระแสความคิดเปลี่ยนเป็นว่า ฝ่ายบริหารต้องถูกตรวจสอบหนักขึ้นและศาลต้องมีอำนาจมากขึ้น เกิดการยื้อไปยื้อมาระหว่าง 2 ค่ายความคิด

 

สถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อฝ่ายรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เปรียบและจะยื้อกลับไป ฝ่ายรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงต้องหาวิถีทางว่า ขัดขวาง ซึ่งขณะนี้ก็มีเพียงศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่มีอำนาจยับยั้งได้ จึงเกิดการแสวงหาช่องทางทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้เกิดการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และก็พบกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุว่า

 

บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

 

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

 

               “คำถามคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาจะมองว่า เข้ามาตรา 68 ได้หรือไม่ หลักการใหญ่ๆ คือ ถ้าสมมติว่ามาตรา 68 ถูกใช้อย่างกว้างขวาง ใช้ได้ง่าย ต่อไปนี้ ใครไม่พอใจอะไรก็ไปศาลได้เลย ทั้งที่กฎหมายระบุชัดเจนว่า ต้องยื่นเรื่องผ่านอัยการ สมมติถ้าพรุ่งนี้มีคนไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้กำลังเหลิงอำนาจ กำลังบริหารราชการแผ่นดินในทางที่จะล้มล้างการเมืองการปกครอง หมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งให้คณะรัฐมนตรีหยุดทำงานได้ด้วยหรือ เพราะคุณไปตีความมาตรา 68 ไว้กว้างขนาดนี้”

 

วีรพัฒน์อธิบายเพื่อความกระจ่างว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ ความหมายทางกฎหมายคือ บุคคลสามารถอ้างการใช้หรือไม่ใช้สิทธิเสรีภาพได้ โดยปราศจากการบังคับ เช่น สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเสนอข่าวหรือไม่เสนอข่าวก็ได้ ขณะที่ ‘อำนาจหน้าที่’ ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องทำและยังกำหนดด้วยว่าไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่เพื่อตัวเองได้

 

มาตรา 68 จึงเป็นกรณีการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินกรอบของกฎหมาย แต่ไม่ใช่กรณีการใช้อำนาจหน้าที่ เพราะหากตีความอย่างหลัง จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจที่สุดในแผ่นดิน สามารถสั่งรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองให้หยุดกระทำการใดใดได้  ซึ่งวีรพัฒน์มองว่าจะทำให้ประชาธิปไตยเปลี่ยนไปเป็น ‘ตุลาธิปไตย’ คืออำนาจสูงสุดอยู่ที่ตุลาการ ไม่ได้อยู่ที่ประชาชน

 

               “ถ้าวันนี้เราตีความให้สิทธิเสรีภาพกลายเป็นอำนาจหน้าที่ สมมติว่าการเมืองวุ่นวายมาก นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องยุบสภา มีคนบอกว่าถ้ายุบสภานำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ แล้วพรรคการเมืองนี้จะยิ่งมีอำนาจในสภามากขึ้นไปอีก บอกศาลให้สั่งชั่วคราวว่าอย่าเพิ่งยุบสภา รอศาลวินิจฉัยก่อน วิกฤตการเมืองไม่พอ จะยังเกิดวิกฤตศาลแทรกเข้ามาอีก ถ้าเราเปิดให้ศาลตีความได้กว้างเช่นนี้ จะไม่มีที่สิ้นสุด” วีรพัฒน์กล่าว

 

 

ศาลรับเรื่องเองก่อให้เกิดผลแปลกประหลาด

 

ปัญหาสำคัญก็คือ ทุกวันนี้ ต่างฝ่ายต่างตีความกฎหมายทั้งแบบแคบและแบบกว้าง เพื่อเอื้อแก่ฝักฝ่ายของตน จะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อใดควรตีความแบบแคบและเมื่อใดควรตีความแบบกว้าง

 

วีรพัฒนากล่าวว่า ต้องดูถ้อยคำก่อนว่าชัดเจนหรือไม่ และเป็นไปตามเจตนารมณ์หรือไม่ ถ้าสองส่วนนี้สอดคล้องกันก็จบ โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องดูจากหลักทฤษฎีทางกฎหมายว่า กฎหมายเรื่องนั้นมุ่งหมายอะไร เช่น กฎหมายอาญาจะต้องตีความไม่ให้ไปละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา แต่ถ้าเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติขึ้น เพื่อรักษาสมดุลของอำนาจ ก็ต้องตีความไม่ให้อำนาจแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

 

               “มาตรา 68 ถูกออกแบบให้มีการถ่วงดุลอย่างน้อย 3 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือประชาชน ฝ่ายที่ 2 คืออัยการ และฝ่ายที่ 3 คือศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือการตีความให้เกิดความสมดุลทุกฝ่าย แต่ถ้าตีความถ้อยคำให้ไม่สมดุล บอกว่าศาลรับเองก็ได้ และสั่งได้ด้วย ก็เป็นการตีความที่ขัดกับเจตนารมณ์”

 

และอีก 2 ประการที่จะใช้ประกอบการตีความกฎหมาย ประการแรกคือ พิจารณาว่าตอนร่างกฎหมาย ผู้ร่างถกเถียงเพื่อให้กฎหมายออกมาอย่างไร ในกรณีนี้ชัดเจนว่า ต้องยื่นเรื่องผ่านอัยการ ประการที่ 2 คือการตีความจะต้องไม่ก่อให้เกิดผลแปลกประหลาดตามมา

 

                “ถ้าตีความว่ายื่นต่อศาลหรืออัยการก็ได้ ผลแปลกประหลาดที่ตามมาคือ แล้วอัยการจะมีไว้เพื่ออะไร เพราะทุกคนจะตรงไปศาล และสิ่งที่แปลกประหลาดมากในวันนี้คือ ศาลรับพิจารณาไว้แล้ว แต่อัยการบอกว่าไม่มีมูล อย่างนี้ถือว่าอัยการจะไปสั่งศาลหรือ แบบนี้คือผลที่แปลกประหลาด”

 

 

ตีความกฎหมายต้องถามว่าอยากได้ประชาธิปไตยแบบไหน

 

 

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายบางคนอธิบายว่า ศาลรัฐธรรมนูญกำลังตีความในเชิงป้องกัน เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญยังป้องกันการใช้สิทธิเสรีภาพที่จะล้มล้างระบอบการปกครองได้ การใช้อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะยิ่งต้องยับยั้งได้ วีรพัฒน์มองต่างออกไปว่า หากเชื่อในเสียงข้างมากในสภาและเปิดช่องให้ศาลตรวจสอบบางเรื่องได้ เช่น การยุบพรรค การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ก็จำเป็นต้องเว้นบางเรื่องไว้ว่าเป็นเรื่องของสภา มิเช่นนั้นศาลจะเข้ามาเล่นการเมืองเอง หรืออีกแนวคิดหนึ่งที่ว่า บางเรื่องมีความร้ายแรงมาก ย่อมต้องเผื่อใจให้ศาลเข้ามาป้องกันก่อนที่จะสายเกินไปด้วย

 

              “คำว่าเกินเลยจนยากจะแก้ไขได้ทันแล้ว เราต้องคิดให้ดีว่ามันจริงหรือเปล่า เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเริ่มจากการเลือกตั้ง สสร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ก่อน ถ้าเราเชื่อว่าประชาชนไทยไม่ได้เลือกคนเลวมา ขั้นที่ 2 ต้องมีการแสดงความคิดเห็น อภิปราย และลงมติ สุดท้ายคือการลงประชามติ ถ้ามันเลวร้าย มันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราก็ไม่รับ ถูกหรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มองตรงนี้ และเห็นว่าต้องให้ศาลเข้ามาก่อน ก็เหมือนกับว่ากระบวนการทางสังคมอ่อนแอเหลือเกิน ประชาชนคนไทยต้องถูกหลอกแน่นอน จึงต้องให้ 9 ท่านที่เป็นผู้ทรงคุณธรรมที่สูงส่งตัดสินใจแทน แบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย สอง-มันทำร้ายประชาธิปไตยในระยะยาว เพราะจะทำให้ประชาชนไม่ได้เรียนรู้ พอจะตัดสินใจ ก็มีคนมาตัดสินใจให้ก่อนแล้ว”

 

โจทย์สำคัญในการตีความกฎหมาย วีรพัฒน์กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามด้วยว่า สังคมต้องการประชาธิปไตยแบบไหน แล้วจึงตีความให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยแบบนั้น วีรพัฒน์เสนอว่า สังคมต้องการตุลาการที่เข้มแข็ง สามารถตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองได้ แต่ต้องตรวจสอบในสิ่งที่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดเจนเท่านั้น เช่น การยุบพรรค แม้นักวิชาการจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่ก็น้อมรับ เพราะเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้

 

 

แก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชนคือผู้ตรวจสอบอยู่แล้ว

 

 

วีรพัฒน์กล่าวว่า ในกรณีการตรวจสอบว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพ สามารถขอให้ส.ส.เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เพื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ถ้าขั้นตอนนี้ไม่เกิดผล กฎหมายประกาศใช้และมีคดีเกิดขึ้น ประชาชนมีสิทธิยกข้อกฎหมายมาสู้ว่าเพราะกฎหมายนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่ถ้าไม่มีการฟ้องคดี ประชาชนก็ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนหรือผู้ตรวจการแผ่นดินได้ หากไม่มีความคืบหน้า ก็สามารถฟ้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที

 

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการแก้กฎหมายสูงสุด ถ้าจะพิจารณาว่าขัดต่อกฎหมายใด ก็ต้องดูว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับเดิมหรือไม่ วิธีคือให้สภาวินิจฉัยว่าจะรับร่างหรือไม่ และในมาตรา 291 ก็ระบุว่าต้องให้ประชาชนลงมติ ดังนั้น โดยลักษณะแล้ว ประชาชนจะเป็นผู้ช่วยตรวจสอบผ่านกระบวนการนี้

 

                     “ฝ่ายค้านบอกว่าก่อนที่จะให้ประชาชนลงมติ ควรให้สภาหรือศาลรัฐธรรมนูญดูก่อนได้หรือไม่ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านและตัวผมก็เห็นด้วย”

 

แนะถอยคนละก้าวประนีประนอมหาทางออก

 

วีรพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ขณะนี้ดูเหมือนต่างฝ่ายต่างอยากให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย ฝ่ายหนึ่งก็มุ่งจะเดินหน้าด้วยเชื่อมั่นจำนวนมือในสภา ขณะที่ฝ่ายต้านก็หวังกระแสและหวังจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยไม่มีใครนึกถึงหนทางประนีประนอมที่สังคมส่วนรวมจะได้ประโยชน์

 

วีรพัฒน์จึงเสนอให้ถอยคนละก้าว “ฝ่ายสภาต้องยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการตีความกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า สภาจะชะลอการลงมติ แล้วแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาอ้างเพื่อปรับใช้ โดยอาจจะแก้ไขว่า ห้ามนำวิธีพิจารณาของมาตรานี้ไปใช้กับศาลอื่นโดยเด็ดขาด ซึ่งจะทำให้อำนาจที่ศาลนำมาปรับใช้หมดไป จากนั้นก็ถึงเวลาที่ศาลต้องถอยก้าวหนึ่ง ต้องยอมรับว่าไม่มีอำนาจที่จะออกคำสั่ง” ซึ่งวีรพัฒน์เชื่อว่า ถ้าทุกฝ่ายถอยคนละก้าว สังคมจะสามารถเดินไปได้

 

                 “หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือยอมให้วาระ 3 ตกไปก่อน แล้วเข้าสู่กระบวนการวาระ 1 ใหม่ แค่ไปแก้จุดเดียวว่า เมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยก่อนว่า มันไปเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ การปกครอง หรือว่าแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่ ทำแบบนี้ทุกฝ่ายจะได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ บางคนอาจจะบอกว่าผมคิดแบบเด็กๆ แต่ถามว่าแล้วประโยชน์อยู่ที่ใคร ถ้าเราไม่อยากให้มีมวลชนออกมาชนกัน ไม่อยากให้เกิดรัฐประหาร คุณก็ต้องพยายามทุกวิถีทาง”

 

 

สร้างกระบวนการสรรหาตุลาการใหม่เพิ่มความหลากหลาย

 

 

อย่างไรก็ตาม อนาคตอันใกล้คงไม่สามารถเลี่ยงการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ผลพวงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ดึงอำนาจตุลาการลงมาข้องเกี่ยวกับการเมืองจนเกินพอดี ทั้งที่ถูกทักท้วงตั้งแต่ต้น จนนำมาสู่ข้อขัดแย้งสำคัญในกรณีนี้ ก็น่าสนใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจัดสรรพื้น ตีกรอบ วางเกณฑ์ ระหว่างอำนาจทั้ง 3 อย่างไร วีรพัฒน์คิดว่า มี 3 กระบวนการ

 

ประการแรกคือ ต้องยอมรับก่อนว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่ตีความกฎหมายต่างจากศาลทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองและความสมบูรณ์แห่งอำนาจ ดังนั้น ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องประกอบด้วยทั้งนักกฎหมายที่เข้าใจทฤษฎีการเมือง การปกครอง กฎหมายมหาชน กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือการจัดสรรตำแหน่งให้แก่ศาลค่อนข้างมาก แม้จะมีจากสายนักวิชาการ แต่ก็ไม่เกิดความหลากหลายด้านแนวคิด ในคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนนักรัฐศาสตร์ที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยความที่ไม่ใช่นักกฎหมาย เมื่อมีการพิจารณาคดีก็จำต้องฟังนักกฎหมาย ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นๆ ก็เป็นนักกฎหมายที่ไม่ได้มีแนวคิดด้านกฎมหาชน จึงเกิดแนวคิดที่เอนเอียงและไม่ได้คำนึงถึงความสมดุลของอำนาจหรือทฤษฎีกฎหมายมหาชน

 

             “เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องสร้างกลไกการได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้มีความหลากหลาย เลี่ยงไม่ได้เลยคือต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่ใช่ศาลเข้ามามากขึ้น ถ้าจะเปิดโควตาให้มาจากสายนักวิชาการ ก็ต้องเขียนให้ชัดว่า สายนักวิชาการจะต้องไม่มาจากศาลหรือเคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน”

 

ประการต่อมา ต้องถามว่า แล้วใครจะเป็นผู้ตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยโครงสร้างหลักๆ ที่เป็นอยู่คือสมาชิกวุฒิสภา แต่ปรากฏว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาก็มาจากศาลเป็นผู้เลือก ซึ่งจุดนี้ต้องได้รับการแก้ไข มิเช่นนั้นกระบวนการตรวจสอบศาลจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย

 

ประเด็นสุดท้าย ถามว่าควรให้ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เสนอชื่อหรือรับรองชื่อได้หรือไม่ เช่น อาจจะวางกลไกว่า รัฐสภาสามารถเสนอรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ 10 คน ซึ่งต้องค้นหาสูตรในการได้มา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาหรือใครก็ตามที่จะเป็นผู้เลือกสุดท้ายเลือกได้ 5 คนจาก 10 คน วีรพัฒน์เชื่อว่า วิธีนี้จะเปิดช่องให้ผู้ที่มีความหลากหลายเข้าไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่ต้องบังคับว่าต้องมาจากการเลือกตั้งหรือจากคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

 

                        “และจำเป็นด้วยว่า ต้องระบุขอบเขตอำนาจของศาลให้ชัดเจน แต่ถามว่าวันนี้ระบุหรือไม่ ระบุแล้ว แต่วันนี้ศาลไม่ฟัง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวบทรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ตอนคัดเลือกตุลาการเหล่านี้เข้ามา พวกเขามีแนวคิดที่สุดโต่งข้างหนึ่งเกินไป”

 

 

ไม่ไว้ใจนักการเมือง-ไม่ไว้ใจศาลทำระบบถ่วงดุลพัง

 

 

แต่ลักษณะประการหนึ่งของสังคมไทยคือ ความไม่ไว้วางใจนักการเมือง และเชื่อล่วงหน้าไปแล้วว่า หากเปิดช่องให้นักการเมืองยุ่มย่ามกับกลไกการตรวจสอบ สุดท้ายก็จะถูกแทรกแซงและไม่ทำงาน วีรพัฒน์ตอบคำถามด้วยการถามกลับว่า

 

                    “รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เอาคุณสมัคร สุนทรเวช คุณจตุพร พรหมพันธุ์ ออกจากตำแหน่ง ยุบพรรคการเมือง ห้ามคุณนพดล ปัทมะ เซ็นหนังสือกับกัมพูชา ถามว่าข้อกฎหมายเหล่านี้ฝ่ายการเมืองยอมปฏิบัติตามหรือไม่ ไม่มีคดีไหนเลยที่ฝ่ายการเมืองบอกว่าจะไม่ปฏิบัติตาม ทุกคนปฏิบัติตามศาลหมด เพราะนี่คือกลไกที่ประชาชนมีความศรัทธาในระดับหนึ่ง ให้ตรวจสอบนักการเมืองที่ประชาชนไม่ไว้ใจ"

 

 

                      “แต่ทันทีที่ศาลใช้อำนาจแบบนี้ ขัดต่อถ้อยคำ ขัดต่อหลักการ มันจะกลับตาลปัตรและสังคมจะเริ่มตั้งคำถามต่อศาล จากเดิมที่สังคมไม่ไว้วางใจนักการเมือง บัดนี้ก็ไม่ไว้ใจศาลเหมือนกัน เมื่อถึงตอนนั้นแล้วเราจะไว้ใจใคร เพราะศาลเข้าใจว่าการจะแก้ปัญหาต้องใช้ข้อกฎหมายอย่างเดียว แต่ไม่มองเรื่องประสบการณ์ทางการเมืองของประชาชนเลย เมื่อไม่มองตรงนี้ ศาลจะกลายเป็นสถาบันที่อ่อนแอลง ถึงตอนนั้นจะน่ากลัวที่สุด เพราะนักการเมืองก็ไว้ใจไม่ได้ ศาลก็ไว้ใจไม่ได้ นักการเมืองกับศาลก็ไม่ไว้ใจกันเอง สุดท้ายก็จะไม่เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลที่แท้จริง”

 

 

ใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่พอต้องให้โอกาส-เวลาสังคมเรียนรู้

 

ความไม่ไว้วางใจนักการเมืองดำรงอยู่คู่กับการเมืองไทยอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างชัด เมื่อแนวคิดของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และปี 2550 เหวี่ยงกลับไปมาอันเนื่องจากความไม่ไว้วางใจนักการเมือง และไม่ว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตจะเป็นเช่นไรก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด วีรพัฒน์กล่าวว่า กฎหมายเป็นเพียงส่วนเดียวของการแก้ปัญหาเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยมุ่งแต่ใช้เครื่องมือทางกฎหมาย แต่ละเลยสิ่งที่เรียกว่าประสบการณ์ทางการเมืองของประชาชน

 

วีรพัฒน์เชื่อว่า สังคมต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจในเรื่องบางเรื่องที่สำคัญที่สุด และถ้าผิดพลาด มันก็คือบทเรียนแห่งการเรียนรู้ แต่ที่ผ่านมาคนไทยใจร้อนเกินไป วีรพัฒน์อุปมากับการขับรถในปีที่ 1 และปีที่ 10 ซึ่งแน่นอนว่าความช่ำชองของผู้ขับย่อมเพิ่มพูนขึ้นตามเวลา

 

                 “แล้วจะเอาอะไรกับเรื่องใหญ่อย่างกติกาการปกครองประเทศ เราให้เวลาสังคมเท่าไหร่ แค่รัฐบาลคุณทักษิณ 1 ทักษิณ 2 ยังไม่ทันครบวาระเลย เราตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว ส.ว. ก็เป็น ส.ว. ผัวเมียแค่ชุดเดียวเอง เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นกติกาใหม่ถอดด้าม เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้มัน ถ้าเรารู้ว่ากติกามันให้อำนาจรัฐบาลเยอะ อยากให้รัฐบาลถูกตรวจสอบได้ แทนที่จะเลือกพรรครัฐบาลทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ก็อาจจะเลือกแบบที่ผมเลือกเสมอคือแบ่งเขตเลือกรัฐบาล บัญชีรายชื่อเลือกฝ่ายค้าน”

 

กระบวนการเรียนรู้ประสบการณ์ทางการเมืองจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่ผ่านมา ความใจร้อนของสังคมไทยกลับตัดตอนการเรียนรู้โดยการรัฐประหาร โดยการเพิ่มอำนาจแก่ตุลาการ วีรพัฒน์เล่าเหตุการณ์สมมติว่า หากรัฐบาลทักษิณอยู่ครบ 2 สมัย แล้วสถานการณ์ย่ำแย่มาก จนเกิดความพยายามใช้พลังทางสังคมผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สถานการณ์ปัจจุบันอาจดีกว่านี้ ประชาชนที่เชื่อพ.ต.ท.ทักษิณในขณะนั้น แต่เริ่มเห็นพฤติกรรมไม่ชอบมาพากล ก็อาจจะไม่กลายเป็นเสื้อแดงแบบฮาร์ดคอร์เหมือนทุกวันนี้ แต่ปล่อยให้เกิดการรัฐประหาร กลับทำให้เกิดภาพว่าพ.ต.ท.ทักษิณถูกรังแกทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ถูกรังแก

 

                   “สังคมไทยไม่ต้องเถียงกันเรื่องข้อกฎหมายมากหรอก แต่เราต้องให้โอกาสสังคมค่อยๆ เรียนรู้ คนจะถามผมเสมอว่า ผมพูดอย่างนี้ประเทศชาติล่มจม ไม่ต้องเรียนรู้อะไรหรอก สุดท้ายนักการเมืองโกงบ้านกินเมืองไปหมดแล้ว ผมถามว่า ระบอบประชาธิปไตย คุณดูถูกประชาชนขนาดที่ว่า 10 ปีผ่านไป นักการเมืองโกงกิน ประชาชนก็จะอยู่เฉยๆ เราคิดว่าคนไทยโง่ขนาดนั้นเชียวหรือ พลังอำนาจในทางสังคมมันมีนะครับ ปัญญาในสังคมก็มีครับ แต่ต้องใช้เวลานิดหนึ่ง”

 

 

ยุบศาลเท่ากับทำลายการเรียนรู้ของศาลและประชาชน

 

 

ท่ามกลางความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง ยังเกิดข้อเสนอสุดขั้วว่า ควรจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วีรพัฒน์ตอบด้วยหลักการคล้ายๆ ข้างต้น

 

                   “ตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 เราเลือกที่จะมาแนวทางแบบนี้ คือมีระบบศาลคู่ มีศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือจะสั่งสมความเชี่ยวชาญ วันนี้ศาลปกครองไทยเริ่มมีความเชี่ยวชาญด้านคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อย่างที่ศาลยุติธรรมไม่เคยมีมาก่อน ถ้าเรายุบศาลไป ความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมาก็จะหายไปด้วย ศาลฎีกาของสหรัฐฯ ที่อยู่มา 200 ปี เขาเคยผิดพลาดมาตั้งเยอะ มันต้องให้เวลาสังคมได้เรียนรู้ ไม่มีประโยชน์ที่จะยุบตอนนี้”

 

หากใช้อารมณ์ทางการเมืองและเสียงข้างมากยุบศาลเหล่านี้ หมายความว่ากระบวนการเรียนรู้จากความสำเร็จและผิดพลาดตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็จะสูญหายไปในพริบตา และตัดโอกาสการเรียนรู้ของประชาชนเหมือนหลายๆ ครั้งในอดีต

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: