สารสนเทศการเกษตร ความสำเร็จที่รัฐบาลใหม่ควรต่อยอด!! โดย ไกลก้อง ไวทยการ

ไกลก้อง ไวทยการ 10 ก.พ. 2555


 

อีกหนึ่งนโยบายที่เป็นที่ถูกจับตา และเป็นความแตกต่างด้านนโนบายอย่างชัดเจนกับทางประชาธิปปัตย์ นั่นก็คือการกลับมาใช้ระบบจำนำสินค้าเกษตร แทนการประกันรายได้เกษตรกร ความแตกต่างโดยทั่วไปของ 2 นโยบายนี้คือ การประกันรายได้เกษตรกร เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่าง หากขายผลผลิตได้ราคาต่ำกว่าราคาประกัน ส่วนการจำนำเกษตรกรจะนำผลผลิตไปจำนำ เช่น เอาข้าวไปจำนำกับโรงสี โรงสีก็จะจ่ายเงินค่าผลผลิตทั้งหมดตามราคาที่รับจำนำ


บทความนี้ไม่ได้มุ่งจะบอกข้อดี หรือ ข้อเสีย ของทั้งสองนโยบาย หากต้องการนำเสนอสิ่งที่ถูกทำควบคู่มากับโครงการประกันรายได้ ที่ไม่ค่อยจะถูกพูดถึงมากนัก นั้นก็คือระบบสารสนเทศ หรือระบบข้อมูลข่าวสาร (Information System) ที่พัฒนาขึ้นมารองรับระบบประกันรายได้ โดยนำเอาประสบการณ์ที่ร่วมกับทีมงานของ Siam Intelligent Unit ที่ทำการศึกษาเรื่องระบบสารสนเทศของการประกันรายได้ มานำเสนอเพื่อให้เห็นว่า นโยบายประกันรายได้นั้น ได้ทำให้เกิดพัฒนาการด้านระบบสารสนเทศเพื่อการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ

 

ระบบสารสนเทศสำคัญอย่างไรต่อการประกันรายได้เกษตรกร แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าประกันแล้ว จะขาดเรื่องระบบข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรต้องตอบคำถามพื้นฐานให้ได้ว่า ใคร ปลูกอะไร ปลูกที่ไหน ปลูกเมื่อไหร่ ผลผลิตปริมาณเท่าไร ในช่วงแรก ๆ ของโครงการหลายคนคงเคยได้ยินข่าว เรื่องการขึ้นทะเบียนเพื่อขอใบรับรองในการประกันรายได้ จนกระทั่งพื้นที่เพาะปลูกที่ขึ้นทะเบียนมีมากกว่าพื้นที่ประเทศไทยเสียอีก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มา ที่หลายฝ่ายต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีข้อเท็จ จริงอย่างไร ดังนั้นระบบสารสนเทศเพื่อทำให้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรจึงได้รับการ พัฒนาเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล โดยระบบสารสนเทศที่มารองรับการขึ้นทะเบียนเพื่อประกันรายได้ มีดังนี้

 

1.ระบบขึ้นทะเบียนเกษตรกร ดูแลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ระบบนี้เป็นฐานข้อมูลหลักของเกษตรกรทั้งประเทศ โดยจะเก็บข้อมูลทั่วไป อาทิ ชื่อ-ที่อยู่ของเกษตรกร ขนาดพื้นที่เพาะปลูก และพืชที่เพาะปลูก


2.ระบบ ขึ้นทะเบียนประกันรายได้ และออกใบรับรองการประกันรายได้ ดูแลโดยกรมส่งเสริมการเกษตรอีกเช่นกันระบบข้อมูลนี้จะอัปเดตแต่ละรอบของการ เพาะปลูก โดยเกษตรกรต้องมาแจ้งว่ารอบการเพาะปลูกนี้ตนเองปลูกพืชอะไร ในพื้นที่เท่าไหร่ เช่น หากปลูกข้าวก็ต้องแจ้งว่า รอบการปลูกข้าวนาปี ปีนี้ปลูกข้าวพันธุ์อะไร พื้นที่เท่าไหร่ โดยข้อมูลที่แจ้งต้องผ่านการทำประชาคมรับรอง จากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอ จะเป็นผู้ออกใบรับรองการประกันรายได้ให้

 

3.ระบบจ่ายเงินประกันรายได้ ระบบนี้รับผิดชอบโดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) โดยเกษตรกรที่เข้าโครงการประกันรายได้ต้องมีบัญชีกับ ธกส.ขั้นตอนก็คือเกษตรกรนำเอาใบรับรองการประกันรายได้มาขึ้นเงินส่วนต่าง ธกส. จะคำนวนราคาส่วนต่างระหว่างราคาผลผลิตที่ขายได้กับราคาที่รับประกัน จากนั้นจึงโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนประกัน

 

ทั้ง 3 ระบบที่กล่าวมานี้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การลดความซ้ำซ้อนของการขึ้นทะเบียน การเพิ่มความรวดเร็วและความถูกต้องในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร กับ ธกส. เป็นต้น

 

 

ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องการพิสูจน์พื้นที่การขึ้นทะเบียนประกันรายได้ ได้นำเอาเทคโนโลยีทางดาวเทียม และภูมิสารสนเทศเข้ามาช่วย โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมธีออสมาพิสูจน์พื้นที่ ที่ขึ้นทะเบียนได้มีการเพาะปลูกจริงหรือไม่ เข้าใจว่าเป็นงานที่ใช้ดาวเทียมธีออสอย่างคุ้มค่าที่สุด ก่อนหมดอายุใช้งานในปีหน้า โดยงานนี้สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นแม่งานหลัก

 


 

ผลของการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในงานประกันรายได้เกษตรกร ทำให้ระบบสารสนเทศทางการเกษตรของประเทศไทยจากที่ไม่เคยจัดระบบข้อมูล มาเป็นมีระบบข้อมูลเกษตรกรทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 2 ปี

 

แน่นอนว่าเรื่องระบบสารสนเทศที่เกิดขึ้นนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผลต่าง ๆ อาจไม่เห็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้โดยเฉพาะในรูปแบบของรายได้ในระยะสั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการวางแผนการผลิตทางการเกษตร วางแผนการจัดการนำ้ การจัดการต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ในอนาคต หรือการพัฒนาไปเป็นการให้ข้อมูลสนับสนุนการผลิตทางการเกษตรแบบรายแปลง จนกระทั้งรูปแบบการประกันการผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น การประกันสภาพอากาศ

 

เรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้แม้เป็นเรื่องระยะยาว แต่ผลของการจัดการการเกษตรโดยใช้ข้อมูล จะทำให้ต้นทุนการผลิตน้องลง ขายพืชผลในราคาที่สูงขึ้น ลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำแล้งและภัยพิบัติต่าง ๆ แต่ต้องมีการริเริ่มและต่อยอดจากระบบข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นห่วงคือ หากนโยบายเปลี่ยนก็จะยกเลิกสิ่งที่เคยทำจากนโยบายเดิม โดยเฉพาะเรื่องระบบข้อมูลเกษตรกร หากไม่มีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำมาก็จะสูญเปล่า ได้แต่หวังว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ และรัฐนมตรีที่มากำกับกระทรวงเกษตรฯ จะมีแนวทางใช้ประโยชน์และพัฒนาระบบข้อมูลที่เกิดขึ้นต่อไป

 

สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือหากนโยบายใดเป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ควรทำ อย่างต่อเนื่อง ไม่ควรให้อคติทางการเมืองมาปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาประเทศไทย ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนรัฐบาลครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบายครั้งหนึ่งเพราะเกรงว่า รัฐบาลเก่าจะได้ผลงานไป เรื่องฐานข้อมูลนั้นเป็นเรื่องสำคัญถ้าหากจะวางแผนยุทธศาสตร์ วิเคราะห์ หรือประเมิน ดังนั้นอยากให้รัฐบาลใหม่พิจารณาและเล็งเห็นความสำคัญของระบบฐานข้อมูลการ เกษตรด้วย ไม่ว่าจะถูกนำไปใช้สำหรับนโยบายประกันราคา อุ้มราคา หรือจำนำ เพราะถ้าหากเกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีย่อมทำให้ประชาชนมีความสุขตามไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: