จี้รัฐเร่งลงนามสัตยาบันอนุสัญญาแรงงาน หวังคุ้มครองลูกจ้าง-ขวางถูกละเมิดสิทธิ นัดเคลื่อนไหวตค.นี้-ขีดเส้นให้จบปี2556

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1896 ครั้ง

 

รอ 20 ปี ไทยยังไม่ลงนามอนุสัญญาแรงงาน

 

 

นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO – International Labour Organizatrion) เมื่อปี 2462 และตั้งสาขาขึ้นในกรุงเทพมหานคร สหภาพแรงงานไทยและกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้พยายามรณรงค์ ส่งเสริมการให้สัตยาบันและปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในฉบับที่ 87 และ 98 แต่จนวันนี้ประเทศไทย ยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

 

แม้ว่าการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำปีสมัยที่ 99 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 กระทรวงแรงงานได้กล่าวถึงอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างมีนัยสำคัญว่า ประเทศไทยตระหนักในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ และกำลังจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ด้วยความเคารพต่อสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงาน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประเทศไทย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ

 

รายละเอียดอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ.2491 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ.2492 เป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศภาคีสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 183 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 จำนวน 150 ประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 จำนวน 160 ประเทศ

 

 

อนุสัญญาฉบับที่ 87 รัฐห้ามขัดขวางองค์กรแรงงาน

 

 

สำหรับสาระสำคัญของอนุสัญญาฉบับที่ 87 คือ 1.แรงงานและนายจ้างมีสิทธิรวมตัวได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้า 2.แรงงานและนายจ้างมีสิทธิรวมตัวได้ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในอาชีพ สีผิว อาชีพ เชื้อชาติ สัญชาติ ลัทธิความเชื่อทางศาสนาและการเมือง 3.องค์กรของแรงงานและนายจ้างต้องมีสิทธิก่อตั้งและเข้าร่วมสหพันธ์แห่งชาติ และเป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างประเทศได้ 4.เจ้าหน้าที่รัฐต้องละเว้นการแทรกแซงใด ๆ หรือการขัดขวางจำกัดสิทธิในการยกร่างธรรมนูญ และกฎข้อบังคับ 5.การคัดเลือกผู้แทนการบริหารองค์กร และการดำเนินกิจกรรมขององค์กรแรงงานและนายจ้างโดยเสรี  6.การนำหลักการของอนุสัญญานี้ไปใช้บังคับกับทหารและตำรวจ ต้องกำหนดโดยกฎหมายแห่งชาติเท่านั้น

 

 

อนุสัญญาฉบับที่ 98 เน้นให้รัฐคุ้มครองลูกจ้าง

 

 

ส่วนอนุสัญญาฉบับที่ 98 ระบุว่า 1.รัฐต้องคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวจากการกระทำใด ๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่ทำให้แรงงานไม่เข้าร่วมสหภาพ หรือต้องออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพหรือการเลิกจ้าง เพราะการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน  2.รัฐต้องคุ้มครององค์กรของแรงงานและของนายจ้างอย่างเพียงพอจากการแทรกแซงโดยนายจ้าง  3.รัฐต้องดำเนินการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ให้กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและการต่อรองร่วมสามารถบังคับใช้ได  4.รัฐต้องส่งเสริมการพัฒนากลไกการเจรจาต่อรองร่วมกันโดยเสรีระหว่างแรงงานและนายจ้าง  5.การนำอนุสัญญานี้ไปใช้บังคับกับทหารและตำรวจ ต้องได้รับการกำหนดโดยกฎหมายแห่งชาติเท่านั้น  6.อนุสัญญานี้ไม่ใช้บังคับกับข้าราชการซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐ และต้องไม่ใช้ไปในทางที่เป็นอคติต่อสิทธิหรือสถานะของข้าราชการ

 

ส่วนความคืบหน้าของการลงนามอนุสัญญาด้านแรงงานทั้ง 2 ฉบับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และสภาฯต่อไป

 

 

องค์กรนายจ้าง เสนอลงนามฉบับ 98 ชะลอ 87

 

 

ด้านองค์กรนายจ้าง นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิในการคุ้มครองการรวมตัวเจรจาต่อรอง แต่การทำความเข้าใจในประเด็นการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ นายจ้างส่วนหนึ่งยังไม่มีความเข้าใจและยังกลัว จึงมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะให้สัตยาบัน ซึ่งนายจ้างมีข้อเสนอให้สัตยาบันฉบับเดียวคือ ฉบับที่ 98 โดยให้ชะลอการให้สัตยาบันฉบับที่ 87 ไปก่อน จึงอยากให้กระทรวงแรงงานจัดประชุมทำความเข้าใจกับนายจ้างส่วนใหญ่ด้วย จัดรูปแบบเดียวกันกับที่ทางลูกจ้างจัดขึ้นก็ได้ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับนายจ้างว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนั้น นายจ้างก็มีสิทธิในการรวมตัวได้ เช่นเดียวกับลูกจ้าง เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เป็นหน้าที่ของกระทรวงแรงงานที่จะทำอย่างไรให้นายจ้างเห็นด้วย และยอมรับสิทธิของลูกจ้างในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ด้วยมองเห็นว่า สิทธิดังกล่าวไม่ได้น่ากลัว และนายจ้างเองจะได้ประโยชน์ต่อการรวมตัวดังกล่าวนั้นด้วย

 

 

กระทรวงแรงงานเดินหน้าลงนามทั้ง 2 ฉบับ

 

 

นายอนุสรณ์ ไกรวัฒนุสรณ์  ผู้ช่วยรมว.แรงงาน กล่าวว่า ความร่วมมือของขบวนการแรงงานในการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ทั้ง 2  ฉบับ เป็นการส่งเสริมสิทธิในระบบไตรภาคี ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ทั่วโลกยอมรับว่า ประเทศไทยให้การส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO สำคัญ ๆ ด้านสิทธิแรงงานไปแล้ว 5 ฉบับ จากทั้งหมด 8 ฉบับ และอีก 2 ฉบับ ได้มีการกำหนดแล้วว่าจะให้สัตยาบัน โดยได้ทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ทางนายจ้างติงเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ว่าควรมีการจัดส่วนของนายจ้างเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง และคัดค้านการให้สัตยาบันอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับ กระทรวงจะรับไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป

 

ในระดับสากลการให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว บางประเทศให้สัตยาบันฉบับที่ 87 และบางประเทศให้สัตยาบันฉบับที่ 98 ซึ่งเป็นการเลือกให้สัตยาบันเพียงฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น และมีบางประเทศที่ให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ แต่แม้จะให้สัตยาบันแล้ว มีบางประเทศไม่ได้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาก็มีเช่นกัน และเห็นว่าประเทศไทยคงไม่น้อยหน้าประเทศต่าง ๆ ที่ให้สัตยาบันแน่นอน เพราะแนวโน้มก็จะมีการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ พร้อมทั้งออกกฎหมายมาบังคับใช้

 

 

พบปัญหารัฐแทรกแซงสหภาพแรงงาน

 

 

ทั้งนี้สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ทำประชาพิจารณ์ เพื่อเตรียมความพร้อม ในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98  พบว่า สถานการณ์ด้านการรวมตัวของขบวนการแรงงานไทยยังมีปัญหา คือ เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะดำเนินการกับผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน เช่น ไล่ออก การกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย

 

นอกจากนี้กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ

 

การแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจ ออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย ต้องทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน และกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงาน หรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

 

 

เน้น 2 ฝ่ายหารือ รัฐรับดำเนินการแต่ต้องไม่แทรกแซง

 

ด้านนายสาวิทย์ แก้วหวาน ผู้แทนจากสหภาพแรงงานไทย กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เป็นอนุสัญญาหลักใน 8 อนุสัญญา ของ ILO เรียกว่าอนุสัญญาฝาแฝด อนุสัญญา 87 พูดถึงสิทธิในการรวมตัว ทั้งนี้การรวมตัวที่สำคัญ ต้องปราศจากการแทรกแซงใด ๆ จากรัฐ เป็นการรวมตัวกันโดยเสรี รัฐห้ามมาเกี่ยวข้อง ซึ่งยังมีกลไกของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น สหภาพต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง กระทรวงแรงงานมีอำนาจถึงขนาดที่ว่า ถ้ากรรมการสหภาพทำผิดวัตถุประสงค์ของสหภาพ นายทะเบียนจากหน่วยงานของรัฐ คือกระทรวงแรงงานสั่งเพิกถอนใบอนุญาตกรรมการได้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าการจะเข้าเป็นสมาชิก การจะพ้นจากตำแหน่ง เป็นเรื่องของกลุ่ม และรัฐไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

 

ทั้งนี้ตามหลักการของอนุสัญญาคือ การคุยกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ที่สามารถหาข้อยุติได้ ข้อมูลที่นายจ้างต้องให้กับลูกจ้าง บนผลประโยชน์ร่วมกัน คือทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะมีข้อจำกัด แต่ลูกจ้างอาจจะไม่รู้ว่านายจ้างมีข้อจำกัด ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ต้องมาเปิดเผยให้รับรู้ร่วมกัน เช่น ผลประกอบการในแต่ละปี ลูกจ้างร้องขอโบนัส 10 เดือน นายจ้างบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะผลประกอบการมีเท่านี้ ลูกจ้างได้เห็นตัวเลขรู้ว่านายจ้างพูดจริง ดังนั้นหลักการเหล่านี้เป็นเรื่องที่คุยกันได้ กระบวนการนี้จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาต่อรองบนฐานข้อมูลที่ตรงกัน ตกลงกันได้ เพื่อนำไปสู่การอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุขในสังคม

 

 

                      “ยกตัวอย่างเช่น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งความจริงแล้วเรื่องค่าจ้างเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่ที่ผ่านมารัฐใช้ประเด็นเรื่องค่าจ้างเป็นประเด็นการเมือง เช่น 300 บาท เป็นการกำหนดจากรัฐ โดยไม่ได้ดูที่ผลประกอบการ ซึ่งน่าจะเป็นการตกลงกันของนายจ้างและลูกจ้าง อาจจะไม่ใช่ 300 บาท อาจจะมากกว่านั้น 500 บาท 1,000 บาท หรือน้อยกว่านั้น ตามแต่เจรจาตกลงกัน นี่คือหลักการใหญ่ๆของอนุสัญญา” นายสาวิทย์กล่าว

 

 

รัฐดึงเกมอนุสัญญาเอื้อกลุ่มทุน เมินสิทธิแรงงาน

 

 

ผู้แทนสหภาพแรงงานไทยกล่าวต่อว่า ถ้ารัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญานี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงาน เพื่อรองรับกับอนุสัญญา ดังนั้นถ้ามีการรับรองอนุสัญญาแล้ว กฎหมายแรงงานจะเปลี่ยน สิ่งที่ตามมาคือกลุ่มคนต่าง ๆ สามารถรวมตัวกันได้ ในสาขาอาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทหาร ที่สำคัญคือ ถ้ามีกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้น มิติทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำจะลดน้อยลง เพราะจะเป็นกลไกสร้างความสมดุลในการอยู่ร่วมกันในสังคม ว่าต้องไม่เอาส่วนแบ่งมากเกินไป จะถ่วงดุลกันเอง เพราะวันนี้บ้านเรามีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน กว้างมาก กลไกความเป็นประชาธิปไตยในสหภาพแรงงานในการรวมตัวกัน อยู่ในสภาพที่ย่ำแย่และตกต่ำ รัฐไม่สนับสนุนยิ่งทำให้ช่องว่างเหล่านี้กว้างออกมากขึ้น ซึ่งอะไรก็แล้วแต่ที่จะทำให้คนรวมตัวกัน แล้วไปดึงผลประโยชน์ที่ฝ่ายทุนควรจะได้ แน่นอนว่ารัฐบาลต้องไม่เห็นด้วย

 

 

                         “เป็นสิ่งที่ตอบว่า ทำไมประเทศไทยถึงรับรองอนุสัญญาเรื่องแรงงานระหว่างประเทศน้อยมาก ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ด้านการค้าการลงทุนประเทศไทยเรียกร้องให้ต่างชาติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ฐานการผลิต หวังจะพึ่งต่างชาติเป็นหลัก แต่อีกมิติหนึ่งกลับทอดทิ้งในการรับรองสิทธิของคนงาน และไม่คิดจะพัฒนาในด้านนี้ไปสู่ความเป็นสากล ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเหมือนกันหมด”

 

 

กลุ่มประเทศ EU สหภาพยุโรปส่วนใหญ่รับรองกันทั้งหมด เพื่อนบ้านในประเทศแถบเอเชีย พม่าและเขมรรับรองแล้ว บางประเทศอาจจะรับรองไม่ครบทั้ง 2 ฉบับ เช่น พม่ารับรองฉบับที่ 98 แต่ยังไม่รับรองฉบับที่ 87 ซึ่งถือว่าก้าวหน้ากว่าไทย อย่างไรก็ตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับต้องไปคู่กัน เพราะแม้จะมีอำนาจในการรวมตัว แต่การต่อรองไม่เกิดผลก็ไม่มีประโยชน์ หรือมีสิทธิในการเจรจาต่อรอง แต่ขาดอำนาจในการรวมพลัง มันก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งสองส่วนต้องเกี่ยวไปด้วยกัน จึงเรียกร้องว่าทั้ง 2 ฉบับต้องไปด้วยกัน การเรียกร้องที่ผ่านมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2535 แต่มาทำเข้มข้นในช่วง 10 ปีหลัง และหนักมากในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขั้นคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการลงนามของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จนเข้าสู่รัฐสภา สุดท้ายต้องถูกถอนออกมา เพราะไม่มีกฎหมายลูกรับรอง และให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานที่จะเป็นผู้ให้สัตยาบัน

 

 

รัฐกลัวปัญหาความมั่นคงจากแรงงานต่างชาติ

 

 

นายสาวิทย์กล่าวต่อว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นอนุสัญญาหลักเรื่องแรงงาน ซึ่งรัฐบาลมีความกังวลมาก  ประเด็นที่รัฐบาลอ้างบ่อยคือ เรื่องความมั่นคงจากแรงงานข้ามชาติ เพราะแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนมาก รัฐบาลกลัวว่าถ้ารับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และแรงงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนจะสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ที่น่ากลัว เพราะคนงานจากประเทศไทยไปทำงานในต่างประเทศมีมาก และมีการตั้งสหภาพแรงงานด้วย เช่น ที่ฮ่องกง มีแรงงานรวมไทยในฮ่องกง เกาหลีก็มี และกฎหมายของประเทศนั้น ๆ คุ้มครองคนไทยด้วย จึงไม่ใช่ข้อน่าวิตกกังวล

 

 

                      “ผมเคยโต้เรื่องนี้บ่อยๆว่า ชายแดนภาคใต้มีพม่าไหม ก็ไม่มีความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้น และความรุนแรงในสังคมไทยมีสักกี่เปอร์เซนต์ที่มีพม่าเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแรงงานต่างชาติเข้าไปเกี่ยวข้อง แท็กซี่แทงกัน 100 กว่าแผล เด็กตีกัน อะไรพวกนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติเลย เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแลสังคม” นายสาวิทย์กล่าว

 

 

ใช้วิธีแบ่งแยกแรงงาน ลดอำนาจการต่อรอง

 
อย่างไรก็ตาม นายสาวิทย์กล่าวว่า ปัญหาลึก ๆ ที่รัฐบาลไม่พูด เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่จะต้องถูกดึงเอาไปมากกว่า วิธีคิดของนายทุนจะเป็นแบบนี้ หลักการคือว่า เมื่อจำนวนเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายไปจากการรวมตัวของคนงาน แน่นอนว่ากลุ่มนายทุนต้องเสียผลประโยชน์ ดังนั้นเขาจึงไม่ต้องการให้คนงานรวมตัวกันได้  อีกประเด็นหนึ่งคือ รูปแบบการจ้างงานที่เปลี่ยนไป พยายามดึงคนงานในโรงงานออกนอกโรงงาน ใช้วิธีจ้าง out sorce เหมาช่วง อย่างแว่นตาหนึ่งอัน ไม่ได้เสร็จที่โรงงาน แต่ส่วนประกอบแต่ละอย่างแยกกันออกไปทำที่อื่น ไม่พยายามที่จะให้คนรวมเพื่อแก้ปัญหาการรวมตัวและการต่อรอง ดังนั้นจึงขาดอำนาจในการต่อรอง อันนี้คือด้านหนึ่งที่ฝ่ายทุนพยายามทำในปัจจุบัน อำนาจการต่อรองคนงานจึงน้อยลง ดังนั้นเราจึงเสนอว่า สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวกันต้องมี ใครจะรวมกับใครที่ไหน อย่างไร สามารถทำได้ ซึ่งการกระจายคนเป็นรูปแบบหนึ่งที่แหล่งทุนคิด กระจายคนออกไป ไม่ให้มีการรวมตัวกัน กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องของการควบคุม มากกว่าที่จะส่งเสริม มนุษย์ทุกคนอยากจะคิดดีทำดีทั้งนั้น การรวมตัวกันก็เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

 

จากเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด และรัฐไม่ยอมลงสัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลกลัว ซึ่งถ้ามองในแง่มิติเชิงความคิด ต้องเข้าใจว่ารัฐเป็นตัวแทนของใคร รัฐเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน ดังนั้นกลไกทั้งหมดต้องสนองต่อนายทุน ดังนั้นความกลัวของรัฐไม่ใช่การกลัวว่า คนงานจะแย่งชิงอำนาจแต่กลัวผลประโยชน์ของตนเองจะหายไป

 

 

7 ตุลาเคลื่อนไหวใหญ่ ผลักดันรัฐลงนามภายในปี 2556

 

อย่างไรก็ตามในขณะที่เครือข่ายแรงงานผลักดันเคลื่อนไหวกับทางรัฐบาล แต่ในส่วนคนงานต้องมีการให้วามรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนงานมีความมุ่งมั่นในการผลักดันร่วมกัน ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอด ทำให้แรงงานตื่นตัวตลอดเวลา โดยกำหนดไว้ว่าจะเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นวันงานที่มีคุณค่า  จะวางแผนในการที่จะผลักดัน โดยตั้งเป้าว่าในปี 2556 รัฐบาลต้องลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้

 

 

 

          “ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องแรงงานว่า 87 และ 98 ไม่ใช่ตัวเลขให้หวย แต่เป็นอนุสัญญาที่จะเป็นประโยชน์เพื่อสร้างแรงดันในการกดดัน การล็อบบี้กับฝ่ายการเมืองต้องทำต่อไป การรณรงค์กับสื่อก็ต้องทำ เพราะสื่อมวลชนเองมีสิทธิในการที่จะรวมตัวกัน”

 

 

 

 

ล่าสุดเครือข่ายแรงงาน ได้ดำเนินการอีกทางหนึ่ง โดยร่างกฎหมายแรงงาน และให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 12,000 รายชื่อ และยื่นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายแรงงานฉบับนี้ คือ ลูกจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง กรรมกร รวมอยู่ในกฎหมายแรงงานฉบับนี้  โดยสามารถตั้งสหภาพแรงงานได้ สามารถเจรจาต่อรองได้  สิ่งที่ก้าวหน้าคือ เป็นการปฏิวัติกฎหมายแรงงานใหม่ทั้งหมด และเป็นกฎหมายที่สอดรับกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งกำลังเดินคู่ขนานไปกับการเรียกร้องให้ลงนามในอนุสัญญา เพราะท้ายที่สุดแล้วถ้ารัฐบาลลงนามในอนุสัญญา ก็ต้องแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมดเกี่ยวกับแรงงาน ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา 87และ 98  มีกฎหมายหลายตัวขัดต่ออนุสัญญา 2 ฉบับนี้ด้วย ยังไงก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข

 

 

หวั่นไทยโดนข้อหาละเมิดสิทธิแรงงาน

 

 

กระทรวงแรงงานอ้างว่า ขอแก้กฎหมายก่อนแล้วถึงจะลงนามรับรอง ซึ่งที่จริงไม่จำเป็นต้องรอ สามารถทำไปพร้อมกันได้ ILO บอกว่าให้เวลา 1 ปีหลังจากลงนามรับรองในการแก้กฎหมาย หรือหากลงนามรับรองแล้ว ประเทศไทยเห็นว่าอนุสัญญานี้ไม่มีความเหมาะสม 10 ปี ผ่านไปสามารถที่จะถอนการลงนามได้ ด้านหนึ่งที่กำลังขับเคลื่อนกัน

 

 

ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยล่าช้าในขณะที่ไทย มีการพึ่งพาประเทศต่าง ๆ ค่อนข้างสูง เรื่องของการส่งออกและการลงทุนผลผลิตภายในประเทศ 70 เปอร์เซนต์ ที่เราส่งออกนอก โดยเฉพาะทางยุโรป ซึ่งเขาพูดกันมากเรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าประเทศไทยมีการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน หรือมีกลไกไม่รับรองกติกาสากล อนาคตข้างหน้ามิติทางด้านการกีดกันทางการค้า โดยใช้เงื่อนไขละเมิดสิทธิด้านแรงงาน จะทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์ รวมไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แน่นอนที่สุดว่ากติกาเหล่านี้จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่าต้องไม่มีลักษณะกีดกัน ผมคิดว่าถ้ายิ่งช้าจะยิ่งเสียโอกาส น่าจะรับรองไป มีปัญหาตรงไหนค่อย ๆ แก้กันไป

 

จากมุมมองของต่างประเทศคงสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยถึงไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพราะหากดูในภูมิภาคนี้ ประเทศไทยถือได้ว่า เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีรัฐบาล มีการเลือกตั้ง มีเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะเปิด ดังนั้นมิติทางสิทธิต่าง ๆ น่าจะเปิดกว้างด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากพม่า เขมร แต่ประเทศเหล่านั้นกับมีการลงนามรับรองแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดูเหมือนเปิดกว้างทางสากล แต่ทำไมถึงไม่มีการลงนามรับรอง ซึ่งถ้าหากอนุสัญญา 2 ฉบับนี้เปิด ตัวอื่นก็ไม่ยาก เรื่องอื่น ๆ จะตามมา เช่นวันลา ค่าจ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อนุสัญญานี้ออกแล้วจะพลิกฝ่ามือ ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างน้อยก็มีตัวเปิดให้คนได้รวมตัวกัน เมื่อรวมตัวกันได้เรื่องอื่นก็ไปได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: