‘หวัดนกพันธุ์ใหม่’ระบาดเวียดนาม ชี้‘ไทย-ลาว-เขมร-เวียดนาม’เสี่ยง สธ.งัด5มาตรการ-คุมเข้มในไทย

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 8 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2597 ครั้ง

 

หลังความสนใจเรื่องการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก จากงานวิจัยของทีมวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ระบุว่า มีพันธุกรรม 5 ชนิดของไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้เชื้อไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้น ทีมวิจัยได้นำพันธุกรรม 5 ชนิดที่เปลี่ยนแปลงนี้ มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างพันธุกรรมของไวรัส H 5 N 1 พบว่า โครงสร้างพันธุกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ลักษณะเดียวกับพันธุกรรม 5 ชนิด ที่ทีมวิจัยค้นพบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางอากาศ

 

ซึ่งทีมวิจัยยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพันธุกรรมของเชื้อ H 5 N 1 ที่พบนั้น ทำให้เชื้อ H 5 N 1 สามารถแพร่กระจายไปได้ในอากาศ จากการไอ และ จาม ถูกเผยแพร่ออกไป แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะสั้น ๆ แต่ก็สร้างความแตกตื่นให้กับวงการสาธารณสุขทั่วโลกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ที่เคยพบว่า มีการระบาดรุนแรงของเชื้อโรคชนิดนี้มาแล้ว การเฝ้าระวังยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่ถูกเรียกร้องมากที่สุดในขณะนี้คือ การขอให้รัฐบาลแต่ละประเทศ ที่ยังคงพบเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่ เปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาด เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการยุติการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ให้เกิดประสบความสำเร็จนั่นเอง

 

 

เวียดนามน่าห่วงเจอเชื้อไข้หวัดนกพันธุ์ใหม่

 

 

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานข่าวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก สร้างความแตกตื่นในวงการขึ้นอีกครั้ง เมื่อสื่อมวลชนของทางการเวียดนามระบุว่า มีการตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ที่มีพิษร้ายแรงสายพันธุ์ใหม่ กำลังแพร่ระบาดหนักใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ทางการต้องฆ่าสัตว์ปีกไปจำนวนอย่างน้อยสูงถึง 200,000 ตัว ขณะที่พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว 2 ราย

 

จากการเปิดเผยของรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ตรวจพบ เป็นไข้หวัดนกที่มีพิษร้ายแรง และเป็นชนิดที่กลายพันธุ์จากเชื้อ H 5 N 1 ที่เคยแพร่ระบาดทั่วฟาร์มเลี้ยงเปิดไก่ทั่วประเทศเมื่อปี 2554 ไวรัสชนิดใหม่นี้ เริ่มปรากฏตั้งแต่เดือนกรกฏาคม และแพร่กระจายไปทั่วภาคเหนือและภาคกลางของประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม โดยพบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ ลักษณะคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่ตรวจพบปีที่แล้ว แต่มีพิษร้ายแรงกว่ามาก ซึ่งคาดการณ์ว่า ต้นตอของการกลายพันธุ์ เกิดจากการลักลอบขนสัตว์ปีกจากประเทศจีน มายังภาคเหนือของเวียดนาม และทางองค์การอนามัยโลก ได้จัดให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนกมากที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 59 ราย ตั้งแต่ปี 2546

เรียกร้องเวียดนามเปิดเผยข้อมูล

 

ข่าวการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกครั้งนี้ ทำให้เกิดความตื่นตัวเกี่ยวกับการแพร่ระบาด ที่อาจจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะความเจริญด้านการขนส่ง การคมนาคม ซึ่งมีการพัฒนาไปมาก ประชากรในภูมิภาคสามารถเดินทางข้ามชายแดนได้สะดวกมากขึ้น หากไม่มีมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด การแพร่กระจายของเชื้ออาจจะลุกลามไปอย่างรวดเร็วได้

 

 

                       “สิ่งที่หลายฝ่ายพยายามดำเนินการขณะนี้คือ การเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการแพร่ระบาด เพื่อจะได้ป้องกันอย่างเข้มงวด โดยที่ผ่านมาองค์กรนานาชาติด้านสาธารณสุข ดำเนินการให้พื้นที่ร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในแถบนี้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารร่วมกัน เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด และสิ่งที่เกิดในประเทศเวียดนาม ก็ยังเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ” เจ้าหน้าที่จากองค์กรด้านสาธารณสุขนานาชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินโครงการในพื้นที่ชายแดนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

 

 

 

 

 

 

แพทย์จุฬาฯ ชี้ไทยต้องระวังต่อแม้ยังไม่พบการกลายพันธุ์

 

 

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดตามเชื้อไวรัสมาโดยตลอด อธิบายเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไว้รัสไข้หวัดนก ว่า สำหรับในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสทางห้องปฏิบัติการ เพราะไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่า เชื้อจะกลายพันธุ์เมื่อใดจากอาการทางคลินิก ซึ่งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้ตรวจหาเชื้อไวรัสที่ส่งเข้ามาตรวจทุกตัวอย่าง เพื่อแยกสายพันธุ์ บันทึกและติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้อ โดยแต่ละปีจะมีการตรวจหาเชื้อจากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ราว 2,000 ตัวอย่าง

 

 

                      “ตั้งแต่ปี 2551 การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ก็ยังคงไม่พบเชื้อ H 5 N 1 ในคนไทย และแม้ว่าจะเป็นเวลาหลายปีที่ไม่พบเชื้อ การเฝ้าระวังก็ยังจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเลิกทำได้ และยังต้องคงมาตรการนี้ต่อไป นอกจากนี้ทีมสัตวแพทย์ จุฬาฯ ยังร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อและเฝ้าระวังในกลุ่มสัตว์ปีกด้วย ซึ่งทั้งสองทางไม่สามารถละเลยทางใดทางหนึ่งได้เลย ส่วนเรื่องการกลายพันธุ์ เมื่อไม่พบเชื้อ ก็ตรงไปตรงมาว่า การกลายพันธุ์ยังไม่เกิดขึ้น” น.พ.ยงกล่าว

 

 

ส่วนเชื้อกลายพันธุ์ที่เกิดในกระบวนการทดลองในต่างประเทศ ที่ตั้งสมมุติฐานขึ้นนั้น น.พ.ยงระบุว่า การทดลองที่เกิดขึ้น เป็นการจำลองเหตุการณ์ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุกรรม ซึ่งยังเชื่อได้ว่า ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชื้อตามธรรมชาติหรือการกลายพันธุ์ หากจะเปลี่ยนแปลงเหมือนในสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์นั้น จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่หากถามว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ยากมาก และจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงเชื้อ ที่ประเทศต่าง ๆ มีมาตรการเฝ้าระวังเชื้อนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของเชื้อในตำแหน่งที่สำคัญแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรมควบคุมโรคแนะคนไปเวียดนามอย่ากินสัตว์ปีก

 

 

ในส่วนของประเทศไทย น.พ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ในประเทศเวียดนาม แต่สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง เพราะประเทศไทยมีมาตรการการเฝ้าระวังที่ดี อย่างไรก็ตามประชาชนเองจะต้องไม่ประมาท โดยควรดำเนินการตามข้อแนะนำเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดอย่างเข้มข้น ส่วนประชาชนที่จะเดินทางไปยังประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะใน 6 จังหวัดที่มีการระบาดของโรค ก็ไม่จำเป็นต้องแตกตื่น ถึงขั้นระงับการเดินทาง แต่มีข้อแนะนำว่า ควรรับประทานสัตว์ปีกและไข่ที่มีการปรุงสุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสกับสัตว์ปีกตาย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทย มีมาตรการในเรื่องติดตามโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ไม่ประมาท และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศ ทั้งการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ หรือในผู้ป่วย ทั้งในคนและในสัตว์ด้วย  ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ใหม่ ๆ กับนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศอยู่เสมอ หากมีการติดต่อจากคนสู่คนของเชื้อไข้หวัดนก ก็จะรู้ได้อย่างรวดเร็ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เข้ม 5 มาตรการ คุมไข้หวัดนก

 

 

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันไทย ไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 และไม่พบรายงานการเกิดโรคในสัตว์ปีกตั้งแต่พฤศจิกายน พ.ศ.2551 เป็นต้นมา ทั้งนี้ประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงที่โรคไข้หวัดนก อาจจะกลับมาระบาดอีกครั้งได้ทุกเมื่อ หากไม่มีการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการดำเนินมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกที่สำคัญ ได้แก่

1.เข้มงวดการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกและนกธรรมชาติ โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งดูแลการนำเข้าสัตว์ปีกในบริเวณชายแดน แนะนำการเลี้ยงสัตว์ปีกอย่างปลอดภัยในชุมชน หากพบการระบาดในสัตว์ ก็รีบแจ้งเตือนโรงพยาบาลในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมดูแลผู้ป่วยทันที

 

2.เข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน และเพิ่มความไวในการตรวจจับการระบาด โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อพบผู้ป่วยปอดอักเสบ ร่วมกับประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรือปอดอักเสบ ที่มีอาการรุนแรง หรือการดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค หรือมีความผิดปกติในการดำเนินโรค เน้นย้ำให้มีการส่งตรวจหาเชื้อโรคไข้หวัดนกทุกราย

3.ให้อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

4.เพิ่มการประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนก ให้กับประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ทั้งการป้องกันการติดเชื้อจากสัตว์ และการป้องกันสัตว์ปีกให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก

5.เผยแพร่ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติในการคัดกรอง และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข ให้แพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนภายในจังหวัดทราบอย่างทั่วถึง และสั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

 

 

เตรียมเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติฉบับใหม่

 

 

นอกจากนี้ มีคำแนะนำสำหรับประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนก คือ ต้องรับประทานอาหารที่ปรุงจากสัตว์ปีกซึ่งปรุงสุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ตายผิดปกติ โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ปกครองควรสอดส่องดูแลและตักเตือนไม่ให้ไปเล่นกับสัตว์ปีกที่ตายรวมทั้งปลูกฝังนิสัยการล้างมือ ถ้าพบสัตว์ปีกป่วยตายต้องแจ้ง

 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยด่วน หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายผิดปกติต้องสวมหน้ากากอนามัย และถุงมือยางหรือถุงพลาสติก ห้ามจับด้วยมือเปล่า จากนั้นใส่ถุงมัดให้แน่นส่งให้เจ้าหน้าที่นำไปตรวจ หรือกรณีฝังซากต้องขุดหลุมลึกอย่างน้อย 1 เมตร และห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 30 เมตร ที่สำคัญ ภายหลังจากสัมผัสสัตว์ปีก 3-7 วัน ถ้ามีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เหนื่อยหอบคล้ายปอดบวมต้องรีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติสัมผัสสัตว์ปีก

 

 

                          “ขณะนี้ยังไม่ได้เกิดการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ หรือความผิดปกติจากการแพร่กระจายเชื้อ หรือช่องทางการติดต่อโรคที่ผิดแปลกไปจากโรคไข้หวัดนกเดิมที่ระบาดอยู่เดิม นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ ก็มีการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการเตรียมขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี  เพื่อให้ไทยมีความพร้อมอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานสากลสำหรับรับมือกับโรคติดต่ออุบัติใหม่” น.พ.รุ่งเรืองกล่าว

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: