‘จาตุรนต์’ชี้แก้รธน.ไม่ได้วุ่นอีกเยอะ ระบุศาลรธน.ยุ่งมากไปเสียภาพลักษณ์

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1432 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 10 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมสยาม ซิตี้ มีการจัดเสวนาวิชาการ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการวางรากฐานประชาธิปไตย” โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นประธานเปิดการเสวนา โดยมีผู้ร่วมคือ รศ.สิริพรรณ นกสวนสวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ และ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการอิสระด้านกฎหมาย

 

รศ.สิริพรรณกล่าวว่า อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่ยึดโยงกับประชาชน อำนาจตุลาการแสดงบทบาทเด่นนำหน้า โดยการตรวจสอบทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ทั้งๆ ที่มาของฝ่ายตุลาการมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชน อำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้คำสั่งให้รัฐสภา รอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไม่เข้ากับมาตรา 68 ขณะที่รัฐสภาใช้มาตรา 291 ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยแล้ว

 

ขณะที่ดร.พรสันต์มองว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองมากเกินไป จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายตุลาการเอง ที่ผ่านมาไม่เคยมีบทบัญญัติใดที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบและออกคำสั่งฝ่ายนิติบัญญัติได้ อีกทั้งการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ยังอยู่ในระยะของรัฐสภาอยู่ ส่วนในกรณีที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นที่มาของการยุบพรรคเพื่อไทย เห็นว่า รัฐสภาทำตามวิถีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุอันควรที่จะยุบพรรคได้

 

ด้านนายศิโรตม์กล่าวว่า หลังจากการรัฐประหารปี 2549 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมาก ขณะที่ความเป็นประชาธิปไตยของรัฐสภา ก็ไม่มีความเข้มแข็ง จึงเสนอว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้ฝ่ายรัฐมีอำนาจน้อยลง และประชาชนมีอำนาจมากขึ้น รวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ควรตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคม สะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนให้มากที่สุด และต้องมีช่องทางให้ตรวจสอบการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ หมายความว่า ต้องทำให้พลเมืองมีความกระตือรือร้นตามวิถีของรัฐธรรมนูญมากขึ้น

 

นายจาตุรนต์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเสวนาถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเลื่อนไปในสมัยประชุมหน้า ถ้าหากว่าศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรพ.ร.บ.ปรองดองก็ต้องตกที่ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสังคมไทยมาอยู่ที่ทางสองแพร่ง คือทางหนึ่งเป็นการแก้รัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป โดยรัฐสภาลงมติในวาระ 3 มีผลบังคับใช้เกิดมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และมีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะมีการลงประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งหมายความว่า เราจะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั้งประเทศ จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แก้ไขวิกฤตพื้นฐานของประเทศคือรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และอีกทางคือการแก้รัฐธรรมนูญนี้ต้องล้มลง โดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าต่อไป โดยเข้ามาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะนำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับว่าประเทศย่ำอยู่กับที่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย และจะอยู่ภายใต้การปกครองที่มีศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุด โดยที่ประชาชนไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป เท่ากับเป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย คือรัฐสภามีอำนาจสูงสุด จะกลายเป็นฝ่ายตุลาการมีอำนาจสูงสุดเหนือกว่าฝ่ายอื่นๆ ทั้งหมด

 

                       “ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่นี้ จะนำไปสู่การล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สิ่งที่จะตามมาก็เกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น การยุบพรรคการเมืองที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ การถอดถอนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งอาจจะมีคนไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) และต่อไปก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่าถอดถอนครม.ทั้งคณะแล้ว ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลก็จะต้องพักการทำหน้าที่ของครม.ก็จะเกิดสุญญากาศ เป็นวิกฤตทางการเมือง และจะมีคนเสนอให้ใช้มาตรา 7 ขึ้น มาอีก” นายจาตุรนต์กล่าว

 

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงดึงดันที่จะบิดเบือนรัฐธรรมนูญและปฏิบัติในทางที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตีความบิดเบือนขัดแย้งกับคำวินิจฉัยเดิมที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตวินิจฉัยไว้ในข้อความเดียวกันทุกประการ หากศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือศาลรัฐธรรมนูญกำลังละเมิดหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญคือ ศาลรัฐธรรมนูญตามอำนาจรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีอำนาจวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลเดินหน้าต่อไปคือละเมิดทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีอำนาจ

 

                      “การชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ ก็เพราะกลัวบ้านเมืองจะมีปัญหาเป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก แต่การคัดค้านโดยสันติวิธีก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่หากชะลอเพราะต้องการทำตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ อันนั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ร้ายแรงต่อระบบรัฐสภา กลายเป็นว่ารัฐสภาขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการยอมให้อำนาจที่เป็นของประชาชนตกอยู่ภายใต้ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาชนเลย จะเป็นความเสียหายอย่างมาก และจะทำให้ประเทศนี้ไปสู่วิกฤตยากที่จะแก้ไขได้ เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ดังนั้นประชาชนทั้งประเทศต้องตัดสินใจ สมาชิกรัฐสภาต้องร่วมตัดสินใจ” นายจาตุรนต์กล่าว

 

นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็จะคว่ำได้อีก แต่มีความจำเป็นที่รัฐสภาต้องเดินหน้า หากประชุมในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ และรัฐสภาไปประชุมวาระอื่น เช่น พิจารณาคำขอตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะลงมติวาระ 3 ก็แสดงว่ารัฐสภาชะลอการลงมติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหมายความว่าสร้างบรรทัดฐานที่ผิดขึ้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ต้องลงมติในวาระ 3 ต่อ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคัดค้านทุกเรื่องที่มาจากรัฐบาลอยู่แล้ว ถ้าจะทำตามพรรคประชาธิปัตย์ทุกเรื่องก็ต้องยกให้พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่แทนเสียงข้างมากไป

 

นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า การคัดค้านอีกรอบตนคิดว่าไม่น่าเป็นห่วง แต่ว่าวิกฤตทางการเมืองจะเกิดขึ้น หากไม่มีการลงมติในวาระ 3 และปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างนี้ วิกฤตจะร้ายแรงอย่างมาก ถ้าไม่อยากเห็นวิกฤตทุกฝ่ายต้องทำตามรัฐธรรมนูญ การที่อัยการตีความอย่างหนึ่ง ศาลตีความอย่างหนึ่งนั้น อัยการตีความเฉพาะในส่วนของเขา มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีมูลที่จะไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และพิจารณาว่าไม่มีข้อเท็จจริงที่จะร้องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาต่อไป ไม่ตรงกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในอดีตพิจารณาไว้ 11 คน ลงชื่อไว้ ตีความว่า คำว่าให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หมายความว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องต่อศาลโดยตรง เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วศาลรัฐธรรมนูญมักจะยึดคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตเป็นบรรทัดฐาน แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองในเรื่องเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันกลับไม่ยึดเป็นบรรทัดฐาน แต่ตีความว่าตัวเองรับเรื่องได้ และศาลจะเอาข้อเท็จจริงจากไหน ก็เท่ากับตีความเอง โดยตีความไปที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เกิดจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงของอัยการ

 

ขอบคุณภาพจาก ไอเอ็นเอ็น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: