หวั่นท่าเรือเชฟรอนกระทบ ทำลายทะเลท่าศาลา-สิชล

11 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1946 ครั้ง

 

เครือข่ายนักวิชาการเอชไอเอ (HIA Consortium) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเรียนรู้เอชไอเอผ่านกรณีศึกษา (HIA Case Conference) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ นักวิชาการ นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม เครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา ชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบ นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

 

รศ.น.พ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้เป็น 1 ใน 11 ประเภทโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA เพราะมีท่าเรือที่ยื่นออกไปในทะเลยาว 330 เมตร ต้องจัดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตโดยสาธารณะ ซึ่งในหลายโครงการที่ทำพบว่า เป็นเพียงพิธีกรรม ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่อยากให้สาธารณะร่วมกันกำหนดประเด็นข้อห่วงกังวล ก่อนนำไปศึกษาและประเมินผลกระทบ โดยที่ผ่านมาชุมชนมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน เป็นการทำตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งพบว่าโครงการท่าเรือนี้จะทำให้ ดอนซึ่งเป็นระบบนิเวศย่อยในทะเล ซึ่งเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำและแหล่งอาหาร เสียอย่างยากที่จะเรียกคืนได้ นอกจากนี้ในกรอบข้อตกลงในการดำเนินโครงการ ควรระบุตัวชี้วัดในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพใน 4 มิติ คือ สุขภาพ จิตใจ สังคม จิตวิญญาณ

 

 

                “มิติชี้วัดด้านจิตวิญญาณและปัญญาของกรณีนี้คือ การสืบทอดอาชีพประมง และทะเลคือชีวิตของพวกเขา หากทะเลตายจิตวิญญาณพวกเขาก็ตาย คนที่ไร้วิญญาณก็คือผีดิบ หายใจ มองเห็นแต่ไม่มีความรู้สึก ถ้าโครงการใดโครงการหนึ่ง กระทบจิตวิญญาณ มันอาจเป็นจุดแตกหักของชุมชนเลยก็ได้” น.พ.พงศ์เทพ กล่าว

 

นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กล่าวว่า ที่ตั้งของโครงการขัดกับร่างผังเมืองรวมจ.นครศรีธรรมราช ที่ห้ามสร้างพื้นที่สำรองวัตถุอันตราย เพราะในร่างรายงานฯ ระบุว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งจะกักเก็บวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นสารกัมมันตภาพรังสีและวัตถุระเบิดไว้ โดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 กรมโยธาธิการและผังเมือง ทำหนังสือถึงโยธาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า ร่างผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช จะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคม 2555 แต่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กลับพิจารณาเห็นชอบ รายงาน EHIA ของโครงการนี้ ไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหนึ่งในคชก.ชุดนี้ แต่กลับไม่มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ว่างในโครงการอีก 390 ไร่ ที่ระบุว่า เป็นพื้นที่รอการพัฒนา โดยไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกกว่า 30 ปีข้างหน้า แต่รายงาน EHIA ก็ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว ดังนั้นกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ก็จะเป็นเพียงการทำการประเมินของโครงการส่วนขยายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการประเมินผลกระทบภาพรวมของโครงการฯ ทั้ง 30 ปี ซึ่งจากร่างรายงานของโครงการนี้ ยังระบุอีกว่า จะมีการวางแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง หากเป็นเช่นนั้นจะเป็นการพัฒนาที่เป็นจุดเปลี่ยนของภาคใต้ และสอดคล้องกับแผนพัฒนาชายฝั่งภาคใต้ ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุว่า พื้นที่ชายฝั่งภาคใต้มีศักยภาพการพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจพลังงาน แต่ชุมชนยังคัดค้านสูง จึงชะลอโครงการขนาดใหญ่ไว้ก่อน

 

 

                “ต้องนำข้อมูลจากโครงการนี้มาพิจารณาว่า เกิดผลกระทบสูงกว่าในร่างรายงานฯ หรือไม่ ควรประเมินประเด็นการกักเก็บสารกัมมันตภาพรังสีเพิ่มเติมด้วย และต้องประเมินภาพรวมผลกระทบโครงการภาพรวมทั้ง 30 ปีด้วย” นางภารนีกล่าว

 

 

ทางด้าน นายประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอ ชุมชนท่าศาลา กล่าวว่า ร่างรายงานฯ โครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคชก. ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียงการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย แต่เชื่อว่าเนื้อหายังมีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะในส่วนของผลกระทบต่อชุมชน อีกทั้งคชก.ก็ไม่เปิดเผยรายงานฉบับดังกล่าวต่อสาธารณชนอีกด้วย

 

นายประสิทธิชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางบริษัท เชฟรอนฯ ทราบข้อห่วงกังวลของชุมชน จากขั้นตอนของการกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบ (Public Scoping) ที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดขอบเขตการศึกษา แต่กลับไม่ได้สนใจในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยสิ่งที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาประกอบด้วย 1.บริษัทมีการละเมิดสิทธิชุมชน ด้วยการร่วมมือกับผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ สร้างความแตกแยกให้คนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านขาดความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็น เพราะถูกครอบงำโดยผู้นำท้องถิ่น

 

2.เกิดผลกระทบกับประมงชายฝั่งและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างรุนแรง เพราะพื้นที่ อ.ท่าศาลา มีดอนหรือสันดอนขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการทับถมของตะกอน แร่ธาตุ ปะการัง ทำให้ปลาและสัตว์น้ำต่างเข้ามาอาศัยบริเวณนี้จำนวนมาก หากดอนถูกทำลายไป เท่ากับอาชีพของคนในพื้นที่ อ.ท่าศาลาจะล่มสลายไปในทันที

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนั้นชุมชนท่าศาลาได้รวมตัวกันศึกษาและทำข้อมูล ด้วยกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน หรือ เอชไอเอชุมชน ควบคู่ไปกับการศึกษา EHIA ของบริษัทที่ปรึกษาและพบว่า พื้นที่อ่าวท่าศาลา-สิชล มีดอนในทะเลที่สมบูรณ์ จนชุมชนเรียกว่าดอนทองคำ เพราะสามารถหาสัตว์ทะเลได้ทั้งปี โดยเฉพาะกั้งในช่วงมรสุมเช่นนี้ สามารถหาได้เต็มลำเรือโดย 1 ลำขายหน้าท่าได้ กิโลกรัมละ 750 บาท รวมแล้วกว่า 20,000 บาท และดอนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณปากน้ำกลาย ซึ่งก็เป็นจุดเดียวกับที่จะมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ลมว่าว) และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมพลัด) ที่เป็นต้นกำเนิดทำให้เกิดลมหมุนเวียนตลอดทั้งปีจากทะเลไปปะทะเทือกเขาหลวงในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา เรียกว่า "ลม 8 ทิศ" ถือเป็นส่วนหนึ่งระบบนิเวศทางทะเลมีผลต่อการออกหาอาหารและเคลื่อนย้ายถิ่นของสัตว์น้ำ

 

 

                 “ในอนาคตเชื่อว่าจะเกิดนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องในบริเวณนี้ เพราะตามแผนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องการให้มีการลงทุน ด้านปิโตรเคมี 20,000 ไร่ และแผนของบริษัท เชฟรอนฯ อาจมีการวางท่อก๊าซอีกด้วย เชื่อว่าลม 8 ทิศจะพัดพามลพิษจากชายฝั่งเข้าสู่พื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถูกกั้นไว้โดยเขาหลวงที่อยู่ด้านหลัง จะสร้างอันตรายต่อสุขภาพของคนในจังหวัด” นายประสิทธิชัยกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: