หมอชี้แจก‘แท็บเล็ต’ป.1 ส่งผลกระทบอื้อ ขัดขวางพัฒนาการเด็กทั้งร่างกาย-สมอง พูดช้า-สบตาน้อยเหมือนเป็น'ออทิสติกส์' แนะพ่อแม่รับแทนคุมการใช้วันละ2ชั่วโมง

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 8 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3339 ครั้ง

 

ในที่สุดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สรุปออกมาเป็นที่เรียบร้อย ให้บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซซ์ซิฟิก ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้ผลิตแท็บเล็ต 900,000 เครื่อง ในราคาเครื่องละ 2,400 บาท ขณะที่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพร้อมหลายๆ เรื่อง ต่อการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 นับตั้งแต่เรื่องราคาเครื่องที่ต่ำมาก เป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นว่า คุณภาพของเครื่องจะด้อยลงไป ทำให้ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ กระทรวงศึกษาธิการซึ่งดูแลรับผิดชอบเรื่องหลักสูตร ยังไม่มีความพร้อมทั้งในเรื่องหลักสูตร และบุคลากร ทำให้มีคำถามขึ้นมากมายอีกเช่นกันว่า ในเครื่องแท็บเล็ตที่จะแจกนักเรียนนั้น มีอะไรให้นักเรียนเรียน ครูมีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน หากเด็กมีปัญหา หรือเครื่องมีปัญหา โรงเรียนมีความพร้อมที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ทั้งเรื่องระบบ WiFi ปลั๊กไฟ และการดูแลรักษาเครื่อง ฯลฯ

แต่ทั้งหมดนี้ไม่สำคัญเท่ากับตัวของผู้ใช้แท็บเล็ตเอง ที่มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ทั้งเรื่องวัยเพียง 6-7 ขวบ ที่ยังไร้วุฒิภาวะในการดูแลตัวเอง ความปลอดภัยในการดูแลอุปกรณ์ไม่ให้ถูกลักขโมย และที่สำคัญที่สุดคือ เหมาะกับพัฒนาการของเด็กในวัยดังกล่าวหรือไม่ ทั้งด้านสมองและร่างกาย ศูนย์ข่าว TCIJ จึงหาคำตอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กถึงกรณีดังกล่าว เพื่อให้ผู้ปกครองจำนวนมากได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นว่า ควรปฏิบัติต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับบุตรหลานอย่างไร

 

แพทย์ชี้เด็ก 6-7 ปี ไม่เหมาะใช้แท็บเล็ต

 

รศ.พ.ญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าว TCIJ ถึงการใช้แท็บเล็ตของเด็กนักเรียนชั้นป.1 ว่า เด็กอายุ 6-7 ปี เป็นเด็กที่อยู่ในวัยเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ควรพัฒนาทักษะทุกอย่างอย่างรอบด้าน เช่นทักษะในการใช้กล้ามเนื้อมือ ในการขีดเขียน ทักษะในการฟัง การรอคอย นั่งให้นิ่ง ทักษะการเคลื่อนไหวโดยการเล่นกิจกรรมกีฬา หรือทักษะทางสังคม เช่น การรู้จักรอคอย การแบ่งปัน

ส่วนเรื่องทักษะด้านภาษา การขีดเขียน ความรู้ เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนความสำคัญแต่ละด้านจะพูดว่าสัดส่วนใดสำคัญที่สุดไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปพร้อมๆ กัน ถ้าในกรณีกล้ามเนื้อมือไม่มีแรงก็เขียนหนังสือไม่ได้ ถ้าสายตาไม่ดีมองกระดานไม่ชัด ก็เรียนไม่ได้ เป็นต้น

 

ทำให้พัฒนาการช้า-พูดช้า-สบตาน้อย-เหมือนออทิสติกส์

 

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวว่า เด็กวัยนี้ควรต้องเรียนรู้ทักษะรอบด้านหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเด็กป.1 โรงเรียนหลายแห่งไม่มีระดับชั้นอนุบาล ชั้นป.1 จึงเปรียบเสมือนโรงเรียนชั้นแรกของเด็ก เมื่อเด็กเข้าสังคมก็ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับเพื่อน ต้องเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกจด ระบาย การปา เคาะ ฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่นการออกกำลังกาย ทักษะการสื่อสาร เช่น การฟัง คิด เขียน ต้องเป็นแบบการสื่อสารสองทาง (Two Ways Communications) ทักษะทางสังคม เช่น การรอคอย แบ่งปัน อดทน ฯลฯ ต้องทำอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ความรับผิดชอบของเด็กวัย 6-7 ขวบ ที่ต้องดูแลรักษาแท็บเล็ตก็ไม่สามารถทำได้ เพราะขนาดกล่องดินสอที่เอาไปโรงเรียน พอกลับบ้านมา ยางลบ ไม้บรรทัด ดินสอก็ไม่ครบ สิ่งเหล่านี้ต้องคิดให้ดีหากจะแจกแท็บเล็ตให้เด็กวัยนี้ ฉะนั้นความเหมาะสมในการแจกแท็บเล็ต ถือว่าต้องพิจารณาให้รอบด้าน ทั้งในแง่ความรับผิดชอบของเด็ก พัฒนาการของเด็ก การกำกับดูแล เพราะทุกวันนี้ขนาดยังไม่ได้แจกแท็บเล็ตทุกระดับชั้น เด็กก็เล่นเกมส์จนมีผู้ป่วยเด็กติดเกมส์เยอะมาก พบว่าเด็กไทยสมัยนี้มีพัฒนาการพูดช้า สบตาน้อย มีพฤติกรรมชอบพูดภาษาต่างดาว หรือมีพฤติกรรมเหมือนเด็กออทิสติกส์มากขึ้น

 

แพทย์ห่วงเรื่องระบบ พัฒนาไอคิว-อีคิวอย่างไร

 

ส่วนการบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาต่างๆ ในแท็บเล็ต จะมีส่วนช่วยพัฒนาไอคิว (ความฉลาดทางปัญญา) และอีคิว (ความฉลาดทางอารมณ์) ของเด็กได้หรือไม่นั้น พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวว่า ในแง่ความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญาหรือไอคิว จะถือว่าแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการเสริมสร้างได้ดี ถ้าเด็กใช้สิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้หมายความว่า พัฒนาการจะไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเด็กสมัยนี้คือ ทุกคนมักจะใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวก และชอบใช้การตัดถ้อยคำ หรือข้อความแล้ววางในหน้ากระดาษส่งครู ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะไม่ช่วยในการพัฒนาไอคิว ส่วนอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ ขณะนี้ยังมองไม่ออกว่า แท็บเล็ตจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างไร มีเกมส์ที่ส่งเสริมอีคิวหรือไม่ ส่วนจะช่วยในการแยกแยะของเด็กได้หรือไม่

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะขนาดหลักสูตรปกติยังไม่มี ไม่รู้ว่าจะทำได้อย่างที่พูดได้หรือไม่ การพัฒนาทางอีคิว จะต้องเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันและมีคนคอยให้คำแนะนำ หล่อหลอมมาตั้งแต่เล็กๆ ทั้งครอบครัว และครูผู้สอน  มีต้นแบบที่ดีสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้านและโรงเรียน พ่อแม่ต้องมีความเอาใจใส่ รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพของเด็ก

 

สพฐ.แจกแท็บเล็ตนำร่องเนื้อหายังไม่ครบ

 

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้แจกแท็บเล็ตเพื่อทดลองใช้ เป็นการนำร่องกว่า 100 เครื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้ให้บริการดาวน์โหลดเนื้อหาหลักสูตรกว่า 300 เรื่อง ใน 5 กลุ่มสาระคือ ภาษาไทย อังกฤษ สังคม คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในระดับชั้นป.1 เพื่อเป็นการทดลองใช้ในระบบดังกล่าว แต่เมื่อใช้จริงกลับพบว่า ใช้งานได้เพียง 1 เรื่องเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจและเกิดการตั้งคำถามถึงสิ่งที่จะตามมาหลังจากการแจกแท็บเล็ต

ศูนย์ข่าว TCIJ ตรวจสอบข้อมูลจากสพฐ.เบื้องต้นพบว่า สพฐ.เริ่มนำร่องแจกแท็บเล็ตประจำภาคกลาง 100 เครื่อง นำร่องในระดับชั้นป.1 และ ชั้นป.4  โดยโรงเรียนที่นำร่องในส่วนของกทม.คือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) แผนกประถม โดยเนื้อหาที่ดาวน์โหลดมาจากสพฐ. ไม่ได้สอดคล้องกับความรู้ที่นักเรียนมีอยู่ อีกทั้งใช้งานได้จริงเพียง 1 เรื่อง คือ การสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษของสัตว์ต่างๆ จากการบรรจุเนื้อหาในหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นป.1 กว่า 300 เรื่อง

 

 

แพทย์ระบุเล่นมากอาจสมาธิสั้น-อ้วนเตี้ย-สายตาสั้น-สมองผิดปกติ

 

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวต่อว่า การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีสำหรับเด็กสมัยนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเด็กต้องเรียนรู้ พ่อแม่บางคนก็ให้เด็กเรียนรู้เทคโนโลยีพวกนี้ ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นป.1 ด้วยซ้ำไป แต่ของแบบนี้เป็นดาบสองคม มีทั้งข้อดี ข้อเสีย เหมือนกับโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต วีดิโอ ถ้าใช้ไม่ถูกทางก็มีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีก็เหมือนกัน

 

“ทุกวันนี้เวลาเจอคนไข้ที่เป็นเด็กพบว่า ส่วนใหญ่เอามือถูไถไอแพด ไอโฟน หรือแท็บเล็ตกันทั้งนั้น ไม่สบตา ไม่สื่อสารกับใคร อยู่ในโลกส่วนตัว ดังนั้นทุกอย่างต้องอยู่ในทางสายกลาง เด็กเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในยุคไฮเทค ใช้เทคโนโลยีเป็น แต่จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้เป็นตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ ดูเหมือนว่าแท็บเล็ตจะทำให้เด็กสนใจกับจอเป็นที่ดึงดูด แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้เด็กกลายเป็นคนที่มีสมาธิสั้น เนื่องจาก ภาพต่างๆในจอ เปลี่ยนเร็วมาก เด็กก็จะคุ้นเคยกับความเร็ว รอคอยไม่ได้ นับว่าเสียสมาธิได้ง่าย”  รศ.พญ.จันท์ฑิตากล่าว

 

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวอีกว่า แม้ว่าข้อมูลงานวิจัยในต่างประเทศยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันบางกรณีเห็นว่า เทคโนโลยีผ่านจอภาพมีส่วนทำให้เด็กสมาธิสั้น แต่ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านเด็กเห็นว่า แท็บเล็ตมีส่วนทำให้เด็กสมาธิสั้น รวมถึงเป็นตัวเพาะความรุนแรงให้เด็กผ่านเกมส์ ที่เด็กต้องการเล่นเพื่อเอาชนะ

สอดคล้องกับ รศ.พ.ญ.นิตยา คชภักดี ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มองว่า เด็กในวัย 6-8 ขวบมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จากของจริง ได้สัมผัสได้พูดได้คุยกับคน ซึ่งหากนำแท็บเล็ตมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้ ควรจะต้องเตรียมความพร้อมของพ่อแม่มากกว่า เนื่องจากเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อเทคโนโลยี ในทางกลับกันหากไม่ใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยในด้านพัฒนาการ ก็จะส่งผลร้ายกับเด็กเช่นเดียวกัน  อย่างไรก็ตามการที่เด็กสัมผัสจอแท็บเล็ตตลอดเวลา จะทำให้เด็กสายตาสั้น สมองผิดปกติ คอเอียงเพราะนั่นนานติดต่อกันหลายชั่วโมง  รวมไปถึงการมีปัญหาในครอบครัวขาดการติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่ ทั้งยังมีแนวโน้มนำไปสู่โรคอ้วน-เตี้ยด้วย

 

แนะเวลาเล่นแท็บเล็ตไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง

 

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวว่า แม้ว่าแท็บเล็ตจะเป็นเทคโนโลยีที่ดึงดูดในการมองเห็นของเด็ก เนื่องจากเด็กมีความสนใจกับข้อมูลทุกประเภทที่เข้ามาบนจอ ถ้าไม่กำหนดเวลาให้ชัดเจนเด็กก็จะติดจอเหล่านี้ เหมือนกรณีเด็กติดเกมส์ ทักษะการเคลื่อนไหว เล่นกีฬาให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัยก็จะไม่มี  เด็กในวัยนี้การเล่นกีฬานับว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมมาก เนื่องจากการใช้มือประสาน การกะระยะสายตาจะพัฒนาได้ดี  เด็กจะเข้าใจกฎกติกาของกีฬา ทำให้เรียนรู้การรอคอย เรียนรู้การแพ้ชนะ ถือเป็นการฝึกทักษะทั้งหมด ทั้งยังทำให้เด็กวัยนี้แข็งแรง กินได้ดี นอนหลับสนิท รวมถึงได้สังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่วันนี้การเรียนรู้ การสื่อสารไม่มี เพราะถูกลดรอนโดยการหมกมุ่นอยู่กับจอทุกประเภท ถ้าจะใช้ต้องวางกรอบกติกาให้ชัดเจน เหมือนกติกาการให้เด็กดูทีวี ถ้าพ่อแม่เลือกและชี้แนะ แนะนำ กำกับดูแลสื่อผ่านจอทุกประเภทควรกำหนดเวลาไม่เกินวันละ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น รวมถึงต้องเลือกรายการให้เด็ก  ผู้ใหญ่ต้องกำกับ พ่อแม่ต้องนั่งดูด้วย รวมถึงมีผู้ชี้แนะ มีการสื่อสารโดยพ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบในการเรียนรู้กับอุปกรณ์เหล่านั้นรวมถึงแท็บเล็ตด้วย

 

“เทคโนโลยีมันมาเร็ว ประโยชน์จากมันมหาศาล แต่ถ้าไม่มีการกำกับดูแลจะเป็นดาบสองคม เด็กสามารถจะเข้าไปดูอะไรก็ได้ เช่นการเล่นเกมส์ที่นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง ถ้าไม่มีการกำกับดูแล ปล่อยให้เป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่สมัยนี้ไม่มีเวลา ต้องปากกัดตีนถีบทำงาน ในบางครั้งพ่อแม่ก็อยากเล่นแท็บเล็ต หรือไอแพด ไอโฟนก็ซื้ออีกเครื่องให้ลูก เพื่อไม่ให้ลูกกวน พฤติกรรมเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาครอบครัวในภายหลัง”

 

ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กวัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องพิจารณาให้ดีว่า จะบรรจุหลักสูตรไหน อย่างไร เพื่อให้เหมาะกับวัยของเด็ก ไม่ให้เด็กหมกมุ่นกับจอเหล่านี้ เพราะขนาดผู้ใหญ่ยังติดเทคโนโลยี เด็กจะไม่ติดได้อย่างไร ทุกวันนี้หากสังเกตจะเห็นว่า เวลาที่ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า จะเห็นว่า ไม่มีใครสบตากับใคร ทุกคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว มือก็กดโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ต

 

แนะรัฐแจกเด็กมัธยม-มหาวิทยาลัยน่าจะคุ้มค่ากว่า

 

พ.ญ.จันท์ฑิตากล่าวต่อว่า ทางแก้ง่ายๆ คือ รัฐบาลควรแจกแท็บเล็ตให้กับเด็กในระดับชั้นมัธยมศึกษา หรือเด็กมหาวิทยาลัย เพื่อการใช้ประโยชน์จากแท็บเล็ตอย่างคุ้มค่า ใช้งานอย่างเหมาะสม และมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะไม่หมกมุ่นกับเรื่องที่อันตราย สิ่งเหล่านี้มองว่าเป็นเรื่องคุ้มค่า รวมถึงการกำกับดูแลได้ง่าย เด็กวัย 6-7 ขวบเหมาะสมที่จะเรียนรู้กับธรรมชาติ และระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเต็มที่ ตัวครูผู้สอนก็ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น กำกับดูแลเป็น

ส่วนตัวครูผู้สอนรวมถึงพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลในการใช้งานแท็บเล็ตใช่หรือไม่  พ.ญ.จันท์ฑิตา กล่าวว่า คนที่อยู่รอบตัวเด็กทั้งครูและพ่อแม่ต่างมีบทบาทสำคัญ ขณะที่ครูยืนอยู่หน้าห้องแล้วเด็กอีก 30-40 คน อยู่หลังห้อง เวลาสอนเด็กแต่ละคนจะก้มอยู่กับหน้าจอของตัวเอง โดยที่ครูไม่รู้เลยว่าเด็กเล่นเกมส์ หรือเข้าโปรแกรมไหนอยู่ แต่ถ้าเป็นกระดาษ หรือกระดานที่ต้องจด ต้องเขียน ไม่มีทางทำอย่างอื่น เพราะครูผู้สอนมองเห็นได้ ซึ่งทักษะในการใช้น้ำหนักมือ พัฒนาการด้านการฝึกเรียบเรียงประโยค คำ ถ้าเป็นแท็บเล็ตก็จะใช้ได้เพียงไม่กี่นิ้ว ไม่ได้ลงน้ำหนัก จะวางมืออย่างไร สะกดคำอย่างไร

 

ด้านงานวิจัยในต่างประเทศจะพบว่า งานวิจัยด้านสมองหากเราใช้อวัยวะส่วนใดของร่างกายเยอะ สมองในส่วนนั้นจะพัฒนา การใช้แท็บเล็ตจะพัฒนาแค่ 2 นิ้ว ส่วนนิ้วอื่น แขนขาไม่ได้ใช้งานการเชื่อมโยงไม่เต็มที่ ถือว่าต้องคำนึงมาก ไม่ใช่พิจารณาเพียงเรื่องการพัฒนาสมอง (Brains Development) ไม่ใช่เน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

 

ทำให้เด็กเสี่ยงติดเกมส์มากกว่าใช้เรียน

 

ขณะที่ ผศ.น.พ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้เด็กชั้นป.1 ขณะนี้ถือว่ายังไม่มีความพร้อม เนื่องจากแจกเครื่องไปโดยไม่มีการเตรียมเนื้อหาที่เหมาะสมให้กับเด็กในการใช้แท็บเล็ต ควรจะเร่งทำบทเรียนที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับตัวเครื่องในลักษณะที่มีการตอบโต้กันไปมา ซึ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการไม่มีความพร้อมทำให้กลายเป็นของเล่น มีโอกาสทำให้เด็กกลายเป็นเด็กติดเกมส์ เนื่องจากแท็บเล็ตมีการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและนำไปสู่การเล่นเกมส์ออนไลน์

น.พ.ณัทธรกล่าวว่า มีสื่อที่จูงใจเด็กมากกว่าทั้งภาพและเสียงที่ปรากฏในแท็บเล็ต จะทำให้เด็กมีสมาธิสั้นลง ถ้าเราปล่อยให้เด็กเล็กไม่ฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เด็กเป็นคนวอกแวกง่าย คิดอะไรผิวเผิน ซึ่งมีผลการวิจัยในต่างประเทศระบุว่า การที่เด็กใช้สื่อเร็วเกินไปจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองมาก นอกจากนี้จะมีการซึมซับความรุนแรงที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต ส่งผลต่อพฤติกรรมความรุนแรง ถือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้  รวมไปถึงการถูกล่อลวง

เมื่อถามว่า การใช้แท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์พกพา จะส่งผลต่อปัญหาด้านสุขภาพหรือไม่  น.พ.ณัทธร กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษามักจะมีเหตุมาจากการติดเกมส์ ติดอินเตอร์เน็ต ในบางกรณีอาจจะถึงขั้นภาวะซึมเศร้า ทำให้เกิดการติดเกมส์ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่นำไปสู่ปัญหาสังคมหลายอย่าง เหมือนภูเขาน้ำแข็ง ถ้าพ่อแม่ดูแลลูกดี มีระเบียบวินัยก็จะลดปัญหาเหล่านี้ ถือเป็นการสะท้อนการดูแลเด็กในครอบครัวสมัยใหม่ที่ปล่อยปละละเลยเด็ก และเลี้ยงดูด้วยการให้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเช่น โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน รวมไปถึงแท็บเล็ตด้วย

 

“มันเป็นยุคของจอ ทุกคนอยู่กับจอไม่มีใครคุยกัน เพราะทั้งพ่อ แม่ และลูกต่างอยู่กับหน้าจอทั้งหลาย ความสัมพันธ์พื้นฐานในบ้านไม่ดีแล้ว การจัดการปัญหาต่างๆ ในครอบครัวก็ไม่ดีตามไปด้วย  ทางที่ดีควรจะมีการรู้เท่าทันเทคโนโลยี ต้องเป็นนายเทคโนโลยี ระวังตัวมากขึ้น กำกับการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่เด็กยังเล็ก และรู้เท่าทันเด็ก ที่สำคัญคือ ต้องควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีเป็นแบบอย่างให้ลูก รวมไปถึงครูอาจารย์ก็ต้องทำหน้าที่เหมือนพ่อแม่” น.พ.ณัทธรกล่าว

 

คาดเกิดปัญหาสังคม-อาชญากรรมตามมาอีกเพียบ

 

น.พ.ณัทธรกล่าวด้วยว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ กลั่นกรองเนื้อหาที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต อาจจะโหลดเกมส์อะไรมาที่พ่อแม่ ไม่สามารถควบคุมกำกับ ทำให้เด็กเกิดภาวะเสี่ยง เรื่องสำคัญที่สุดต่อนโยบายการแจกแท็บเล็ต คิดว่าต้องแจกกับพ่อแม่เพื่อกำหนดแนวทาง และตรวจสอบได้ว่าลูกเล่นอะไร ใช้อย่างไร และคิดว่าเด็กที่ควรจะแจกคือเด็กตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย การเอาเงินไปแจกกับเด็กเล็กถือเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า

 

“มันเป็นนโยบายที่ไม่ฉลาดเท่าไหร่ ควรจะไปแจกเด็กโต เพราะมันไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก ได้ไม่คุ้มเสีย ที่ได้ยังไม่ชัดว่าจะได้อะไร อย่างน้อยที่เห็นภาพเลาๆ คือ จะมีเด็กติดเกมส์มากขึ้น เด็กจะไปดูสื่อน่าห่วงมากขึ้น เด็กอาจถูกทำร้ายร่างกายมากขึ้น เนื่องจากคนที่ไม่มีแท็บเล็ตจะไปทำร้ายเด็กเพื่อชิงไปขาย ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้ ประเด็นนี้มีทั้งผลดีและผลเสีย แต่เท่าที่ดูแล้วจะพบว่าผลเสียมากกว่า” น.พ.ณัทธรกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: