ศอ.บต.ตั้งกก.จัดทำป้าย3ภาษา ส่งเสริมอัตลักษณ์จว.ชายแดนใต้

นูรยา เก็บบุญเกิด ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ 7 มิ.ย. 2555


เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 นางอลิสรา มะแซ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ส่วนกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้หารือในประเด็นเรื่องการจัดทำป้าย 3 ภาษา โดยมีมติให้จัดทำป้าย 3 ภาษา โดยให้หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนที่สำคัญเป็นพื้นที่นำร่อง เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล เรือนจำหรือสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะมีการติดตั้งป้าย 3 ภาษานี้เพิ่มเติมในสถานที่สาธารณะอื่นๆ

 

                       “คนมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พูดภาษามลายูเป็นภาษาแม่ แม้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยได้ การมีภาษาเป็นของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับอัตลักษณ์คนมลายูมุสลิมซึ่งบางคนมองว่า รัฐไทยพยายามที่จะทำลายอัตลักษณ์ของพวกเขา ในอดีต หน่วยงานราชการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารเท่านั้นและป้ายสาธารณะต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เขียนเป็นภาษาไทยภาษาเดียว ในปี 2548 คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ได้เสนอให้มีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานในพื้นที่3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ผู้ที่ออกมาคัดค้านข้อเสนอนั้น เป็นท่านแรกคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และไม่ได้มีการนำมาใช้แต่อย่างใด” นางอลิสรากล่าว

 

สำหรับความริเริ่มในการทำป้าย 3 ภาษานี้ นางอลิสราระบุว่า ในขั้นตอนต่อไปจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาและอัตลักษณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดว่าจะมีประมาณ 7 - 8 คน และจะคัดเลือกผู้ทรวงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณและจากหน่วยงานราชการอื่นๆ โดยคาดว่าจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตามในการประชุม กพต.เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ที่ศอ.บต. ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศอ.บต. เป็นประธาน ที่ประชุมได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดทำป้าย 3 ภาษานี้ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธและมุสลิมในพื้นที่ และเพื่อให้เกิดความสะดวกและการสื่อสารที่ดีขึ้นสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อกับหน่วยงานราชการ เนื่องจากภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ จึงต้องคำนึงถึงผลระยะยาว ทำให้เกิดความความถูกต้อง เป็นกลางและเป็นที่ยอมรับ โดยหลังจากได้ข้อสรุปในการออกแบบป้ายแล้ว กรมทางหลวง แขวงการทางจะดำเนินการในการจัดทำป้ายต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: