ค้าน3เอกชนจี้รัฐแก้ก.ม.37ฉบับ ชี้บางฉบับทำร้ายประชาชน

11 ก.ย. 2555


จากกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สมาคม คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย จะเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 12 กันยายนนี้ ให้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ 37 ฉบับ โดยอ้างว่า มีความล้าหลัง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

 

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2555 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากกฎหมายที่ภาคเอกชนต้องการแก้ไข 37 ฉบับนั้น มีบางฉบับที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเห็นด้วย เช่น พ.ร.บ.องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ควรต้องนำกฎหมายภาคประชาชนมาร่วมพิจารณา แต่ไม่เห็นด้วยในการเสนอขอแก้ไขในหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย  พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม  พ.ศ.2535 ฯลฯ จึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรอ.ที่ให้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น ประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน  ผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนนักวิชาการนักกฎหมาย แต่ต้องมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง หรือมิเช่นนั้นก็ควรส่งให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ไปดำเนินการที่มีการรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน

 

ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551ตามที่ กรอ.เสนอ คือ

ข้อ 1.1 เรื่องการกำหนดภาระการพิสูจน์ ให้ต่างจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ในขณะนี้ ไม่เห็นด้วย เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของกฎหมาย PL คือ การแก้ไขปัญหาในการพิสูจน์ของฝ่ายผู้เสียหาย ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสินค้านั้นไม่ปลอดภัยอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ออกมา โดยที่สินค้าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะผลิตภายในประเทศหรือนำเข้า มีกระบวนการผลิตที่ใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้นเป็นลำดับ การที่ผู้บริโภคจะตรวจพบว่าสินค้าไม่ปลอดภัยกระทำได้ยาก

 

ข้อ 1.2 ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มข้อยกเว้นความรับผิด เพราะหากเพิ่มเป็นข้อยกเว้น เมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าประเภทนี้ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์จากข้อยกเว้น หากผู้เสียหายกล่าวอ้างว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐานผู้เสียหายต้องมีภาระการพิสูจน์ว่า สินค้าที่ตนได้ใช้นั้นผลิตไม่ได้มาตรฐาน (ตามที่บังคับ)

ข้อ 1.3 สิทธิเรียกร้องความเสียหายจากกฎหมายหลายฉบับ หากผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ด้วยกฎหมายหลายฉบับ ให้ผู้เสียหายเลือกใช้สิทธิตามกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งเพียงฉบับเดียว อ่านโดยข้อความแล้วไม่เข้าใจว่า จะให้ผู้เสียหายเลือกหรืออย่างไร เพราะในปัจจุบัน มาตรา 3 ก็ให้ใช้กฎหมายที่คุ้มครองมากกว่าเป็นฐานในการเรียกร้อง

 

ข้อ 1.5 ความรับผิดระหว่างผู้ประกอบการ ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่ตามพฤติการณ์ศาล จะพิจารณาเป็นอย่างอื่น ประเด็นนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอเปลี่ยนหลักการในกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งให้รับผิดร่วมกันต่อผู้เสียหาย ตามมาตรา 5 ที่เหมาะสมแล้ว ข้อ 1.6 ไม่เห็นด้วยกับ คำจำกัดความสินค้าที่ไม่ปลอดภัย แก้ไขคำคำจำกัดความ “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ให้มีความหมายถึงเฉพาะสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เพราะเหตุบกพร่องจากการผลิต การออกแบบ หรือคำเตือนเท่านั้น เพราะความหมายเดิมครอบคลุมดีแล้วจะคุ้มครองผู้บริโภค

 

นอกจากนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เสนอให้ไปใช้พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าแทนนั้น เพราะสินค้าและบริการที่เป็นการผูกขาด กลไกการแข่งขันไม่เกิด ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องมีพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และต้องแก้ไขพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าเพื่อให้แข่งขันได้จริง

 

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ไม่เห็นด้วยกับการที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เสนอให้ยกเลิกธรรมนูญสุขภาพที่ไม่ให้ภาครัฐสนับสนุนภาษี หรือสิทธิพิเศษการลงทุนกับธุรกิจการแพทย์

 

                 “นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และเป็นประธานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของคนทั้งประเทศ ซึ่งสาระของธรรมนูญสุขภาพ ไม่ได้ไปกล่าวโทษภาคธุรกิจที่ทำมาหากิน แต่ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปสนับสนุนธุรกิจทางการแพทย์โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุน ซึ่งควรต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และในประเทศที่เน้นหลักประกันสุขภาพของประชาชน เช่นที่รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์กำลังดำเนินการอยู่ ต่างต้องควบคุมการทำธุรกิจการแพทย์ทั้งสิ้น เพราะจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประชาชน”

 

 

ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยมูลนิธิบูรณนิเวศ ระบุว่า ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเสนอด้านสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษว่า มีความเห็นต่างกับข้อเสนอกกร. เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ.2535 ในเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ต้องการให้เอกชนสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ

 

เหตุผลคือ 1.การพิจารณาอีไอเอเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงรายงานได้ เป็นขั้นตอนอยู่แล้ว หากว่ารายงานไม่ผ่านความเห็นชอบนั่นหมายถึงว่า โครงการนั้น ๆ ย่อมมีปัญหารุนแรง หรือมีความไม่เหมาะสมที่จะให้ดำเนินการจริง ๆ หรืออาจจะก่อความเสียหายอย่างมากได้

 

2.การแก้ไขมาตราใดมาตราหนึ่งเป็นการเฉพาะใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 ตามข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเห็นแก่ประโยชน์เฉพาะกลุ่มของภาคธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมในมิติต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะความยั่งยืนและคุณภาพที่ดีของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การแข่งขันทางการค้าทียั่งยืนในระยะยาวของประเทศไทยในตลาดโลกแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ในสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศก็มีมาตรการส่งเสริมเรื่องความผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลของเอกชนมากขึ้น

 

3) พรบ. สิ่งแวดล้อม 2535 ควรมีการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันไม่ครอบคลุมปัญหาและความเสียหายอีกหลายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กรณีการจัดทำอีไอเอควรมีการแก้ไขให้ครอบคลุมไปถึงการศึกษาผลกระทบเชิงพื้นที่ ไม่ใช่รายโครงการ, และอีไอเอควรมีผลต่อการอนุมัติการก่อสร้างโครงการและการยกเลิกการก่อสร้างโครงการ, การแก้ไขในประเด็นกองทุนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชุมชนที่ได้รับผลกระทบด้วย, การเพิ่มโทษสำหรับผู้ก่อมลพิษทางแพ่งและทางอาญา เป็นต้น

 

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ....และร่างพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องแต่เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.นี้มีประโยชน์ต่อสาธารณะ หากจะมีการปรับปรุงก็ควรเปิดโอกาสให้สาธารณะและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องฝ่ายต่าง ๆ ให้ความเห็นกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อย่างกว้างขวาง

 

ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การปนเปื้อนมลพิษในดินและน้ำใต้ดินภายในบริเวณโรงงาน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรมีการตรากฎหมายย่อยที่ควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ทั้งในและนอกพื้นที่โรงงาน รวมถึงการกำหนดมาตรการฟื้นฟู เยียวยาปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และการเพิ่มโทษรุนแรงขึ้นกับผู้ก่อมลพิษ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: