คำถามมีว่า ทำไมหินต่าง ๆ นานา ถึงมาชุมนุมกันแถวนี้
น่าจะมีเรื่องราวสำคัญเสียแล้ว
พอประมวลสิ่งที่เคยรู้เคยเห็นมา สรุปได้ว่า
เขาใหญ่นั้น อยู่ตรงรอยต่อของเปลือกโลก หรือรอยต่อของแผ่นหินขนาดมหึมาสองชนิด คือระหว่างหินปูนที่เป็นผืนใหญ่ติดต่อไปทางตะวันตก จนถึงพม่า กับแผ่นหินตะกอน ซึ่งจะไปทางตะวันออก ถึงกัมพูชา
ตรงรอยต่อของแผ่นหินสองชนิดนี้ บางพื้นที่มีหินอ่อนแทรก จึงมีโรงงานขุดตัดหินอ่อนอยู่ในเขตตำบลหมูสี อ.ปากช่อง หลายโรง
พอสืบสาวเรื่องราวเข้าไปในตำราและแผนที่ ก็พบว่าเขาใหญ่ และ อ.ปากช่องนั้น คือ มุมด้านตะวันตกเฉียงใต้ของแผ่นดินอีสาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเปลือกโลกที่นักธรณีวิทยาเรียกว่า “แผ่นธรณีอินโดจีน”
ข้อมูลจากหนังสือปกแข็งสี่สี ภาพสวยที่ชื่อ “ท่องโลกธรณี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ความมหัศจรรย์แห่งมรดกโลก” จัดทำโดยกรมทรัพยากรธรณี สรุปเป็นเรื่องง่ายๆ เฉพาะบางส่วนได้ว่า...
เมื่อกว่าสองร้อยห้าสิบล้านปีที่แล้ว เปลือกโลกแผ่นที่ชื่อ “แผ่นธรณีอินโดจีน” อันมีภาคอีสานของเรารวมอยู่ด้วยนี้ เคยเป็นทะเลมาก่อน พบหลักฐานมากมายหลายอย่าง ที่เป็นซากปะการัง และสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่ภูกระดึง และอีกหลายแห่ง
และเนื่องจากโลกและทุกสิ่ง ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามการหมุนเวียนเปลี่ยนไปของจักรวาล เปลือกของโลกหรือแผ่นธรณีซึ่งมีหลายแผ่น แต่ละแผ่นขนาดมหึมา ลอยอยู่บนหินหนืด ที่หมุนวนอยู่ภายในโลก เพราะเหตุนั้น เปลือกโลกจึงเคลื่อนที่เบียดอัดและกดดันกันตลอดเวลา ไม่เคยหยุดนิ่งแม้แต่นาทีเดียว ด้วยแรงอันมหาศาล สุดที่จะมีอะไรในโลกมาต้านทานได้
ทำให้ “แผ่นธรณีฉาน-ไทย” ซึ่งเคยอยู่ใต้เส้นศูนย์ลงไป ได้เลื่อนขึ้นมาทางเหนืออย่างรวดเร็ว จนมาชน “แผ่นธรณีอินโดจีน”
ช่วงที่แผ่นเปลือกโลกทั้งสองกดดันกันหนักนั้น เปลือกโลกบางส่วนของแผ่นธรณีฉายไทยได้มุดตัว บริเวณนี้จึงมีภูเขาไฟประทุ พ่นลาวาออกมา ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน เกิดแผ่นดินไหว ครืดคราดๆ อยู่นานนับล้าน ๆ ปี
ต่อมา เกิดมีภูเขาสูงขึ้นมาใต้เปลือกโลก แผ่นดินแถบอีสานจึงยกตัวขึ้น จนเป็น “ที่ราบสูง” ทะเลก็ถูกตัดขาดจากมหาสมุทร น้ำในทะเลอีสานก็ค่อย ๆ เหือดแห้งไป เหลือไว้แต่เกลือจำนวนมหาศาล กับตะกอน และเม็ดทราย ที่ไหลลงจากภูเขาสูง
ขอบของแผ่นดินอีสาน ด้านตะวันตก ซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูน จากมวกเหล็ก สระบุรี และปากช่อง นครราชสีมา ต่อขึ้นไปลพบุรี ผ่านชัยภูมิ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ น่าน ทะลุเข้าลาว
ส่วนขอบทางทิศใต้ เป็นเทือกเขาหินทราย ที่เริ่มจากเขาใหญ่ ยาวไปทางนครราชสีมา ปราจีนบุรี ต่อไปยังเทือกเขาพนมดงรัก บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขนานไปตามแนวชายแดนกัมพูชา จนทะลุลาว
บริเวณภายในมุมสามเหลี่ยม ที่เกิดจากภูเขาสองเทือกมาต่อกันเป็นมุมฉากนี้ ต่อมาได้กลายเป็นป่าใหญ่ มีไดโนเสาร์เดินหากินเพ่นพ่าน เมื่อราว ๆ ร้อยล้านปีที่แล้ว และมีไดโนเสาร์กินเนื้อ ชนิดที่ชื่อ Siamopodus khaoyaiensis พิมพ์รอยนิ้วตีนไว้เป็นที่ระลึก ณ กลางป่าเขาใหญ่ด้วย
แผ่นเปลือกโลกนั้น ครูบอกว่าประกอบขึ้นจากหินที่มีอายุต่างกันมากมาย มีแร่ธาตุสารประกอบต่างกัน หินปูนก็อย่างหนึ่ง หินทรายก็อีกอย่างหนึ่ง
ดินปากช่องเป็นสีแดง ซึ่งต่างไปจากดินภาคอื่น ๆ เว็บไซด์ กรมทรัพยากรธรณี บอกเรื่องดินปากช่อง ว่า...เป็นดินที่เกิดจากการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ และ/หรือ เศษหินเชิงเขาของหินดินดาน ที่แทรกตัวอยู่กับหินปูน...สีน้ำตาลปนแดงเข้ม อาจพบก้อนเหล็กและแมงกานิสสะสมในดินล่าง...
ส่วนบนภูเขาหินปูนตั้งแต่มวกเหล็กขึ้นไป ก็จะมีพืชพรรณนานา หลายชนิดที่ ไม่มีในป่าบนเขาหินทราย หลายชนิดเป็นพืชพรรณเฉพาะถิ่นของโลก คือมีที่เดียวในโลก ซึ่งนักพฤกษศาสตร์เรียกว่า “พืชถิ่นเดียว” พืชถิ่นเดียวของไทย ก็มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น อย่าง โมกราชินี ไงครับ
หนังสือ “พืชถิ่นเดียวและพืชหายากในประเทศไทย” ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้รายละเอียดที่น่าสนใจของพืชพรรณสำคัญชนิดนี้ว่า โมกราชินี ชื่อวิทยาศาสตร์ Wrightia sirikitiae... ไม้ต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 4-6 เมตร .....พบขึ้นห่าง ๆ ตามซอกหินของภูเขาหินปูนที่แห้งแล้งในป่าละเมาะผลัดใบ บริเวณวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีเพียงแห่งเดียว...
สถานภาพ พืชถิ่นเดียวและพืชหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้ชื่อในพระนามาภิไธย...
หรือแคสันติสุข ไม้ต้นขนาดเล็กนั่นก็ใช่ไม้ถิ่นเดียว ไม้พุ่มก็อย่างโกงกางน้ำจืด และพืชล้มลุกก็อย่างกระเพราหินปูน เป็นพืชพรรณเฉพาะถิ่นของโลกทั้งสิ้น
ส่วนดินที่เกิดจากหินตะกอนนั้น ก็ได้ทำให้มีพืชพรรณหลายชนิดเกิดขึ้น และมีไม้เฉพาะถิ่นของโลกขึ้นมา เอาอย่างที่ดังๆ เป็นดาราหน้าสื่อมวลชนตลอดก็อย่าง ไม้พะยูง ที่เป็นไม้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสุดวิเศษ ไม่มีที่ไหนในโลก นอกจากที่บนเทือกเขาหินทรายแห่งนี้
ไม่ใช่แค่พะยูง ที่สวยเด่นซ่อนอยู่ในป่า แต่ยังมีพืชสำคัญที่คนยังไม่ค่อยรู้จักก็มาก อย่างพุดผา หรือข่อยหิน ซึ่งเป็นพืชหายากชนิดหนึ่ง ที่มีแต่บนเขาหินทรายนี้เท่านั้น
ป่าอันเกิดจากหินทราย นอกจากจะมีแร่ธาตุตามแบบของตัวแล้ว แผ่นหินทรายขนาดมหึมามหาศาลนี้ ยังได้ทำให้มีสภาพภูมิอากาศ ความชื้น อุณหภูมิ ตลอดจนพืชพรรณ สัตว์ป่าเฉพาะของตัวขึ้นมา
“กูปรี” คือ สัตว์เฉพาะป่า ที่เกิดในป่าที่เป็นเขาหินทรายโดยแท้ เพราะมันเป็นสัตว์จำพวกวัวป่า ที่อยู่คู่ป่าบนภูเขาหินทราย โดยพัฒนาการต่างออกมาจากวัวป่าชนิดอื่น ที่มีเป็นส่วนมากในประเทศไทย คือกระทิงและวัวแดง
และยังมีสัตว์ป่าขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่แต่ในป่าอันเกิดจากหินทรายเท่านั้น ป่าที่เกิดบนเขาหินปูนจะไม่มีให้เห็น
สัตว์ป่าที่ว่านี้ คือ ชะนีมงกุฎ
เพราะชะนีชนิดนี้ มีที่เดียวในโลก ที่บนภูเขาหินทราย ในไทยกับกัมพูชาเท่านั้น
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงเป็นพื้นที่สำคัญระดับ มรดกโลกนั่นแล้ว
ขอบคุณภาพจาก หนังสือท่องโลกธรณี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กรมทรัพยากรธรณี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ