ผู้ว่าฯกาญจน์ดันแผนยุทธศาสตร์รับ ‘ทวาย’ หวังรัฐบาลหนุนเขตศก.พิเศษ-ราคาที่ดินพุ่ง เอ็นจีโอหวั่นเป็นแค่ทางผ่าน จี้เปิดแผนเผยผลกระทบ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 3528 ครั้ง

 

ข่าวการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังสหภาพแห่งชาติกระเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กับรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นความคืบหน้าล่าสุด ที่เชื่อกันว่า นอกจากการเดินหน้าตามขั้นตอนในแผนปรองดอง และปฏิรูปประชาธิปไตยของรัฐบาลพลเรือนพม่า ยุติการสู้รบในเชิงการเมืองแล้ว ยังเป็นความพยายามส่วนหนึ่งของรัฐบาลพม่า ในสร้างความมั่นคงและความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย  โครงการขนาดยักษ์ที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนไทยอยู่ในขณะนี้ ปิดฉากประเทศแห่งความขัดแย้งและสงครามกลางเมือง เข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

 

ในส่วนของไทย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศชัดเจนว่า จะสนับสนุนพม่าในการดำเนินการโครงการนี้ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือตามแนวชายแดน เช่น การเปิดเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายแดน ขณะที่ฝ่ายพม่าเห็นชอบในหลักการว่า จะเปิดด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก – เมียวดี,ด่านพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี และด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกัน ยังขอให้ฝ่ายพม่า พิจารณาเรื่องการเปิดด่านพุน้ำร้อน เพื่อใช้ประโยชน์จากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายอีกด้วย ซึ่งยังไม่รวมถึงการเดินทางของคณะรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องไปยังประเทศ พม่า เพื่อเจรจาแนวทางความร่วมมือและการลงทุนอีกหลายประการ

 

จากความคืบหน้าและนโยบายของรัฐบาลที่เดินหน้าอย่างเต็มที่ ทำให้ขณะนี้เกิดความตื่นตัวเป็นอย่างมาก ทั้งนักลงทุนในและต่างประเทศ ที่มองเห็นช่องทางในการลงทุนในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในฝั่งพม่า รวมถึงในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมต่อกับทวาย เดินทางเข้ามาหาข้อมูลเพื่อการลงทุน และกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ โดยคาดหวังว่าจะเกิดประโยชน์ต่อการธุรกิจในอนาคต รวมไปถึงการเตรียมการของจ.กาญจนบุรีเอง ที่ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาจังหวัด เพื่อรองรับการเกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมานานกว่า 3 ปี และยังเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีกเมื่อมองเห็นสัญญาณการสนับสนุนเต็มที่จาก รัฐบาล

 

กาญจน์เปิดแผนยุทธศาสตร์ดันตั้งเขตศก.พิเศษ

นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า จังหวัดกาญจนบุรีเริ่มศึกษาแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว หลังจากรัฐบาลไทยกับพม่าร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และพัฒนาถนนเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทวายมายัง จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2551 โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนบูรณาการการพัฒนา จ.กาญจนบุรีให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคตะวันตก

ทั้งนี้จากรายงานระบุว่า จ.กาญจนบุรี นับเป็นจังหวัดที่มีความเหมาะสมในหลายด้าน ทั้งสภาพพื้นที่ที่อยู่ห่างจากท่าเรือน้ำลึกทวายเพียง 160 กิโลเมตร ทำให้สะดวกต่อการขนส่ง คมนาคม และยังเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม และการบริการ ในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันตก ที่สำคัญ จ.กาญจนบุรี ยังมีศักยภาพสูงด้านการค้าการลงทุนผ่านแดนและชายแดน ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามผลักดันจากทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ เพื่อขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.กาญจนบุรี ทั้งที่ด่านพุน้ำร้อน อ.เมือง และด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี โดยหวังว่า จะทำให้เกิดประโยชน์การการค้า การลงทุนทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้นำเสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว และหลังจากนี้จะมีการผลักดันต่อไป ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีนักธุรกิจทั้งในพื้นที่นอกพื้นที่ เดินทางเข้ามาในกาญจนบุรีกันมาก เพื่อหาช่องทางการลงทุน และยังมีการเดินทางเข้าไปในทวาย ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง พบว่า การก่อสร้างในฝั่งพม่าคืบหน้าไปมาก ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ความจำเป็นที่กาญจนบุรี จะต้องกลับมาคิดต่อคือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้จังหวัดได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด ซึ่งหมายถึงประโยชน์ทางด้านการค้าจะเป็นของประเทศไทยด้วย

 

เชื่อเป็นจุดผ่านโลกจิสติกส์สำคัญ

จากผลการขับเคลื่อนดังกล่าวนายชัยวัฒน์ระบุว่า ขณะนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการนอกจากประเด็นการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชายแดนแล้ว ยังต้องมองต่ออีกว่า การที่กาญจนบุรีจะกลายเป็นจุดผ่านสำคัญของการขนส่งโลจิสติกส์ บนเส้นทาง Southern Economic Corridor จากท่าเรือน้ำลึกทวาย-แหลมฉบัง- ท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ไปสิ้นสิ้นสุดที่ท่าเรือวังเตา ประเทศเวียดนามนั้น กาญจนบุรีจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นเมืองหน้าด่าน และการเกาะเกี่ยวไปกับระบบการขนส่งขนาดใหญ่นี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากกาญจนบุรีจะวางบทบาทของตัวเองเป็นเมืองหน้าด่านของระบบการขนส่ง ในช่วงขาขึ้น ที่สินค้าจะเดินทางมาจากท่าเรือน้ำลึกทวาย แล้วถูกขนส่งต่อไปอาจจะไม่มีการหยุดพักเพื่อเปิดหีบห่อที่กาญจนบุรีเลย ดังนั้นในการขนส่งขาขึ้นนี้กาญจนบุรีจะฉกฉวยโอกาสเพื่อได้ประโยชน์อย่างไร ในขณะที่การขนส่งขาลง หลายฝ่ายมองว่า เป็นโอกาสสำคัญที่กาญจนบุรี ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะด้วยระยะเส้นทางเพียง 160 กิโลเมตรนั้น ย่อมเกิดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจกับพื้นที่ ในฐานะเมืองหน้าด่าน

 

สิ่งที่เราคิดต่อคือว่า เราจะวางตัวแค่เป็นเมืองหน้าด่านเท่านั้นหรือ เพราะนอกจากการผลักดันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จะทำให้เกิดสภาพคล่อง แต่ในเรื่องของการค้าระหว่างประเทศ ศักยภาพของพื้นที่ก็น่าจะสามารถทำให้เป็นเขตการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเอาอะไรไปลงเรือกับเขา ถ้าต้องขนส่งมาจากที่อื่นก็สู้ลงทุนในพื้นที่ไม่ได้ ถ้าคิดแล้วก็น่าจะดี โดยเรามุ่งว่า การเปิดเป็นเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก

 

หวังผุดอำเภอแห้งแล้งเป็นอุตสาหกรรม

สำหรับแนวทางพัฒนาเขตอุตสาหกรรม ในพื้นที่จ.กาญจนบุรี นั้น นอกจากประเด็นการผลักดันให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ด่านพุน้ำร้อนแล้ว ยังมีแนวความคิดเพิ่มเติมว่า ควรมีการเปิดเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ในจ.กาญจนบุรี ด้วย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าขาย และเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าการเป็นเพียงเมืองหน้าด่าน โดยพื้นที่เหมาะสมสำหรับการทำพื้นที่อุตสาหกรรม หรือเขตเศรษฐกิจใหม่ ของกาญจนบุรีคือ อ.บ่อพลอย อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ และบางส่วนของ อ.พนมทวน ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ประชาชนมีรายได้น้อย แต่เป็นพื้นที่ที่สามารถตัดถนนจากบ้านพุน้ำร้อน-หนองขาว อ.ท่าม่วง  เชื่อมโยงสู่เส้นทางมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี เข้าสู่ระบบโลจิสติกส์หลักของโครงการได้ไม่ยาก

 

ส่วนสาเหตุเหตุที่ไม่เลือกบ้านน้ำพุร้อนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนั้น  ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า เป็นเหตุผลที่คิดล่วงหน้าอย่างรอบคอบ เพราะหากเกิดเหตุใดชายแดนที่ไม่คาดคิดขึ้นมา จะทำให้ขยับตัวได้ลำบาก และสภาพพื้นที่บ้านพุน้ำร้อนเองก็เป็นเส้นทางถนนคดเคี้ยว มีชุมชนแออัดในบางส่วนของถนน ไม่เหมาะกับการใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งขนส่ง จึงเหมาะเป็นเพียงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นจุดพัก หรือจุดเช็คพอยท์ต่างๆ และการใช้ประโยชน์ในฐานเมืองท่องเที่ยวชายแดนมากกว่า

 

ปัญหาที่ดินพรฎ-เขตทหารเรื่องใหญ่

อย่างไรก็ตามแม้จะมีแนวคิดที่จะมีการลงทุนพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าว  อุปสรรคสำคัญคือ ประเด็นเรื่องที่ดิน โดยปัจจุบัน พื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.กาญจนบุรี อยู่ในเขตกฤษฎีกาหวงห้าม เป็นพื้นที่ในเขตที่ดินทหาร ซึ่งมีทั้งหมด 3 ล้านกว่าไร่ บางส่วนในเขตอ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และส่วนใหญ่อยู่ใน จ.กาญจนบุรี ทำให้เกิดปัญหา แต่ที่ผ่านมา จังหวัดได้พยายามเจรจาพูดคุยกับหน่วยทหารในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตามแนวคิดโดยเฉพาะ การตัดถนนจากบ้านพุน้ำร้อน-ต.หนองขาว เป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตทหาร โดยมีการชี้แจงและเสนอแนวคิดว่า หากจะตัดถนนจริง จะต้องทำเหมือนมอเตอร์เวย์คือปิดกั้นรั้วยาว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกเข้ามาบริเวณสองข้างทาง เพราะจำทำให้เกิดปัญหาการขยับตัวของราคาที่ดิน และปัญหาความมั่นคง เบื้องต้นได้รับการตอบรับจากหน่วยทหาร ซึ่งจะต้องเสนอผ่านรัฐบาลเพื่อเจรจากับระดับสูงต่อไป

 

ทั้งนี้แนวคิดการเปิดเขตอุตสาหกรรม และการตัดถนนเส้นใหม่ ถูกนำเสนอในทุกเวทีที่มีการพูดถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย โดยนายชัยวัฒน์เป็นผู้นำเสนอรายละเอียดทั้งหมดด้วยตัวเอง และยืนยันว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงานเศรษฐกิจระดับประเทศ และภาคเอกชน ทำให้มุ่งหวังว่าจะผลักดันแผนนี้ต่อรัฐบาล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น

 

นายทุนลุยกว้านซื้อที่ดินเก็งกำไรแล้ว

เมื่อถามถึงความตื่นตัวของคนกาญจนบุรี ต่อการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในพื้นที่เพื่อรองรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย นายชัยวัฒน์กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักลงทุน ที่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่และกำลังกลายเป็นปัญหา เพราะที่ดินในจ.กาญจนบุรี เป็นที่ดินในกฤษฎีกาหวงห้าม หลายแห่งไม่มีโฉนด ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาก ขณะเดียวกันจังหวัดมีนโยบายไปยังภาคการศึกษาในทุกระดับในพื้นที่เพื่อเตรียม พร้อมด้านทรัพยากรบุคคล โดยเร่งรัดว่าในหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สถาบันการศึกษาในพื้นที่จะต้องกำหนดทิศทาง ในการผลิตคนออกมาเพื่อให้สอดรับกับเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นให้ได้ เพราะสิ่งสำคัญคือต้องการให้บุคลากรที่จะเข้าสู่ระบบ จะต้องเป็นคนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวกาญจนบุรีมากที่สุด โดยมองว่า ไม่อยากให้คนในพื้นที่ ได้ประโยชน์แค่เพียงการเกาะรั้วเศรษฐกิจ ทำสถานบันเทิง ที่ไม่ยังยืนเท่านั้น

 

ในส่วนของการศึกษาระดับต้น ได้เร่งรัดให้เปิดการเรียนการสอน ภาษาอังกฤษ และภาษาพม่าในโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด โดยมีจุดประสงค์เพื่อการเพิ่มโอกาสให้คนในพื้นที่ คนรุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้หากโครงการเป็นรูปธรรม การขยายการพัฒนา จะทำให้มีนักลงทุน รวมไปถึงแรงงานพม่าเข้ามาในพื้นที่มาก หากไม่รู้ภาษาทั้งอังกฤษ และพม่า ไม่เพียงจะทำให้เสียโอกาสในด้านต่างๆ แล้ว ยังอาจจะทำให้เสียที ถูกหลอกเอาได้อีกด้วย  ส่วนที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า คงจะเป็นการเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ บ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง ทั้งการจัดหาระบบน้ำประปา ไฟฟ้า การก่อสร้างถนน บริหารจัดการพื้นที่ พร้อมกับการให้ข้อมูลความรู้กับชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเตรียมรับกับรูปแบบ เศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในเร็วๆ นี้

 

‘เอ็นจีโอ’ระบุไม่เคยเปิดเผยข้อมูลโครงการ

เมื่อหันกลับมาในมุมของภาคประชาชน จ.กาญจนบุรี เกี่ยวกับประเด็นการขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัด เพื่อรองรับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นี้ กลับมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดย นางภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าวแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นคนเมืองกาญจน์ ว่า ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า จังหวัดมีแผนการศึกษาพัฒนาอะไรเกี่ยวกับโครงการนี้ และเชื่อว่าคนเมืองกาญจน์ก็ไม่รู้เช่นเดียวกัน เพราะทางจังหวัดไม่เคยบอกให้ชาวบ้านรู้ จะมีก็เพียงการบอกเล่าในพื้นที่ จนทำให้ชาวบ้านพากันขายที่ดินออกไป ได้ราคาไร่ละเพียง 3-5 หมื่นบาทเท่านั้น แต่เมื่อไปถึงนายทุนราคากลับพุ่งสูงขึ้นไปถึงหลักแสน ซึ่งเป็นเพราะชาวบ้านไม่ได้รับรู้ข้อมูลอะไรมาก

 

ปัจจุบันข้อมูลหลายอย่างที่รับรู้ ล้วนมาจากคนรู้จัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจในสภาหอการค้า นำข้อมูลมาบอกเล่า และมุมของนักธุรกิจย่อมที่จะให้ความสำคัญกับการลงทุน และสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ดังนั้นข้อมูลส่วนใหญ่จึงเป็นในเชิงบวก ด้านการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ระบุว่าคนกาญจนบุรีจะได้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ รายได้จะมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

 

หรือเมืองกาญจน์จะเป็นแค่ทางผ่าน

นางภินันท์กล่าวว่า หากการพัฒนาเกิดขึ้นจริง จ.กาญจนบุรีจะเป็นเพียงทางผ่าน และดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับอานิสงส์อะไรเลยจากโครงการนี้ เพราะเมื่อมีการขนส่งขึ้นมาจะมีมอเตอร์เวย์วิ่งยาว โดยไม่ได้หยุดพัก แม้ก๋วยเตี๋ยวชามเดียวก็อาจขายไม่ได้ ดังนั้นจึงมองไม่เห็นประโยชน์ว่าคนเมืองกาญจน์จะได้อะไร อย่างไรก็ตามยอมรับว่า ถึงอย่างไรโครงการนี้ก็ต้องพัฒนาขึ้นมาอย่างแน่นอน เพราะเคยมีการพูดจากันมาแล้วหลายครั้ง เท่าที่ทราบว่ามีนักธุรกิจจากเมืองไทย ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ค้าขายอยู่กับพม่า มีการขนส่งสินค้าหลายอย่างข้ามไป

เคยเข้าไปในพื้นที่ฝั่งพม่าแล้วก็พบว่า ขณะนี้ต้นไม้ฝั่งพม่าถูกตัดทำลายไปมาก เพื่อรองรับการทำพื้นที่อุตสาหกรรม ขณะที่ประชาชนในพื้นที่แม้จะมีหลายกลุ่ม บางคนไม่ทำก็ต้องตาย บางคนต้องทำเพราะรับเงิน แต่หากเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลก็ต้องยอมที่จะออกจากพื้นที่จึงเชื่อว่า โครงการจะขึ้นได้แน่ และ เมื่ออุตสาหกรรมขึ้นแล้ว ปัญหาที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม ทั้งด้านฝั่งไทยและพม่า สำหรับฝั่งไทย สิ่งที่เราเป็นห่วงคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะบริเวณนั้นเป็นป่าสมบูรณ์ ตอนนี้เท่าที่ได้ฟังจากชาวบ้านบอกว่า ได้ยินเสียงเลื่อยไม้ทั้งวันทั้งคืน เอาไปใช้ก่อสร้างต่างๆ แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำอะไรไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตำหนิและน่าสงสาร ที่เจ้าหน้าที่ของเราเอาผิดกับคนตัดไม้ทำลายป่าไม่ได้เลย

 

นางภินันท์กล่าวว่า หากโครงการจะเกิดขึ้นจริง ภาคประชาชนคงจะค้านไม่ได้ แต่จะยืนยันขอให้มีการทำกฎหมายทั้งในส่วนของพื้นที่ป่าต่างๆ และที่สำคัญอยากให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาที่จังหวัดทำไว้ เพราะขณะนี้คนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้รายละเอียดเลย คนเมืองกาญจน์ควรรู้ในฐานะที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางดีและไม่ดี และควรจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดของตัวเองด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: