นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 9 ก.พ. 2555


 

 

อันที่จริงเราควรจะพูดก่อนว่ารัฐบาลใหม่มีภารกิจอะไรและนโยบายต่าง ประเทศอย่างไร เสียก่อน ค่อยมองหาคนที่เหมาะสมกับภารกิจและมีขีคดวามสามารถที่จะดำเนินนโยบายมาใส่ลง ไปในตำแหน่งนั้น แต่การเมืองแบบอัตตาธิปไตยของไทยมีอิทธิพลมาก  ทำให้เรามักจะมองหาคนก่อนเสมอแล้วค่อยมาพูดว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง แต่ตราบที่ยังไม่ทราบว่าคนๆนั้นคือใคร เพราะเห็นสื่อมวลชนปล่อยชื่อออกมาเป็นการชิมลางหลายคน ตั้งแต่นักการเมืองอาชีพ นักการทูต ไปจนถึงนักบริหารผู้เชี่ยวชาญเรื่องตลาดทุน ว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่ลงเอยที่ใครเป็นตัวเป็นตนสักที ดังนั้นในที่นี้ก็จะขอพิจารณาปัญหาสำคัญ  2 ประการสำหรับกิจการต่างประเทศ คือ ภารกิจและนโยบาย เท่านั้น

 

 ภารกิจหลักของรัฐบาลใหม่ซึ่งได้รับการคาดหวังจากสาธารณะว่าจะต้องทำคือ การฟื้นฟูสถานะและความน่าเชื่อถือในต่างประเทศของไทยกลับมาอย่างเร่งด่วน เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาได้ใช้เครดิตและชื่อเสียงของประเทศไทยในต่างประเทศที่ ได้สะสมมาเป็นเวลานานไปอย่างสิ้นเปลือง ด้วยเหตุว่ามีการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดด้วยการเอาปัญหาการเมือง ภายในและการเมืองส่วนตัวไปใส่ลงนโยบายต่างประเทศอย่างไม่เหมาะสม

 

 แม้ว่าจะได้มีการแถลงนโยบายต่างประเทศต่อรัฐสภา (ที่กระทำกันที่กระทรวงการต่างประเทศแทนที่จะเป็นตึกรัฐสภา) กันอย่างสวยหรูว่าประเทศไทยจะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติและนโยบายที่ไม่ได้มีการประกาศที่รัฐบาลของอภิสิทธิ์ทำใน กิจการต่างประเทศนั้นส่วนใหญ่หมดไปกับการตามล่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศที่เกี่ยวข้องกับทักษิณไม่ว่าทางใดแทบจะกลายเป็นศัตรูกับประเทศไทย ทั้งหมด

 

 อภิสิทธิ์ สรุปงานในวันลาจากตำแหน่งของเขาอย่างบิดเบือนว่า หลังจากพ้นวิกฤตแล้ว สังคมโลกมีความมั่นใจกับประเทศไทยมากขึ้น และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปโดยความราบรื่น แม้เขาจะยอมรับว่ามีปัญหากัมพูชา แต่ไม่ได้ทบทวนเลยว่า ปัญหานั้นเกิดจากอะไร

 

 ปัญหาสำคัญที่อภิสิทธิ์ไม่กล้าพูดคือ นโยบายต่างประเทศที่ถูกครอบงำด้วยอคติของพวกชาตินิยมสุดขั้ว  ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว และเป็นอันธพาลที่อ้างการปกป้องผล ประโยชน์ของตนเองจนไม่มองความถูกต้องชอบธรรมใดๆทั้งสิ้น

 

 กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม อภิสิทธิ์ และ กษิต ดำเนินนโยบายต่างประเทศและดำเนินการทุกอย่างเพื่อตามล่าทักษิณ หวังจะเอาตัวมาลงโทษให้ได้ โดยอ้างว่าประเทศใดที่ให้ที่พักพิงหรือมีกิจกรรมใดกับทักษิณให้ถือว่าประเทศ นั้นดูถูกกระบวนการยุติธรรมของไทย  แต่เขาไม่กล้าพูดว่า ตุลาการภิวัฒน์ แท้จริงแล้วคือการเล่นการเมืองและการเลือกข้างของตุลาการ ที่ทำความเสื่อมเสียมาสู่ระบบยุติธรรมของไทยเพียงใด อภิสิทธิ์ลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาหลังจากที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของ กัมพูชาตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และประกาศยกเลิกบันทึกความเข้าใจเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลที่ลงนามกับกัมพูชา ในปี 2544 และตัดความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจด้วยการประกาศยกเลิกเงินกู้ 4,000 ล้านบาทสำหรับก่อสร้างถนนจากชายแดนไทยเข้าสู่เสียมเรียบ เพราะโกรธที่กัมพูชาปฏิเสธที่จะส่งตัวทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนให้ตามที่ ร้องขอ 

 

 ความจริงรัฐบาลไทยมีสิทธิและมีอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการระหว่างประเทศ แต่ความน่าเชื่อถือของไทยหมดไปในกรณีนี้เพราะมีการเลือกปฏิบัติในการดำเนิน การเช่นนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้ดำเนินการกดดันแบบนั้นกับทุกประเทศเสมอหน้ากัน ในกรณีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตนั้นแม้จะทราบกันอย่างกว้างขวางว่าทักษิณมีถิ่น พำนักอยู่ในดูไบ แต่ปรากฎว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ได้แสดงการกดดันใดๆต่อรัฐบาลประเทศนั้นให้ ดำเนินการส่งตัวทักษิณกลับประเทศไทยเลย นอกจากนี้เมื่อปรากฎว่าทักษิณเดินทางไปเยือนหลายประเทศ เช่น รัสเซีย หรือ แม้แต่บรูไน เมื่อเร็วๆนี้ แต่กระทรวงการต่างประเทศของไทยภายใต้รัฐบาลของอภิสิทธิ์ก็กลับนิ่งเฉยเสีย มิหนำซ้ำพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์เองได้เดินทางไปพบกับทักษิณอีกด้วยโดยที่ อภิสิทธิ์ไม่ได้ว่าอะไร นั่นแสดงออกให้เห็นถึงการไม่คงเส้นคงวาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

 

การถือว่าปัญหาทักษิณเป็นภารกิจหลักในการดำเนินโยบายนั้นเป็นปัญหาในตัว ของมันเอง เพราะเหตุที่ทักษิณไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียวที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในระยะ ที่ผ่านมา ถ้าหากถือว่าเขาเป็นนักโทษหนีคดีแล้ว  เขาก็ไม่ใช่นักโทษคนเดียวของประเทศนี้ที่หนีคดีไปต่างประเทศ ผู้มีชื่อเสียงและนักการเมืองหลายคนหนีคดีไปต่างประเทศเช่นกัน แต่ไม่เห็นว่าอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขาจะให้ความสำคัญมากขนาดจะ ต้องใช้ทรัพยากรของชาติไปติดตามล่าตัวขนาดนี้เลย ที่ทักษิณมีความสำคัญสำหรับรัฐบาลชุดที่แล้ว  เพราะเป็นศัตรูทางการเมืองที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มชนชั้นนำ เพียงหยิบมือที่กุมอำนาจและชักใยรัฐบาลของเขาต่างหาก ถ้าอภิสิทธิ์เห็นว่าทักษิณเป็นนักโทษหนีคดีเหมือนคนอื่นๆแล้ว ก็ใช้ช่องทางกฎหมายปกติติดตามตัวเขาก็คงจะเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องเอาผล ประโยชน์แห่งชาติไปเสี่ยงด้วยเลย แต่ที่อภิสิทธิ์และรัฐมนตรีต่างประเทศของเขายอมทำขนาดนั้นก็เพียงหวังคะแนน นิยมทางการเมืองจากกลุ่มที่เป็นศัตรูของทักษิณและชนชั้นนำทางการเมืองใน ประเทศเท่านั้นเอง และในที่สุดก็พิสูจน์ว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยที่เอาเข้าจริงช่วย อะไรพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้แพ้เลือก ตั้งอย่างหลุดลุ่ยเช่นนี้แน่นอน แต่ที่แย่ไปกว่านั้น ปรากฏว่าไม่มีประเทศใดเลยที่ชื่มชมการตามไล่ล่าทักษิณขนาดนั้น เพราะไม่เช่นนั้นมิตรประเทศคงจะส่งตัว

 

เขากลับมาประเทศไทยง่ายๆอีกเช่นกัน เอาเข้าจริงทักษิณกลับได้รับการปกป้องจากหลายประเทศ แม้แต่ประเทศเล็กๆที่ดูแล้วไร้อำนาจต่อรองอย่างกัมพูชา ยังยอมผิดใจอภิสิทธิ์และกษิตเพื่อปกป้องทักษิณ การตัดสินใจของกัมพูชาเช่นนั้นอาจจะตีความได้ว่า เขาเห็นว่าทักษิณนั้นมีคุณประโยชน์หรือมีพิษสงมากกว่าอภิสิทธิ์  แน่นอน ความจริงก็คงจะเป็นเช่นนั้น เพราะอภิสิทธิ์และกษิตทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากไล่ล่าทักษิณ  แต่ก็ยังไม่สามารถเอาตัวเขามาได้ ความจริงไม่สามารถเข้าใกล้เขาได้เลยสักครั้งด้วยซ้ำไป

 

 ประการสำคัญ นอกเหนือไปจากปัญหาทักษิณแล้ว ความผิดพลาดของการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการทูตของไทยของรัฐบาลที่ผ่านมา คือ ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกลุ่มอนุรักษ์นิยม-ชาตินิยมมากจนเกินไป การดำเนินนโยบายต่อกัมพูชาต่อกรณีปราสาทพระวิหารนั้น สรุปได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นความผิดพลาดระดับนโยบายและนำไปสู่ความเสียหายต่อ การระหว่างประเทศอย่างมากที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในทุกเวทีตั้งแต่ระดับภูมิภาคอาเซียนไปจนถึงระดับโลก

 

 ประเทศไทยไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระ วิหารเป็นมรดกโลก ไม่ว่าในแง่ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และ นิติศาสตร์ ความเข้าใจว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะทำให้ไทยเสียดินแดน นั้น เป็นมายาคติที่กลุ่มขวาจัดชาตินิยมสร้างขึ้นมาหลอกหลอนตัวเองและรัฐบาล อภิสิทธิ์เท่านั้นเอง และมายาคตินั้นทำให้เขาต้องดำเนินการคัดค้านกัมพูชาทั้งๆที่ไม่มีมูลฐานใดๆ ที่เหมาะสมแก่การคัดค้านเลย มีหลักฐานและข้อกฎหมายระหว่างประเทศระบุเอาไว้โดยชัดแจ้งว่า การขึ้นทะเบียนทรัพย์สินใดที่อ้างสิทธิ์กันมากกว่า 1 ประเทศก็ไม่มีทางทำให้สิทธิ์เช่นว่านั้นเสียไปเลย แต่อภิสิทธิ์และคณะของเขา ก็เอาแต่พล่ามบอกประชาชนว่าพวกเขาปกป้องการเสียดินแดนด้วยการคัดค้านการขึ้น ทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่พวกเขาก็แสดงเรื่องนี้อย่างคลุมเครือที่สุดคือ ไม่เคยบอกได้เลยว่า ดินแดนส่วนไหน เสียไป อย่างไร เพราะพื้นฐานใด

 

 มิหนำซ้ำเขายังส่ง สุวิทย์ คุณกิตติ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ผู้ไม่ประสี ประสาการเมืองระหว่างประเทศและการทูตไปเจรจาเรื่องมรดกโลกกับกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลกและองค์การยูเนสโก สุดท้ายสุวิทย์ก็ทำเรื่องขายขี้หน้าและทำลายความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ของไทยอย่างร้ายแรงด้วยการไปประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีมรดกโลกเสียเฉยๆ อย่างนั้น การเคลื่อนไหวของสุวิทย์ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีสในเดือน มิถุนายนที่ผ่านมานั้นคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ความน่าเชื่อถือของประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นไม่เหลืออยู่ เลย เพราะไม่มีกรรมการชาติใดเลยใน 20 ชาติ (ไม่นับไทย) ของคณะกรรมการมรดกโลกเห็นดีเห็นงามกับไทย ในการให้เลื่อนการพิจารณาวาระปราสาทพระวิหารออกไปก่อนตามที่ไทยเสนอ

 

 ผู้แทนไทยที่ไปร่วมประชุมในคณะของสุวิทย์รายหนึ่งกล่าวว่า บางทีไทยอาจจะไปพูดเรื่องบางเรื่องผิดที่ผิดเวลา เพราะที่คณะกรรมการมรดกโลกเขาพูดกันเรื่องการรักษาและฟื้นฟูโบราณสถานของโลก แต่ไทยกลับเอาปัญหาเขตแดนเข้าสู่การพิจารณา นั่นยอมเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นความไร้เดียงสาของการระหว่างประเทศและการทูต ของรัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ์อย่างประจักษ์ชัดที่สุดแล้ว

 

 ในเวทีระดับภูมิภาคในอาเซียน ประเทศไทยภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นประเทศที่เป็น ผู้ใหญ่ (อย่าว่าแต่จะเป็นผู้นำเลย) เพียงพอในการพิจารณาปัญหาข้อพิพาทกับกัมพูชา ประเทศไทยเป็นคนเสนอเองว่าอยากจะให้มีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียจากกลุ่ม อาเซียนเข้ามาดูแลการพิพาทเรื่องชายแดนกับกัมพูชา แต่ครั้นเมื่อกัมพูชาแสดงความพร้อมและต้องการให้อินโดนีเซียเร่งส่งผู้ สังเกตการณ์เข้าไปจริงๆ รัฐบาลไทยเองกลับแสดงความลังเลและตั้งเงื่อนไขสารพัด เพื่อให้กระบวนการนี้เดินไปอย่างล่าช้า จนในที่สุดนับแต่ตกลงกันในเดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียได้เหยียบเข้าไปในพื้นที่แม้แต่คนเดียว

 

 กระทั่งเรื่องราวได้พัฒนาไปไกล เมื่อกัมพูชาได้นำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกเพื่อขอให้ศาลตีความคำ พิพากษาเมื่อปี 2505 เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่โดยรอบตัวปราสาท และขอให้มีมาตรการชั่วคราวเพื่อบังคับให้ไทยถอนทหารและให้กลุ่มอาเซียนส่ง ผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่ซึ่งศาลได้กำหนดให้เป็นเขตปลอดทหารชั่วคราวด้วย

 เรื่องการตีความคำพิพากษาคงจะไม่เกิดขึ้น หากไม่ปรากฎว่ารัฐบาลไทยไม่ไปพิรี้พิไรเรื่องมรดกโลกโดยการเอาเรื่องนี้ไป พันกับเรื่องปัญหาการจัดการเรื่องเส้นเขตแดนเสียจนทำให้กัมพูชารู้สึกว่าไม่ มีทางออกใดจะเร็วไปกว่าอาศัยคำสั่งศาล ทั้งๆที่ความเป็นจริงการพิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนนั้นปกติก็ทำโดยคณะกรรมการ เขตแดนร่วมได้อยู่แล้ว กล่าวกันตามตรงและอภิสิทธิ์เองก็ดูเหมือนจะเชื่อด้วยว่า การพิจารณาเส้นเขตแดนโดยคณะกรรมการดังกล่าวนั้นไทยอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ มากกว่า แต่กรณีของศาลโลกนั้นไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใด โอกาสที่ไทยจะได้เปรียบนั้นมีน้อย เพราะคำพิพากษาเดิมนั้นเป็นคุณกับกัมพูชาโอกาสที่ศาลจะตีความแล้วเป็นคุณกับ ฝ่ายไทยนั้นเกิดขึ้นได้ยากยิ่งนัก แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ได้ทำลงไปแล้ว และทั้งหมดที่ทำก็เพื่อตอบสนองต่อการเมืองของกลุ่มของตัวเป็นหลักมากกว่าผล ประโยชน์แห่งชาติ

 

 รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรจึงจะแก้ไขสิ่งผิดที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งวิธีที่จะทำได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยนโยบายที่ดี และ รัฐมนตรีต่างประเทศที่ดีมีความสามารถด้วย
 นโยบายต่างประเทศที่ดีควรจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

 

 1 มุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับมิตรประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่บาดหมางกันก่อนหน้าควรจะได้รับการพิจารณาเป็น อันดับต้นๆในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในทุกๆด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และ ความสัมพันธ์ระดับประชาชนต่อประชาชน


 2 ต้องแยกแยะปัญหาการเมืองภายในประเทศออกจากนโยบายต่างประเทศให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ยอมให้นโยบายต่างประเทศตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ อุดมการณ์ชาตินิยมสุดขั้วของกลุ่มการเมืองขวาจัด


 3 นโยบายต่างประเทศต้องคำนึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศต่างๆเป็นสำคัญ ในโลกสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้แล้วที่จะพิจารณาเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว การดำเนินนโยบายเช่นนั้นรังแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าก่อให้เกิดความร่วมมือ


 4 นโยบายต่างประเทศของไทยไม่อาจจะลดทอนความสำคัญของกลุ่มอาเซียนลงไปด้วย เพราะเหตุที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนี้และเคยมีบทบาทสำคัญใน กลุ่มนี้มาก่อน การใดที่จะส่งเสริมบทบาทของกลุ่มนี้โดยที่มีไทยเป็นผู้นำได้ก็ควรจะทำ อีกทั้งควรมีความริเริ่มสร้างสรรค์ทั้งต่อกลุ่มในฐานะองค์กรและสมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม


 5 นโยบายต่างประเทศของไทยจะต้องคำนึงถึงบทบาทของไทยในอดีตในเวทีระหว่างประเทศ หลายเวที  ตั้งแต่เวทีระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ ไปจนถึงสหประชาชาติ บทบาทในเวทีเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างฐานะและความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างมาก ซึ่งน่าจะคงเอาไว้และส่งเสริมให้โดดเด่นยิ่งๆขึ้นไป

 

ส่วนใครจะมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ มีความเหมาะสมและสามารถจะดำเนินนโยบายดังกล่าวหรือไม่อย่างไร  ค่อยว่ากันอีกที

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: