ชำแหละ 'นักเขียนก็อปปี้ผลงานคนอื่น' จี้สำนักพิมพ์ทุ่มเท-อย่าเร่งผลิตอย่างเดียว

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 5 เม.ย. 2558 | อ่านแล้ว 5798 ครั้ง

ชำแหละ 'นักเขียนก็อปปี้ผลงานคนอื่น' เหลือบในวงวรรณกรรม ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนฯ ชี้ เกิดจากความมักง่ายของคนลอก ที่ไร้จริยธรรมและศีลธรรม ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กรุ่นใหม่ ที่ไม่คิดอะไรมาก เพราะทำกันมาตั้งในโรงเรียน เพราะคิดว่าคนอื่นไม่รู้ และยิ่งถึงยุคไอทีการลอกยิ่งง่ายขึ้น แนะคนอ่าน บรรณาธิการ ต้องตรวจสอบให้ดี ด้านบก.ชื่อดังชี้ สำนักพิมพ์อยากได้งานเขียนของเด็ก เพราะขายง่าย เด็กก็อยากดังเร็ว จึงลอกมา เมื่อไม่มีใครจับได้ก็ยิ่งลำพอง | ที่มาภาพประกอบ: csusmchronicle.com

หากเดินดูตามร้านหนังสือ หรือในงานสัปดาห์หนังสือ มหกรรมหนังสือต่างๆ จะพบหนังสือใหม่ๆ จำนวนมาก ทั้งจากนักเขียนมืออาชีพที่ขยันผลิตผลงานออกมาสู่ผู้อ่านสม่ำเสมอ และนักเขียนหน้าใหม่ที่ผลิตผลงานออกมาเพื่อแนะนำตัวเองมากมายเช่นกัน แต่ในบรรดาหนังสือเหล่านี้ หากเป็นหนอนหนังสือจริงๆ หรือผู้รู้ทั้งหลาย จะพบว่ามีผลงานอันไม่พึงประสงค์รวมอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลงานเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากมันสมองของนักเขียนที่มีจริยธรรม แต่กลับเกิดจากบุคคลที่มักง่าย ใช้วิธี “ลอก” หรือนำผลงานของนักเขียนมืออาชีพหลายเล่มมารวมกัน และใช้ชื่อตัวเองเป็นนักเขียนเสียเองด้วยความไม่รับผิดชอบ หรือทำตัวเสมือนเป็น “นักเขียนโจร” ก็ว่าได้

ศูนย์ข่าว TCIJ จึงติดตามสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในวงการนักเขียน เพื่อหาคำตอบในเรื่องนี้ ว่ามีมาตรการอย่างไรที่จะขจัดคนเหล่านี้ออกไปให้พ้นวงวรรณกรรมของเมืองไทย

นักเขียนอาวุโสชี้การลอกงานคือโจรในวงวรรณกรรม

ชมัยภร แสงกระจ่าง ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

นางชมัยภร แสงกระจ่าง ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่เสมอ บางครั้งบรรณาธิการไม่สามารถรู้ได้ จนกว่าหนังสือจะตีพิมพ์และมีคนร้องเรียน ว่าหนังสือเรื่องนี้ลอกมาจากงานเขียนของคนอื่น ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับคนที่เป็นผู้ใหญ่ อายุมาก อาจจะเป็นไปได้ว่า เขาอาจจะหลง สติไม่สมประกอบ

“กรณีหนึ่งเคยมีข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วลอกงานมาส่ง เห็นชัดเจนในฐานะบรรณาธิการว่าเป็นการลอกงานมาส่ง ก็ตอบกลับไปว่า ไม่สามารถตีพิมพ์ได้ ซึ่งเขาลอกไปส่งทุกที่เป็นข่าวเกรียวกราว เขาให้คำตอบว่าใครๆ ก็ลอกทั้งนั้น อันนี้จะเกิดกับคนที่ไม่เข้าใจ ยังมีที่เกิดกับเยาวชน พี่เคยทำเรื่องประกวดงานเขียน เด็กบางคนลอกงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส่งมาเลย ผ่านกระบวนการตรวจจากอาจารย์มาด้วย ครูเป็นคนสั่งให้เด็กเขียนแล้วส่งมา เป็นการประกวดเรื่องสั้น เราถามไปทางครูว่า รู้หรือไม่ว่าเด็กลอก ครูบอกว่าไม่มีเวลาอ่าน แต่จริงๆแล้วลอกกันทั้งโรงเรียน แต่ครูไม่สนใจ เพราะต้องการจะมีงานส่ง แค่นั้นเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสอน ครูไม่สอน ผู้ใหญ่ไม่บอก เด็กก็ไม่รู้ ยิ่งในสมัยนี้เรื่องอินเตอร์เน็ตเฟื่องมาก ลอกกันง่ายๆจากอินเตอร์เน็ต ต้องระมัดระวังเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นง่ายมาก สมัยนี้กระบวนการดัดแปลงมันง่ายเหลือเกิน” 

ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยกล่าวต่อว่า ในฐานะคนอ่านเรามีหน้าที่ต้องตรวจสอบด้วย และถ้าจะเรียกให้แรงคนเหล่านี้เหมือนโจรในแวดวงวรรณกรรม ถ้าเราเป็นนักอ่านเราต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบว่า งานชิ้นนี้เคยพิมพ์ที่ไหนมาหรือไม่ คล้ายกับงานเขียนของใครหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่คล้ายกันแต่เป็นการดัดแปลงมาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่ปัญหา และยิ่งมีการบอกว่าดัดแปลงมาจากของใคร ยิ่งดี แต่ในกรณีที่เหมือนกันหมดมีการดัดแปลงเล็กน้อย ถือว่าเป็นการผิดจริยธรรมอย่างรุนแรงและผิดกฎหมายด้วย

“การลอกผลงานของคนอื่น เอาผลงานของคนอื่นมาเขาเรียกว่าขโมย ข้อสองผิดกฎหมายเพราะถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ถ้าคุณจะเหมือนเขาได้ ถ้าเป็นเพลงเหมือนได้แค่ 4 คำหรือ 6 คำ เพลงอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่นวนิยายเรื่องสั้น เป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามาทั้งหน้าก็จบแล้ว ย่อหน้าก็ถือว่าลอกแล้ว”

การลอกงานเขียนแบบนี้  ถ้าหากว่ามีการตีพิมพ์ออกมานั้นไม่ค่อยพบมากนัก แต่ส่วนที่ไม่ได้ตีพิมพ์นั้นพบค่อนข้างมาก เรื่องนี้ต้องใส่เข้าไปในระบบการศึกษา เข้าไปสู่โรงเรียน

“เวลาที่จัดทำหลักสูตรฝึกอบรมตามโรงเรียนต่างๆ จะ พยายามใส่เรื่องของการเตือนการคัดลอกวรรณกรรมลงไปเสมอ ให้รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เวลาเราทำต้นฉบับเราต้องมีศักดิ์ศรี จะมีหัวข้อชื่อว่า ‘ลิขสิทธิ์และศักดิ์ศรีของนักเขียน’ ที่จริงแล้วเรื่องนี้เป็นศีลธรรมเบื้องต้น ที่ไม่ควรจะไปขโมยงานของคนอื่นเขา ผิดศีลด้วย”

พบเด็กรุ่นใหม่ลอกงานมากขึ้น       

การลอกงานเขียนส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่ลอกงานส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก นางชมัยภรกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่เป็นแบบนี้คือความที่อยากมีผลงานตีพิมพ์และคิดว่าคนอื่นไม่รู้ และที่พบคือมักจะไปลอกงานเก่าๆ ไม่ใช่ลอกงานที่เพิ่งตีพิมพ์  ผลงานส่วนใหญ่ที่ลอกมาจะมีอายุประมาณ 10-20 ปีขึ้นไป ซึ่งเจ้าของงานที่เขียนงานไว้อาจจะไม่ได้สนใจ นักอ่านก็จำไม่ได้ แต่บังเอิญว่าฟ้ามีตาเจ้าของตามเจอทุกครั้ง เหมือนกับว่าทำผิดแล้วความผิดปรากฏขึ้นมา ซึ่งอาจจะเนื่องจากการลอกงานเพื่อต้องการตีพิมพ์นั้น ต้องเลือกเรื่องที่มีคุณภาพในระดับหนึ่งงานจึงโดดเด่น เป็นที่จับตา ส่วนมาตรการเด็ดขาดที่จะจัดการคือ ต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด และมีการเผยแพร่เป็นตัวอย่างออกไป คนอื่นที่คิดจะทำจะได้รู้ว่าทำไม่ได้ และรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่นมากขึ้น 

“ถ้าเรามีความเป็นนักเขียนมากพอ เราจะไม่ลอกงานของใคร เราจะมีศักดิ์ศรีของเราเอง และการลอกงานเป็นตราบาป สมมติว่าลอกเมื่อ 10 ปีที่แล้ว อีก 20 ปีข้างหน้า คนก็ยังพูดถึง และผู้ที่ลอกงานคนอื่นจะหายไปจากแวดวง มันอยู่ไม่ได้ นึกไม่ออกว่าจะอยู่อย่างไรเหมือนตีตราบนหน้าผากตลอดกาล เพราะฉะนั้นยิ่งมีชื่อเสียง ยิ่งลอกไม่ได้ เด็กใหม่ๆ อาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว ตักเตือนแล้วกลับมาได้ แต่ถ้ามีชื่อเสียง มีการตีพิมพ์งานกับสำนักพิมพ์แล้ว จะเป็นการสร้างความเสียหายมาก”

นางชมัยภรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้สำนักพิมพ์เองต้องระมัดระวังเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เลือกผลงานที่ลอกของคนอื่นมาตีพิมพ์ อย่างกรณีที่คุณจักษ์ จันทร ถูกลอกเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง เพราะชื่อเรื่องโดดเด่น ในขณะที่เจ้าตัวคงคิดว่าชื่อนี้ขายได้แน่นอน พอคิดว่าขายก็ลอก แต่ชื่อไม่มีลิขสิทธิ์ ชื่อซ้ำกันอาจจะมีคนว่าแต่ไม่ผิดกฎหมาย บังเอิญว่านอกจากชื่อจะเหมือนแล้ว เมื่ออ่านเรื่องยังพบว่าเหมือนกันทุกบรรทัดอีก ซึ่งในกรณีนี้มีการยอมความกัน จ่ายค่าเสียหาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือหมดอนาคต ซึ่งถ้าหากมีการตกลงกันได้ระหว่างนักเขียนกับผู้ที่ลอกงาน สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้สมาคมฯจะเข้าไปช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจา

“เคยมีกรณีเกิดขึ้น คุณชาติ กอบจิตติ เคยฟ้องนักเขียนคนหนึ่ง ที่จัดทำปกหนังสือคล้ายกับงานของ ชาติ กอบจิตติ โดยขายชื่อชาติไปพร้อมกัน ชาติ กอบจิตติ ฟ้องศาลและชนะ นำเงินที่ได้ไปบริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง ซึ่งกรณีนั้นชัดเจนในการผ่านกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด มีการเผยแพร่ข่าวสารด้วย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ถ้าลอกแล้วคุณต้องเสียหายแบบนี้ ทำอย่างไรเราจึงจะทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้าด้วยงานเขียน คนเขียนก็ต้องเลือกงานที่มีคุณภาพ นักเขียนเขียนงานคุณภาพ เมื่อนั้นสำนักพิมพ์จะต้องพิมพ์งานที่มีคุณภาพด้วย”

บก.ชี้การลอกงานเขียนมาจากระบบการศึกษา

 

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

ด้านนายมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นความผิดตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เราเริ่มสอนเด็กถ้าเราเริ่มสอนจริยธรรมคุณธรรมให้เด็กว่า ไม่ให้ขโมยของคนอื่น สิ่งนี้จะอยู่ในตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องลิขสิทธิ์ แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยสอนเรื่องแบบนี้ให้เด็ก

“เหมือนเวลาเดินไปริมทาง มะม่วงห้อยออกมานอกรั้ว เราคิดว่าเราหยิบได้ อุปนิสัยนี้ติดตัวมาจนโต เห็นเรื่องราวที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต เหมือนลอยอยู่ในอวกาศไม่น่าจะมีเจ้าของ เป็นตัวตน น่าจะหยิบฉวยมาใช้ได้ อย่าว่าแต่ที่ปรากฏแค่นั้นเลย หนังสือเป็นเรื่องยังมีการก็อปปี้มาเขียนใหม่ได้ ประเด็นนี้จึงผิดมาตั้งแต่ระบบการศึกษา ถ้าเราสอนเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจะไม่มีปัญหา” 

เรื่องการลอกงานเขียนนั้นมีหลายอย่างประกอบกัน ประการแรกคือทุกวันนี้สำนักพิมพ์ต้องการต้นฉบับของเด็ก เพราะว่าความเป็นเด็กโฆษณาขายได้ เด็กรุ่นใหม่ อายุน้อย ซึ่งเด็กพวกนี้อยากเป็นนักเขียนเร็ว แต่ความรู้ยังไม่พอ ไม่มีจินตนาการของตัวเอง จึงไปหยิบฉวยงานคนอื่น ครั้งแรกไม่มีใครจับได้ จึงเกิดอาการลำพอง ซึ่งสำนักพิมพ์ไม่ได้มีการตรวจสอบ พิมพ์ผลงานนั้นออกไป

“สมมติว่าเด็กชาย ก. เคยทำแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ สำนักพิมพ์เอาเรื่องของเด็กชาย ก.ที่ก็อปปี้มาไปพิมพ์เป็นเล่มขาย ดช.ข เห็นเพื่อนลอกงานของคนอื่นแต่ไม่มีใครรู้ ด.ช.ข แอบรู้ จึงคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ถูก การขโมยจึงเกิดขึ้นเต็มไปหมดในวงการหนังสือเมืองไทย สำนักพิมพ์เองก็มักง่ายไม่สนใจว่าเรื่องนี้มาได้อย่างไร มีที่ทางอย่างไร ถ้าสำนักพิมพ์มีบรรณาธิการจะสามารถตรวจได้ง่ายนิดเดียว อ่าน 4-5 หน้าพอจะรู้แล้วว่ามีที่มาอย่างไร คุยกับเด็ก 4-5 ประโยคก็รู้แล้วว่า ความคิดกับคำพูดของเขาไปกันไม่ได้กับต้นฉบับ”

ระบบสอนให้คนมักง่ายจึงเป็นวงจรอุบาทว์ 

บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อกล่าวอีกว่า การลอกงานเขียนของคนอื่นเป็นเรื่องของความมักง่าย ประเทศไทยสอนให้คนมักง่ายตั้งแต่เด็ก สิ่งที่น่ากลัวคือความมักง่ายมาถึงสำนักพิมพ์ เมื่อนักเขียนส่งเรื่องมา สำนักพิมพ์เห็นว่าขายได้จึงจัดพิมพ์ ไม่มีการตรวจดูว่า ต้นฉบับที่บอกว่าดีนั้นมาได้อย่างไร ประกอบขึ้นด้วยอะไรบ้าง เชิญคนเขียนมาพูดคุยกัน ว่าเป็นไปได้ไหมที่เด็กอายุเท่านี้จะเขียนต้นฉบับได้ 500-1,000 หน้า ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ใน อเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น หรือแถวอาหรับ แต่เขาต้องเชิญเด็กมานั่งคุยกัน เพื่อดูว่าสติปัญญาเด็กคนนั้นพอที่จะเขียนต้นฉบับนี้ให้เรายอมรับได้หรือไม่

“ถามให้เหมือนกับเราสอบวิทยานิพนธ์ ซักความคิดให้หมด แต่เราไม่ทำ เรารีบ เพราะเราจะรีบไปงานศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ต้องการอ่านหนังสือราคาถูก ทุกอย่างก็จบหมด เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็น วงจรอุบาทว์ อุบาทว์ตั้งแต่สำนักพิมพ์เห็นแก่ได้ สอนให้เด็กเห็นแก่ได้ด้วยการขโมย การพิมพ์เห็นแก่ได้ ด้วยความเร็ว ไม่มีบรรณาธิการ การขายเห็นแก่ได้หลอกคนว่าลดราคา”         

บก.ต้องรู้เท่าทันไม่ใช่เร่งแต่ละผลิตหนังสือ

 

อย่างไรก็ตามจากกรณีการลอกงานเขียนที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักพิมพ์อ้างว่าไม่สามารถรู้หนังสือทุกเล่ม จึงไมรู้ว่า นักเขียนลอกงานเขียนของใครนั้น บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อกล่าวในประเด็นนี้ว่า แน่นอนว่าบรรณาธิการไม่สามารถอ่านหนังสือได้ครบทุกเล่ม แต่บรรณาธิการต้องรู้ว่านักเขียนคนนี้จะสามารถเขียนหนังสือเล่มนี้ได้หรือไม่ บรรณาธิการต้องฝึกสติปัญญาให้ทันกับนักเขียน เมื่อบรรณาธิการได้อ่านต้นฉบับงานเขียนแล้ว ควรจะคุยกับนักเขียนถึงแนวคิดของเขาต่องานเขียน

“เช่นถามว่า 3 บรรทัดแรกที่เขียน เขาคิดอะไรอยู่ ถ้าเขาตอบได้แสดงว่าเขาคิด ถ้าเขาตอบไม่ได้ แปลว่าเขาลอก ง่ายนิดเดียวไม่ยาก แต่สิ่งที่เราไม่มี คือเราไม่มีคนสอนงานบรรณาธิการ เราไม่มีวิชาบรรณาธิการ เราไม่มีวิชาหนังสือ แต่มีสำนักพิมพ์ 500 กว่าแห่ง พิมพ์หนังสือออกวันละ 40-50 เล่ม ปีหนึ่งไม่รู้กี่หมื่นเล่ม แต่กลับไม่มีบรรณาธิการวิชาชีพสักคนเดียว แล้วมันเกิดอะไรขึ้น บรรณาธิการบอกว่าไม่รู้หนังสือทุกเล่ม คุณต้องรู้ คุณเป็นบรรณาธิการคุณต้องรู้ คุณไม่รู้จักชื่อหนังสือที่มีเป็นล้านเล่มในประเทศไทยได้ แต่คุณต้องรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวหนังสือและคนเขียน ถ้าคุณไม่รู้คุณเป็นบรรณาธิการไม่ได้”

นายมกุฎกล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มาจากความเห็นแก่ได้ของสำนักพิมพ์ บางสำนักพิมพ์ตั้งเป้าว่าจะผลิตหนังสือออกมาวันละ 4-5 เล่ม ซึ่งเป็นไปได้ไหมที่สำนักพิมพ์จะลดเป้าลงเพื่อตรวจสอบให้มากขึ้น หวังผลระยะยาวทำหนังสือให้น้อยลง มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อจะขายให้ได้มากขึ้นในระยะยาว หากเร็วแต่ไม่เกิดประโยชน์ จะเป็นโทษมากกว่า

“ผมไม่ตำหนิคนลอกอย่างเดียว ผมตำหนิทั้งระบบ เพราะทั้งระบบเอื้อให้คนทำงานชุ่ย และเลวลง ชื่อเสียง เงิน เด็กอายุ 17-18  ได้เงินเป็นหมื่นมากกว่าพ่อแม่อีก บางคนซื้อรถได้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสือ มันมีสิ่งล่อให้เด็กทำ เราอย่าไปโทษเด็กอย่างเดียว เด็กยังคิดอะไรไม่เป็น เราต้องโทษผู้ใหญ่”

แนะรัฐบาลควรมาดูแลบ้างเพราะประเทศชาติเสียหาย

นายมกุฏเสนอว่ารัฐบาลควรจะลงมาดูแลเรื่องเหล่านี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยรู้ว่า การที่นักเขียนคนหนึ่งลอกผลงานของนักเขียนอีกคนหนึ่ง แล้วสำนักพิมพ์นำไปพิมพ์คือความเสียหายของประเทศชาติ รัฐบาลไม่รู้เรื่อง ไม่เคยมีใครรับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ ไม่มีการดำเนินคดี ไม่มีการใช้กฎหมาย ในขณะที่กฎหมายมีแต่ไม่มีใครใช้ เพราะว่ายอมความกัน เมื่อไม่มีการดำเนินคดีเป็นตัวอย่าง เด็กที่มาที่หลัง ก็ทำผิดอีก เพราะไม่เคยมีการประกาศให้รู้

“เชื่อเถอะพอข่าวนี้จบ พ้นจากปีนี้ไปจะมีการลอกกันอีก ลอกจนประเทศไทยอาจจะได้ชื่อว่า มีการลอกนวนิยายซ้ำ จนไม่สามารถหาต้นทางได้ หนังสือบางเล่มที่พิมพ์อยู่ตอนนี้อาจจะมีการลอกกันมา 20 กว่าปี แต่ไม่มีใครรู้ สมัยก่อนเราสอนคนเขียนหนังสือ ไม่ให้เขาอ่านหนังสือของคนอื่นเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นเขียนเรื่อง เพราะคุณจะติดความคิด ติดสำนวนต่างๆ ในเรื่องสุดท้ายที่คุณอ่าน บรรณาธิการที่เก่งจะบอกได้เลยว่า นักเขียนคนนี้อ่านงานเขียนของใครเป็นเรื่องสุดท้าย นี่คือหน้าที่ของบรรณาธิการ ต่างประเทศจะมีบรรณาธิการไว้ทำหน้าที่นี้ การถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการทำหนังสือ เป็นเรื่องสำคัญมากไม่เหมือนเรื่องอื่นๆ ผมจึงพยายามบอกว่ารัฐบาลต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเอกชนไม่ได้”

ในต่างประเทศจะมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องหนังสือ ขณะนี้สำนักพิมพ์ผีเสื้อกำลังศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีกฎหมายนี้มาประมาณ 60 ปี เพื่อที่จะดูแลหนังสือ ชื่อว่า สถาบันหนังสือแห่งชาติ ส่วนประเทศอินเดียมีมาแล้วประมาณ 65 ปี ดังนั้นประเทศที่มีกฎหมายเหล่านี้ ทำให้การอ่าน การเรียนรู้ การทำหนังสือเข้มแข็ง ฝรั่งเศสและอินเดียเข้มแข็งมากในเรื่องหนังสือและการอ่าน คนของเราต้องอ่านหนังสือมาก ทำอย่างไรต้องมีกฎหมายซึ่งรัฐบาลต้องดูแลอย่างดี

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: