เปิดเวทีถก‘สตง.’ตรวจใช้งบรัฐ หวั่นคนรุ่นใหม่เชื่อ‘โกงไม่ผิด’

สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี 8 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1802 ครั้ง

ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินร่วมกับโครงการสะพาน สนับสนุนโดย USAID และสื่อสร้างสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีเสวนา “รู้รักษ์ เงินแผ่นดิน” โดยมีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส (รักษาการ) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าฯ อุบลราชธานี รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายพรชัย โควสุรัตน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และนางอัฐฌาวรรณ พันธุ์มี ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลนครอุบลราชธานี ร่วมเสวนา

 

นายพิศิษฐ์กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือสตง.ว่า ยังไม่เป็นที่รู้จักของประชาชน และไม่ทราบความสำคัญของภาระกิจที่หน่วยงานมีหน้าที่ต่อการใช้จ่ายเงินภาษีของแผ่นดิน โดยที่ผ่านมาในแต่ละปี สตง.ต้องตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของหน่วยงานรัฐ และช่วยประหยัดนำเงินภาษีที่ใช้จ่ายไปอย่างผิดประเภทกลับคืนมาให้ประเทศปีละนับหมื่นล้านบาท และถ้าไม่มีสตง. ประเทศจะสูญเสียเงินภาษีจากการใช้จ่ายไม่คุ้มค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี โดยมีการประมาณการความสูญเสีย จะมากถึงหลักหลายหมื่นล้านบาท หรือแสนล้านบาทในอนาคต แต่การทำงานของสตง.ที่ผ่านมา ทำในลักษณะปิดตัวเอง แต่ปีนี้เป็นต้นไปสตง.จะดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยตรวจสอบความผิดปกติการใช้จ่ายเงินภาษีอากรของประชาชน ตามโครงการต่างๆที่หน่วยงานรัฐดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายเงินของหน่วยงานราชการคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

 

    ด้านดร.นงนิตย์กล่าวว่า บทบาทของสตง.นอกจากเน้นการปรามการใช้เงินภาษีของประชาชนแล้ว ต้องการให้สตง.เน้นส่งเสริมจริยธรรมด้านการใช้จ่าย เพราะเมื่อคนใช้จ่ายเงินมีจริยธรรม ก็จะเกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายเงิน เพราะจากการสำรวจของเอแบคโพล เมื่อปี 2553 มีผู้ตอบแบบสอบถามถึงร้อยละ 64.5 มองการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองว่า เป็นเรื่องยอมรับได้ หากนำเงินทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น และที่สำคัญคือ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว จึงสะท้อนให้เห็นถึงจริยธรรมของคนที่ตอบแบบสอบถาม และกลายเป็นเรื่องน่าห่วงของประเทศ เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่สามารถเดินควบคู่ไปกับความเจริญของบ้านเมืองได้

 

ดร.นงนิตย์ยังกล่าวแสดงความเห็นต่อว่า ขณะเดียวกันมีความเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจเอกชนถึงร้อยละ 70 ที่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อให้ได้งานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานของรัฐ อดีตมีการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะร้อยละ 25 แต่ปัจจุบันสูงกว่านั้นมาก ซึ่งมีการคำนวณเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชน ต้องสูญเสียไปกับการทุจริตคอร์รัปชั่นมากถึงปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

 

                       “กงล้อประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ประเทศที่ล่มสลาย ก็เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้ จึงอยากเห็น สตง.เปิดเว็บไซต์ให้คนในหน่วยงานหรือคนทั่วไป ศึกษาค้นคว้าการใช้จ่ายเงินของรัฐ นอกจากช่วยลดความผิดพลาด การใช้จ่ายเงินผิดระเบียบ ยังช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องของหน่วยงานราชการได้อีกทางหนึ่งด้วย”

 

นายพรชัยกล่าวว่า ในอดีตถ้าได้ยินว่า สตง.เข้าตรวจสอบหน่วยงานใด จะรู้สึกตกใจ แต่ในความเป็นจริง หากหน่วยงานมีการใช้จ่ายตามความเป็นจริง ก็ไม่มีความผิด ซึ่งสตง.ต้องมีหน้าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทุกประเภท แม้เป็นการใช้จ่ายเงินด้านดีก็ต้องตรวจสอบการแก้ปัญหาทุจริตของหน่วยงานรัฐ ต้องเอาประชาชนมามีส่วนร่วม เพราะการทุจริตไม่ใช่เพิ่งมี แต่เกิดขึ้นมาเป็นหลายร้อยปีแล้ว ขณะนี้ต้องคิดจะปิดช่องว่างไม่ให้มีการทุจริตได้อย่างไร ประชาชนจึงเป็นความหวังหนึ่งของสังคมในการร่วมป้องกัน ส่วนสตง.ก็มีหน้าที่ตรวจสอบให้การใช้จ่ายตรงตามวัตถุประสงค์ของประเทศ และให้ประโยชน์สูงสุดกับประชาชนในประเทศ สตง.จึงมีความสำคัญที่คอยกำกับดูแลไม่ให้หน่วยงานใช้จ่ายเงินอย่างไม่คุ้มค่า

              

ด้านนางอัฐฌาวรรณ ยกตัวอย่างการต่อสู้ของชุมชน กับการใช้จ่ายเงินในโครงการทำทางเท้าของเทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งประชาชนรวมตัวกันฟ้องร้องกับศาลปกครอง จ.นครราชสีมา ต่อมาศาลมีคำสั่งว่าการรื้อทางเท้าไม่ถูกต้อง พร้อมให้ทำทางเท้าคืนกับชุมชน แต่จนถึงปัจจุบันเทศบาลยังไม่ทำตามคำตัดสินของศาลปกครอง และการรื้อทำลายของบริษัทผู้รับเหมาทำให้รัฐเสียหาย ได้ยื่นเรื่องให้สตง.เข้ามาตรวจสอบ แต่ถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบจากสตง.ว่า จะดำเนินการอย่างไรกับเทศบาลนครอุบลราชธานีและบริษัทผู้รับเหมา ที่ทำให้ฟุตบาธทางเท้าเสียหาย จึงให้คะแนนการทำงานของ สตง.ต่อกรณีนี้ไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งนายพิศิษฐ์ระบุว่า จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบความคืบหน้าของเรื่องนี้ และจะแจ้งให้ภาคประชาชนทราบ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: