เว็บไซต์ข่าวกับการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ 10 ก.พ. 2555


 

คนทำงานเว็บไซต์ข่าวเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ แม้หลายคนจะเคยทำหนังสือพิมพ์มาก่อน แต่ก็เป็นคนที่พร้อมรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคข่าวออนไลน์  ยุคที่โลกกำลังเห็นการถดถอยของหนังสือพิมพ์ในแง่ยอดจำหน่ายและรายได้โฆษณา และสาธารณชนหันมาติดตามข่าวสารต่างๆทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แม้กระบวนการทำข่าวระหว่างข่าวออนไลน์กับข่าวหนังสือพิมพ์จะไม่ได้ต่าง กันมาก คือต้องหาข้อมูลจากแหล่งข่าวมาเขียนข่าว แต่ต้นทุนการทำเว็บไซต์ข่าวต่ำกว่าหนังสือพิมพ์มาก เนื่องจากไม่ต้องลงทุนกระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก  และไม่ต้องมีกระบวนการจัดจำหน่ายซึ่งยุ่งยากสลับซับซ้อน  จริงๆแล้วเพียงคนไม่กี่คนก็สามารถเปิดเว็บไซต์ข่าวได้  ซึ่งทำให้บริหารจัดการได้ง่าย แต่ขณะเดียวกันก็สามารถเขียนข่าวที่มีคุณภาพได้

 

ความคล่องตัวในการบริหารจัดการซึ่งทำให้กองบรรณาธิการไม่มีลำดับชั้นมาก นัก และความเป็นคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับวิทยาการและความรู้ใหม่ๆของคนทำงานเว็บไซ ต์ข่าว  น่าจะทำให้คนทำข่าวออนไลน์สามารถช่วยยกระดับมาตรฐานวิชาชีพนักข่าวในประเทศ ไทย

 

เขียนข่าวแบบสามเหลี่ยมหัวกลับและพัฒนาการเขียน

 

แม้ในการเรียนเขียนข่าวในห้องเรียน อาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์จะสอนให้เขียนข่าวแบบปิรามิดหัวกลับ ซึ่งคือเนื้อหาที่สำคัญที่สุดอยู่ด้านบนและความสำคัญลดหลั่นลงไปตามย่อหน้า ที่ถัดลงไป  แต่หนังสือพิมพ์ภาษาไทยส่วนใหญ่ก็มิได้เขียนข่าวด้วยโครงสร้างเช่นนี้  โดยส่วนใหญ่จะเขียนข่าวตามลำดับก่อนหลังของเหตุการณ์  และนำหลายๆข่าวมารวมไว้ภายใต้พาดหัวเดียวกัน มีตัวโปรยสักหนึ่งย่อหน้าสรุปรวมเนื้อหาทั้งหมดของเรื่องนั้นๆ  ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่แน่ใจว่ากำลังจะบอกอะไร แล้วก็ใช้หัวย่อยแยกข่าวเป็นตอนๆ  บางเรื่องยาวมากจนต้องต่อหน้าสองสามครั้ง และบ่อยครั้งก็นึกไม่ออกว่าเหตุใดจึงนำเรื่องเหล่านี้มารวมกัน

 

การนำเสนอข่าวในรูปแบบที่หนังสือพิมพ์ไทยส่วนใหญ่นำเสนออยู่นี้มิได้ช่วย พัฒนาทักษะในการเขียนข่าวของนักข่าวแต่ละคนเลย  เพราะในกองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ไทยจะใช้บุคคลที่เรียกกันว่า “รีไรท์เตอร์” (rewriter) นำข้อมูลที่นักเขียนแต่ละคนส่งมามาเขียนรวมๆกันให้เป็นข่าวยาวข่าวเดียว  นักข่าวบางคนทำงานมาหลายปี ก็ยังไม่ได้เขียนข่าวของตนเองเลย แล้วพวกเขาจะพัฒนาทักษะในการเขียนได้อย่างไร

 

การเป็นนักข่าวนั้นมิได้เพียงแค่คอยไปประจำกระทรวงหรือทำเนียบรัฐบาล อัดเทปแล้วก็ทอดเทปการสัมภาษณ์แหล่งข่าว แล้วก็ส่งทางอินเตอร์เน็ตหรือโทรสารมายังรีไรท์เตอร์  แต่นักข่าวที่ดีต้องสามารถเขียนข่าวได้ดีด้วย  ข้อมูลที่ดีต้องมีวิธีการนำเสนอที่ดีด้วยจึงจะน่าอ่าน  การเขียนเป็นทักษะการสื่อสารขั้นสูง และก็มิใช่ว่าคนไทยทุกคนจะเขียนภาษาไทยได้ดี จึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาขึ้นมา

 

ผู้เขียนเข้าใจว่านักข่าวของเว็บไซต์ข่าวจะมีโอกาสเขียนข่าวของตนเอง มากกว่า เนื่องจากไม่มีคนมากพอที่จะมีรีไรท์เตอร์ และข่าวออนไลน์ก็แยกเป็นข่าวชิ้นๆ มิได้นำหลายๆเรื่องมารวมเป็นข่าวเดียวกัน  จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะในการเขียนได้มากกว่า

 

บายไลน์คือการแสดงความรับผิดชอบของนักข่าว

 

เป็นที่น่าแปลกใจว่าข่าวในเว็บไซต์ไทยพับลิกาหรือเว็บไซต์ข่าว TCIJ เองไม่มีบายไลน์ (byline) ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษหมายถึงการระบุว่าข่าวหรือบทความชิ้นนั้นเขียนโดยผู้ ใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสองเว็บไซต์นี้ต่างเสนอข่าวที่มีลักษณะเป็นข่าวเจาะ มิใช่ข่าวหมู่  แม้บางข่าวจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสอยู่แล้ว แต่ก็ได้นำเสนอในเชิงลึกมากกว่าข่าวทั่วไปหรือด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป  ข่าวหรือบทความเหล่านี้ควรมีบายไลน์อย่างยิ่ง

 

ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของต่างประเทศหรือสำนักข่าวระหว่างประเทศ ข่าวเกือบทุกชิ้นจะมีบายไลน์  มีข้อยกเว้นบ้างก็จะเป็นข่าวสั้นจริงๆเช่นยาวเพียงสามหรือสี่ย่อหน้า  แม้ข่าวบางชิ้นยาวเพียงห้าหรือหกย่อหน้าก็มีบายไลน์แล้ว

 

บายไลน์นี้เป็นการแสดงความรับผิดชอบของนักข่าวหรือผู้เขียนบทความ และของหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวด้วย  เมื่อมีชื่อปรากฏชัดแจ้ง ผู้เขียนคนนั้นๆก็ต้องระมัดระวัง ทำให้เขาต้องตรวจสอบข้อมูล มิใช่ใครพูดอะไรมา ก็นำมาเขียนเป็นเรื่องราวโดยไม่ใช้วิจารณญาณตรวจสอบเสียก่อน  ในอีกด้านหนึ่ง หากนักข่าวคนนั้นมีข้อมูลแม่นยำถูกต้องและเขียนข่าวได้ดี เขาก็สมควรเป็นที่รู้จัก  บายไลน์นี้ยังทำให้ผู้อ่านซึ่งเป็นแหล่งข่าวได้รู้จักนักข่าวผู้เขียนข่าว นั้นๆ และทำให้เขาสามารถติดต่อเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับนักข่าวได้ถูกคน  เป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะแหล่งข่าวใหม่ๆ และสร้างนักข่าวให้เป็นที่รู้จักของสาธารณชน

 

สมัยที่ผู้เขียนเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งของไทย  ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นยังไม่มีนโยบายบายไลน์ที่ชัดเจน  บางเรื่องก็ใส่บางเรื่องก็ไม่ใส่  ต่อมามีการกำหนดกฎเกณฑ์ของการเขียนข่าว (style book) การใส่บายไลน์จึงมีความสม่ำเสมอมากขึ้น  ก่อนหน้านั้น มีการพูดกันในกองบรรณาธิการว่าที่ไม่ใส่บายไลน์เพราะไม่อยากให้นักข่าวดัง  ผู้เขียนเห็นว่าถ้านักข่าวมีข้อมูลที่ดีและเขียนข่าวเองได้ออกมาดี เขาก็ควรจะได้ดัง  เมื่อหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวมีนักข่าวชื่อเสียงดีเป็นที่รู้จักอยู่ใน กองบรรณาธิการด้วยยิ่งมากคนเท่าไหร่ หนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวนั้นก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นไปด้วยเท่านั้น เพราะจะมีผู้คนติดตามอ่านข่าวหรือบทความของผู้เขียนคนนั้นๆมากขึ้น     

 

หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับและเว็บไซต์ข่าวบางแห่ง ยังอนุญาตให้ผู้เขียนบทความใช้นามแฝงหรือนามปากกา  แม้กระทั่งเป็นบทความวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองซึ่งบางครั้งเขียนวิจารณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างหนักหน่วง ก็ยังอนุญาตให้ใช้นามแฝง หรือไม่ก็ไม่ใส่ชื่อเสียเลย  ผู้เขียนเห็นว่านี่เป็นการไม่รับผิดชอบ  หากคุณต้องการวิจารณ์ใคร ก็ควรกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนของตนเอง  และหนังสือพิมพ์หรือเว็บไซต์ข่าวก็มิควรปกปิดตัวตนของคนที่ต้องการวิจารณ์คนอื่น

 

ผู้เขียนเคยอธิบายให้ชาวต่างชาติบางคนฟังว่าหนังสือพิมพ์ไทยนิยมใช้นาม ปากกาหรือนามแฝง เนื่องจากนักข่าวรุ่นก่อนจำนวนมากเติบโตมาจากการเป็นนักประพันธ์นวนิยาย ซึ่งนิยมใช้นามปากกาในการเขียน เมื่อมาเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ก็ติดเอาการใช้นามปากกามาด้วย  หลายคนทำงานหนังสือพิมพ์ไปด้วยเขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายไปด้วย หนังสือพิมพ์ไทยเองก็มิได้มีกฎเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนในเรื่องนี้  จึงเต็มไปด้วยคอลัมนิสต์ที่ใช้นามปากกา และหลายคอลัมน์อ่านแล้วก็เหมือนกับกำลังอ่านนิยาย

 

ในปัจจุบัน คนที่เป็นนักข่าวกับคนที่ประพันธ์นวนิยายแยกบทบาทหน้าที่กันชัดเจนมากขึ้น จึงไม่มีเหตุอันใดที่คมลัมน์ในหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะคอลัมน์ที่วิพากษ์ วิจารณ์ทางการเมือง สังคมหรือเศรษฐกิจจะใช้นามปากกาหรือนามแฝงในการเขียน

 

การไม่ใส่บายไลน์อาจมีได้ในกรณีที่การเปิดเผยชื่อนักข่าวจะเป็นอันตราย ต่อตัวนักข่าวเอง เช่น เป็นข่าวเกี่ยวกับกลุ่มค้ายาเสพติด  ที่เกรงว่าคนร้ายอาจตามมาทำร้ายนักข่าว  หรือเป็นการเขียนจากข่าวแจก (press release) ที่นักข่าวไม่ได้เพิ่มเติมเนื้อหาอะไรเลย

 

การระบุแหล่งข่าวคือความน่าเชื่อถือ 

 

ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยมักไม่นิยมระบุแหล่งข่าวให้ชัดเจน  บางครั้งแม้ข้อมูลมาจากการแถลงข่าว แต่เวลาเขียนก็เขียนว่ารายงานข่าวจากกระทรวงนั้นกระทรวงนี้กล่าวว่า  เสมือนหนึ่งว่าเป็นข้อมูลที่ได้มาฉบับเดียว ไม่มีเหตุอันใดที่จะไม่บอกกับผู้อ่านว่านี่เป็นข้อมูลจากการแถลงข่าว ซึ่งถือเป็นการเปิดเผยที่เป็นทางการที่สุดอย่างหนึ่ง และยากที่ผู้แถลงข่าวจะปฏิเสธว่าไม่ได้พูดเช่นนั้น  เพราะมีคนจำนวนมากได้ยินและบันทึกไว้เหมือนๆกัน 

 

ส่วนข้อมูลหรือข่าวที่เราได้มาเดี่ยวก็ถือเป็นความสามารถพิเศษ  ซึ่งควรเขียนให้ชัดเจนว่าได้มาฉบับเดียว เช่นนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า... เช่นนี้ก็จะชัดเจนว่าเราได้สัมภาษณ์เดี่ยว  ถ้าเป็นการสัมภาษณ์ที่มีนักข่าวฉบับอื่นหรือสื่ออื่นรวมอยู่ด้วย ก็ควรบอกใช้ชัดเช่นกันว่าเป็นการให้สัมภาษณ์กลุ่มเล็ก

 

ผู้เขียนเห็นว่าหนังสือพิมพ์ไทยใช้คำว่า “แหล่งข่าว” มากเกินไป  บ่อยครั้งเป็นการช่วยปกปิดผู้ให้ข่าวทั้งๆที่ควรเปิดเผยบุคคลคนนั้นให้ผู้ อ่านรู้ว่าเป็นใคร  โดยเฉพาะเมื่อผู้พูดนั้นกำลังวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่สาม เราต้องยืนยันให้เขาเปิดเผยชื่อ มิเช่นนั้นเราก็จะไม่เขียน  ถ้าเราเขียนข่าวที่บุคคลหนึ่งวิจารณ์อีกคนหนึ่งโดยไม่เปิดเผยชื่อผู้พูด ก็เท่ากับเรากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง  นักข่าวควรเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับแหล่งข่าวอย่างไร  บางครั้งก็เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย  เขาอยากเป็นข่าว เราก็อยากได้ข่าว  แต่บางครั้งเขาก็ใช้เราเพื่อประโยชน์บางอย่าง และเราก็ได้ประโยชน์ (ข่าวหรือข้อมูล) จากเขาด้วย  แต่เราควรรู้ว่าอย่างไรให้เขาใช้ได้ อย่างไรไม่ได้

 

บางครั้งก็จำเป็นเหมือนกันที่จะปกปิดแหล่งข่าว แต่นั่นควรเป็นกรณีพิเศษจริงๆคือเป็นข้อมูลลับที่เราต้องเขียนเป็นข่าว  แต่การเปิดเผยแหล่งข่าวจะทำให้แหล่งข่าวเป็นอันตราย หรือจะทำให้เราไม่ได้ข้อมูลในเรื่องนั้นๆอีก ซึ่งต้องเป็นกรณีพิเศษจริงๆ และบรรณาธิการข่าวควรมีส่วนในการตัดสินใจว่าจำเป็นต้องปกปิดชื่อแหล่งข่าว นั้นหรือไม่ มิใช่ให้นักข่าวตัดสินใจโดยลำพัง ในกรณีของสำนักข่าวต่างประเทศเช่นรอยเตอร์หรือเอพี จะไม่เขียนข่าวที่แหล่งข่าวไม่ยอมให้เปิดเผยชื่อเลย จึงจะไม่เห็นคำว่า informed sources ในข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเหล่านี้  เหตุผลประการหนึ่งคือคำว่าแหล่งข่าว หรือ informed sources นี้ทำให้ข่าวชิ้นนั้นลดความน่าเชือถือไปทันที

 

หลายอย่างที่หนังสือพิมพ์ปฎิบัติกันอยู่นั้นทำเป็นธรรมเนียมกันมานาน และก็อาจจะยากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นองค์กรใหญ่ที่มีผู้คนเกี่ยวข้องมากมาย  แต่เว็บไซต์ข่าวเป็นองค์กรขนาดเล็ก เท่าที่เห็นอยู่ก็เป็นกองบรรณาธิการที่มีขนาดประมาณสิบคน  ฉะนั้นการที่จะขยับปรับเปลี่ยนอะไรย่อมทำให้ง่ายกว่ามาก และย่อมเป็นการไม่ยากที่เว็บไซต์ข่าวเหล่านี้ จะสร้างมาตรฐานใหม่ในวิชาชีพข่าว ให้สมกับที่เป็นทิศทางใหม่ของการข่าวในยุคออนไลน์

 

ขอบคุณภาพจาก http://www.toptenthailand.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: