สตง.จี้สอบ‘แท็บเล็ต’จะครบเทอมยังไม่ได้ ชี้ผิดระเบียบแต่แรก-ไม่มีใครกล้าเซ็นรับ สงสัยไทยก็ทำได้แต่ทำไมต้องซื้อจากจีน

ชุลีพร บุตรโคตร วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2110 ครั้ง

 

หลังตั้งความหวังว่า เปิดเทอมใหม่ปี 2555 เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะได้รับแจกเครื่องแท็บเล็ต ตามนโยบายรัฐบาล โดยการดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จนกลายเป็นข่าวคึกโครมในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการติดตามรายละเอียดอย่างต่อเนื่องเป็นที่สนใจในสังคมวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีนี้อย่างมาก แต่หลังจากที่ตกเป็นข่าวอยู่หลายเดือน ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ยังไม่ได้ใช้เครื่องแท็บเล็ต ตามที่รัฐบาลให้สัญญาไว้ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เพราะเหตุใดจนถึงขณะนี้ รัฐบาลจึงไม่สามารถแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กนักเรียนได้ตามนโยบายที่วางไว้ ปัญหาข้อติดขัดอยู่ที่ใด เป็นประเด็นที่ศูนย์ข่าว TCIJ ให้ความสนใจในการสืบหาข้อมูลเพื่อนำเสนอดังกล่าว

 

 

สตง.เร่งตรวจสอบแท็บเล็ตป.1

 

 

ศูนย์ข่าว TCIJ ได้รับรายงานข่าวจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า ขณะนี้ สตง.กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร สัญญาการซื้อขายแท็บเล็ต เพื่อแจกให้กับเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจัดซื้อ และส่งมอบให้ทันเวลาช่วงเปิดเทอมแรกของปีการศึกษา 2555 นี้ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถทำการส่งมอบ  แท็บเล็ตจำนวน 1 ล้านเครื่อง ตามที่เป็นข่าวได้ เนื่องจากจากการตรวจสอบรายละเอียด สตง.พบข้อสงสัยหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการทำสัญญาซื้อขายในรูปแบบ จีทูจี (Government to Government) หรือ เป็นการซื้อขายระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งประเด็นนี้ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเคยมีบทเรียนมาแล้วจากการซื้อรถดับเพลิง จากประเทศจีน ที่เบื้องต้น ตกลงจะทำสัญญาซื้อขายแบบจีทูจี แต่ต่อมาพบว่า การซื้อขายรถดับเพลิงครั้งนั้น กลับกลายเป็นการซื้อขายระหว่างรัฐกับบริษัทเอกชน หรือ จีทูบี (Government to Business) โดยมีการทำสัญญานำไก่แช่แข็งไปแลกรถดับเพลิง จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

 

 

กระทั่งมาถึงวันนี้ในโครงการจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้น ป.1 นั้น รัฐบาลได้ให้กระทรวงไอซีที ดำเนินการโดยใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 เพื่อดำเนินโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของ 3หน่วยงาน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,794,832,800 บาท ประกอบด้วย 1.กระทรวงศึกษาธิการ 1,623,711,400 บาท 2.กระทรวงมหาดไทย  312,499,600 บาท โดยแยกเป็น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 170,000,000 บาท, กรุงเทพมหานคร  137,700,000 บาท และเมืองพัทยา 4,799,600 บาท และส่วนที่ 3 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในส่วนของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 1,121,400 บาท

 

เมื่อรัฐบาลไทยสอบถามเพื่อติดต่อซื้อขายไปยังรัฐบาลจีน ปรากฏว่า รัฐบาลจีนเสนอชื่อบริษัทเอกชนของจีนซึ่งผลิตเครื่องดังกล่าวมาให้กับรัฐบาลไทย 4 บริษัท เพื่อให้รัฐบาลไทยเลือกว่า จะตกลงซื้อขายกับบริษัทใด โดยรัฐบาลจีนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยอีกต่อไป จากนั้นรัฐบาลไทยโดยกระทรวงไอซีทีจึงเลือกบริษัทที่จะมีการซื้อขายด้วย ทำให้โครงการจัดซื้อแท็บเล็ตดังกล่าว จึงกลายเป็นรูปแบบของการซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับเอกชนแทน ไม่ใช่รัฐบาลต่อรัฐบาล

 

 

ระเบียบที่แตกต่าง จีทูจี กับ จีทูบี

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นดังกล่าวมีคำถามว่า มีความแตกต่างกันอย่างไร สตง.ระบุว่า โดยปกติแล้วหากโครงการใดๆ ที่มีการดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จะทำได้โดยให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เป็นกรณีๆ ไป เนื่องจากไม่ได้จัดซื้อตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ยกเว้นได้อย่างเดียวคือ การจัดซื้ออาวุธทางการทหารเท่านั้น ดังนั้นเมื่อจะจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล มีการขออนุมัติจาก ครม.แล้วได้รับความเห็นชอบให้ซื้อ  ซึ่งกรณีของการจัดซื้อแท็บเล็ตก็ไม่เข้าข่ายการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลอีกต่อไป ซึ่งหากกระทรวงไอซีทีจะดำเนินการต่อไปเพื่อให้ถูกต้อง สตง.ได้แนะนำให้กระทรวงไอซีที นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เพื่อขอปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อ ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขอเปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายแต่อย่างใด

 

 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555  เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) แบบรัฐต่อรัฐ โดยมอบผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง ให้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ในการเจรจากับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่รัฐบาลไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยอนุมัติให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต) จัดวางระบบเครือข่าย Wi-Fi และจัดทำระบบบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เนื่องจากมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในด้านคอมพิวเตอร์ เป็นหน่วยงานที่ดูแลในด้านเครือข่าย และวางระบบความปลอดภัยในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา โดยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และสร้างความเข้าใจ เพื่อการใช้งาน

 

 

สงสัยส่งสัญญาให้อัยการตรวจสอบหรือไม่

 

 

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องของการทำสัญญากับบริษัทจีน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ สตง.ให้ความสนใจและกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจากโดยปกติตามระเบียบราชการ ร่างสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบก่อน พร้อมส่งหนังสือรับรองการตรวจสอบมายังหน่วยงานต้นสังกัด ก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ แต่สำหรับกรณีนี้ สตง.สงสัยว่า สัญญาการซื้อแท็บเล็ต ได้ส่งให้อัยการตรวจสอบแล้วหรือไม่ หรือว่าส่งไปแล้วขอคืนกลับมาเพื่อจะรีบไปทำสัญญา และมีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ร่างสัญญาที่ส่งไปอัยการตรวจสอบกับสัญญาที่มีการเซ็นร่วมกันเป็นฉบับเดียวกันหรือไม่ด้วย ซึ่งหากเป็นกรณีที่รีบดึงกลับมาก่อนที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะตรวจสอบ ก็จะเหมือนกับกรณีของรถดับเพลิงที่ส่งสัญญาให้กับอัยการดู แต่อัยการยังไม่ทันได้ดูจนกลายเป็นปัญหาดังกล่าว

 

 

“กรณีนี้หากทำตามรูปแบบการซื้อจีทูจี เมื่อสินค้าลงเรือก็ต้องจ่ายเงินไปหมดเลย ก่อนที่จะตรวจรับสินค้า แต่เมื่อต้องทำตามระเบียบของคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กวพ. จะต้องเป็นการตรวจรับก่อนที่จ่ายเงิน จนทำให้ปัจจุบันยังตรวจรับไม่ได้ เพราะไม่มีใครกล้าตรวจรับ ก็ในเมื่อกระทรวงไอซีทีเป็นคนทำสัญญา คนกระทรวงศึกษาธิการกล้าตรวจรับหรือเปล่า ตอนนี้เลยยังไม่มีใครเห็น ซึ่งตามระเบียบพัสดุแล้ว เมื่อมีการทำสัญญา มีการตรวจรับ มีการค้ำประกันสัญญา กรณีนี้ไอซีทีบอกว่าทำค้ำประกันไว้ 2 ปี และมีการควบคุม และเมื่อแท็บเล็ตมาแล้ว จะแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ โรงเรียนก็ต้องลงทะเบียนควบคุม ดังนั้นแท็บเล็ตก็จะถือว่าเป็นของทางราชการ คนที่ทำราชการจะรู้ว่า ของหลวงชำรุดเสียหาย หรือหายไป จะเกิดอะไรขึ้น ชิ้นหนึ่งต้องถูกตั้งกรรมการตรวจสอบ เรื่องนี้สตง.ก็จะตามต่อไป”

 

 

ไอซีทีตั้งคณะกรรมการผิดระเบียบกวพ.

 

 

ส่วนในประเด็นที่ สตง.พบข้อมูลว่า หลังจากที่มีการเร่งรีบดำเนินการ เรื่องการจัดซื้อกับบริษัทของจีน รัฐบาลก็ได้สั่งให้บริษัทผลิตเครื่องแท็บเล็ตทันที โดยทำสัญญาว่าจะซื้อเครื่องแท็บเล็ตจำนวน 1 ล้านเครื่อง เพื่อแจกเด็ก ป.1 แต่จากการตรวจสอบของสตง.พบว่า แม้ว่ารัฐบาลระบุว่า ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันเปิดเทอม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่า มีการตรวจรับเครื่องแท็บเล็ตดังกล่าวทั้งสิ้น จึงเป็นข้อน่าสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการจัดซื้อครั้งนี้

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ในการจัดซื้อในระบบ จีทูจี ตามที่ครม.อนุมัติ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ไปสั่งให้บริษัทจีนผลิตแล้ว แต่เมื่อพบว่าไม่สามารถดำเนินการแบบจีทูจีได้ จึงต้องกลับมาเปลี่ยนเป็นการซื้อแบบจีทูบีตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องกลับมาดำเนินการซื้อในระเบียบพัสดุปกติ คือเสนอต่อกวพ. เพื่อขอยกเว้นการดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวว่า ขอให้อนุญาตให้ชุดที่ได้สั่งผลิตแล้วสามารถจัดซื้อได้ไปก่อน อย่างไรก็ตามท้ายที่สุด สิ่งที่กวพ.มีมติในครั้งนี้ คือ อนุมัติให้สามารถจัดซื้อแท็บเล็ตชุดที่ดำเนินการก่อนทำสัญญาไปแล้วได้ แต่ขั้นตอนหลังทำการสัญญา การตรวจรับสินค้า และควบคุมวัสดุ จะต้องทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 นอกจากนี้กระทรวงไอซีทีจะต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบรับสินค้าแทนชุดเดิม ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการพิจารณาผล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สงสัยสั่งผลิตก่อนเสนอครม.อนุมัติ

 

 

สำหรับอีกประเด็นที่กำลังถูกตรวจสอบก็คือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นผู้ดำเนินการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ แต่หลังจากครม.อนุมัติแล้วและมีการเซ็นสัญญากับบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ของจีน เพียง 60 วัน บริษัทสามารถผลิตเครื่องดังกล่าวส่งให้กับไทยได้ส่วนหนึ่ง ทั้งที่เครื่องดังกล่าวมีคุณสมบัติเฉพาะ จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า บริษัทจะผลิตเครื่องดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากับหน่วยงานแห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้ผลิตเครื่องแท็บเล็ตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อีก 1 ล้านเครื่อง จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ก่อนหน้านี้ทั้งที่รัฐบาลรู้ว่า หน่วยงานดังกล่าวสามารถผลิตแท็บเล็ตได้ เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงสั่งซื้อจากประเทศจีน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: