การทำลายกฎหมายและคำพิพากษาในระบอบเผด็จการและการไม่ยอมรับรัฐประหารในนานาอารยประเทศ โดย วรเจตน์ ภาคีรัตน์,ปิยบุตร แสงกนกกุล

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ (เขียนในส่วนเยอรมนี) ปิยบุตร แสงกนกกุล (เขียนในส่วนฝรั่งเศส ) 10 ก.พ. 2555


 

เยอรมนี

 

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปเป็นยุติว่าคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วนั้น เป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ของบุคคลในทางกฎหมายมีอยู่อย่างไร คำพิพากษานั้นจะถูกหรือผิดอย่างไรในทางกฎหมายก็ตาม โดยปกติแล้ว ก็ย่อมมีผลผูกพันบรรดาคู่ความในคดี ข้อพิพาททางกฎหมายย่อมยุติลงตามการชี้ขาดคดีของศาลซึ่งถึงที่สุด และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมเป็นฐานแห่งการบังคับคดีตลอดจนการกล่าวอ้างของคู่ ความในคดีต่อไปได้  คุณค่าของการต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล อันมีผลบั้นปลายในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม กรณีย่อมเป็นไปได้เสมอที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นอาจเกิดความผิดพลาดขึ้น ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากความจงใจหรือความประมาทเลินเล่อ ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม หรือความผิดพลาดนั้น อาจเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยก็ได้ ระบบกฎหมายที่ดีย่อมกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว ได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกกระบวนการทบทวนคำพิพากษาที่ถึงที่สุดไปแล้ว แต่มีความบกพร่อง และหากปล่อยไว้ไม่ให้มีการทบทวน ก็จะไม่ยุติธรรมแก่คู่ความในคดีว่า การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ในกรณีที่ปรากฏในกระบวนการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ว่าคำพิพากษาที่ถึงที่ สุดแล้วนั้น เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ศาลที่พิจารณาคดีดังกล่าวนั้น ย่อมต้องยกคำพิพากษาเดิมซึ่งเป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาดเสีย แล้วพิพากษาคดีดังกล่าวใหม่

 

การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ จึงเป็นหนทางของการลบล้างคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้ว แต่เป็นคำพิพากษาที่ผิดพลาด ทั้งนี้ตามกระบวนการ ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าในระบบกฎหมายนั้น โดยองค์กรที่มีอำนาจลบล้างคำพิพากษาที่ผิดพลาดดังกล่าว ก็คือ องค์กรตุลาการหรือศาลนั่นเอง

 

ในทางนิติปรัชญาและในทางทฤษฎีนิติศาสตร์ ยังคงมีปัญหาให้พิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาอาศัยอำนาจตุลาการพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบท กฎหมายซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม หรือในกรณีที่ศาลหรือผู้พิพากษาพิจารณาพิพากษาคดีไปโดยไม่เคารพหลักการพื้น ฐานของกฎหมาย นำตนเข้าไปรับใช้อำนาจทางการเมืองในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ยอมรับสิ่งซึ่งไม่อาจถือว่าเป็นกฎหมายได้ ให้เป็นกฎหมาย แล้วชี้ขาดคดีออกมาในรูปของคำพิพากษา  ในเวลาต่อมาผู้คนส่วนใหญ่เห็นกันว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำพิพากษาที่ไม่ อาจยอมรับนับถือให้มีผลในระบบกฎหมายได้ และเห็นได้ชัดว่าไม่อาจใช้วิธีการรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ลบล้างคำ พิพากษานั้นได้เช่นกัน จะมีหนทางใดในการลบล้างคำพิพากษาดังกล่าวนั้น

 

หลักการเบื้องต้นในเรื่องนี้ มีอยู่ว่า กฎเกณฑ์ที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างรุนแรง ไม่ควรจะได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายฉันใด คำตัดสินที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความยุติธรรมอย่างชัดแจ้งก็ไม่ ควรจะได้ชื่อว่าเป็นคำพิพากษาฉันนั้น

 

ในประเทศเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ความปรากฏชัดว่า ศาลต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลพิเศษที่อดอลฟ์ ฮิตเลอร์จัดตั้งขึ้นเป็นศาลสูงสุดในคดีอาญาทางการเมือง (เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า Volksgerichtshof  ซึ่งอาจแปลตามรูปศัพท์ได้ว่า ศาลประชาชนสูงสุด

 

เมื่อแรกตั้งขึ้นนั้น ศาลดังกล่าวนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการทรยศต่อชาติ ต่อมาได้มีการขยายอำนาจออกไปในคดีอาญาอื่นๆด้วย เช่น การวิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะในสงครามของรัฐบาลนาซีเยอรมัน ศาลดังกล่าวนี้ก็อาจลงโทษประหารชีวิตผู้วิจารณ์หรือแสดงความสงสัยในชัยชนะ นั้นเสียก็ได้) ได้พิพากษาลงโทษบุคคลจำนวนมากโดยขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและความ ยุติธรรม  มีคำพิพากษาจำนวนไม่น้อยที่ศาลได้ใช้วิธีการตีความกฎหมายขยายความออกไป อย่างกว้างขวาง เพื่อลงโทษบุคคล ในหลายกรณีเห็นได้ชัดว่าศาลได้ปักธงในการลงโทษบุคคลไว้ก่อนแล้ว และใช้เทคนิคโวหารในการใช้และการตีความกฎหมายโดยบิดเบือนต่อหลักวิชาการทาง นิติศาสตร์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการลงโทษบุคคลนั้น (เช่น คดี Leo Katzenberger)

 

มีข้อสังเกตว่า การดำเนินคดีในนามของกฎหมายและความยุติธรรมของศาลในระบบนาซีเยอรมัน เกิดจากแรงจูงใจในทางการเมือง เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ และศาสนา (อาจเรียกให้สมกับยุคสมัยว่า "ตุลาการนาซีภิวัฒน์") อีกทั้งกระบวนการในการดำเนินคดี ขัดต่อหลักการพื้นฐานหลายประการ เช่น การไม่ยอมมีให้มีการคัดค้านผู้พิพากษาที่เห็นได้ชัดว่ามีส่วนได้เสียหรือมี อคติในการพิจารณาพิพากษาคดี การจำกัดสิทธิในการนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหา การกำหนดให้การพิจารณาพิพากษากระทำโดยศาลชั้นเดียว ไม่ยอมให้มีการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา การจำกัดระยะเวลาในการต่อสู้คดีของจำเลย เพื่อให้กระบวนพิจารณาจบไปโดยเร็ว มิพักต้องกล่าวถึงบรรยากาศของการโหมโฆษณาชวนเชื่อในทางสาธารณะ

 

และแนวความคิดของผู้พิพากษาตุลาการในคดีว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา เพียงใด ที่น่าขบขันและโศกสลดในเวลาเดียวกันก็คือ แม้ว่ากฎหมายที่ใช้บังคับในเวลานั้น จะออกโดยเผด็จการนาซี และศาลในเวลานั้นต้องใช้กฎหมายของเผด็จการนาซีในการพิจารณาพิพากษาคดีก็ตาม แต่ถ้าใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาแล้วไม่สามารถเอาผิดกับผู้ถูกกล่าว หาได้ เช่นนี้ ศาลก็จะตีความกฎหมายจนกระทั่งในที่สุดแล้ว สามารถพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจนได้

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้ว มีเสียงเรียกร้องให้ลบล้างหรือยกเลิกคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมซึ่งเกิด ขึ้นในระหว่างการครองอำนาจของรัฐบาลนาซีเสีย  แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นตรงกันว่าควรจะต้องลบล้างบรรดาคำพิพากษาดังกล่าวก็ตาม แต่ก็ถกเถียงกันว่าวิธีการในการลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นควรจะเป็นอย่างไร ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะดำเนินการลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีเป็นรายคดีไป เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะ

 

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรจะลบล้างคำพิพากษาทั้งหมดเป็นการทั่วไป ในชั้นแรกในเขตยึดครองของอังกฤษนั้น

 

ได้มีการออกข้อกำหนดลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๑๙๔๗ ให้อำนาจอัยการในการออกคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีหรือให้อัยการยื่นคำ ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งลบล้างคำพิพากษาของศาลนาซีก็ได้เป็นรายคดีไป การลบล้างคำพิพากษาเป็นรายคดีนี้ได้มีการนำไปใช้ในเวลาต่อมาในหลายมลรัฐ อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติมาก ทั้งความยุ่งยากในการดำเนินกระบวนการลบล้างคำพิพากษาและการเยียวยาความเสีย หาย ปัญหาดังกล่าวนี้ดำรงอยู่เรื่อยมาในเยอรมนีเกือบจะตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ

 

ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ สภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ (Bundestag) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ประกาศว่า ศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมือง (Volksgerichtshof) เป็นเครื่องมือก่อการร้ายเพื่อทำให้ระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จนาซีสำเร็จผลโดย บริบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาคำพิพากษาทั้งหลายที่เกิดจากการตัดสินของศาลดังกล่าวจึงไม่มีผลใดๆใน ทางกฎหมาย และในปี ค.ศ.๒๐๐๒ ได้มีการออกรัฐบัญญัติลบล้างคำพิพากษานาซีที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมในคดีอาญา กฎหมายฉบับนี้มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลสูงสุดคดีอาญาทางการเมืองและศาล พิเศษคดีอาญาทุกคำพิพากษา

 

ฝรั่งเศส

 

ภายหลังจากฝรั่งเศสยอมแพ้ต่อเยอรมนี เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ รัฐสภาได้ตรารัฐบัญญัติมอบอำนาจทุกประการให้แก่รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐภายใต้ อำนาจและการลงนามของจอมพล Pétain รัฐบาลได้ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงไปยังเมือง Vichy และให้ความร่วมมือกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ตามนโยบาย Collaboration จอมพล Pétain ปกครองฝรั่งเศสโดยใช้อำนาจเผด็จการ ภายใต้คำขวัญ “ชาติ งาน และครอบครัว” ซึ่งใช้แทน

 

“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” รัฐบาลวิชี่ร่วมมือกับเยอรมนีในการใช้มาตรการโหดร้ายทารุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคนเชื้อชาติยิวไปเข้าค่ายกักกัน มีนักกฎหมายผู้มีชื่อเสียงหลายคนให้ความร่วมมือกับระบอบวิชี่อย่างเต็มใจ เช่น Raphael Alibert๑ , Joseph Barthélemy๒ , George Ripert๓ , Roger Bonnard ๔

 

เมื่อเยอรมนีแพ้สงคราม ฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอิสรภาพ คณะกรรมการกู้ชาติฝรั่งเศสแปลงสภาพกลายเป็น

 

“รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส” (Gouvernement provisoire de la  République française : GPRF) นอกจากปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว มีปัญหาทางกฎหมายให้ GPRF ต้องขบคิด นั่นคือ จะทำอย่างไรกับการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ การกระทำเหล่านั้นสมควรมีผลทางกฎหมายต่อไปหรือไม่ และจะเยียวยาให้กับเหยื่อและผู้เสียหายจากการกระทำในสมัยระบอบวิชี่อย่างไร

 

รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ตรารัฐกำหนดขึ้นฉบับหนึ่งเมื่อ วันที่ ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ชื่อว่า “รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส”  รัฐกำหนดฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักการ ๒ ประการ ได้แก่ การล่วงละเมิดมิได้ของสาธารณรัฐ และการไม่เคยดำรงอยู่ในทางกฎหมายของรัฐบาลจอมพล Pétain ตั้งแต่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๑

 

ด้วยเหตุนี้ มาตราแรกของรัฐกำหนดฉบับนี้ จึงประกาศชัดเจนว่า “รูปแบบการปกครองของประเทศฝรั่งเศสคือสาธารณรัฐและดำรงอยู่แบบสาธารณรัฐ ในทางกฎหมาย สาธารณรัฐไม่เคยยุติการคงอยู่”๕  การประกาศความต่อเนื่องของ “สาธารณรัฐ” ดังกล่าว จึงไม่ใช่การรื้อฟื้น “สาธารณรัฐ” ให้กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายของสาธารณรัฐขึ้นมาใหม่ต่างหาก เพราะ “สาธารณรัฐ” ไม่เคยสูญหายไป ไม่เคยถูกทำลาย ไม่เคยยุติการดำรงอยู่ รัฐบาลวิชี่ไม่ได้ทำลาย (ทางกฎหมาย) สาธารณรัฐ นายพล Charles De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลชั่วคราวจึงไม่เคยประกาศฟื้นสาธารณรัฐ เพราะสาธารณรัฐไม่เคยสูญหายไปจากดินแดนฝรั่งเศส

 

เมื่อมาตราแรกประกาศความคงอยู่อย่างต่อเนื่องของสาธารณรัฐ ในมาตรา ๒ ของรัฐกำหนดฉบับนี้จึงบัญญัติตามมาว่า “ด้วยเหตุนี้ ทุกการกระทำใดไม่ว่าจะใช้ชื่ออย่างไรก็ตามที่มีสถานะทางรัฐธรรมนูญ, ที่มีสถานะทางนิติบัญญัติ, ที่มีสถานะทางกฎ, รวมทั้งประกาศทั้งหลายที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับการกระทำดังกล่าว,  ซึ่งได้ประกาศใช้บนดินแดนภายหลังวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๑๙๔๐ จนกระทั่งถึงการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ให้เป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ” บทบัญญัตินี้หมายความว่า การกระทำใด ไม่ว่าจะใช้ชื่อใด ทั้งที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ เทียบเท่ารัฐบัญญัติ เทียบเท่ากฎ หรือประกาศใดๆที่เป็นการใช้บังคับการกระทำเหล่านี้ ที่เกิดขึ้นในสมัยวิชี่ ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย พูดง่ายๆก็คือ ผลผลิตทางกฎหมายในสมัยวิชี่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และไม่มีผลทางกฎหมาย  

 

นอกจาก “ทำลาย” การกระทำต่างๆของระบอบวิชี่แล้ว รัฐกำหนดยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่บทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจา นุเบกษาของกลุ่มเสรีฝรั่งเศส รัฐกิจจานุเบกษาของกลุ่มฝรั่งเศสต่อสู้ และรัฐกิจจานุเบกษาของผู้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารฝรั่งเศส ตั้งแต่ ๑๘ มีนาคม ๑๙๔๓ และบทบัญญัติที่เผยแพร่ในรัฐกิจจานุเบกษาของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่าง ๑๙ มิถุนายน ๑๙๔๓ จนถึงวันที่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ (ซึ่งอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวกับระบอบวิชี่) 

 

การประกาศไม่ยอมรับการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ แม้จะเป็นความชอบธรรมทางการเมืองและเป็นความจำเป็นทางสัญลักษณ์อย่างยิ่ง แต่ก็อาจถูกโต้แย้งในทางกฎหมายได้ ๒ ประเด็น

 

ประเด็นแรก การกำเนิดรัฐบาลวิชี่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายทุกประการ ไม่ได้มีการรัฐประหาร หรือใช้กองกำลังบุกยึดอำนาจแล้วปกครองแบบเผด็จการ ตรงกันข้าม เป็นรัฐสภาที่ยินยอมพร้อมใจกันตรากฎหมายมอบอำนาจเด็ดขาดให้แก่จอมพล Pétain ในประเด็นนี้ พออธิบายโต้แย้งได้ว่า ระบอบวิชี่และรัฐบาลวิชี่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจหรือรัฐบาลตามความเป็นจริง

 

ประเด็นที่สองการประกาศให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่สิ้นผลไป เสมือนไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เสมือนไม่เคยดำรงอยู่และบังคับใช้มาก่อนเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่สุจริตและเชื่อถือในการกระทำต่างๆที่เกิด ขึ้นในสมัยวิชี่

 

รัฐกำหนดฉบับนี้ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวโดย กำหนดให้การกระทำต่างๆที่กำหนดไว้ในตารางที่ II ของภาคผนวกแนบท้ายรัฐกำหนดนี้ ถูกยกเลิกไปโดยให้มีผลไปข้างหน้า หมายความว่า สิ้นผลไปนับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐกำหนดนี้ ไม่ได้มีผลย้อนหลังไปเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นเลย นอกจากนี้ ในมาตรา ๘ ยังให้ความสมบูรณ์ทางกฎหมายแก่คำพิพากษาของศาลพิเศษที่ไม่ได้ตัดสินลงโทษการ กระทำใดๆที่เป็นไปเพื่อการกู้ชาติ

 

ส่วนการกระทำที่ถือว่าสิ้นผลไปโดยมีผลย้อนหลังเสมือนว่าไม่เคยมีการกระทำ เหล่านั้นมาก่อนเลย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ๑๐ กรกฎาคม ๑๙๔๐ และการกระทำที่มีสถานะรัฐธรรมนูญต่อเนื่องจากนั้น ตลอดจนบทบัญญัติกฎหมาย ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดที่กระทบสิทธิของประชาชน เช่น การตั้งศาลพิเศษ การบังคับทำงาน การก่อตั้งสมาคมลับ การแบ่งแยกบุคคลทั่วไปออกจากคนยิว เป็นต้น

 

กล่าวโดยสรุป รัฐกำหนดว่าด้วยการก่อตั้งความชอบด้วยกฎหมายแบบสาธารณรัฐขึ้นใหม่ในดินแดน ฝรั่งเศส ประกาศเป็นหลักการในเบื้องต้นก่อนว่า สาธารณรัฐไม่เคยยุติการดำรงอยู่  และบรรดาการกระทำทั้งหลายในสมัยวิชี่เป็นโมฆะ จากนั้นจึงเลือกรับรองความสมบูรณ์ให้กับบางการกระทำ และกำหนดการสิ้นผลของบางการกระทำ บ้างให้การสิ้นผลมีผลไปข้างหน้า บ้างให้การสิ้นผลมีผลย้อนหลังเสมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

มีข้อสงสัยตามมาว่า รัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ ทำให้บุคคลที่กระทำการและร่วมมือกับระบอบวิชี่ได้รอดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เมื่อการกระทำใดๆในสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีความเสียหาย ไม่มีความผิด และไม่มีความรับผิดหรือไม่?

 

เดิม แนวคำพิพากษาวางหลักไว้ว่า เมื่อรัฐกำหนด ๙ สิงหาคม ๑๙๔๔ กำหนดให้การกระทำใดๆสมัยวิชี่ไม่ถือว่าเคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมายใด แล้ว รัฐจึงไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แม้การกระทำนั้นจะนำมาซึ่งความเสียหายให้แก่เอกชนก็ตาม๖  อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ศาลได้กลับแนวคำพิพากษาเหล่านี้เสียใหม่ ศาลยืนยันว่า แม้ระบอบวิชี่และรัฐบาลในสมัยนั้นจะไม่ถือว่าเคยดำรงอยู่ และการกระทำต่างๆในสมัยนั้นไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลทางกฎหมาย แต่หลักความต่อเนื่องของรัฐก็ยังคงมีอยู่ แม้รัฐบาลในสมัยระบอบวิชี่ไม่ได้เป็นรัฐบาลตามกฎหมาย แต่ก็เป็นองค์กรผู้มีอำนาจในความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิด๗  ดังนั้น เอกชนผู้เสียหายย่อมมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการกระทำที่เกิดขึ้นในสมัย ระบอบวิชี่ได้

 

จะเห็นได้ว่า ระบบกฎหมายฝรั่งเศสได้มุ่ง “ทำลาย” เฉพาะการกระทำต่างๆในสมัยระบอบวิชี่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ และไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ไม่ได้มุ่งทำลายหรือลิดรอนสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับค่าเสียหาย ส่วนบรรดาความรับผิดชอบของผู้กระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายในสมัยนั้นก็ ยังคงมีอยู่ต่อไป (เช่น ขับไล่คนเชื้อชาติยิว, จับคนเชื้อชาติยิวขึ้นรถไฟเพื่อพาไปเข้าค่ายกักกัน, พิพากษาจำคุก, ประหารชีวิต, ฆ่าคนตาย เป็นต้น) ส่วนจะเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวของผู้กระทำการนั้น หรือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ย่อมพิจารณาเป็นรายกรณีไป

 

นอกจากนี้ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รัฐบาลฝรั่งเศสได้ใช้มาตรการ “แรง” เพื่อจัดการบุคคลผู้มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่ มาตรการนั้นเรียกกันว่า “มาตรการชำระล้างคราบไคลให้บริสุทธิ์” (épuration) มาตรการทำนองนี้ใช้กันในหลายประเทศโดยมีเป้าประสงค์ คือ จับบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำทารุณ โหดร้ายในสมัยนาซีเรืองอำนาจมาลงโทษ และไม่ให้บุคคลที่มีอุดมการณ์แบบนาซีได้มีตำแหน่งหรือมีบทบาทสำคัญ รัฐบาลชั่วคราวแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้ออกรัฐกำหนดหลายฉบับเพื่อใช้มาตรการ ชำระล้างคราบไคลอุดมการณ์นาซี

 

เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีบุคคลที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมกับระบอบวิชี่, การปลดข้ารัฐการและเจ้าหน้าที่ที่มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิ ชี่ ตลอดจนกีดกันไม่ให้เข้าทำงานหรือเลื่อนชั้น, การห้ามบุคคลผู้มีอุดมการณ์และทัศนคติสนับสนุนนาซีและวิชี่ ทำงานในกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การประกันภัย หรือร่วมในสหภาพแรงงาน, การจำกัดสิทธิเลือกตั้งและสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น

 

บทความจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316935253&grpid=&catid=02&subcatid=0200

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: