โศกนาฏกรรมเคเดอร์ถึงบีเอสทีมาบตาพุด จี้รัฐเอาจริงเรื่อง'ความปลอดภัย'ในโรงงาน เตือนเพื่อนคนงานห่วงชีวิตมากกว่าค่าแรง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 12116 ครั้ง

‘เคเดอร์’รำลึกโศกนาฏกรรม 19 ปี

 

เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่วัดศรีสำราญ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานในระบบ จัดพิธีรำลึกพร้อมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ไฟไหม้โรงงานทำตุ๊กตา บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ครบรอบ 19 ปี การเกิดโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 188 ราย ได้รับบาดเจ็บ 469 ราย และยังสร้างผลกระทบยาวนานต่อเนื่อง ไปถึงครอบครัวของพนักงานบริษัทตุ๊กตาขนาดใหญ่แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดงานที่ระลึกในปีนี้ ประกอบด้วยการทำบุญตักบาตร พร้อมมาติกาบังสุกุล และถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ก่อนที่จะทำพิธีกล่าวไว้อาลัย และเปิดวงเสวนาเรื่อง “บทเรียนโศกนาฏกรมเคเดอร์ 19 ปี กับการต่อสู้เรื่องความปลอดภัยของคนงาน” ในช่วงบ่าย โดยมีอดีตพนักงานผู้รอดชีวิต ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และแรงงานชายหญิงจากกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ร่วมงาน พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การดำเนินชีวิตภายหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทยเมื่อ 19 ปีทีผ่านมา

 

ย้อนอดีตไฟสยองคร่าคนงาน 188 ชีวิต

 

 

บริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด เป็นโรงงานตุ๊กตาขนาดใหญ่ ประกอบด้วยอาคาร 5 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ตั้งอยู่บนถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ชั้นล่างของอาคาร เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ขณะที่คนงานกว่า 2,000 คน กำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร โดยไม่รู้ว่าด้านล่างเกิดเพลิงไหม้และลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากภายในโรงงานมีเชื้อเพลิงซึ่งเป็นเศษผ้า และวัสดุไวไฟจำนวนมาก

กระทั่งเวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง พนักงานจึงทราบว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้ว และพยายามวิ่งหนีตายออกจากอาคารอย่างอลหม่าน แต่ด้วยสภาพอาคารที่ไม่มีระบบหนีภัยที่มีมาตรฐาน จนเกิดความวุ่นวายจากการเบียดเสียดยัดเยียดกันออกจากอาคาร ทำให้คนงานจำนวนมากต้องเหยียบกันตาย ในระหว่างหาทางหนีออกจากอาคาร และบางส่วนพยายามกระโดดออกจากอาคารจนตกลงมาเสียชีวิต

หลังเพลิงที่ลุกไหม้ไม่นานนัก อาคารโรงงานซึ่งก่อสร้างด้วยวัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหล็กสำเร็จรูปที่ไม่ทนไฟก็ถล่มลงราบเป็นหน้ากลอง ฝังคนงานที่กำลังหนีตายและได้รับบาดเจ็บในที่เกิดเหตุไว้ใต้ซากอาคารทันที พนักงานดับเพลิงต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง จึงจะสามารถควบคุมเพลิงได้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในซากอาคาร พร้อมกับลำเลียงร่างของผู้เสียชีวิตออกมาและพบว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ คร่าชีวิตพนักงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงไปมากถึง 188 คน มีผู้บาดเจ็บ มีผู้บาดเจ็บถึง 469 ราย หลายรายได้รับบาดเจ็บสาหัส บางรายต้องกลายเป็นคนพิการ หรือเป็นอัมพาตตลอดชีวิต

 

 

สาวคิวซี โดดตึกหนีตาย เผยชีวิตพิการ 19 ปี

 

 

นางรัศมี ศุภเอม อดีตพนักงานตรวจสอบคุณภาพตุ๊กตาของโรงงานเคเดอร์ อินดัสเตรียล หนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้น ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเหตุการณ์เศร้าสลดในอดีตว่า ในวันเกิดเหตุตนทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบคุณภาพตุ๊กตา ทำงานอยู่บริเวณชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เลิกงานแล้ว ช่วงเวลาที่เกิดไฟไหม้บริเวณชั้นล่างของอาคาร ไม่ได้มีการแจ้งบอกให้กับพนักงานทราบ ทำให้ทุกคนไม่รู้ โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ชั้นสูงกว่าขึ้นไป ตนมาทราบเหตุก็เมื่อมีพนักงานอื่นๆ บอกต่อกันมา ทำให้ทุกคนหวาดกลัวและแตกตื่นและหาทางหนีออกจากอาคารให้เร็วที่สุด แต่ปัญหาคือทางออกหรือทางหนีภัยต่างๆ มีไม่เพียงพอให้ทุกคนหนีออกมาได้ ดังนั้นเมื่อถึงเหตุการณ์จวนตัวขึ้นมา หลายคนจึงจำเป็นที่จะต้องกระโดดลงมาจากอาคาร แทนที่จะต้องหนีออกไปแออัดกัน ซึ่งต่อมาทราบว่าคนเหล่านั้นหลายคนไปไม่ถึงจุดหมาย เพราะต้องเหยียบกันตายก่อน ในขณะที่ตนตัดสินใจกระโดดหนีตายลงมาจากชั้น 3 ของอาคาร และเมื่อตกลงมาแล้วก็มีพนักงานอื่นๆ กระโดดตามลงมาอีกหลายคนทำให้ลงมาทับกันด้านล่าง

“ตอนนั้นไม่มีใครรู้อะไร แต่มีคนมาบอก เราก็รีบหนีออกมาตัดสินใจกระโดดลงมา เพราะถ้าไม่กระโดดก็ตาย พอกระโดดลงมาแล้วตกลงมาขาหัก ก็มีผู้ชายกระโดดลงมาทับอีกทีหนึ่งทำให้ขาหัก กระดูกต่างๆ แตกหมด ก่อนที่จะมีคนมาช่วยไปส่งโรงพยาบาล ต้องรักษาตัวอยู่นานมากเป็น 10 ปี ซึ่งเราก็รู้แน่แล้วว่า เราคงจะกลับมาเป็นคนปกติไม่ได้อีกแล้ว แต่ก็ถือว่ายังดีกว่าคนอื่นๆ ที่เขาไม่มีโอกาสได้ออกมา”

 

นางรัศมีกล่าวต่อว่า หลังประสบเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้จะมีความช่วยเหลือจากทางราชการ หรือมูลนิธิต่างๆ แต่ตนก็ต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองด้วย โดยพยายามที่จะกลับไปเรียนหนังสือให้จบ เนื่องจากช่วงที่เข้าทำงานที่โรงงานเคเดอร์เพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 และกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงไปด้วย แต่เมื่อได้รับบาดเจ็บก็ทำให้ยุติการเรียนไป จนกระทั่งอาการเริ่มดีขึ้นจึงกลับมาศึกษาต่ออีกครั้งที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนจบการศึกษาปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ปัจจุบันรับราชการเป็นนิติกร อยู่ที่จ.มหาสารคาม

 

 

19 ปีมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับคนงานไม่ดีขึ้น

 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากเหตุการณ์ในอดีตหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน คิดว่าการดูแลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในที่ทำงานแตกต่างกันไปอย่างไร นางรัศมีกล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม และยังไม่เห็นว่าผู้ประกอบการ นายจ้างจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนงานมากขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายด้านมาตรฐานความปลอดภัยออกมา แต่ถามว่าได้มีการบังคับใช้อย่างจริงจังหรือไม่ มีการเข้าไปตรวจสอบว่า โรงงานต่างๆ ได้ดำเนินการตามกฎหมายเข้มงวดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านมาหลายๆ โรงงาน ก็ยังปรากฎภาพของพนักงานคนงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องและเหมือนเดิม นั่นหมายความว่า ในการทำงานพนักงานเองจะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้วยตัวเอง ดูแลตัวเอง เพราะหากเกิดเหตุขึ้นแล้วไม่มีใครช่วยได้จริงๆ

 

“จริงๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ค่อยอยากจะเล่าให้ใครฟังนัก ถ้าเขาไม่ถาม เพราะเป็นเรื่องที่หดหู่ แต่การได้นำประสบการณ์และความคิดมาเล่าให้ฟัง ก็เพราะอยากจะให้แรงงานรุ่นใหม่ๆ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของตัวเองมากขึ้น และควรจะให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องของรายได้ เพราะชีวิตของเรา สุขภาพของเราไม่มีใครมาช่วยได้ แม้จะมีกฎหมายออกมารองรับ แต่หากไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ก็ไม่มีผลอะไร หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา คนที่เสี่ยงจะสูญเสียก็คือคนงานนั่นเอง” นางรัศมีกล่าว

 

โชเฟอร์สามล้อเครื่องตามหาศพเมียยังไม่เจอ

 

 

นอกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับตัวพนักงานบริษัทเคเดอร์โดยตรงแล้ว ผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังส่งผลถึงครอบครัวของเหล่าพนักงาน ทั้งที่บาดเจ็บและเสียชีวิตอีกด้วย โดยเฉพาะการสูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและอยู่ในฐานะภรรยา และแม่ของลูก ซึ่งพบว่าทำให้เด็กๆ จำนวนมากเป็นกำพร้าด้วย

 

นายชาญ สระทองแป้น อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง ซึ่งสูญเสียภรรยาไปจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ไปในขณะที่ลูกชายมีอายุเพียง 4 ขวบ ให้ข้อมูลกับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า จนถึงปัจจุบันตนก็ยังไม่สามารถนำศพภรรยามาทำพิธีทางศาสนาได้ แม้หลังเกิดเหตุจะพยายามติดตามหาศพไปทุกๆ ที่ ทุกโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ได้ว่าเป็นศพของภรรยาจริง ทำให้เวลาผ่านมา 19 ปี ตนไม่เคยมีความสุขเลยเพราะยังห่วงกังวลและนึกถึงภรรยาอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีลูกชายที่ต้องเลี้ยงดูจึงพยายามที่จะทำใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและส่งเสียลูกให้เรียนจนจบ ปัจจุบันลูกชายอายุ 23 ปีแล้ว เรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งก็ถือว่าเป็นความภูมิใจของตน ที่แม้จะขาดภรรยาแต่ก็สามารถที่จะเลี้ยงดูลูกจนโต ทุกครั้งที่ตนพูดคุยกับลูก ก็จะทำให้นึกถึงเหตุการณ์ไฟไหม้ที่โรงงานเคเดอร์ไม่ได้ เพราะนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของตนไปอย่างสิ้นเชิง

 

 

จี้รัฐเข้มงวดนายจ้างดูแลความปลอดภัยพนักงาน

 

 

“วันนั้นมีเพื่อนขับรถมาบอกว่า โรงงานไฟไหม้ แต่ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมากขนาดนี้ จนกระทั่งได้ฟังวิทยุจึงรีบไปที่โรงงาน พอเห็นสภาพโรงงานซึ่งตอนนั้นอาคารพังลงมาหมดแล้ว พอไปเห็นเข้า หมดแรงเลยและพยายามตามหาเมียซึ่งตอนนั้นเขาท้องอยู่ด้วย 3 เดือน ไปหาในทุกที่ เพื่อที่อยากจะได้ศพเขามาทำบุญแต่ก็ไม่พบ มีครั้งหนึ่งเราได้ศพมา เพราะบัตรพนักงานติดอยู่ แต่หลังจากพิสูจน์เอกลักษณ์แล้วก็ปรากฎว่าไม่ใช่เมียเรา เจ้าของศพเขาก็มาเอาคืนไป ตามจนหมดหวังจนทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ศพมา ส่วนลูกตอนนั้นอายุ 4 ขวบ พอไม่มีแม่เขากลายเป็นเด็กที่ซึม และกลายเป็นเด็กเงียบๆ มาจนถึงทุกวันนี้” นายชาญเล่าย้อนอดีตอันเศร้าสลด

พร้อมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยในที่ทำงาน ของสถานประกอบการต่างๆ ในขณะนี้ว่า อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เชื่อว่าเกิดจากความประมาท ของทั้งเจ้าของกิจการและพนักงานเองโดยเฉพาะเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ ที่ควรมีการตรวจสอบและให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ ล้วนมาจากเครื่องจักรที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการทำงานที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย จึงอยากให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเจ้าของกิจการให้ความสำคัญเรื่องนี้ให้มาก โดยหน่วยงานของรัฐควรจะเข้มงวดกับการบังคับใช้กฎหมายด้านมาตรฐานความปลอดภัย และควรจะมีบุคลากรตรวจสอบที่เพียงพอ เพราะมิฉะนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์อันตรายรุนแรงกับพนักงานขึ้นอีกเรื่อยๆ

 

‘บีเอสที’บึ้มเย้ยวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ครั้งนั้น ทำให้ภาคแรงงาน และพนักงานจากโรงงานหลาย ๆ แห่ง ผนึกกำลังกันออกมารณรงค์และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยภายในโรงงานมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำรอยโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์อีก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2540 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่เกิดเพลิงไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว และย้ำเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตราย และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ

แต่ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับยังพบว่า สถานประกอบการต่างๆ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานเท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงปรากฎเป็นข่าวหลายเหตุการณ์ ล่าสุด เหตุการณ์ระเบิดและเกิดไฟลุกไหม้ ที่บริษัท บางกอกซินเทติกซ์ จำกัด หรือ บีเอสที ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกกว่าครึ่งร้อย ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในสถานประกอบการและส่งผลกระทบ ไม่เพียงแต่พนักงานของบริษัทซึ่งอยู่ในเหตุการณ์เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังชุมชนใกล้เคียงด้วย จากสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่างๆ

 

 

อุบัติเหตุเกิดขึ้นทุกวันเจ้าของไม่สนใจ-คนงานห่วงรายได้

 

 

ทั้งนี้สำหรับประเด็นเรื่องของการขับเคลื่อนผลักดันในเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยถ้วนหน้ากับแรงงานที่ต้องทำงานเสี่ยงภัยในสถานประกอบการต่างๆ นั้น นางสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ หนึ่งในคณะทำงานด้านความปลอดภัยในที่ทำงาน และเป็นแกนหลักในการจัดงานระลึก 19 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงาน, เครื่องจักรชำรุดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุกับแรงงาน หรือแม้กระทั่งการรั่วไหลของสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และผู้ที่จะต้องสัมผัสและได้รับผลกระทบโดยตรง ก็ล้วนแต่เป็นคนงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมากลับไม่พบว่า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการจะให้ความสนใจในรายละเอียดมากนัก รวมไปถึงแรงงานเอง มักให้ความสนใจเรื่องของรายได้มากกว่าความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง

ซึ่งในการจัดงานที่ระลึกเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ครั้งนี้ คณะทำงานได้พยายามจะจัดงานที่ระลึกขึ้นทุกปี จุดประสงค์สำคัญนอกจากที่จะเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตแล้ว ยังต้องการที่จะตอกย้ำให้หน่วยงานราชการ องค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเอง ตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเองในสถานที่ทำงานมากขึ้นนอกเหนือจากเรื่องของค่าตอบแทน หรือสวัสดิการต่างๆ  นั่นเอง

 

เรียกร้องตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ 19 ปีไม่คืบ

 

 

นางสงวนกล่าวต่อว่า ล่าสุดเหตุการณ์ที่เกิดเหตุระเบิดที่บริษัทบางกอกซินเทติกซ์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ เป็นกลุ่มพนักงานโรงงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคงต้องตั้งคำถามไปถึงเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยในโรงงานว่า แม้เวลาจะผ่านมาเป็นเวลานาน จากประสบการณ์ที่เกิดเหตุโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ ผ่านมาถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุภายในโรงงานอุตสาหกรรมอีกมากมาย แต่กลับพบว่า ความปลอดภัยภายในโรงงานก็ยังไม่ได้มีการเข้มงวดใส่ใจมากนัก และหากย้อนอดีตกลับไปหลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์แล้ว ขบวนการแรงงานเองได้พยายามขับเคลื่อนในประเด็นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงานและขบวนการแรงงานมาโดยตลอด และสามารถเรียกร้องจนรัฐบาลกำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันแห่งความปลอดภัยในการทำงาน แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่คณะทำงานจะต้องเคลื่อนไหวต่อไป เพราะยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเฉพาะการยกร่าง “สถาบันส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย และกลุ่มแรงงานก็คงจะต้องช่วยกันขับเคลื่อนเรียกร้องกันต่อไป เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

“แม้ว่าเราจะเคลื่อนไหวกันมา 19 ปีหลังเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ แต่ก็ปรากฎว่ายังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมมากนัก โดยเฉพาะสถานการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านการทำงานในสถานประกอบที่ยังน่าเป็นห่วง เช่น อุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน พบว่ายังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ปัญหาโรคที่เกิดจากการทำงานเช่น โรคที่เกิดจากฝุ่น จากสารเคมี การเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาล และการวินิจฉัยจากแพทย์ ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการรักษา หรือการได้รับสิทธิที่ควรได้จากนายจ้าง และจากสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ด้านความไม่ปลอดภัยเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้น หากรัฐไม่มีมาตรการในการป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับคนงานอย่างเป็นรูปธรรม” นางสงวนกล่าว

 

ย้ำต้องรณรงค์ ความปลอดภัยให้สำคัญเท่าเรื่องรายได้

 

 

ด้านนางอรุณี ศรีโต ประธานสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวระหว่างการเสวนาในเวทีเดียวกันว่า ความปลอดภัยในการทำงานถือว่าเป็นเรื่องที่ควรจะต้องมีการรณรงค์เพื่อให้แรงงาน พนักงาน คนใช้แรงงานในสถานประกอบการ โรงงานได้รับรู้อย่างกว้างขวาง และตระหนักถึงความปลอดภัยของตัวเอง ซึ่งหากพิจารณาดูในขณะนี้จะพบว่า แรงงานส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับเรื่องของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าความปลอดภัย เรื่องสุขภาพ โดยหากมีการพูดถึงเรื่องของค่าแรง 300 บาทที่เพิ่มขึ้นแรงงานจะกระตือรือล้นสนใจ และพยายามจะเคลื่อนไหว มากกว่าการชี้ให้นายจ้างดูแลเรื่องความปลอดภัย สุขภาพซึ่งแท้จริงแล้วน่าจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรจะให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง เช่น ในกรณีของเหตุการณ์ไฟไหม้เคเดอร์

ขณะนี้หากไปถามแรงงานรุ่นใหม่ กลับจะไม่มีใครรับรู้มากนัก ทำให้ไม่เกิดการตื่นตัว แตกต่างกับในอดีตหลังเกิดเหตุใหม่ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยเหล่านี้ แค่เพียงไปเอ่ยปากกับนายจ้างว่าต้องการให้เกิดความปลอดภัย นายจ้างจะรีบจัดการทันที แต่เมื่อเวลาผ่านไปและหากไม่มีการพูดถึง ปล่อยให้เรื่องเงียบไป ความกระตือรือร้นจะหายไป ดังนั้นจึงคิดว่า สิ่งสำคัญนอกจากการเคลื่อนไหวเรื่องของรายได้แล้ว ควรจะมีการเคลื่อนไหวนำประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีตมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำให้เกิดการตระหนักสืบต่อรุ่นต่อรุ่นต่อไปด้วย

 

“วันนี้นั่งแท็กซี่ แท็กซี่เป็นคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 26-27 ปี เขาบอกว่าเขาเคยได้ยินเรื่องของโรงงานเคเดอร์เหมือนกัน แต่ได้ยินตอนเด็กๆ แต่เขาไม่รู้ว่าคนงานเป็นอะไรตาย เพราะอะไร นั่นแสดงว่าเรื่องของความปลอดภัยที่เราพยายามเคลื่อนไหวมันจะหายไป หากไม่มีการเคลื่อนไหว รณรงค์ต่อเนื่อง ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ในระยะหลังเรื่องความปลอดภัยในสถานประกอบการถูกละเลยมาก จะเห็นได้ว่ามีข่าวเรื่องไฟไหม้โรงงานหลายที่ มีระเบิด เครื่องจักรทำงานผิดพลาดคนงานได้รับบาดเจ็บมากมาย เราจึงต้องมาทบทวนกันว่า การรณรงค์เรื่องความปลอดภัยตอนนี้ เราทำไปได้มากน้อยแค่ไหน รัฐเองให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหนเช่นกัน”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: