‘อังคณา’ ชี้เยียวยาเหยื่อไฟใต้ ‘รัฐต้องจริงใจ- เท่าเทียม’

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.พ. 2555


 

นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงกรณีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบว่า ขณะนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์การเยียวยา เช่น บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ, บุคคลที่ได้รับผลกระทบกรณีทั่วไป, ผู้พิการ เป็นต้น

 

หลักเกณฑ์เบื้องต้นเป็นอย่างไร

นางอังคณากล่าวว่า ในส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิตจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่รัฐเองคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ รัฐต้องใส่ใจเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะประเด็นเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามใช้เงื่อนไขนี้เป็นสาเหตุในการใช้ความรุนแรงกับ ผู้บริสุทธิ์ ซึ่งรัฐต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ส่วนจะชดเชยค่าเสียหายเทียบเท่ากับกรณีของการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน เหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม จะต้องมีมาตรฐานเดียวกัน หลักคิดเดียวกัน รวมไปถึงมาตรฐานสากล ส่วนตัวเลขจะออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณา ประเด็นที่สำคัญคือ ต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ว่าทำไปเพราอะไร เพื่ออะไร

 

รัฐบาลเสนอจากยอดการเยียวยาคนละ 7.5 ล้านบาท คิดว่าเหมาะสมหรือไม่

นางอังคณากล่าวว่า  ตัวเลขออกมาก่อนหลักเกณฑ์ ไม่มีใครบอกได้ แต่พอมีการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมก็มีการพยายามอธิบายหาเหตุผลมาสนับสนุนตัว เลขเหล่านี้ คิดว่าทำให้สังคมสับสน ในส่วนของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ต้องมาดูว่ามาตรฐานเดียวกันกับที่รัฐบาลเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากการ ชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือไม่  การนำมาตรฐานค่าครองชีพ หรือสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศ(จีดีพี) มาคูณระยะเวลา 30 ปี  จะทำแบบเดียวกันหรือไม่ ซึ่งคิดว่า หากจะเยียวยาด้านจิตใจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ มาตรฐานการเยียวยาทางจิตใจจะเป็นอย่างไร ให้เท่ากันหรือไม่ หากไม่เท่ากันจะต้องมีคำตอบ หรือคำอธิบายชี้แจงถึงสาเหตุว่าทำไมถึงไม่เท่ากัน

 

“ถ้ามาตรการเยียวยาออกมาแล้ว ตอบคำถามสังคมไม่ได้ คิดว่าจะเป็นปัญหาที่จะสร้างความยุ่งยากให้กับรัฐบาลในภายหลัง จนนำไปสู่การได้รับความไม่เป็นธรรม หรือสองมาตรฐาน เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย”

 

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องเยียวยาด้านจิตใจ จะเป็นอย่างไร มีกฎเกณฑ์อย่างไร

นางอังคณากล่าวว่า มิติของจิตใจจะบอกไม่ได้เลยว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ บางคนอาจจะนอนฝันร้ายไปตลอดชีวิตของเขาก็ได้ อยู่กับความหวาดระแวง ความรู้สึกไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ประเมินไม่ได้เลย บางกรณีต้องเดินทางไปพบจิตแพทย์ สิ่งเหล่านี้ประเมินได้จากการรักษา ค่ารักษา แต่สำหรับบางคนไม่ได้บำบัดทางการแพทย์ มันตอบไม่ได้ว่าตัวเลขที่เหมาะสมเท่าไหร่ ในเมื่อรัฐยืนยันว่าจะใช้มาตรฐานสากลในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ก็ต้องไปพิจารณากัน กรณีของคนเสื้อแดงให้คนละ 7.5 ล้านบาท แล้วกรณีของภาคใต้จะได้เท่าไหร่ ในเมื่อชีวิตคนเท่ากัน

 

อย่างไรก็ตามเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ มักมีเหตุรายวันเกิดขึ้น ตรงนี้จะก่อให้เกิดความหวาดระแวง ไม่มั่นคงในชีวิต บางรายต้องอพยพย้ายถิ่น คนเหล่านี้จะรวมเข้ามาในหลักเกณฑ์การเยียวยาด้วยหรือไม่ ทั้งนี้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง ไม่เหมือนการชุมนุมที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ต้องมาพิจารณาถึงเหตุการณ์ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2547 จะพิจารณาไปเรื่อยๆ หรือจะยุติลงที่เหตุการณ์ไหน เมื่อไหร่ ขอบเขตระยะเวลาในการเยียวยาจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ทำอย่างไรไม่ให้การเยียวยาผูกยึดกับตัวเงินเป็นอันดับแรก แต่จะทำอย่างไรให้ลดเงื่อนไขความรุนแรง ความขัดแย้งนำไปสู่การปรองดอง สามัคคี ไม่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนำใช้เป็นข้ออ้างในการก่อความไม่ สงบ หรือทำร้ายคนบริสุทธิ์อีก

 

คิดว่าการเยียวยากับเหยื่อจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงในสถานการณ์ภาคใต้ได้หรือไม่อย่างไร

นางอังคณาให้ความเห็นว่า การเยียวยากับเหยื่อคิดว่าน่าจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงได้ ที่ผ่านมามีกรณีที่ผู้ก่อความไม่สงบมักใช้อ้างเหตุการณ์เพื่อก่อความไม่สงบ เช่น เหตุการณ์กรือเซะ, ตากใบ เป็นต้น มีการวางระเบิดหลายสิบจุด คิดว่าถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐแสดงให้ประชาชนเห็นว่า รัฐแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยินดีที่จะรับผิดชอบและชดใช้ รวมไปถึงดำเนินการให้เป็นไปตามหลักกระบวนการยุติธรรม ขณะเดียวกันรัฐอยากเข้ามาร่วมทุกข์ ร่วมสุข เข้ามาเยียวยาผู้เสียหาย ชดเชยสิ่งที่รัฐทำได้ในวันนี้ ซึ่งมันไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมให้เหมือนเดิมได้ แต่ทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ หรืออยู่ร่วมกันได้ โดยไม่คิดต่อต้านภาครัฐ มันอยู่ที่มิตินั้น

 

ประเด็นการเยียวยาความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม คิดว่าภาครัฐควรทำอย่างไร

นางอังคณากล่าวว่า อย่างน้อยภาครัฐต้องคุยกับเหยื่อก่อน ต้องแสดงให้เห็นว่ารัฐมีความผิดพลาดอย่างไร รู้สึกเสียใจอย่างไร รับฟังความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ และกล่าวขอโทษ แต่ที่ผ่านมาพบว่า ภาครัฐกระทำเพียงกล่าวคำขอโทษเฉยๆ โดยที่ไม่รู้สึกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในรูปแบบการปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้เห็นว่ารัฐแสดงความเสียใจ ซึ่งการทำความเข้าใจไม่เฉพาะกับประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นการทำความเข้าใจกับคนอีก 74 จังหวัด ให้เห็นว่าทำไมถึงต้องกลับมาเยียวยากับบุคคลเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รับรู้ร่วมกัน ไม่เกิดการต่อต้านในภายหลัง

 

ท้ายที่สุดในการเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบ จากทั้งสถานการณ์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จุดพอดีควรอยู่ตรงไหน

นางอังคณากล่าวว่า จุดพอดีควรอยู่ที่ทุกฝ่าย รวมถึงผู้เสียหายได้รับผลกระทบด้วย ต้องกลับมานั่งทบทวนดูว่ายอมรับความจริงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถย้อนกลับไปสู่จุดเดิมได้ แต่เราต้องทบทวนว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร รัฐจริงใจในความรู้สึกผิด หรือความรู้สึกอยากช่วยเหลืออย่างไร ความจริงใจในการยอมรับความผิดพลาดและอยากแก้ไขเป็นอย่างไร เหยื่อเองต้องพร้อมที่จะให้อภัยและกลับเข้าอยู่ร่วมในสังคมต่อไปได้ การเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากอาจไม่มีความหมายเลยก็ได้ หากเหยื่อรู้สึกพอใจกับการยอมรับผิดของรัฐ  ทั้งนี้รัฐต้องทำความเข้าใจกับองค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาจับตาดูเรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เข้าใจถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของ รัฐ มิฉะนั้นจะทำให้รู้สึกว่า เงินที่ให้การชดเชยไปนั้นเสียเปล่า ไม่ได้อะไรทำให้เกิดการทวงถามความเป็นธรรมไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันเมื่อเยียวยาแล้วรัฐต้องเร่งการดำเนินการด้านกระบวนการยุติธรรมด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: