‘ทรงฤทธิ์’ ชี้พม่าแค่ปรับตัวเอาใจสังคมโลก-จับตาอนาคตพัฒนาหนีไทย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.พ. 2555


 
การปฏิรูปทางการเมืองในประเทศพม่า ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่ผ่านมา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรวดเร็วและมีนัยสำคัญไม่น้อยต่ออนาคตของ พม่า ตั้งแต่การปล่อยตัวนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง การอนุญาตให้มีการชุมนุมได้โดยต้องปฏิบัติเงื่อนไขของรัฐ รวมถึงการเจรจากับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ผู้เป็นไม้ เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทหารมาโดยตลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากสหรัฐอเมริกา ด้วยการส่งนางฮิลลารี่คลินตัน รมว.ต่างประเทศ ไปเยือนพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
 
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ต้องจับตา แน่นอนว่าประเทศตะวันตกกำลังรอดูความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างจับจ้อง เพราะหากการคว่ำบาตรยุติลง ย่อมแปลว่า ทรัพยากรจำนวนมากในพม่า จะเป็นโอกาสทางธุรกิจแก่ประเทศตะวันตก
 
การเปลี่ยนแปลงของพม่าจึงเป็นสิ่งที่ควรแก่การ วิเคราะห์และติดตาม โดยเฉพาะกับประเทศไทยผู้เป็นเพื่อนบ้าน และจะกระทบต่อผลประโยชน์ของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน
 
“เราจะมองปรากฏการณ์ทางการเมืองของพม่าตอนนี้ เหมือนสมัยที่ทหารบ้าอำนาจเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะ ประการแรก รัฐบาลทหารพม่าเรียนรู้มาตั้งแต่ปี 1962 เพราะอยู่ในอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด กระทั่งมาเรียนรู้อีกครั้งในปี 1990 เมื่อแพ้การเลือกตั้งอย่างถล่มทลายให้กับพรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี” นั่นคือคำอธิบายเบื้องต้นของ นายทรงฤทธิ์ โพนเงิน นักวิชาการอิสระ และเจ้าของคอลัมน์ Mekong Corridor ประจำนิตยสาร เนชั่น สุดสัปดาห์
 
การเรียนรู้ของทหารผู้ควบคุมอำนาจในพม่ามายาวนาน เป็นเหตุให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีนัยสำคัญกว่าที่ผ่านมา นายทรงฤทธิ์กล่าวว่า แม้รัฐบาลทหารพม่าจะมีความเข้มแข็งจากอำนาจในมือ แต่ก็เรียนรู้แล้วว่าสิ่งที่เคยกระทำมาก่อนหน้านั้น เช่น การปราบปรามอย่างรุนแรง การทำสงครามกับชนกลุ่มน้อย ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป จึงมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
 
นายทรงฤทธิ์กล่าวว่า ก่อนหน้านั้น นายพลตาน ฉ่วย ได้ก่อตั้งสมาคมสหสามัคคีและการพัฒนาหรือยูเอสดีเอ เป็น เครือข่ายจัดตั้งมวลชน ภายหลังจากพม่าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยูเอสดีเอก็แปลงรูปเป็นพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ ยูเอสดีพี และนี่คือการเตรียมพร้อมของทหาร เพื่อต่อสู้กับพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซูจี
 
เมื่อได้รับชัยชนะแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น เขาก็ถือว่าเขาเป็นรัฐบาลพลเรือน ก็ไม่แปลกที่จากพล.อ.เต็งเส่ง เป็นนายเต็งเส่ง เขาไม่ได้มีปืนอยู่ในมือ แต่เขามีสภาอยู่ในมือ เหมือนกับบ้านเรา ใครมีสภาอยู่ในมือก็มีอำนาจ ถ้ามองในแง่นี้ผมถือว่าพม่าพัฒนาเร็ว
 
“แต่ถ้ารัฐบาลทหารพม่าเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่มีคนประท้วงทุกวัน มีการวางระเบิดอยู่กระจัดกระจาย ต้องสู้รบกับชนกลุ่มน้อย คุณจะกล้าปล่อยหรือเปล่า ประเด็นว่าทำไมจึงเป็นเวลานี้ จึงไม่ใช่คำถาม น่าจะมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าทำมาในอดีต น่าจะแสดงถึงว่า เขาเป็นนักวางแผนที่ดี ที่จะปรับตัวเองเข้ากับสังคมโลกยอมรับ แต่แน่นอนการทำให้สังคมโลกยอมรับสำหรับเขา ไม่ใช่การเอาอำนาจไปประเคนให้ใคร แต่เขาก็ต้องอยู่ในอำนาจต่อไป” นายทรงฤทธิ์วิเคราะห์
 
แม้ว่าประชาธิปไตยในพม่าขณะนี้จะถูกมองว่าไม่ใช่ ประชาธิปไตยที่แท้จริง เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยทหาร ยังคงหน่วงรั้งอำนาจไว้ในมือผู้เขียน แต่นายทรงฤทธิ์ก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่สังคมโลกจะสนใจประชาธิปไตยเพียงแค่รูปแบบเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ทรัพยากรธรรมชาติของพม่าต่างหากที่ประเทศตะวันตกสนใจเสียยิ่งกว่า ประชาธิปไตย และหากพิจารณาอย่างเคร่งครัดแล้ว ทั้งภูมิภาคอาเซียนก็ไม่มีประเทศใดเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเช่นกัน เป็นแต่เพียงรูปแบบที่ทำให้สังคมโลกยอมรับ
 
นายทรงฤทธิ์วิเคราะห์ต่อไปว่า นายพลตาน ฉ่วย น่าจะวางแผนอนาคตให้ลูกหลานของตนเองซึ่งมีอยู่จำนวนมาก สามารถอยู่ในสังคมพม่าต่อไปได้ ในฐานะชนชั้นนำหรือสามารถลงสู่สนามการเมืองได้ เพราะนายพลตาน ฉ่วย คงไม่อยากเห็นคนในครอบครัวถูกเนรเทศหลังจากตัวเองเสียชีวิต
 
ในด้านที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย แน่นอนว่าพม่าจะเป็นคู่แข่งด้านการพัฒนาในอนาคต เนื่องจากยังมีทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าไทย
 
“อย่าลืมว่าทุกวันนี้เรือไทยมากกว่า 500 ลำ ไปทำประมงในน่านน้ำพม่า จ่ายลำหนึ่งปีละ 100 ล้านบาท ปลากระป๋องที่เรากินอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากพม่า หรือแม้กระทั่งไม้สักอย่างดีก็มาจากพม่า ทุก วันนี้เรายังต้องซื้อก๊าซธรรมชาติจากพม่า แต่หลังจากนี้ถ้าเราต้องแข่งกับประเทศที่เหนือกว่าเรา ตรงนี้ถือว่าอันตราย อันตรายตรงไหน ในอดีตสหรัฐอเมริกาไม่ได้เข้าไป แต่ถ้าหลังจากนี้สหรัฐอเมริกาสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้อย่างอิสระ ไทยจะเป็นมวยรองบ่อนอย่างแน่นอน”
 
นายทรงฤทธิ์กล่าวต่อว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีข่าวว่าภาคเอกชนของไทยเข้าไปลงทุนในพม่าหลายโครงการ แต่ก็ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันทางธุรกิจ หากแต่เป็นเงื่อนไขที่พม่าจะต้องให้เอกชนไทยเข้าไปลงทุนในฐานะที่ประเทศไทย เป็นเจ้าของเงินกู้
 
“เมื่อกำหนดว่าต้องเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างจากไทยเท่า นั้น ทีนี้ คุณก็วิ่งกันเองในประเทศ รูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติครับ ญี่ปุ่นก็ทำกันมานาน ดังนั้นถ้าจะมองในแง่การแข่งขันแล้ว มีแต่เราข้ามไปแล้วสู้กันเอง โดยใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน”
 
หมายความว่าภาคเอกชนของไทยไม่เคยแข่งขันกับบริษัทต่างชาติเลย ซึ่งหากไม่ปรับตัว อนาคตก็มีทีท่าว่าจะต่อสู้กับภาคเอกชนจากตะวันตกได้ลำบาก
 
เมื่อถามว่า แล้วประเทศไทยจะกำหนดบทบาทท่าทีต่อพม่าอย่างไร นายทรงฤทธิ์กล่าวว่า เป็นมิตรประเทศที่ดี มีนโยบายต่างประเทศเป็นของตัวเองและมียุทธศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยมียุทธศาสตร์การต่างประเทศเลย การทูตของเราขึ้นอยู่กับประเทศตะวันตกหรือประเทศมหาอำนาจ หรือ ณ วันนี้ ในช่วงหนึ่งเราก็ขึ้นกับมหาอำนาจทางตะวันออก เพราะนโยบายต่างประเทศของเราเอาเรื่องผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก เมื่อใครกุมอำนาจ แล้วใครเป็นผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล เราก็คิดกันแค่นั้น
 
ในสายตาของนายทรงฤทธิ์ กิจการด้านการต่างประเทศของไทยจึงไม่จำเพาะประเทศพม่าเท่านั้น แต่ควรสังคายนานโยบายต่างประเทศอย่างเป็นกระบวนการทั้งระบบ และวิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดในอดีต เพื่อค้นหายุทธศาสตร์ของชาติ
 
ภาพจาก www.isc-gspa.org
 
 
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: