ประชาคมอาเซียนกับการลงทุนและผลกระทบข้ามพรมแดน:กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า

เดชรัต สุขกำเนิด 9 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 3165 ครั้ง

 

การเชื่อมโยงกันของระบบเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศเหล่านี้เริ่มปรากฏเป็นรูปเป็นร่างแจ่มชัดขึ้นทุกทีเช่น กัน การลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวสู่การ ลงทุนแบบข้ามพรมแดน ซึ่งนำไปสู่การขยายโอกาสใหม่ๆ ทางการค้าและทางเศรษฐกิจ

 

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการขยายการลงทุนข้ามพรมแดนจากประเทศไทยสู่ประเทศพม่า เพื่อที่จะนำทรัพยากรพลังงานและผลผลิตต่างๆ กลับมาหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ทั้งยังมีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมจากประเทศพม่า ผ่านประเทศไทย ไปสู่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามอีกด้วย โครงการนี้จึงเป็นเสมือนรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของการเปิดประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน โครงการนี้จึงได้รับความสนใจจากผู้ร่วมลงทุนหลายประเทศ และได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ผ่านมา (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) หรือรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็ตาม

 

      ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ในห้วงเวลาที่  น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศพม่าอย่างเป็นทางการ  เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ข่าวการลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ทวายจะได้รับการโหมกระพือในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ  ในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่  กลับมิได้เป็นประเด็นที่ได้รับการพิจารณาหรือถกแถลงในสังคมแต่อย่างใด ราวกับว่าสังคมไทยไม่เคยได้รับบทเรียนอันเจ็บปวดร่วมกัน  จากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม  เช่นที่เคยเกิดขึ้นที่มาบตาพุด

 

      บทความนี้ต้องการนำเสนอประเด็นที่สังคมไทยควรห่วงกังวลจากการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์  แต่อาจสร้างผลกระทบและความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งก็เป็นสมาชิกที่มีศักดิ์และสิทธิในประชาคมอาเซียนเช่นเดียวกับประชาชนคน ไทย บทความนี้จะเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลพื้นฐานของโครงการ ก่อนที่จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และทิ้งท้ายไว้ด้วยความมุ่งหวังสำหรับประชาคมอาเซียน

 

รูปแบบการลงทุนของโครงการ

      เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย พื้นที่ 250 ตร.กม.กับสื่อมวลชนว่า บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด หรือ ดีดีซี ซึ่งปัจจุบันอิตาเลียนไทยฯ ถือหุ้น 100% จะเป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนา และจัดหาผู้ร่วมลงทุนในแต่ละโครงการ โดยขณะนี้นักลงทุนพม่าแสดงความจำนงถือหุ้นดีดีซีแล้ว 25% และในระยะต่อไป บ.อิตาเลียนไทยฯ จะลดสัดส่วนหุ้นในดีดีซีเหลือ 51%1

 

      บริษัท  อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์  จำกัด (มหาชน) อ้างว่าได้ใช้เวลา 16 ปี ในการศึกษาโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะต่อการลงทุน รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต กระทั่งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2553 รัฐบาลพม่าได้ลงนามสัญญากับอิตาเลียนไทยฯ เพื่อให้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่เป็นเวลา 75 ปี ซึ่งบ. อิตาเลียนไทยฯ ได้จัดตั้งบริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงการนี้2

 

      นาย สมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์  จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ ทางกรุงเทพธุรกิจว่า บริษัทได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้พัฒนาโครงการดังกล่าวบนพื้นที่ 250 ตร.กม. หรือประมาณ 2 แสนไร่ ซึ่งใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า3 ปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ประกาศให้พื้นที่โครงการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Dawei Special Economic Zone) หรือ DSEZ แล้ว ส่งผลให้เป็นพื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งมาตรการด้านภาษี เพื่อจูงใจนักลงทุน4

 

การลงทุนข้ามพรมแดนในโครงการต่างๆ

      การลงทุนโครงการท่าเรือและนิคมฯทวาย  ถือเป็นการลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย  หรือ Offshore Investment ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่รัฐบาลไทยส่งเสริมและสนับสนุนมาตลอด และยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการนำรายได้เข้าประเทศ จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เช่นเดียวกับประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน ก็สนับสนุนให้มีโครงการลงทุนในต่างประเทศเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนในโครงการย่อยทั้งหลาย จึงเป็นการร่วมลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่จากหลากหลายประเทศ เช่น

 

    • โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและถนน มูลค่าเงินลงทุน 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่ง ญี่ปุ่น (เจบิก) 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ระยะ 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 12.3% ผ่านธนาคารขนาดใหญ่ของไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIMBANK)5
    • โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4 พันเมกะวัตต์ พื้นที่ 2,300 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จะส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยประมาณ 3,600 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือใช้ในพม่า6 ล่าสุดบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย ยืนยันจะร่วมถือหุ้น 30% เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้า DDC ถือหุ้น 40% ที่เหลือเป็นผู้ร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ที่คาดว่าจะเป็นญี่ปุ่น7 ส่วนแหล่งถ่านหิน จะนำมาจากเกาะสุมาตราในอินโดนีเซีย 8
    • โครงการก่อสร้างโรงเหล็กขนาดใหญ่ 1.3 หมื่นไร่ มีการจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเช่นกัน9 โดยการแปลงที่ดินเป็นทุน และมีบริษัทผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลกสนใจเข้าร่วมทุนหลายราย อาทิ กลุ่ม Posco จากเกาหลี กลุ่ม Mittal จากอินเดีย และกลุ่ม Nippon Steel จากญี่ปุ่น ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียด10
    • โครงการก่อสร้างปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ กำลังเจรจากับนักลงทุนหลายราย เช่น กลุ่มมิตซูบิชิ กลุ่มโตโย กลุ่มโตคิว รวมทั้งบริษัทในคูเวต และกาตาร์ การก่อสร้างโรงงานต่างๆ จะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการภายใน 3 ปี นับจากเดือนม.ค. 255511 เช่นเดียวกับบริษัทร่วมทุนโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ ประมาณ 4,000-5,000 ไร่ ก็เริ่มมีบริษัทสนใจแล้วเช่นกัน12

 

      ในกรณีของประเทศไทย  นอกจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่สนใจเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการนี้แล้ว ทางปตท. โดยนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ก็เปิดเผยว่า “ปตท.สนใจการลงทุนในพม่า เพราะมีศักยภาพด้านพลังงานน้ำและถ่านหิน รวมถึงพม่ากำลังมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่จะมีการลงทุนในท่าเรือน้ำลึก ขนส่งทางถนน ขนส่งทางท่อ และโรงไฟฟ้า โดยจะมีรูปแบบการลงทุนเช่นเดียวกับโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ดของไทย ซึ่ง ปตท.สนใจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจพลังงานในนิคมเหล่านี้”13

 

โครงข่ายการคมนาคมเชื่อมโยงภูมิภาค

      บริษัท  อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกเขตพื้นที่ทวายมาพัฒนาเป็นที่เรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม เพราะความได้เปรียบทางด้านคมนาคม โดยระยะทางถนนจากกรุงเทพมหานครมายังเขตทวายมี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง14 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยจะมีเส้นทางขนส่งออกสู่ทะเลอันดามันเพิ่มขึ้น โดยพม่าจะก่อสร้างถนนจากท่าเรือผ่านนิคมฯทวายมายังบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี และสอดรับกับแผนงานของกรมทางหลวง ซึ่งมีแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์จากบาง ใหญ่-นครปฐม-กาญจนบุรี เชื่อมต่อกับเส้นทางดังกล่าว และเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังกัมพูชา ผ่านเมืองศรีโสภณ เสียมเรียบ พนมเปญ และเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม โดยผ่านโฮจิมินห์ เพื่อออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก15

 

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับทวาย

      ทวายหรือ Dawei (เดิมเรียกว่า Tavoy) ในภาษาอังกฤษเป็นเมืองหลวงของแคว้นตะนาวศรี (หรือ Tanintharyi region) ในประเทศพม่า มีจำนวนประชากรราว 5 แสนคน มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้แก่ ทวาย มอญ กระเหรี่ยง และอื่นๆ ภาษาหลักที่ใช้คือ ภาษาทวาย16

 

      พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเรียกว่า  Nabule แขวง Yebyu เขตเมืองทวาย ในพื้นที่ 250 ตร.กม. ที่มาทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม จะต้องเวนคืนที่ดินและอพยพประชาชนกว่า 20 หมู่บ้าน ประมาณ 4,000 หลังคาเรือน และมีจำนวนประชากรที่จะต้องอพยพประมาณ 32,000 คน ประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง เช่น สวนผลไม้ สวนยาง คล้ายคลึงกับภาคใต้ของประเทศไทย

 

      ประชาชนในพื้นที่อพยพส่วนใหญ่ทราบเรื่องที่จะต้องอพยพออกจาก พื้นที่  แต่จากการบอกเล่าของผู้แทนประชาชนจากประเทศพม่าที่มาประชุมในประเทศไทย  เมื่อเดือนธ.ค. 2554 ที่ผ่านมา  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องการจ่ายค่าชดเชย และความพร้อมของสถานที่รองรับการอพยพ

 

      ขณะเดียวกัน ประชาชนและภาคประชาสังคมในพม่าก็เริ่มแสดงความห่วงกังวลกับผลกระทบทางสิ่ง แวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ และเรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมตามมาตรฐานสากล และผ่านกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่17

 

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

      การสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักจะก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน  เพื่อที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนานิคม อุตสาหกรรมทวาย  ผู้เขียนจึงได้จำลองอัตราของผลกระทบแต่ละด้านเมื่อเทียบกับพื้นที่และขนาด การผลิต  โดยเทียบเคียงจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตา พุด  ดังนั้น การประมาณการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในบทความนี้จึงเป็นการประมาณ อย่างคร่าวๆ  เพื่อจุดประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญในการประเมินผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ อย่างจริงจัง  ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้เกิดผลกระทบเช่นเดียวกับที่ประชาชนในเขตนิคม อุตสาหกรรมมาบตาพุด (ซึ่งมีพื้นที่เล็กกว่านิคมอุตสาหกรรมทวายมาก) ต้องแบกรับมาเป็นเวลานาน

 

    1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

      การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่  ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย  ย่อมส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก  ทั้งนี้ ประมาณการณ์ในเบื้องต้นว่า  เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้เดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์แล้ว โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 30 ล้านตัน/ปี18

 

      สิ่งที่ตกใจคือ  ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 30 ล้านตัน/ปีนี้ เป็นปริมาณที่มากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศพม่าทั้งประเทศ ในปีพ.ศ. 2551 ถึง 2 เท่า (ปีพ.ศ. 2551 ประเทศพม่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก 12.8 ล้านตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์/ปี19) และเนื่องจากประมาณร้อยละ 90 ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งมายังประเทศไทย โครงการนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการผลักภาระทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับ ประเทศเพื่อนบ้าน

 

      ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้พลังงานเข้มข้นและเป็นต้นเหตุหลักของก๊าซปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น อุตสาหกรรมถลุงเหล็ก  อุตสาหกรรมผลิตปุ๋ยเคมี และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า ประเทศพม่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4-5 เท่าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน  ภายหลังจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายเต็มรูปแบบ

 

    1. มลภาวะทางอากาศ

 

      นอกเหนือจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังนำมาซึ่งการปลดปล่อยมลสารหลายชนิดที่กลาย เป็นมลภาวะทางอากาศด้วย หากเทียบเคียงจากประสบการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 194 ตร.กม.20 ในเขตทวาย อาจนำไปสู่การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากถึง 442,560 ตัน/ปี21 ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนได้มากถึง 354,000 ตัน/ปี22 และฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกไม่น้อยกว่า 88,500 ตัน/ปี23

 

      ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงการปล่อยมลสารของโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4,000 เมกะวัตต์ ซึ่งในการเผาไหม้ถ่านหินประมาณ 11 ล้านตัน/ปี ก็อาจจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้มากถึง 118,000 ตัน/ปี ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนได้มากถึง 119,000 ตัน/ปี รวมทั้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกไม่น้อยกว่า 10,300 ตัน/ปี24

 

      การเพิ่มขึ้นของมลสารที่เป็นต้นเหตุของภาวะฝนกรดประมาณ 1 ล้านตัน/ปี และฝุ่นละอองขนาดเล็กอีกกว่า 1 แสนตัน/ปี จะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้วยสภาพภูมิประเทศของทวายที่มีเทือกเขาตะนาวศรีเป็น ภูเขาสูงขนาบทางทิศตะวันออก ทำให้สภาพมลภาวะทางอากาศสะสมอยู่ในพื้นที่ และอาจจะส่งผลกระทบทางลบอย่างมาก  ทั้งต่อการทำการเกษตรและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่

 

    1. ทรัพยากรน้ำ

     

 แรงกดดันทางด้านทรัพยากรน้ำ  จะเกิดขึ้นจากความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยหากนิคมอุตสาหกรรมทวายมีการเติบโตเต็มพื้นที่ 194 ตร.กม. ตามแผนที่วางไว้ ก็อาจจะมีความต้องการน้ำจืดสูงถึง 5.9 ล้านลบ.ม./วัน25 หรือประมาณ 2,150 ล้านลบ.ม./ปี เพราะฉะนั้น อ่างเก็บน้ำขนาด 400-500 ล้านลบ.ม. ตามที่บริษัท ทวาย ดีเวล้อปเมนท์ จำกัด วางแผนก่อสร้างไว้จึงยังคงไม่เพียงพอ และคงต้องมีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่อื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่รอบๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสังคมตามมา

 

      ในส่วนของน้ำเสีย  หากเทียบเคียงจากการปล่อยน้ำเสียที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมทวายที่มีขนาดใหญ่กว่าก็คาดว่าจะปล่อยน้ำเสียมากถึง 1.5 ล้านลบ.ม./วัน หรือประมาณ 550 ล้านลบ.ม./ปี เมื่อรวมกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะฝนกรดจากมลภาวะทางอากาศที่ได้กล่าวไป แล้วข้างต้น ผลกระทบทางด้านคุณภาพน้ำก็นับเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องมีการประเมินและ ศึกษาให้รอบคอบก่อนที่จะดำเนินโครงการจริง

 

      ประกอบกับสภาพภูมิศาสตร์ที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายแห่งนี้จะ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองทวาย ดังนั้น หากเกิดภาวะน้ำเสีย หรือโลหะหนักปนเปื้อน หรือภาวะน้ำขาดแคลนจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในเมืองทวาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรน้ำในพื้นที่จึงเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้อง ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

    1. กากของเสีย

      ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่ติดตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ กากของเสียจำนวนมหาศาลจากภาคอุตสาหกรรม  โดยในการเผาไหม้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ จะทำให้เกิดเถ้าถ่านหินถึงประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี นิคมอุตสาหกรรมขนาด 194 ตร.กม. จะทำให้เกิดกากของเสียอุตสาหกรรมถึง 757,000 ตัน/ปี26 และมีกากของเสียอันตรายที่จะต้องกำจัดอีกประมาณ 45 ตัน/ปี27 นอกจากนั้น ยังมีของเสียครัวเรือนในพื้นที่พักอาศัยอีกไม่น้อยกว่า 101,000 ตันต่อปี28 รวมแล้วมีกากของเสียที่จะต้องจัดการไม่น้อยกว่า 2 ล้านตันในแต่ละปี

 

    1. ผลกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิต

      จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบโดยตรงกับชุมชนไม่น้อยกว่า 20 หมูบ้าน และประชากรกว่า 32,000 คน ที่จะต้องโยกย้ายถิ่นฐาน  และเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ใหม่ โดยเฉพาะชาวสวนที่ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ต้นไม้จะให้ผลผลิตที่เป็นราย ได้แก่ครัวเรือน

 

      นอกจากนั้น  การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังอาจส่งผลกระทบกับชุมชนที่อยู่รอบๆ  นิคม ทั้งโดยตรง (เช่น มลภาวะทางอากาศและมลภาวะทางน้ำ) และทางอ้อม (เช่น การขาดแคลนทรัพยากรน้ำ  การปนเปื้อนของมลสารในห่วงโซ่อาหาร  ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของประชากรในพื้นที่กับประชากรที่อพยพเข้ามา และความไม่เพียงพอของบริการสาธารณะในพื้นที่) ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเมืองทวายที่อยู่ทางตอนล่างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะหากเกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำทวาย

 

สิ่งที่แอบหวังจากประชาคมอาเซียน

 

      จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นคงเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการท่าเรือน้ำ ลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก (โดยเฉพาะในเชิงพื้นที่แล้วใหญ่มาบตาพุดหลายเท่า) ซึ่งมีประเทศผู้ลงทุนและผู้ได้รับผลประโยชน์ในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน ก็เป็นโครงการที่ประกอบด้วยโครงการย่อยต่างๆ ซึ่งอาจสร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ เป็นอย่างมากเช่นกัน เราจึงอาจที่จะแอบตั้งความหวังลึกๆ ว่า การเติบโตและความเชื่อมโยงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ควรมุ่งหวังแต่ผล ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเพิกเฉยต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดผลกระทบทางลบขึ้นกับประชาชนในพื้นที่

 

      หากความมุ่งหวังดังกล่าวจะปรากฏเป็นจริง ผู้ลงทุนและรัฐบาลทุกประเทศที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลและผู้ลงทุนจากประเทศไทย ซึ่งมีบทเรียนที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหามลภาวะและสุขภาพที่มาบตาพุด และจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้โดยตรง จะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก่อนที่จะเดินหน้าในโครงการนี้ในลำดับต่อไป

 

      ยิ่งไปกว่านั้น  การดำเนินโครงการย่อยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเทศไทย หรือที่เป็นประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราก็แอบหวังว่า รัฐบาลไทยจะเสนอให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับที่ถือปฏิบัติ ในประเทศไทย เช่น มีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้า ถึงข้อมูลและนำเสนอความคิดเห็นได้โดยตรง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบทางลบกับประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน จากโครงการที่ทำขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทย

 

      แน่นอนว่า ภาคประชาสังคมทั้งในพม่า ในประเทศไทย และในอาเซียนจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันความมุ่งหวังข้างต้น ให้แปลงเป็นรูปธรรมที่จะคุ้มครองและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน รวมถึงสื่อสารออกไปถึงความมุ่งหวังและทางเลือกในการพัฒนาของประชาชนในแต่ละ พื้นที่ เพื่อให้ประชาคมอาเซียนได้รับทราบ และร่วมกันสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง สำหรับประชาชนในทุกๆ ประเทศ และในทุกๆ พื้นที่ของอาเซียน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: