หนี้ท่วม2.27ล้านล้าน-สนอง‘ประชานิยม’ ‘เพื่อไทย’กู้6แสนล้าน-ผุดสาธารณูปโภค ปูทางเตรียมเลือกตั้งใหม่-หวังอยู่ครบ8ปี

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 8 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4212 ครั้ง

เดือนตุลาคม 2555 รัฐบาลจะมีโอกาสใช้จ่ายงบประมาณ ปี 2556 ซึ่งพรรคเพื่อไทย จัดสรรด้วยตัวเอง ต่างจากปีงบประมาณ 2555 ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ทำเป็นมรดกไว้บางส่วน แต่ทันทีที่พรรคเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ ก็ประกาศแผนก่อหนี้ก้อนยักษ์

 

หลังแถลงนโยบายได้ไม่ถึง 100 วัน  รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประกาศเตรียมกู้เงิน เพื่อลงทุนระบบบริหารน้ำ โดยอ้างสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศเป็นเหตุผลประกอบ ถึง 3.5 แสนล้านบาท จากนั้นอีก 30 วัน ประกาศเป็นนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งถนน ท่าเรือ ระบบไฟฟ้า สาธารณูปโภคเป็นแผนระยะ 5 ปี (2555-2559) วงเงินกู้ 2.27 แสนล้านบาท

 

 

ไทยหนี้พุ่งแสนล้าน ใกล้ติดเพดานเงินกู้ของจีดีพี

 

 

งวดกลางปีที่ผ่านมา (วันที่ 31กรกฎาคม 2555) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่า ประเทศไทยมีหนี้สูงถึง 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 44.19 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP (Gross Domestic Product ) หรือผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ดังนั้นทั้งรัฐวิสาหกิจและส่วนราชการ จะมีโอกาสก่อหนี้อีกประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ ก็จะติดเพดานตามกฎหมายที่กู้ได้ 60 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP

 

ทั้งนี้ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 มีจำนวน 4,899,877.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.19 เปอร์เซนต์ ของ GDP โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,570,950.38 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,014,748.95 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 307,328.14 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 6,850 ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี งวดแรกของปีงบประมาณ 2556 (วันที่ 2 ตุลาคม 2555) จึงอนุมัติ กรอบวงเงินตามแผนบริหารหนี้สาธารณะไว้ที่ 2.048 ล้านล้านบาท โดยเป็นการกู้ใหม่จำนวน 9.59 แสนล้านบาท ขณะที่การค้ำประกันเงินกู้แก่รัฐวิสาหกิจมีกรอบอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท

 

ทั้งนี้ แผนบริหารหนี้สาธารณะ 2.048 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 แผนหลักคือ 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ 959,391 ล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ของรัฐบาล 717,741 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 241,650 ล้านบาท โดยในส่วนการกู้ใหม่ของรัฐบาล ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 300,000 ล้านบาท เงินกู้เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 340,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อการนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ 49,500 ล้านบาท

 

2.แผนการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้เดิม 737,602 ล้านบาท 3.แผนบริหารความเสี่ยง 223,138 ล้านบาท และ 4.แผนการบริหารหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีภายใต้กรอบแผนการบริหารหนี้จำนวน 127,885 ล้านบาท

 

 

กู้แบบทักษิณคิด เพื่อไทยทำ 2.27 ล้านล้าน

 

 

ล่าสุดกระทรวงการคลังโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ลงนามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะ 7 ปี ตามที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) นำเสนอร่วมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยกร่างตามพระราชบัญญัติกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนโครงการยักษ์ที่เคยหาเสียงไว้ รวมทั้งโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย

 

ทำให้ยอดหนี้ที่ประชาชนคนไทยทุกคน ต้องร่วมกันจ่าย มีวงเงินทั้งสิ้น 2,274,359.09 ล้านบาท เพื่อลงทุน 7 ด้าน ได้แก่ 1.ระบบราง วงเงินรวม 1,201,948.80 ล้านบาท  2.ระบบขนส่งทางบก 222,347.48 ล้านบาท   3.ระบบขนส่งทางน้ำ 128,422.20 ล้านบาท 4.ระบบขนส่งทางอากาศ 69,849.66 ล้านบาท 5.ระบบสาธารณูปการ 99,204.69 ล้านบาท 6.ระบบพลังงาน 515,689.26 ล้านบาท 7.ระบบสื่อสาร 36,897 ล้านบาท

 

ในการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุง-สร้างใหม่ ในระบบราง ตามแนวนโยบายเพื่อไทย ผ่านการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เช่น รถไฟความเร็วสูง รวม 845,385.01 ล้านบาท การลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 333,803.78 ล้านบาท การลงทุนของกรมทางหลวง 16,550 ล้านบาท และการลงทุนของกรมทางหลวงชนบท 6,210.01 ล้านบาท

 

‘กรมทางหลวง’ กวาดไป 2 แสนล้าน

 

 

ระบบสัมปทานที่เป็นชิ้นปลามันของนักการเมือง ในนามระบบการขนส่งทางบก แบ่งเป็นการลงทุนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 13,162.20 ล้านบาท การลงทุนของกรมทางหลวง 204,498 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก 4,687.28 ล้านบาท

 

ด้านการขนส่งทางน้ำ ก็ไม่น้อยหน้า จัดไว้ให้การลงทุนของกรมเจ้าท่า 33,075.60 ล้านบาท การลงทุนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 93,492.24 ล้านบาท และการลงทุนของกรมธนารักษ์ 1,854.36 ล้านบาท

 

ในวาระที่ฟื้นสนามบินดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานนานาชาติอีกครั้ง จึงต้องมีการจัดการลงทุนระบบขนส่งทางอากาศ แบบ “จัดหนัก” ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) 69,849.66 ล้านบาท

 

ส่วนการลงทุนโครงการที่ชนชั้นรากหญ้า ได้ใช้ร่วมกัน คือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 69,686.89 ล้านบาท และ การประปานครหลวง (กปน.) 29,517.80 ล้านบาท เท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กู้หนุนปตท.ลงทุน 1.3 แสนล้าน แต่โยนให้เป็นหนี้ของชาติ

 

 

ที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีสายแข็ง-สายตรงจากบ้านจันทร์ส่องหล้า นายอารักษ์ ชลธานนท์ จัดสำรับสำหรับจ่ายเงินกู้เพื่อลงทุน ไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะบริษัทพลังงานแห่งชาติ และมีผู้ถือหุ้นแบบ “ผู้มีอุปการะคุณ” เป็นเครือข่ายตระกูลเพื่อไทย คือ การลงทุนของบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) 135,655.88 ล้านบาท

 

การลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 206,431.36 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 108,594 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 59,060.35 ล้านบาท กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 1,232.43 ล้านบาท และ การลงทุนของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4,715.24 ล้านบาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในระบบสื่อสารยักษ์ใหญ่ ที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงข่ายยักษ์เอกชนสาขาโทรคมนาคม รองรับการพัฒนาระบบ 3 จี  ถูกจัดลงในรายการลงทุนของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 20,761 ล้านบาท และการลงทุนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 16,136 ล้านบาท

 

เงินลงทุนทุกรายการที่ประชาชนจ่ายภาษีงวดปี 2556 เป็นแหล่งเงินสำคัญในการลงทุนทั้งหมด แบ่งเป็น จากงบประมาณ 205,127.77 ล้านบาท จากเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจเอง 184,401.86 ล้านบาท

 

ส่วนที่เป็นยอดหนี้ล้วน ๆ มาจากเงินกู้ในประเทศ 50 เปอร์เซนต์ ของยอดหนี้ทั้งหมด 1,124,834.60 ล้านบาท  ที่เหลือเป็นจากเงินกู้ต่างประเทศ 449,172.52 ล้านบาท และจากการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP จำนวน 310,822.33 ล้านบาท

 

 

ทุ่มกู้เงินถมลงทุนทั่วประเทศ หวังเป็นรัฐบาล 8 ปี

 

 

แผนงานลงทุนโครงการยักษ์ภายใต้เงินกู้ 2.27 ล้านล้านบาท มีโครงการที่ต้องเร่งด่วน คือโครงการเกี่ยวกับการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน โครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ที่อยู่ในแคมเปญหาเสียง และการเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 5 เส้นทางให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

 

พร้อมกันนี้ยังจะลงทุนพัฒนาเส้นทาง เตรียมพร้อมสำหรับรองรับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ๆ เป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์ หรือทางพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ด้วย ไม่นับรวมแผนงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการเตรียมเปิดประมูลโครงข่ายระบบโทรศัพท์ 3 จี พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับอนาคตด้วย

 

 

แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ถ้าหากรัฐบาลลงทุนตามแผน 5 ปี ที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้า ท่าเรือทั่วทุกภูมิภาค และโครงการทวายโปรเจกต์ ที่รัฐบาลร่วมลงขันกับกลุ่มอิตาเลียน-ไทย ประมาณ 1 แสนล้าน โครงการรถไฟฟ้าไฮสปีด 4 สายทั่วประเทศ และรถไฟฟ้า 10 สายในกรุงเทพฯและปริมณฑล จะทำให้รัฐบาลเพื่อไทยชนะเลือกตั้งอีกสมัย ครองอำนาจต่อไปอีก 4 ปี หรือมากกว่านั้น

 

แต่เป็นชัยชนะที่ต้องใช้เงินกู้ และเงินภาษีของประชาชน ที่ต้องแบกภาระหนี้สิน จ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 10 ปี เพราะการก่อหนี้ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ทำกรอบเวลาในการชำระ 10 ปีขึ้นไป

 

 

10 อันดับลูกหนี้ระดับโลก เพื่อไทยฟุ้งไทยยังห่างชั้น

 

 

นอกจากนี้ แกนนำพรรคเพื่อไทยจะแสดงเอกสารว่า ประเทศไทยยังห่างไกลการเป็นหนี้ระดับโลก เพราะไม่ติดอันดับ 10 ประเทศที่เป็นหนี้มากที่สุดในโลก

 

โดยเรียง 10 อันดับ ประเทศที่มีหนี้ต่างชาติสูงที่สุดในโลก หรือ “ลูกหนี้รายใหญ่ของโลก”  โดยคำนวณจากหนี้สินที่ประเทศนั้น ๆ กู้ยืมมาจากต่างประเทศ (ของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน) ซึ่งต้องชำระคืนเป็นเงินสกุลต่างชาติ สินค้า หรือบริการ สูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ประกอบด้วย

 

ลำดับที่  10 ประเทศลักเซมเบิร์ก มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,020,000,000,000 (ราว 66.96 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 9 ประเทศญี่ปุ่น    มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,231,000,000,000 (ราว 74 ล้านล้านบาท) 

ลำดับที่ 8 ประเทศสเปน  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,317,000,000,000 (ราว 76.8 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 7 ประเทศอิตาลี  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,328,000,000,000 (ราว 77 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 6 ประเทศไอร์แลนด์  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,356,000,000,000 (ราว 78.1 ล้านล้านบาท)ลำดับที่ 5 ประเทศเนเธอร์แลนด์  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 2,461,000,000,000 (ราว 82 ล้านล้านบาท) 

 ลำดับที่ 4 ประเทศฝรั่งเศส  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 4,935,000,000,000 (ราว 164 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 3 ประเทศเยอรมนี  มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 5,158,000,000,000 (ราว 171 ล้านล้านบาท)

ลำดับที่ 2 ประเทศอังกฤษ มีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $ 9,041,000,000,000 (ราว 300 ล้านล้านบาท)

และลำดับที่ 1 คือ ประเทศสหรัฐอเมริกามีหนี้สินต่างชาติ ทั้งสิ้น $13,750,000,000,000 (ราว 456 ล้านล้านบาท)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: