‘ปธ.ศาลรธน.-ปกครอง’ชี้คิดให้ดีถ้าจะยุบ ระบุคดีเพียบ-ไม่มีใครอยากเป็น‘ตุลาการ’ หลายฝ่ายหนุนทำก็ล้าหลัง-คนหมดที่พึ่ง

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 10 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3666 ครั้ง

 

สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน : ประเทศไทยกับระบบศาล” เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในช่วงเช้า เป็นการปาฐกถาโดยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลฎีกา ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาเรื่อง “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในสายตานักการเมือง นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และผู้ได้รับผลกระทบ”

นายธีรยุทธ บุญมี ผอ.สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ กล่าวเปิดงานว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สำคัญ อยู่ในโปรแกรมขับเคลื่อนประเทศมานานมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศ ตั้งแต่สมัยยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเริ่มล้าหลัง มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา จนกระทั่งปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ต้องยกเครื่องสังคายนาใหม่ อยากให้ศาลมีการสื่อสารกับคนทั่วไป สนทนากับคนมากขึ้น อธิบายกับคนมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจอะไร ก็จะส่งผลกับคนจำนวนมาก รวมถึงเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ก็มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกร่างใหม่ ฉะนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันว่า ควรจะผลักดันให้ระบบศาลเดินหน้าไปในทิศทางใด ทำให้ประชาชนมองภาพลักษณ์ของศาลเปลี่ยนแปลงไป

ชี้ 3 ปัจจัยยกระดับคำวินิจฉัยของศาล

 

นายอมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ระบบยุติธรรมกับประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน”  ใจความสำคัญระบุว่า  ระยะเวลานี้เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ที่ต้องพิจารณาบทบาทของศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540-2550 จะเห็นว่า ระบบศาลต้องตรวจสอบระบบสถาบันทางการเมือง ระบบเผด็จการพรรคการเมือง นายทุน ซึ่งไม่ใช่ประชาธิปไตย ศาลจะทำงานอย่างไรในการสร้างความศรัทธาต่อประชาชาชน ปัญหาอย่างหนึ่งคือ ศาลจะสร้างผลงานที่ดีได้อย่างไร สร้างความศรัทธาต่อประชาชนได้ดีพอหรือไม่ คำวินิจฉัยของศาลต้องอยู่ในสภาพที่ดีมีความเชื่อถือต่อประชาชนถึง 90 เปอร์เซ็นต์  ฉะนั้นบทบาทของศาล จะทำให้มาตรฐานคำวินิจฉัยเป็นที่น่าเชื่อถือได้อย่างไร

นายอมรกล่าวว่า ศาลต้องตีความและอุดช่องว่างทางกฎหมาย โดยสร้างประโยชน์เพื่อสาธารณะ เมื่อรู้ว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่สามารถสร้างความศรัทธา แก้ปัญหาเท่าที่คาดหวังได้ ทำอย่างไรจึงจะยกระดับคำวินิจฉัยของศาลได้ ซึ่งต้องดูว่าเหตุเกิดจากอะไร โดยมีปัจจัย 3 ประการคือ  1.คุณภาพคุณสมบัติของผู้พิพากษาในการคัดเลือกตุลาการ 2.วิธีพิจารณาของศาลทำให้เกิดคำวินิจฉัยที่ดีได้หรือไม่  และ 3.การตรวจสอบคุณภาพคำวินิจฉัยของศาลว่าดีหรือไม่ดี

 

แนะทางแก้เริ่มจากปธ.ศาล-วิธีพิจารณา-การตรวจคำวินิจฉัย

 

อย่างไรก็ตามเห็นว่าข้อบกพร่อง ทั้ง 3 ประการ ไม่มีเขียนในกฎหมาย ฉะนั้นตัวประธานศาลจะต้องยกระดับมาตรฐานศาล ประการแรกคือ การคัดเลือกตุลาการขอให้พิจารณาถึงผลงานย้อนหลังในอดีตว่าเคยทำอะไรมาบ้าง ไม่ใช่การพิจารณาเรื่องการแสดงวิสัยทัศน์ ส่วนวิธีพิจารณาของศาลเป็นเรื่องที่ล่าช้าไม่สร้างความศรัทธาให้กับประชาชน ทำให้การตรวจสอบคุณภาพคำวินิจฉัยไม่สามารถตัดสินได้ว่าดีหรือไม่ ตุลาการทุกวันนี้มีความคิดเห็นอิสระในการตัดสิน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกต้องตรวจสอบคำพิพากษาว่าครบถ้วน ตรงตามข้อเท็จจริง จะเห็นว่าข้อบกพร่องต่างๆ ของศาลไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมาย ในฐานะที่เป็นประธานศาลถือว่ามีบทบาทอย่างมาก ต้องริเริ่มสร้างระบบปิดช่องว่างทางข้อกฎหมาย สิ่งที่ศาลต้องเผชิญกับระบบเผด็จการพรรคการเมือง ศาลจะอยู่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคำวินิจฉัยดีขึ้นหรือยกระดับ ถือเป็นบทบาทของศาลที่จะเสริมกฎระเบียบ วิธีพิจารณาเพื่อให้คุณภาพ คำวินิจฉัยของศาลมีความเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

 

ไม่มีใครอยากเป็นตุลาการ-ถูกสังคมจับตา

 

จากนั้น นายวสันต์  สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ศาลกับความยุติธรรมในมิติต่างๆ ของไทย” ตอนหนึ่งว่า ในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญข้อบกพร่องประการแรกคือ ที่มาของตัวตุลาการ ซึ่งหาคนมีคุณภาพได้ยากมาก เพราะไม่มีเหตุจูงใจ ไม่มีใครอยากเป็น เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากศาลฎีกา  3 คน ตุลาการศาลฎีกาบางคนที่ไม่ได้แจ้งเหตุสละสิทธิเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ได้อยู่ในที่ประชุมใหญ่ก็ได้รับการคัดเลือก ทั้งที่ไม่ได้อยากเป็น เพราะระบบศาลไม่ว่าจะทำอะไรตัดสินเรื่องใดก็มักจะผิด

นายวสันต์กล่าวว่า ปัญหาของศาลวันนี้คือ ระบบศาลยุติธรรมมีอาญาสิทธิ์เรื่องละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญ สามารถด่ากันได้ตามสบาย  ซึ่งมีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกตรวจสอบ ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ตัดสินตอนเช้า ช่วงบ่ายก็มีคนออกรายการโทรทัศน์ด่า ไม่ว่าทำอะไรก็ผิด จนกว่าคนนั้นจะมาทำหน้าที่เอง คนเหล่านี้ถืออัตตาเป็นที่ตั้ง นอกจากนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังถูกยื่นถอดถอนรายชื่อโดยประชาชนหรือนักการเมืองก็ได้ นี่คือการตรวจสอบศาล

 

“การวิพากษ์วิจารณ์ทำได้ คนที่เป็นผู้พิพากษากลัวกันมาก กับการถูกเขียนหมายเหตุท้ายคำพิพากษา ศาลกลัวการวิจารณ์ในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะผู้วิจารณ์เป็นผู้มีน้ำหนักมากในการแสดงความคิดเห็น ถ้าศาลปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมมาตรฐานคำตัดสินตามหลักฎีกา จะถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน ซึ่งไม่ใช่วาทกรรมที่พูดกันโก้ๆ แต่เป็นเรื่องเดียวกันไม่มีข้อขัดแย้งแตกต่างกันเลย แต่มีคำตัดสินไปคนละทาง จึงจำเป็นต้องมีการประชุมใหญ่เพื่อสังคายนา โต้เถียงหาข้อยุติ นี่คือข้อเท็จจริงของศาลยุติธรรม” นายวสันต์กล่าว

 

นายวสันต์ยังวิเคราะห์ถึงที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า มาจากศาลยุติธรรม แต่แนวคิดแตกต่างกันทั้งสิ้น ทุกองค์กรมีทั้งคนดีและไม่ดี ทำให้ถูกจับตาจากสังคม โดยเฉพาะที่มาของคำว่า “ตุลาการภิวัฒน์” สะท้อนให้เห็นว่า ภารกิจของตุลาการหรือผู้พิพากษา ไม่ใช่เรื่องการตัดสินคดีเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ไว้คือ “ผู้พิพากษาไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้พิพากษาถือว่ามีอีกสถานะหนึ่งคือนักกฎหมาย ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสต้องนำความรู้เหล่านี้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย”

ดังนั้นผู้พิพากษาต้องทำงานอย่างไม่มีอคติ ไม่ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้ มีพอดีพอกิน ไม่ใฝ่หาความมั่งคั่ง องค์กรตุลาการเป็นที่รู้กันว่าใครเป็นอย่างไร มองหน้ากันก็รู้ว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร ระบบศาลยุติธรรมคือระบบราชการประจำที่ต่างกับศาลรัฐธรรมนูญ มีการลงโทษบังคับบัญชาเหมือนข้าราชการทั่วไปแต่การตัดสินคดีจะมาควบคุมไม่ได้

 

“การทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอาญาสิทธิ์ นักมวยยังมีกรรมการห้ามมวย ฟุตบอลยังมีกรรมการให้ใบเหลืองใบแดง แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี ถ้าถูกวิจารณ์อะไรก็ได้แต่แบะๆ พูดไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีการล็อบบี้ ที่บอกว่า ตัดสินตามใบสั่ง โกหกทั้งนั้น ชีวิตผมได้ใบสั่งเยอะ ต้องไปจ่ายตังค์ก็มีแต่ใบสั่งจราจร ผมยืนยันไม่มีใครสั่งผมได้ ผมโหวตให้ร่างพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ หลังวิกฤติน้ำท่วม ก็โหวตให้ผ่านทั้งสองฉบับ ยังถูกเพื่อนด่าว่า ทำไมไม่กั๊ก ก็อธิบายเขาก็เข้าใจให้รู้ว่า เราไม่ได้อคติ” นายวสันต์กล่าว

 

‘ปธ.ศาลปกครอง’ ระบุคดีมากขึ้น-คิดให้ดีถ้าจะยุบศาล

 

นายหัสวุฒิ วิฑิตริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ในช่วงที่มีการเดินสายศาลปกครองพบประชาชนที่จ.มหาสารคาม มีประชาชนสอบถามถึงการยุบรวมศาลปกครอง จึงฝากไปถึงคนที่เกี่ยวข้องว่า ยุบหรือไม่ยุบ หรือจะยุบรวมศาลปกครอง ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ขอให้คิดดูให้ดี

 

“ศาลปกครองทุกคนพร้อม ทุกคน นิ่ง เงียบ สงบ การยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะคิดเปลี่ยนแปลงศาล มีข้ออ้างมากมาย การจะพูดอะไรต้องมีข้ออ้าง เหตุผลชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ไม่เหมาะสมอย่างไร ศาลปกครองที่เป็นศาลคู่ ไม่ใช่มาเริ่มคิดปี 2540 ต้องย้อนไปปี 2417 ที่มีการเตรียมการให้มีศาลปกครอง แต่ล้มลุกคลุกลาน เรื่องร้อยกว่าปีจนกว่าจะมีศาลปกครอง ใช้เวลานานมาก ก่อนจะร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 สังคมอยากให้มีองค์กรตรวจสอบการปฏิรูปการเมืองก็เกิดศาลปกครอง อยากถามว่า มูลเหตุหรือเหตุผลที่ให้มีองค์กรเหล่านั้นตอนปฏิรูปการเมือง ตอนนี้มันหมดไปแล้วใช่ไหม จึงต้องการจะเปลี่ยนแปลง ศาลไม่ได้คัดค้าน แต่อยากถามว่ามันหมดไปแล้วใช่ไหมทุกวันนี้ แนวโน้มของคดีปกครองมีแต่มากขึ้นสูงขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วคดีเหล่านี้จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ใครจะรับผิดชอบ” นายหัสวุฒิกล่าว

 

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวต่อว่า ไม่วาพายุจะแรงแค่ไหน ศาลปกครองก็จะอยู่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองและประเทศ ศาลก็คือศาล ศาลก็คือตัวบุคคล จุดอ่อน ข้อบกพร่อง ปัญหาย่อมมี แต่พร้อมรับฟัง เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นไปปรับปรุงและพัฒนาศาล โดยเฉพาะการเผยแพร่คำวินิจฉัย ทุกคดีหากมีสิ่งไม่ชอบมาพากล ศาลปกครองก็มีคณะกรรมการตรวจสอบคำวินิจฉัย ขอให้ประชาชนเชื่อถือได้

อย่างไรก็ตามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการแก้ไขเกี่ยวกับศาล ซึ่งถือว่าศาลเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ส่วน ตามหลักการแบ่งอำนาจ ขอให้พิจารณาว่า หากองค์กรเหล่านี้ไม่มีความมั่นคงแล้ว ความน่าเชื่อถือกับนักลงทุนต่างชาติจะเป็นอย่างไร จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่มีทางแก้ไขได้ นอกจากแก้ไขเรื่องการศึกษา ทำให้คนไทยคิดเป็น ไม่ต้องให้คนอื่นเข้ามาแก้ไขปัญหา คนไทยคิดเองแก้ไขเองได้ ไม่ต้องห่วงเรื่องความขัดแย้ง เพราะประเทศสังคมประชาธิปไตยต้องได้รับคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขณะเดียวกันเสียงข้างน้อยของสังคม ควรมีเวทีแสดงออกทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ต้องอยู่ร่วมกันได้ท่ามกลางความขัดแย้ง ขอให้ทุกคนจริงใจต่อชาติ ต่อประชาชน ถ้าไม่อย่างนั้นคงยากที่จะเปลี่ยนผ่าน เพราะฉะนั้นความจริงใจสำคัญมาก ถ้าไม่จริงใจต่อบ้านของตัวเอง ประเทศของตัวเองแล้วเผาประเทศของตนเอง ไม่ใช่คนอื่นเท่านั้นที่เดือดร้อน ตัวเองก็จะเดือดร้อนเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้นายหัสวุฒิยังกล่าวถึงการพิจารณาคดีทางปกครองสำคัญๆ เช่น คดีมาบตาพุด และ คดีการจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี ว่า ศาลปกครองได้วางหลักมาตรฐานสำคัญเอาไว้คือ คดีมาบตาพุด ศาลปกครองไม่ได้วินิจฉัยเกินเลย แต่เป็นไปตามหลักกฎหมาย ส่วนคดี 3 จี ในขณะที่มีการฟ้องให้ยกเลิกการประมูล จะเห็นได้ว่าสื่อมวลชนมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งเชียร์สนับสนุนให้มีการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ แต่อีกฝ่ายระบุว่าการที่ศาลสั่งระงับการพิจารณาคลื่นความถี่ 3 จี เป็นการทำลายบ้านเมือง ถ้าไม่ประมูล ประเทศจะถอยหลัง เป็นประโยชน์สาธารณะ ต้องรีบทำ

 

“ถ้าอ้างแต่ว่าต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติไปตามกฎหมายแล้วไม่ทำ อยากถามว่าประเทศนี้ปกครองโดยนิติรัฐ หรือเป็นเพียงการอ้างลอยๆ เท่านั้นเอง ศาลปกครองยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อใครก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมาย หมายความว่า การกระทำทางปกครองทุกอย่างต้องถูกตรวจสอบและไม่ขัดต่อกฎหมายไม่ใช่อ้างว่าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมจะทำอะไรก็ได้ ถ้าอย่างนั้นบ้านนี้จะบอกว่าปกครองโดยกฎหมายเพื่ออะไร กฎหมายจะดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรที่ทำหน้าที่ดังกล่าวต้องไปพิจารณา” ประธานศาลปกครองกล่าว

 

เผยถูกขู่ฆ่ามาแล้ว-ย้ำเป็นตุลาการต้องกล้าหาญ

 

นอกจากนี้ นายหัสวุฒิยังกล่าวสนับสนุนแนวคิดมาตรฐานในการคัดเลือกตุลาการว่า คนที่จะมาเป็นตุลาการศาลปกครอง ต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินคดีทางปกครอง ซึ่งแตกต่างจากทหารที่มีอาวุธในการป้องกันตัวเองและประเทศชาติ แต่ตุลาการไม่มีอะไรเลย แต่ละคดีที่จะต้องตัดสินตุลาการอาจจะมีภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

“ผมถูกขู่มาแล้วว่าอยากตายใช่หรือเปล่า ทนลูกปืนได้หรือเปล่า ซึ่งแน่นอนว่าลองคิดดูว่าหากถูกขู่เอาชีวิตลูกภรรยา ถามว่าการตัดสินวินิจฉัยคดีของตุลาการท่านนั้นจะเบี่ยงเบนเช่นไร เบี่ยงเบนไปแค่ไหน นอกจากนี้ในช่วงที่มาดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ถูกเชิญไปร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับทูตกว่า 20 ประเทศ ซึ่งล้วนสอบถามถึงความปลอดภัยในการคุ้มครองตุลาการ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้ โดยผมตอบคำถามไปว่า ทันทีที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ตัดสินใจแล้วว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด อะไรจะเป็นไปมันก็ต้องเป็นไป หมายความว่าถ้าต้องตายก็ตาย  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญในตัวบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการ” นายหัสวุฒิกล่าว

 

นักการเมือง-นักกฎหมาย-นักวิชาการ ค้านยุบศาล

 

ต่อมาในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “บทบาทศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองในสายตานักการเมือง นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ และผู้ได้รับผลกระทบ” โดย นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการยุบศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังเห็นว่าทั้ง 2 ศาล ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะการอุดช่องว่างทางกฎหมาย ที่มีการนำหลักกฎหมายวิธีพิจารณานำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม ในกรณีการพิจารณาคดีในทางปกครอง รวมไปถึงปัญหาการคัดเลือกตุลาการ ที่มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เป็นองค์คณะตุลาการศาลปกครอง เป็นต้น

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประเด็นปัญหาการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ผ่านมา วุฒิสภาเห็นชอบผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 2 เม.ย. เป็นไปในลักษณะเหมือนล็อกกันมา และที่ผ่านมามีการเปิดหลักสูตรต่างๆ ของหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่มีผู้พิพากษาเข้าไปเรียน นักการเมืองและนายทุนก็เข้าไปเรียน เพื่อไปสร้างคอนเน็กชั่นในรุ่นนั้น ไม่ได้เรียนหนังสือกัน ทำให้มีความกังวลว่า ต่อไปศาลจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายได้ เปลี่ยนพรรคการเมืองได้ เปลี่ยนรัฐบาลได้ แต่กระบวนการยุติธรรมต้องมั่นคง และวันนี้ประเทศไทยใช้ระบบศาลคู่ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พัฒนามาไกลเกินกว่าจะกลับไปใช้ศาลเดียว จึงเห็นว่า ประเด็นการยุบศาลปกครอง ให้เหลือเพียงศาลเดียว หรือการยุบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และล้าสมัย อย่างไรก็ตามหากระบบกระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ จะมีผลทำให้ประเทศชาติขาดความน่าเชื่อถือจากต่างชาติ

นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในคณะที่ปรึกษาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การบอกว่าจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ แต่กลับยกเลิกศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ถือเป็นเรื่องที่ขัดกันอยู่ในตัว วันนี้ศาลถือเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ กลไกในการควบคุม ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งถือเป็นประโยชน์กับประชาชน และถือว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีองค์กรที่เป็นอิสระ เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เพราะรัฐสภาเป็นที่พึ่งหวังไม่ได้ เพราะมีบุคคลที่รู้ว่าเป็นใครควบคุมทุกอย่าง เป็นผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง ดังนั้นวิธีการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองทุกเรื่อง ต้องไปถามบุคคลผู้นั้นว่าจะเอาอย่างไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: