มรดกโลกในกะลา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 10 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2092 ครั้ง

 

แต่เขาคิดผิดไปอย่างถนัด เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติ ที่สำคัญมันไม่ได้ส่งผลดีต่อประเทศชาติ ตรงกันข้ามหากขืนทำต่อไปอาจจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

 

      สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและแข็งขันจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลซึ่งมีอายุระหว่างปลายปี 2008 ถึงกลางปี 2011 ให้ทำในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเลย คือคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ด้วยเหตุผลว่า “จะทำให้ไทยเสียสิทธิหรือเสี่ยงที่จะเสียสิทธิ” ในอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทขอมดังกล่าวและพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท

 

       ทั้งๆที่ปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปตั้งแต่กลาง ปี 2008 แต่ตลอดระยะที่อยู่ในอำนาจ สุวิทย์ ต้องไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกถึง 3 ปีซ้อน เสียเวลาและงบประมาณไปกับมรดกโลกที่ไม่ใช่ของตัวอย่างมาก โดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย บางทีถ้าเขาเอาเวลานั้นไปดำเนินงานปรับปรุง ขัดเกลา ข้อเสนอปราสาทหินพิมายและปราสาทหินเมืองต่ำพนมรุ้ง เสนอเป็นมรดกโลกตามที่ประเทศไทยมีแผนงานเอาไว้แล้วนั้น ป่านนี้อาจจะสำเร็จไปแล้วก็ได้

 

        รัฐบาลซึ่งหมดอายุไปหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2011 ที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงปั้นเรื่องที่เหลวไหล ไร้สาระขึ้นมา เพื่อหวังคะแนนนิยมทางการเมืองจากกลุ่มขวาจัดชาตินิยมเท่านั้น หากแต่ยังทำการปั่นหัวประชาชนทั่วไปให้หลงเข้าใจผิดและเกลียดชังประเทศ เพื่อนบ้านอย่างมากมาย สร้างความตึงเครียดถึงขั้นต้องรบพุ่งกัน ประชาชนตามแนวชายแดนเกิดบาดเจ็บล้มตายไปโดยไม่จำเป็นเลย

 

        พวกเขาได้อ้างเรื่อง อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นเป้าหมายในการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อคัดค้านแผนการของกัมพูชา ทั้งที่รู้ดีอยู่แก่ใจแล้วว่า ประเทศไทยไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารแต่อย่างใด แม้แต่พื้นที่โดยรอบนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอยู่มาก  ว่าประเทศไทยสามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่บริเวณนั้นได้จริงหรือไม่


        ประการสำคัญ พวกเขาไม่ยอมบอกความจริงกับประชาชนเลยว่า การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดเป็นมรดกโลก จะไม่ได้ทำให้ไทยเสียสิทธิใดๆ (ถ้าหากว่ามีอยู่จริง) ในพื้นที่ซึ่งตัวทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของ มาตรา 11 วรรค 3 ของอนุสัญญามรดกโลกปี 1972 ที่ว่า

 

“การขึ้นบัญชีทรัพย์สินใดเป็นมรดกโลกจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐที่ เกี่ยวข้อง และการขึ้นบัญชีทรัพย์สินใด ซึ่งตั้งอยู่ในอาณาเขตหรือภายใต้อำนาจอธิปไตย ซึ่งอ้างสิทธิกันมากกว่า 1 รัฐ การขึ้นบัญชีทรัพย์สินนั้นเป็นมรดกโลกไม่ทำให้เสียสิทธิที่อ้างแต่อย่างใด” 


         ไทยมีฐานะเป็น “รัฐที่เกี่ยวข้อง” ในกรณีนี้ตามความหมายในมาตรานี้ไม่มากนัก กล่าวคือ เกี่ยวเนื่องเพียงเฉพาะกรณีที่กัมพูชาอ้างพื้นที่ทางด้านทิศเหนือและทิศ ตะวันตกของตัวปราสาท ซึ่งไทยอ้างสิทธิอยู่ด้วย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแนวกันชน (buffer zone) ในเวลาต่อมาเมื่อปรากฏว่า กัมพูชาได้กันพื้นที่นี้ออกไปแล้ว ไม่เอามารวมเป็นแนวกันชน ความจำเป็นที่ไทยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องก็หมดไป

 

         เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงพบว่าความพยายามของรัฐบาลไทยในการเข้าไปคัดค้านแผนงานของกัมพูชาระหว่าง การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก 3 ครั้งที่ผ่านมา จึงไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย บรรดาคณะกรรมการและประเทศที่เป็นภาคีต่างไม่เห็นพ้องกับไทยที่จะเข้าไปคัด ค้านแผนการดำเนินงานในการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารของกัมพูชา  ด้วยเหตุผลของปัญหาอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณนั้น ด้วยว่า ปัญหาที่พิจารณากันที่มรดกโลกนั้นส่วนใหญ่พูดถึงเรื่อง การคุ้มครองและปกปักรักษาทรัพย์สินอันเป็นมรดกโลกเท่านั้น คณะกรรมการมรดกโลกและองค์การยูเนสโกไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดอันจะเป็นการ กระทบกระเทือนอำนาจอธิปไตยของประเทศใดได้

 

          ข้อเท็จจริงอันนี้ ความจริงก็ตัดความวิตกกังวลของนักกฎหมายไทยจำนวนหนึ่งที่ว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกอาจจะเป็นเหตุให้กัมพูชาอ้างหลักกฎหมายปิดปากต่อไทยทำ ให้ไทยยอมรับสิทธิและอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือพื้นนั้นได้ เพราะในเมื่ออนุสัญญาเขียนรับประกันเอาไว้แล้วว่า การขึ้นทะเบียนไม่กระทบกระเทือนสิทธิของไทย ในทางกลับกันมันย่อมไม่ทำให้กัมพูชาเกิดสิทธิใดๆที่จะมาปิดปากไทยได้ด้วย เช่นกัน หมายความว่า การดำเนินการปักปันเขตแดนในพื้นที่บริเวณนั้นก็จะต้องดำเนินต่อไปได้ โดยอาศัยพยานหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ได้ทำกันมาแล้วตั้งแต่สมัย อาณานิคมฝรั่งเศสในปี 1904 และ 1907 เป็นสำคัญ

 

           เมื่อเหตุแห่งความวิตกกังวลเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของไทยต่อปัญหา มรดกพระวิหารไม่หนักแน่นเท่าใดนัก สุวิทย์ จึงไม่ประสบความสำเร็จในการคัดค้านแผนของกัมพูชา อิรินา โบโควา ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก ได้เขียนจดหมายมาเล่าเหตุการณ์ในการประชุมที่ปารีสในวันที่ 25-26 มิถุนายน 2011 ให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ฟังว่า เมื่อถึงวาระที่จะมีการประชุมเรื่องปราสาทพระวิหาร สุวิทย์ได้ขอให้มีการเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนโดยอ้างมาตรา 31 ของระเบียบพิธีของคณะกรรมการมรดกโลก แต่ทว่าไม่มีคณะกรรมการจากชาติใดสนับสนุนญัตตินี้เลย ซึ่งตามระเบียบแล้วเมื่อไม่มีใครสนับสนุนญัตติการเลื่อนประชุมก็ย่อมกระทำมิ ได้

 

 เมื่อเป็นเช่นนั้นสุวิทย์ จึงได้ประกาศถอนตัวและนำคณะผู้แทนไทยเดินออกจากที่ประชุมไป

 

            ผลของการกระทำเช่นนั้น ในทางกฎหมายแล้วถือว่าเป็นดั่งการประท้วงเท่านั้น การถอนตัวจากภาคียังไม่บังเกิดผลจนกว่าจะได้ทำเป็นหนังสือถอนตัวอย่างเป็น ทางการส่งไปยังผู้อำนวยการยูเนสโกแล้วเป็นเวลา 12 เดือนตามความในมาตรา 35 ของอนุสัญญามรดกโลก

 

           ดังนั้นจึงถือว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีฐานะเป็นภาคีคณะกรรมการมรดกโลกอยู่ดังเดิม หากรัฐบาลใหม่ประสงค์จะเป็นภาคีต่อไป ก็เพิกเฉยเสียไม่ต้องส่งหนังสือบอกเลิกเป็นทางการ และดำเนินความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับคณะกรรมการมรดกโลกต่อไปตามปกติ

 

           แต่หากว่ารัฐบาลใหม่ของไทยต้องการสืบต่อเจตนารมณ์ของสุวิทย์ และอภิสิทธิ์ ก็ให้ทำหนังสือบอกเลิกส่งไปยังองค์การยูเนสโก ทว่าการส่งหนังสือไปนั้นอาจจะต้องพิจารณาหลักปฏิบัติตามกฎหมายด้วย แต่เพราะเหตุว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดเรื่องการเพิกถอนหนังสือสัญญา เอาไว้ชัดเจน มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญไทยกำหนดว่าด้วยเรื่องการเข้าทำหนังสือสัญญา แต่ยังไม่มีหลักปฏิบัติชัดเจนว่า การเพิกถอนหนังสือสัญญานั้นจะใช้หลักการในบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบเทียบ เคียงได้หรือไม่

 

            อย่างไรก็ตาม การถอนตัวจากภาคีมรดกนั้นก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่น้อย ชอบที่รัฐบาลใหม่ที่ประสงค์จะสืบต่อเจตนารมณ์รัฐบาลเก่าจะต้องหาทางบอกกล่าว แก่ประชาชนเสียก่อน เพราะอย่างน้อยที่สุดการถอนตัวจากภาคีนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งมรดกของ ไทยที่ได้ขึ้นบัญชีและที่กำลังขอขึ้นบัญชีกับคณะกรรมการมรดกโลกด้วย กล่าวคือ  ในกรณีของแห่งมรดกโลกของไทย 5 แห่งที่ได้ขึ้นบัญชีนั้นยังคงเป็นอยู่ต่อไปแม้ว่าไทยจะถอนตัวก็มิได้ทำให้ ฐานะของการเป็นมรดกโลกเสียไป แต่ความร่วมมือในอนาคตกับคณะกรรมการมรดกโลกจะหมดไป เกิดคำถามในทางปฏิบัติว่า ทางการไทยยังมีพันธะที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มรดกโลกในการคุ้มครองรักษา ทรัพย์นั้นต่อไปหรือไม่ คำตอบคือ คงไม่จำเป็นแล้ว และเมื่อไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ย่อมหมายความว่าทรัพย์สินที่เป็น แหล่งมรดกโลกนั้นก็จะเริ่มสูญค่าตามเกณฑ์ของมรดกโลกไปด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้นแหล่งเหล่านี้อาจจะถูกถอดออกจากบัญชีได้ ลำพังแค่ถอนป้ายมรดกโลกออกไปคงไม่กระไร แต่เกรงว่าความหละหลวมของทางราชการไทยจะพลอยทำให้แหล่งมรดกโลกเหล่านั้น เสื่อมสลายลงไปด้วย

 

           ส่วนแหล่งใหม่ที่ได้ยื่นเสนอเข้าไปแล้ว เช่น พิมาย-พนมรุ้ง ภูพระบาทและแก่งกระจานนั้น ถ้าหากปรากฏว่าไทยได้ถอนตัวจากการเป็นภาคีแล้วช่องทางที่จะเสนอทรัพย์สิน เข้าไปเป็นมรดกโลกก็หมดไปด้วย เพราะอนุสัญญาได้ระบุว่ารัฐภาคีควรจะได้เสนอทรัพย์สินในประเทศของตัวไปขึ้น บัญชีมรดกโลก

 

          รัฐบาลใหม่ไม่สามารถพูดมั่วๆแบบสุวิทย์ว่า “จะไม่ยอมแลกอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารกับสิทธิในการ รักษาและขึ้นบัญชีแหล่งมรดกโลกของไทย” เพราะเหตุว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารนั้นไม่ได้ทำให้ไทยเสียสิทธิในอำนาจ อธิปไตย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ตรงกันข้ามการถอนตัวจากการเป็นภาคีต่างหาก  ที่ทำให้ไทยเสียสิทธิในการขึ้นบัญชีมรดกโลกไปเปล่าๆปลี้ๆ

 

         เป็นความจริงที่ว่า การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินเป็นแหล่งมรดกโลกไม่ได้ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือจาก ยูเนสโกมากมายนัก แต่ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินจากการขึ้นทะเบียนคงวัดกันแค่นี้ไม่ได้ เพราะความหมายของการเป็นมรดกโลกนั้นส่วนหนึ่งเป็นการโฆษณาว่า ทรัพย์สินของประเทศนี้มีคุณค่าระดับโลก คำโฆษณาแบบนี้มีความหมายต่อการท่องเที่ยวมากทีเดียว เราจะอ้างข้างๆคูๆว่า แหล่งท่องเทียวเหล่านี้ของเรามีคนรู้จักกันทั่วไปแล้วก็ไม่ได้ เพราะรู้จักในฐานะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมดากับรู้จักในฐานะเป็นมรดกโลก มันก็ให้ความหมายแตกต่างกันมาก ในแต่ละปีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อโปรโมตแหล่ง ท่องเที่ยวของไทยแต่หากแหล่งนั้นได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกแล้วการโฆษณาก็ ทำได้ง่ายขึ้น ประหยัดงบประมาณไปได้มากและนี่เป็นผลประโยชน์ที่คำนวณเป็นตัวเงินได้เช่นกัน

 

           ผลประโยชน์อีกประการหนึ่งสำหรับการเป็นภาคีมรดกโลกต่อไปคือ การได้ปกปักรักษาแหล่งมรดกโลกที่ขึ้นบัญชีเอาไว้อย่างเข้มงวด อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาคงเละไม่มีชิ้นดีไปนานแล้วหากว่าไม่มีฐานะเป็น มรดกโลก เพราะปัจจุบันแม้เป็นมรดกโลก  มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการอยู่อย่างต่อเนื่องและคอยตักเตือนว่า แหล่งมรดกโลกแหล่งนี้กำลังตกอยู่ในอันตราย ก็ยังไม่ค่อยจะตื่นตัวมาคุ้มครองรักษากันสักเท่าใดเลย ลองคิดดูหากว่าไม่ต้องสนในคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นกับอยุธยาหรือแหล่งอื่นๆ  เฉพาะอย่างยิ่งป่าธรรมชาติอย่างเขาใหญ่ และห้วยขาแข้ง ทั้งหมดนี้อาจจะถูกทำลายและสูญค่าไปอย่างรวดเร็วก็เป็นได้ นั่นก็เป็นความสูญเสียที่คำนวณได้อย่างแน่นอน

 

        นักการเมืองที่มีความคิดคับแคบแบบพวกชาตินิยมขวาจัดนั้นมีแต่ทำให้ประเทศ ชาติเสียประโยชน์ เอาเข้าจริงประเทศไทยอาจจะรักษาอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารไม่ ได้เพราะผลแห่งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศปี 1962 เป็นสำคัญ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเวลาล่วงเลยมานานแล้ว แต่เรื่องมรดกโลกนั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วยกับเรื่องอำนาจอธิปไตย ก็ไม่ควรจะต้องเสียไปอีกอย่างง่ายๆเพียงเพราะความหุนหันพลันแล่นและรู้เท่า ไม่ถึงการณ์อย่างนี้เลย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: