'บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์' อธิบดีป่าไม้  ‘ผมเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักอนุรักษ์’

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 10 พ.ย. 2555


 

‘บุญชอบ สุทธมนัสวงษ์’ อธิบดีกรมป่าไม้ คนล่าสุด ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ยืนยันว่า การให้สทก.เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดในการดำเนินการ ซึ่งเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดในสมัยนี้ ที่สำคัญในการทำงานอนุรักษ์คือ ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่า เพื่อเป็นพื้นฐานในการวางแนวทางการบริหารจัดการป่า และจากการเติบโตจากสายปกครอง บุญชอบจึงประกาศตัวว่าเขาเป็นนักบริหาร ไม่ใช่นักอนุรักษ์ และจะใช้แนวทางการบริหารมาจัดการป่า

 

 

 

ถาม : วางแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าสงวนอย่างไร

 

บุญชอบ : ผมเสนอนายกรัฐมนตรีแล้วว่า ผมจะทำเรื่องการให้เอกสารสิทธิที่ดินทำกิน หรือ สทก. ซึ่งเป็นเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีด้วยว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกับป่าให้ได้ ผมยืนยันว่า การให้สทก.คือสิทธิที่ดินทำกิน เป็นรูปแบบที่ดีที่สุดในการดำเนินการ ต้องย้อนดูข้อมูลวันนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,221 ป่า เป็นพื้นที่อนุรักษ์ 17 กลุ่มป่า เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 1,204 ป่า ประมาณ 110 ล้านไร่ ซึ่งในพื้นที่ 110 ล้านไร่ ยังแบ่งออกเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) และเป็นป่าที่หมดสภาพ แต่เมื่อดูจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแล้วพบว่า มีพื้นที่ป่าที่ยังคงความเป็นป่าสมบูรณ์ ตั้งแต่ 200 ไร่ ถึง10,000 กว่าไร่

 

เมื่อปี 2526  รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในสมัยนั้น เน้นนโยบายปฏิรูปที่ดิน ออกเอกสารสิทธิสปก.ให้กับชาวบ้าน หลักการของสปก.คือ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมใดที่หมดสภาพความเป็นป่า ให้กรมป่าไม้กันพื้นที่นั้นออกไป เพื่อให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) แบ่งให้เกษตรกรเป็นพื้นที่ทำกิน ปรากฏว่า จากนโยบายนั้น ยังมีพื้นที่ป่าที่ยังดีอยู่ เนื่องจากตกสำรวจ ถูกกันเป็นพื้นที่สปก.ด้วย ประมาณ 40 ล้านไร่ ผมคิดว่าปัจจุบันพื้นที่ที่ถูกกันออกเป็นสปก. มีประมาณ 30 ล้านไร่ ดังนั้นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่กรมป่าไม้ดูแลอยู่ในวันนี้เหลือเพียง 67 ล้านไร่ ซึ่งนอกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 67 ล้านไร่แล้ว ยังมีพื้นที่ป่าอื่น ๆ อีก ประมาณ 10 ล้านไร่ ที่ยังหลงเหลือและมีสภาพดี แต่ไม่ได้มีสถานภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ตกสำรวจจากการขีดแผนที่ ซึ่งกรมป่าไม้ต้องดูแล

 

 

             “ถ้าพูดตามจริงวันนี้มีชาวบ้านเข้าไปถางมากแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็จับในข้อหาแผ้วถางป่า ซึ่งถ้าเราไม่จับผู้ครอบครองจะนำพื้นที่นี้ไปออกโฉนดได้ นี่คือปัญหาช่องว่างของกฎหมาย ดังนั้นพื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้ต้องดูแลในวันนี้ คือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 67 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ยังถูกปล่อยปละละเลย กรมป่าไม้ยังไม่ได้เข้าไปทำอะไร”

 

 

ปัญหาคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 67 ล้านไร่ ที่กรมป่าไม้ถืออยู่ในมือ เหลือเป็นพื้นที่ป่าอยู่เท่าไหร่ ไม่มีใครตอบได้  สิ่งที่ผมต้องการรู้คือ เราถือข้อมูลอะไรอยู่ในมือตอนนี้ ทุกคนนั่งท่องตัวเลขนี้ แต่คนที่อยู่ในพื้นที่กลับไม่ไปดูแลพื้นที่ตนเอง หน่วยป้องกันรักษาป่ามีหน้าที่อะไร จัดชุดป้องกัน ลาดตระเวน ออกตรวจตราเมื่อมีคนมาแจ้งว่ามีการบุกรุก ออกจับกุมเมื่อตรวจพบเหมือนหนูจับแมว พูดง่าย ๆ มีหน้าที่เพียงป้องกันและไม่ให้มีใครมาบุกรุก ถ้าบุกรุกก็จับดำเนินคดี คำถามคือ ที่มีการบุกรุกอยู่ทุกวันนี้เพราะอะไร เพราะไม่รู้ หรือมีมากกว่านั้น ที่ปล่อยปละละเลย มีผลประโยชน์ด้วยหรือไม่ ก็ไปว่ากันนี่คือปัญหาทั้งหมด ที่ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อปีที่แล้วที่ผมอยู่ที่กรมป่าไม้ มีคนเสนอว่าทำไมแทนที่จะตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า เราตั้งเป็นหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติ เหมือนกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้คนนี้มีหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ทั้งป่าให้ได้ทั้งหมด ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงแค่ป้องกัน กรมป่าไม้จะต้องเข้าไปบริหารจัดการทั้งหมดให้ได้ สิ่งที่ผมจะทำคือ ต่อจากนี้ไป เมื่อหัวหน้าได้รับตำแหน่งไปดูแลพื้นที่ป่า  100,000 ไร่ ต้องสำรวจว่าพื้นที่ 100,000 ไร่นั้น ประกอบไปด้วยพื้นที่อะไรบ้าง ถ้าพบว่า พื้นที่ยังเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องกันพื้นที่ให้ได้ ตรงนี้อาจจะมีคนไปตีความหมายว่า ผมจะประกาศเขตป่าใหม่ ไม่ใช่ แต่ผมแค่ต้องการจะทำแนวให้ชัดเจน พื้นที่ป่า 100,000 ไร่ มีความเป็นป่าสมบูรณ์อยู่ 50,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นพื้นที่ถูกบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์อะไรต่าง ๆ  ซึ่งพื้นที่ตรงนี้คือ ผมให้นโยบายส่งเสริมให้พื้นที่ป่าชุมชนเกิดขึ้น

 

ป่าชุมชนคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่มอบให้ชุมชนเป็นผู้ที่ดูแลรักษา ทำประโยชน์ เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จได้ดี เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน การที่ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของชาวบ้านดูแลได้ เพระฉะนั้นต้องส่งเสริมพื้นที่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งให้เป็นป่าชุมชน ส่วนที่เหลือที่ถูกบุกรุกเป็นพื้นที่เท่าไหร่ ต้องสำรวจทุกแปลง และมาพิสูจน์กันว่าใครบุกรุกก่อนหลังอะไรอย่างไร และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ต้องดูสภาพพื้นที่ด้วย เช่น บางพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดชัน เป็นต้นน้ำ ต้องผลักดันให้ออก ดังนั้นถ้าใช้วิธีการจับกุม ถ้าพูดกับผมจริง ๆ ผมคิดว่าอาจจะต้องจับเป็นล้านราย ถามว่าทำได้หรือไม่ วิธีการจึงต้องมีการสำรวจ ใครที่อยู่อย่างถูกต้องชอบธรรม ก็ให้เขาเช่าออกสทก.ให้ไป ส่วนที่ผิดจริง ๆ ก็ไปตักเตือน ผลักดันและในที่สุดต้องนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย จับกุมดำเนินคดีให้ได้ นี่คือขั้นตอนต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ไล่จับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : ขั้นตอนแรกคือการทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่า

 

บุญชอบ : ผมต้องการข้อมูลก่อน แล้วนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการ ก่อนที่จะให้สทก. ดูเหมือนว่าผมมาถึง ผมไปเอาใจชาวบ้านหรือเปล่า แต่ผมยืนยันว่าผมมาเพื่อมาบริหารจัดการ ไม่ใช่มาเพื่อมาเอาใจประชาชน หลักการของผมคนทำถูกต้องได้รับการชมเชย ได้รับของขวัญรางวัล คนทำผิดต้องได้รับการลงโทษ ผมใช้หลักการเช่นนี้ เพียงแต่ถ้าจะมาชี้ว่าใครผิดใครถูก ยังไม่รู้ เพราะผมเพิ่งมาใหม่ เจ้าหน้าที่ก็มาใหม่ ถ้าเจ้าหน้าที่อยู่นานจริงจะต้องรู้หมดว่าใครมีพื้นที่เท่าไหร่ อยู่มานานแค่ไหน นี่คือปัญหาที่ไม่รู้ ผมจึงต้องการมาสร้างข้อมูลให้ได้ เมื่อหัวหน้ามารับผิดชอบต้องรู้ เพราะปัญหาของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางป่าเหลือพื้นที่ป่าสมบูรณ์ 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บางป่าเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าป่าที่มีพื้นที่เหลือเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเหลือน้อยลงการบริหารจัดการต้องมากขึ้น ส่วนพวกที่พื้นที่ป่าเหลือเยอะ การบริหารจัดการจะน้อยลงแต่ปัญหาในการรักษาป้องกันจะยากขึ้น

 

 

ถาม : กรมป่าไม้ต้องพิจารณาแบ่งพื้นที่การจัดการใหม่

 

บุญชอบ : ถูก เพราะว่าเราไม่สามารถจะแบ่งคนละป่าได้ และอย่างที่บอก บางป่าวันนี้เหลือพื้นที่นิดเดียว เพราะถูกแบ่งเป็นสปก.เกือบหมดแล้ว ต้องทำตรงนี้ก่อน หลังจากนั้นจึงจัดคนเข้าไปบริหารใหม่แล้วทำข้อมูลใหม่ จากนี้ไปต้องรีบทำข้อมูลให้เสร็จ ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิน 6 เดือน ข้อมูลจะเรียบร้อย เมื่อข้อมูลเสร็จเรียบร้อยต่อนี้ไปถ้ามีการย้ายหัวหน้า ถ้าป่าหายจะต้องมีการลงโทษหัวหน้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : ในระยะเวลา 6 เดือนในการทำข้อมูลจะเป็นช่วงสุญญากาศหรือไม่

 

บุญชอบ : ไม่เกิด เพราะอย่างที่บอกตอนแรกตั้งใจจะยุบแล้วเปลี่ยน ผมตั้งใจจะให้เป็นแบบนั้น แต่เมื่อได้คุยกับเจ้าหน้าที่แล้วเขาเสนอว่า อย่าเพิ่งยุบ วิธีการคือตั้งคนเป็นหัวหน้าป่าสงวนแห่งชาติก่อน แล้วใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือ จากนั้นจึงค่อย ๆ สลายไปอันไหนใช้ได้ก็ยังคงอยู่ ที่ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไป สาเหตุที่ผมต้องการจะยุบ เพราะการเป็นหน่วยงานที่สิ้นเปลืองงบประมาณ บุคลากรไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลพื้นที่ อันที่สองคือ เมื่ออยู่ในพื้นที่เจ้าหน้าที่ต้องสร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน ถ้าจับอย่างเดียวแล้วจะรักษาป่าได้อย่างไร จะให้ของขวัญหรือจะตีเขา ถ้าจะตีต้องทำตัวอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ของขวัญต้องทำงานมวลชน

 

 

              “ผมจะเปลี่ยนพวกนี้มาทำงานมวลชน ไม่ใช่หน่วยป้องกันรักษาป่า แต่เป็นหน่วยบริหารจัดการ ต้องให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยดูแล ป่าตรงไหนที่ยังดีอยู่สร้างชาวบ้านมาเป็น Buffer Zone ให้ได้  ตรงไหนที่บุกรุกต้องเป็นรายสุดท้าย ไม่มีการให้บุกรุกต่ออีกแล้ว แล้วนำมาเข้าระเบียบจัดการตามระเบียบต่าง ๆ ที่ดีอยู่แล้วเป็นป่าชุมชน มอบให้หมู่บ้านให้ชุมชนเขาไปจัดการดูแล ผมต้องทำให้เป็นอย่างนี้ให้ได้”

 

 

เมื่อผมมาอยู่ที่นี่พื้นที่ป่าวันนี้ 100,000 ไร่ อีกร้อยปีข้างหน้าต้องเป็นป่า 100,000 ไร่เหมือนเดิม เพียงแต่รูปแบบในการบริหารจัดการจะเป็นมาตรการแบบนี้ ถ้าวันนี้มีป่าเหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องกำหนดให้ชัดเจน ปักหลักแนวเขตอย่าให้มีการบุกรุกมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ พรุ่งนี้จะเหลือ 49, 48, 47 เปอร์เซ็นต์ และในที่สุดจะไม่เหลืออะไรเลย ผมยืนยันว่าป่าวันนี้มีเท่าไหร่ต้องมีเหมือนเดิม และผมจะเพิ่มป่าแปลงที่ 4 เกิดขึ้น ขณะนี้มีไม่น้อย ที่มีชาวบ้านที่มีโฉนด นส.3ก เขาปลูกสวนป่าเอาไว้ พร้อมจะให้ความร่วมมือ และถ้าเราไปรณรงค์ให้คนที่มีโฉนดอยู่แล้วมาเริ่มปลูกสวนป่าได้ จะได้ป่าเพิ่มจากป่าที่มีอยู่แล้ว แต่เป็นป่าในที่กรรมสิทธิ์มีโครงการที่ทำได้อยู่แล้ว และชาวบ้านพร้อม เพียงให้เขารู้หลักเกณฑ์ว่าเขาสามารถตัดขายได้ เมื่อเขาปลูกไป 30-40 ปีในอนาคต แค่มีหลักการผมจะทำให้เป็นรูปแบบให้ได้ เพราะทุกวันนี้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ตนเอง เวลาจะตัดต้องขออนุญาตและขอไม่ได้อีกด้วย เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่เข้าไปเรียกเงินอีก

 

 

 

 

 

 

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     “ภาพของผมอาจจะมาจากปกครอง จะทำงานป่าไม้ได้หรือเปล่า ผมบอกว่าไม่แตกต่าง ผมมาเพื่อมาบริหาร ผมไม่ได้เป็นนักอนุรักษ์ ไม่ใช่จะอนุรักษ์อย่างเดียว ต้องมองข้อเท็จจริงด้วยว่าเป็นอย่างไร วันนี้ต้องยอมรับว่า ป่าถูกทำลายจนไม่รู้จะทำลายอย่างไรแล้ว ต้องยอมรับก่อน แล้วหาทางแก้ไข ถ้าจะพูดว่ายอมรับแนวทางของผมไม่ได้ สุดท้ายไส้ก็เน่าไปเรื่อย ๆ แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ยอมรับความจริง”

 

 

ถาม : ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ การเปลี่ยนมือในสิทธิสทก.

 

บุญชอบ : เปลี่ยนมือไม่ได้ เพราะมีเงื่อนไขว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบทุกปี  ทุก ๆ 5 ปีจะหมดอายุ และต้องมีการตรวจสอบก่อนต่ออายุ แต่ที่ผ่านมาที่มีปัญหา เพราะนโยบายในแต่ละยุคไม่มีการเอาจริง คือให้แล้วก็ทิ้งไม่ได้สนใจ ชาวบ้านเองอยากได้แค่นี้ ผมถามจากเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าชาวบ้านอยากได้แค่สิทธิในที่ทำกินไม่ใช่กรรมสิทธิ เพราะฉะนั้นถ้าให้สทก.ไปอีกร้อยปียังเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ แล้วเราค่อยเพิ่มเงื่อนไขลงไป เช่น คุณได้พื้นที่ทำกิน คุณปลูกไม้สัก 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ได้ไหม กรมป่าไม้จะเพาะกล้ามาแจก เราก็ได้ต้นไม้ได้ป่าเพิ่มขึ้นมา ดังนั้นรูปแบบการบริหารจัดการป่าจะเปลี่ยนไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “คำว่าป่าอยู่ร่วมกับคนนั้นถูกต้อง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อันไหนที่เป็นโซนอนุรักษ์ ไม่ได้คือไม่ได้ ที่เป็นป่าชุมชนดีที่สุด บางพื้นที่ผ่อนผันไป ต้องว่ากันเป็นเรื่อง ๆ และต้องว่ากันด้วยข้อมูล ต้องแยกให้ได้ว่าคนไหนถูกต้องไม่ถูกต้อง เหมือนคนอพยพหลบหนีเข้ามา แต่บางคนเกิดที่นี่ แต่ไม่เคยไปแจ้งอำเภอ ส่วนคนที่มาปีที่แล้วได้บัตรไปก่อน ปัญหาคือเราไม่รู้ข้อมูลตรงนี้ และเราต้องมีข้อมูลคนเหล่านี้ให้ได้ให้หมดก่อน และมติ ระเบียบทั้งหลาย ก่อนออกมาเป็นมติต้องมีการจัดเก็บข้อมูลก่อน เพื่อออกเป็นมติ ไม่ใช่ออกมติแล้วค่อยเก็บข้อมูลตามหลัง แต่ความจริงเป็นแบบนี้ เราต้องทำและให้เวลาในการทำ อีกปัญหาคือเจ้าหน้าที่เราปล่อยปละละเลยมานาน ผมไม่คาดหวังถึง 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็นไปได้ แต่ผมหวังว่าจะต้องมีโมเดลที่สำเร็จออกมาก่อน และค่อยขยายออกไป สุดท้ายผมบอกได้เลยว่าชาวบ้านจะมาบีบให้เราทำ”

 

 

ถาม : การเดินหน้านโยบายสทก. มีการประเมินอุปสรรคปัญหาอย่างไร

 

บุญชอบ : ถ้าการเมืองไม่ติดขัด ระดับนโยบายเห็นด้วย เรื่องนี้จะไปได้เร็ว ที่ผ่านมานโยบายของการเมืองไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด ผมมองว่าอนาคตของกรมป่าไม้ ส่วนหนึ่งคือการเดินหน้าเรื่องนโยบายสทก. ผมคิดว่าสทก.ดีกว่าเอกสารสิทธิ์กรมที่ดิน เพราะกรมที่ดินให้ไปแล้ว รัฐไม่สามารถทำอะไรได้ เจ้าของที่ดินอยากทำอะไรก็ได้ แต่สทก.ยังเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้สามารถกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ชาวบ้านมีสิทธิในที่ทำกินตลอดชีวิต เมื่อไหร่ที่ขายผิดเงื่อนไข และคนเหล่านี้จะไม่บุกรุกพื้นที่ป่าต่อไป ปัญหาที่ผ่านมาคือ พอเราไม่ให้ เขาก็ขายที่ดินต่อให้กับคนอื่น พอขายต่อได้แล้วก็ไปบุกรุกที่ป่าแปลงใหม่ นี่เป็นเงื่อนไขที่ผมไม่อยากพูด ผมมานี่ผมพยายามจะไม่ให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้น ปัญหาเก่าค่อย ๆ แก้ไขกันไป ตามความเป็นจริงสุดท้ายใครผิดต้องแก้กันไปตามผิด

 

 

ถาม : กลไกการออกสทก. ระเบียบ ข้อกฎหมายต่างๆ เราสามารถคัดเฉพาะชาวบ้านได้หรือไม่

 

บุญชอบ : ผมไม่อยากใช้คำว่าชาวบ้าน ผมถือว่าประชาชนทุกคนเท่ากันหมด จริง ๆ แล้ว สทก.ไม่ได้พูดว่า เป็นเกษตรกรหรือเป็นคนจน คนรวย แต่ถ้ามีครอบครัวหนึ่งมีฐานะดี ครอบครองพื้นที่มานานแล้ว มีที่ทำกินอยู่ และคุณอยากเข้าไปทำกิน แบบนี้ได้หรือไม่ ผมว่าได้ แต่ถ้าวันหนึ่งคุณจะเอา สทก.มาสร้างเป็นโรงแรมแบบนี้ผิดเงื่อนไขแล้ว คำว่ารีสอร์ทถ้าถามผมทำได้ไหม ผมว่าทำได้ เราไม่ใช้คำว่าในเชิงพาณิชย์ดีกว่า ถ้าชาวบ้านจะทำเป็นลักษณะโฮมสเตย์เล็ก ๆ ที่ไม่ผิดเงื่อนไขสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำได้ ต้องแยกตรงนี้ให้ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถาม : แนวคิดนโยบายการรวมกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

บุญชอบ : เรื่องนี้คงต้องคุยกันยาวในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าถามผมในฐานะที่ผมอยู่ในกระทรวงฯนี้มา 10 ปี กรมอุทยานฯและกรมป่าไม้ ถูกแบ่งตั้งแต่ปี 2546 และหลังการปฏิวัติเมื่อปี 2549 มีการตั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) โดยแบ่งคนจากกรมป่าไม้ประมาณ1,000 กว่าคน ไปอยู่ที่ ทสจ.และให้อำนาจหน้าที่ โดยอำนาจในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมจังหวัดขึ้นอยู่กับทสจ. ซึ่งขาดความสะดวกในการดำเนินงาน เพราะในอดีตมีป่าไม้อำเภอ ป่าไม้จังหวัดเป็นกระบวนการขั้นตอนอยู่แล้ว ในการขออนุญาตต่าง ๆ คนที่อยู่อมก๋อยจะขออนุญาตสักเรื่องหนึ่ง จะต้องเดินทางไปศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่มันเป็นไปไม่ได้ จึงมีความคิดที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม การที่จะกลับมารวมเหมือนเดิม กระทรวงฯ ต้องคุยกันว่าจะต้องเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้มีปัญหาอยู่พอสมควร ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว แต่ถามว่าแนวคิดในการรวมกันดีไหม ดี เพราะพื้นที่เป็นพื้นที่เดียวกัน และที่สำคัญคือชาวบ้านแยกไม่ออกว่าตรงไหน เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตรงไหนเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หลักการดีแต่เวลาผ่านไปแล้วอาจจะลำบาก  แต่เราคงหนีไม่พ้น เพราะกระบวนการของกฎหมายเข้าสู่สภาฯแล้ว ยังไงกฎหมายนี้ต้องออกมา และรวมกันในที่สุด ใหม่ ๆ อาจจะเป็นปัญหาพอสมควร

 

 

ถาม : การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่กับกรมป่าไม้ รูปธรรมจะเป็นอย่างไร

 

บุญชอบ : ถ้าชุมชนมีความพร้อม ในการเข้ามาร่วมดูแลรักษาป่าร่วมกัน สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่ที่บอกว่าเวลาจะประกาศมีเงื่อนไขเรื่องงบประมาณ จึงติดขัดอยู่ตรงนั้น ผมจะลองดูว่า อาจจะใช้เป็นการประกาศแบบลำลองไปก่อนได้หรือไม่ ถ้าชาวบ้านพร้อมกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องรองบประมาณ สามารถทำได้เลย ผมจะขอดูเงื่อนไขต่าง ๆ กรมป่าไม้อาจจะประกาศเตรียมการก่อนประกาศเป็นป่าชุมชนก็ได้ เพื่อรองบประมาณ เป็นการดีด้วยจะได้เห็นเป้าหมายก่อนของบประมาณ เพราะปีหนึ่งของบประมาณได้แค่ 200 หมู่บ้าน ซึ่งช้ามาก ถ้ามีข้อมูลว่าคนเข้าคิวมาขอจัดตั้งป่าชุมชน 2,000 หมู่บ้าน อาจจะต้องปรับการของบประมาณให้มากขึ้น เท่ากับจำนวนที่ขอมา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: