นโยบายสาธารณะที่ดีเพื่อคนไทย : รัฐบาลใหม่ควรทำอะไร โดย ดร. มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด 9 ก.พ. 2555


 
ในที่สุดเราก็จะได้รัฐบาลแรกที่มีว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงแล้วนะคะ ก็ตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคย มีมา 
 
 
ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงพรรคของว่าที่นายกฯหญิงได้ปูพรมนโยบายเป็น ชุดใหญ่ๆ ล้วนเป็นนโยบายที่ใช้เงินมหาศาล แต่ก่อนจะไปถึงนโยบายใหม่เราลองมาดูว่าผลของนโยบายเก่าเป็นอย่างไร สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะนโยบายสาธารณะที่ดีต้องตั้งอยู่บนสมมติฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม ที่ถูกต้อง 
 
 
แต่นโยบายประชานิยมมักเป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการระยะสั้น และละเลยโครงสร้างในระยะยาว
มักเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่าการพัฒนาของไทยทำให้ชีวิตคนไทยเลวร้าย ลง คนไทยเหนื่อยขึ้น หนี้สินมากขึ้น มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ลองมาดูความจริงที่มีสถิติย้อนหลังว่าชีวิตคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร 
 
 
20 ปีที่ผ่านมา ชีวิตคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลควรจะต้องทำอะไรเพื่อต่อยอดหรือแก้ไขจุดอ่อนที่ผ่านมา 
 
 
เพื่อตอบคำถามนี้ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือที่รู้จักกันดีในนามทีดีอาร์ไอ นำข้อมูลสถิติครัวเรือนไทยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมมาตั้งแต่ปี 2529-2552 มาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของชีวิตครัวเรือนไทย เพื่อให้เราเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 
 
 
ทีดีอาร์ไอพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านลดความยากจน
 
 
กล่าวคือ สัดส่วนของคนจนลดลงจากร้อยละ 44.9 ในปี 2529 เป็นร้อยละ 8.1 ในปี 2552 ความเป็นอยู่ของคนจนดีขึ้นเพราะการศึกษาทำให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นและ สวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้รายจ่ายการรักษาพยาบาลลดลงมาก จำนวนคนที่จนเพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงจากประมาณ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2533-2537 เหลือเพียง 250,000 คนในปี 2550 เด็กที่ไม่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลลดลงจาก 45% เป็น 1% 
 
 
นี่คือฤทธานุภาพของนโยบายสาธารณะที่ดี ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารจัดการ มิได้เกิดจากการทุ่มทุนสร้างแต่อย่างเดียว
 
 
มาดูชีวิตครัวเรือนบ้าง คนไทยทุกวันนี้อยู่คนเดียวมากขึ้น ขนาดของครัวเรือนลดลง มีครัวเรือนที่คนแก่ได้อยู่กับเด็กมากขึ้น เด็กในชนบทโดยเฉพาะในอีสาน อยู่กับพ่อแม่น้อยกว่าเด็กในเมือง เด็กอีสานประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่อยู่กับพ่อแม่ 
 
 
ยิ่งเป็นครัวเรือนยากจนโอกาสอยู่กับพ่อแม่ก็ยิ่งน้อยลง 
 
 
แต่ถ้าเด็กอยู่กับผู้สูงวัยโอกาสที่ปู่ย่าตายายจะช่วยกันสอนเด็กให้ใช้แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ก็คงยาก!! 
 
 
โดยเฉพาะการแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถม เพราะในชนบทไทยเด็กจบ ป.4 ยังอ่านหนังสือไม่แตกเยอะมาก ความเร่งด่วนน่าจะอยู่ที่การเพิ่มคุณภาพการศึกษามากกว่า เรียนฟรี 15 ปีคงจะทำต่อไป 
 
 
เพราะตอนนี้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญน่าจะเพิ่มค่า เดินทางให้อยู่ในงบประมาณและให้มีการจัดรถรับส่งนักเรียนฟรีจะได้ลด อุบัติเหตุที่เกิดจากเด็กใช้รถมอเตอร์ไซค์ 
 
 
สำหรับปัญหาความความเหลื่อมล้ำใน 20 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น สัดส่วนระหว่างคนรวยกับคนจนเปลี่ยนแปลงน้อยมาก 
 
 
การวิเคราะห์เจาะลึกของทีดีอาร์ไอ พบว่าหากวัดจากรายได้จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น (วัดโดยค่าจินี่) แต่หากพิจารณาค่าจินี่ของรายจ่าย พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ปี 2535 และในบางช่วง (ปี 2541-2549) ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนชั้นกลางมีแนวโน้มแคบลง 
 
 
แต่คนรวยก็คงรวยแบบล้ำหน้าไปกว่าทุกกลุ่ม การกระจายรายได้ในภาพรวมจึงยังดูไม่ชัดเจนต่อไป 
 
 
สาเหตุที่ทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ไม่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนค่าจ้างแรงงาน (Wage bills) ในรายได้รวมทั้งระบบไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินยังสูงกว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้เสียอีก 
 
 
การที่ว่าที่นายกฯหญิงจะคิดเพิ่มค่าแรงเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่ควรเพิ่มผ่านการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่ยกค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นโดยกะทันหันหรือโดยทันที 
 
 
ข้อมูลเหล่านี้ก็คงทำให้เห็นนโยบายสาธารณะในอนาคตที่ต้องการความต่อ เนื่องมากขึ้น แม้ว่าบางนโยบายจะไม่ได้มีอยู่ในเมนูนโยบายมาก่อน และมีนัยยะทางนโยบายดังนี้ คือ 
 
 
หนึ่ง นโยบายที่ดีอาจไม่ต้องลงทุนเป็นเงินมาก แต่ใช้ระบบบริหารจัดการที่ดี การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพและกระจายอำนาจให้มากขึ้น 
 
 
สอง รัฐบาลยังควรต้องให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายทรัพย์สิน ปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรมมากขึ้น เช่น ใช้ภาษีที่ดินที่สะท้อนถึงมูลค่าและการใช้ประโยชน์ ควรเก็บภาษีจากผู้มีกำไรจากรายได้ที่มิได้เกิดจากแรงงาน รวมไปถึงภาษีสิ่งแวดล้อม 
 
 
ต้องไม่อุดหนุนประชาชนแบบฟรีถ้วนหน้า เช่นในเรื่องการศึกษาก็ดี เบี้ยยังชีพก็ดี ควรเน้นกลุ่มครัวเรือนยากจน ถึงแม้การให้เบี้ยยังชีพกับคนชรา อาจจะไม่สูง แต่ตอนนี้มีผู้ขอรับสิทธิถึง 5.5 ล้านคน ซึ่งจะสร้างปัญหาการคลังในอนาคต 
 
 
เปิดโอกาสและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสวัสดิการที่เน้น กลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น ผู้สูงวัยที่พิการ ยากจน โดยให้มีการสนับสนุนที่ยืดหยุ่นไม่ใช่เพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับทุกคน 
 
 
ส่วนนโยบายถมอ่าวไทยไป 10 กิโลเมตร แล้วสร้างเขื่อนล้อมพื้นที่ใหม่ จะเกิดพื้นที่งอก 300 ตารางกิโลเมตร หรือ 200,000 กว่าไร่ งานนี้ไม่ต้องรีบ ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลให้มีการศึกษาอย่างดีก่อน 
 
 
หวังว่ารัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองจะสามารถให้เวลากับนโยบายระยะ ยาวอื่นๆ มากขึ้นด้วย เช่น นโยบายพลังงานถ้าไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์ แล้วการจัดการพลังงานหมุนเวียนต้องทำอย่างไร? 
 
 
ที่แน่ๆ คือการแก้ปัญหาโครงสร้างไม่จำเป็นต้องใช้เงินเข้าทุ่มเสมอไป หากต้องใช้ความคิดที่ดีกับการจัดการที่ดี ซึ่งน่าจะเป็นความได้เปรียบของว่าที่พรรครัฐบาลใหม่ 
 
 
ขอแต่ให้ว่าที่นายกฯหญิงระวังอย่าให้เสือ สิงห์ กระทิง แรด มารุมทึ้งประเทศไทยก็แล้วกัน!!
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: