นายกผู้ส่งออกข้าวไทยชี้น้ำท่วม ไม่กระทบข้าวไทย เท่านโยบายบิดเบือนตลาดของรัฐบาล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.พ. 2555


 

อุทกภัยครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหาร ที่สำคัญของโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) รายงานตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกที่ได้รับความเสียหายของไทยประมาณ 12.5เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 12เปอร์เซ็นต์ ลาว 7.5เปอร์เซ็นต์ ฟิลิปปินส์ 6เปอร์เซ็นต์ และเวียดนาม 0.4เปอร์เซ็นต์ ผลที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือความมั่นคงทางอาหารของโลกที่ถูกสั่นคลอนและผลักให้ ราคาอาหารสูงขึ้น ยังไม่นับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในปัจจุบันที่เพิ่งครบ 7พันล้านคนไปเมื่อไม่นานนี้

 

ยิ่งเมื่อผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1ของโลกและมีส่วนแบ่งตลาดถึง 30เปอร์เซ็นต์อย่างประเทศไทยได้รับความเสียหายมากที่สุด ราคาข้าวจึงถูกคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงขึ้นในปีหน้า หมายความว่าน่าจะเป็นโอกาสของชาวนาไทยที่จะขายข้าวในราคาสูง ซึ่งมาพร้อมๆ กับความวิตกเช่นกันว่าจะมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศหรือไม่ และถ้าพอก็อาจจะไม่มีพอสำหรับตักตวงโอกาสจากการส่งออก

 

ประเด็นเหล่านี้มีคำตอบที่น่าสนใจจาก กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งกล่าวว่า เรื่องข้าว อุทกภัยไม่น่าวิตกกังวลเท่ากับนโยบายของรัฐบาล

 

หลังน้ำท่วม ข้าวไทยไม่ขาดแคลน

อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบครึ่งทศวรรษส่งผลให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่ภาคกลางของ ไทยประมาณ 10ล้านไร่ ซึ่งมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 8ล้านตัน เสียหายเกือบหมด ปริมาณข้าวเปลือกนี้หากแปรเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 4ล้านตัน แต่กอบสุข กล่าวว่า ปริมาณที่หายไปนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยแต่อย่างใด

 

“อย่างที่ผู้ขายข้าวถุงออกมาบอกเสมอว่าข้าวไม่ได้ขาด เพียงแต่ระบบโลจิสติกส์มีปัญหา สาเหตุหลักเพราะเรามีสต็อกที่อยู่ในมือค่อนข้างสูง ทั้งที่อยู่ในมือรัฐบาลประมาณ 2ล้านตันและในมือเอกชน ผู้ส่งออก โรงสี อีกประมาณ 4-5ล้านตัน คนไทยบริโภคข้าวปีหนึ่งประมาณ 10ล้านตัน เพราะฉะนั้นข้าวที่มีอยู่ตอนนี้ก็ครึ่งหนึ่งแล้ว”

ขณะที่เดือนหน้า ทางภาคอีสานซึ่งแทบไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ดังนั้น จะมีข้าวอีกหลายล้านตันเข้าสู่ตลาดในเดือนหน้า กอรปกับปัจจุบันพื้นที่ภาคกลางปลูกข้าว 5ครั้งต่อ 2ปี กอบสุขประเมินว่า หากน้ำท่วมจบภายใน 3เดือน ชาวนาเริ่มปลูกข้าวอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ พอถึงเดือนพฤษภาคมก็จะมีข้าวใหม่ออกสู่ตลาดอีกรอบหนึ่ง

 

“ผลผลิตข้าวอาจจะขาดแคลนจากปัญหาโลจิสติกส์ในช่วงแรกๆ แต่ภายใน 6เดือนจะแก้ไขตัวมันเองได้ จึงไม่น่าเป็นห่วง”

 

แนวโน้มราคาสูงต่อเนื่อง แม้น้ำไม่ท่วม

สำหรับโอกาสที่จะขายและส่งออกข้าวได้ในราคาสูง กอบสุขดูจะไม่ตื่นเต้นกับโอกาสตรงนี้ดังที่มีการคาดการณ์ เนื่องจากก่อนน้ำท่วม ข้าวไทยก็มีราคาสูงอยู่แล้วเพราะกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายราคารับจำนำของ รัฐบาลแม้ไม่เกิดอุทกภัย อีกทั้งราคาสินค้าธัญพืชระยะยาวในตลาดโลกก็มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ กอบสุขยังเห็นว่าการเก็งกำไรสินค้าเกษตรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าคือปัจจัย หนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวถูกปั่นสูงขึ้น โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าจริง ผนวกกับนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงเกินจริง กลับจะยิ่งตัดโอกาสในการส่งออกเสียมากกว่า

 

ข้าวคือสินค้าการเมือง เมื่อรัฐแทรกแซงตลาดเท่ากับทำลายการแข่งขัน

กอบสุขชี้ให้เห็นว่า ในการผลักสินค้าออกนอกประเทศให้ผู้ซื้อยอมรับ คุณภาพและกลไกตลาดคือเครื่องมือที่ดีที่สุด ทว่า ปัจจุบัน ข้าวคือสินค้าการเมือง ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เมื่อรัฐบาลมองชาวนาเป็นฐานเสียงที่สำคัญและเชื่อว่ากลไกตลาดไม่เป็นธรรมต่อ ชาวนา

 

“สิ่งที่นำเสนอกับภาครัฐจากประสบการณ์ของเราก็คือ ถ้าคุณไปตั้งราคาเอง คุณจะขายไม่ออก ที่คุณคิดว่ามีส่วนแบ่งตลาด 30เปอร์เซ็นต์ แต่คุณไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดจริง สินค้าโภคภัณฑ์ไม่มีใครมีอำนาจเหนือตลาด ไปดูข้าวสาลี ข้าวโพด คนที่เป็นประเทศผู้ค้าหลักมีอยู่ทั้งนั้น แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถบีบบังคับให้ตลาดยอมรับราคาของตนได้ ยกเว้นอย่างเดียวว่าดีมานด์-ซัพพลายในตลาดผันไปตามนั้น การที่เรายกระดับราคาขึ้นสูง คู่แข่งก็ยิ้มเท่านั้นเอง

 

“ในระยะยาวราคาอาหารจะสูงขึ้น จริง แต่ต้องสูงขึ้นจากธรรมชาติของมัน ถ้าพื้นที่ปลูกน้อยลง ชาวนาปลูกน้อยลง คนกินมากขึ้น แน่นอนราคาต้องขึ้น แต่ต้องไม่ใช่การจากการที่คุณไปบอกว่าเคยขาย 8,000บาท ให้ขึ้นไป 15,000บาทวันนี้เลย”

 

แต่กอบสุขยอมรับว่า การตั้งราคาข้าวไว้สูงของไทยมีผลต่อตลาดโลกอยู่บ้าง เนื่องจากต่างประเทศใช้ราคาข้าวไทยเป็นตัวอ้างอิง แต่สภาพปัจจุบันที่อินเดียกำลังเร่งระบายข้าวในสต็อกออกมาในราคาถูก ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยได้รับผลกระทบไม่น้อย

 

“ตอนนี้ผู้ส่งออกก็ทำใจไปทางที่ว่ารัฐบาลคงเดินหน้านโยบายจำนำข้าวต่อ ทางเราก็คงจะส่งออกน้อยลง แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับที่อินเดียทำ ดิฉันรอให้อินเดียเลิกส่งก่อน ไม่อย่างนั้นเราขายแทบไม่ได้เลย เพราะเขาคงขายแบบนี้ไปตลอดไม่ได้ แต่รอบนี้เพราะโกดังเขาจะแตกอยู่แล้วจึงต้องปล่อยออกมาบ้าง การคาดเดาของเราคือเขาคงปล่อยออกมาสัก 5-6ล้านตันก็คงเริ่มชะลอ ถึงตอนนั้นเราจะมีโอกาสทำตลาดเพราะราคาเรามันเว่อร์ พฤติกรรมของมนุษย์คือจะซื้อของถูกจนหมดไปก่อน แล้วค่อยหันมาซื้อของที่แพงขึ้น”

 

ถ้าจะแทรกแซง ขอให้โปร่งใสและเป็นธรรม

เป็นความจริงที่ว่าข้าวไทยคุณภาพดีกว่าประเทศผู้ส่งออกรายอื่นราคาจึง สูงกว่า กอบสุขเห็นด้วย แต่ช่องว่างราคาจะต้องไม่กว้างมาก และยกตัวอย่างว่า ข้าวไทยเคยแพงกว่าข้าวเวียดนาม 30เหรียญ (ประมาณ 900บาท) ต่อตัน แพงกว่าอินเดีย 40เหรียญ ซึ่งไม่กระทบต่อการส่งออกแต่อย่างใด แต่พอแพงกว่าเวียดนาม 100เหรียญเมื่อ 2ปีที่แล้ว การส่งออกกลับชะงักทันที ยิ่งเวลานี้ข้าวไทยแพงกว่าอินเดีย 150เหรียญ การส่งออกข้าวไทยก็ยิ่งชะงัก

 

“ปัญหาคือช่องว่างตรงนี้ผู้ส่งออกมองเห็นที่ 40-50เหรียญ แต่รัฐบาลไทยไม่ได้มองอย่างนั้น เรารู้สึกว่าเราจับชีพจรตลาดดีกว่า แต่สื่อไปแล้วภาครัฐมีวัตถุประสงค์อีกแบบหนึ่งก็มองต่างกัน ลองดูปี 2008ตอนนั้นข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000บาท โดยตัวของมันเอง ก็จะถามรัฐบาลว่า นั่นกลไกตลาดใช่มั้ย ถ้าตอบว่าใช่ ก็จะถามต่อว่าผู้ส่งออกทำอะไรได้มั้ย ไม่ได้ ต้องซื้อตามกลไกตลาด”

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงยังเดินหน้านโยบายรับจำนำข้าวต่อ กอบสุขตัวแทนผู้ส่งออกข้าวจึงเรียกร้องว่า หากรัฐบาลจะแทรกแซงก็ขอให้ดำเนินการอย่างยุติธรรม โปร่งใส และไม่เอื้อประโยชน์เฉพาะบางกลุ่ม

 

คุณภาพข้าวไทย อนาคตน่าวิตก

ขณะเดียวกัน กอบสุขชี้ว่า ในระยะยาว หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวนาก็ควรสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิต เพราะทุกวันนี้ต้นทุนการแข่งขันของชาวนาไทยถือว่าสูงกว่าที่อื่นมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเครื่องจักรการผลิต ซึ่งไม่เหมาะกับการทำนาพื้นที่ขนาดเล็กแบบของไทย และด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิตชาวนาที่เปลี่ยนไป บวกกับนโยบายรัฐบาล โครงสร้างการผลิตข้าวจึงเปลี่ยนตาม กอบสุขมองว่าสิ่งเหล่าจะกระทบคุณภาพข้าวของไทยในอนาคต

 

“ปัจจุบันมีที่นาก็ทำไป หว่าน ถึงเวลาก็มาเกี่ยว ปีหนึ่งดูแค่นั้น ที่เหลือเทวดาเลี้ยง แล้วชาวนาไทยรุ่นหลังก็ทำนาแบบไม่เอาใจใส่ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้ชาวนาเอาข้าวมาขายโดยไม่สนใจคุณภาพ แล้วจะปลูกไปดีๆ ทำไม ในเมื่อข้างบ้านปลูกยังไงก็ขายได้เงินเท่ากัน นานเข้าความพิถีพิถันจะหายไป ดังนั้น คุณภาพก็จะด้อยลง ตรงนี้เป็นจุดอ่อน แต่ถ้าเราเป็นชาวนา เราก็ทำอย่างนั้น”

 

และอธิบายว่าผู้ส่งออกต้องการให้ราคาข้าวไทยเป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งข้าว ไทยจะแข่งขันกับข้าวจากประเทศอื่นได้อยู่แล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องแทรกแซงตลาด

 

กอบสุขอธิบายว่า หากต้นทุนการผลิตของชาวนาไทยยังต่ำเหมือนในอดีตที่ยังไม่พึ่งเครื่องจักรและ สารเคมีมากเท่าปัจจุบัน ชาวนาไทยวันนี้จะได้กำไรเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ภารกิจของภาครัฐจึงน่าจะอยู่ที่การค้นหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตของชาวนาลง แทนการบิดเบือนตลาด

 

ทั้งหมดนี้เป็นอีกมุมมองหนึ่งของคนในวงการข้าวที่ชวนคิด เมื่อน้ำท่วมกลับไม่ใช่ปัจจัยกระทบข้าวไทยและความมั่นคงทางอาหาร แต่กลับเป็นนโยบายรัฐบาลต่างหากที่น่ากริ่งเกรงว่าจะสร้างผลเสียในระยะยาว เหตุนี้ คำถามที่ว่าวันข้างหน้า เวียดนามจะแซงไทยในตลาดข้าวโลกหรือไม่ กอบสุขตอบว่าเป็นไปได้

 

ภาพน้ำท่วมทุ่งนามาจากหนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: