ตะลึงเงิน'พนันพื้นบ้าน'สะพัดนับแสนล้าน ทั้งไก่ชนเหนือ-วัวชนปักษ์ใต้-บั้งไฟอีสาน ชี้เลิกยาก-ขุมประโยชน์การเมือง-อิทธิพล

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 6076 ครั้ง

 

ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการเรื่อง “การพนันรอบบ้าน : ปัญหาที่สังคมไทยไม่อาจมองข้าม” โดยมีนักวิชาการนำผลการศึกษามานำเสนอพบว่า ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ของธุรกิจการพนัน เติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ โดยเฉพาะในแถบภูมิภาคเอเชีย คาดการณ์ได้ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ธุรกิจการพนันในเอเชียจะแซงหน้าธุรกิจการพนันในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นักพนันไทยก็ไม่น้อยหน้าที่จะมีส่วนผลักดันให้ธุรกิจการพนันทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย มีแนวโน้มการเติบโตไม่แพ้ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการพนันใหม่ ๆ หลายประเภทที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ หรือแม้แต่การพนันพื้นบ้าน ซึ่งเป็นยอมนิยมของสังคมไทยมายาวนาน ตั้งแต่ ไก่ชน วัวชน และบั้งไฟ จนแทบจะแยกแยะไม่ออกระหว่างศิลปวัฒนธรรม ประเพณี กับการพนันที่คนไทยคุ้นชิน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จาก “นายหัววัวชน” สู่อำนาจทางการเมือง

 

 

งานวิจัยโครงการเศรษฐกิจการเมืองของกีฬาวัวชนภาคใต้ของ ผศ.ดร.รงค์  บุญสวยขวัญ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เห็นว่า มีการยัดเยียดความคิด ค่านิยมของเจ้าของบ่อนหรือเจ้าของวัวชน ถูกยกให้เป็น “นายหัว” “เอกบุรุษในวงล้อมปัจจัยนอกเหนือปรารถนา” “เรียกฟ้าต้องขาน ถามดินต้องตอบ” มีการปกครองปริมณฑลของตน เป็นการปกครองอิสระภายใต้กฎเกณฑ์ของนายหัว อันเป็นการสร้างอำนาจเชิงสัญลักษณ์ จนนำไปสู่การปกครองในระดับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะเดียวกันการรักษาตำแหน่งหรือเลื่อนตำแหน่งก็สามารถเป็นไปด้วยการเป็นนายหัวแห่งวัวชนเช่นกัน จนมีวาทกรรมที่กล่าวว่า  “เป็นการพนันของชนชั้นสูง” ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างวัวชน กับการเมืองภาคใต้แทบแยกออกจากกันไม่ได้เลย

 

 

‘พ.ร.บ.การพนัน’ ต้นเหตุเปิดบ่อน

 

 

กีฬาวัวชนเดิมเล่นเพื่อความบันเทิงของชาวบ้านหลังหน้านา คือเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะเล่นในพื้นที่นาข้าว ยกเว้นวันพระ จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 ก็ได้บัญญัติ การเล่นต่าง ๆ ซึ่งให้สัตว์ต่อสู้หรือแข่งกัน เช่น ชนโค ชนไก่ ... ให้เป็นบัญชีประเภท ข. ซึ่งตามมาตรา 4 ระบุว่า การเล่นอันระบุไว้ในบัญชี ข. ท้ายพระราชบัญญัตินี้ หรือการเล่นซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หรือการเล่นอื่นใด ซึ่งรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่ได้ออกกฎกระทรวงระบุเพิ่มเติมไว้ จะจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนำมาซึ่งผลประโยชน์แก่ผู้จัด โดยทางตรงหรือทางอ้อม ได้ต่อเมื่อรัฐมนตรีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตเห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ในการเล่นอันระบุไว้ในวรรค 2 ข้างต้นนั้นจะพนันกันได้เฉพาะเมื่อได้มีใบอนุญาตให้จัดมีขึ้น หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต สนามชนวัว จึงกลายเป็น บ่อนชนวัว นับแต่นั้นมา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้งานวิจัยยังสรุปพัฒนาการของวัฒนธรรมพื้นบ้านสู่ธุรกิจการพนันของวัวชนไว้ 10 ประการ ว่า 1.การอนุญาตตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 จาก “คอกวัวชน” ในทุ่งนา มาเป็น “สนามวัวชน” สู่ “บ่อนวัวชน” ในที่สุด 2.ความนิยมสามารถยกระดับเจ้าของวัวชนเป็น “นายหัว” “นักเลง” 3.การเลี้ยงวัวตามทุ่งนาด้วยภูมิปัญญา สู่การทำฟาร์มวัว 4.ความถี่ของการชน จากการชนตามเทศกาลท้องถิ่นก็มีการชนเป็นประจำ 5.การเลี้ยงวัวเกิดระบบบริหารจัดการ การจัดหาหุ้นส่วน

 

6.การเลี้ยงและขายวัวแก่เซียนวัวเพื่อยกระดับฐานะสถานภาพทางสังคม 7.การเติบโตของเศรษฐกิจ มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ 8.การเปลี่ยนแปลงการเก็บเงินค่าเชงเลง 9.การอนุรักษ์สายพันธุ์วัวดั้งเดิม วัวพื้นเมืองไม่อาจดำรงได้หากไม่มีการชนวัว การชนวัวไม่อาจดำรงอยู่ได้หากไม่มีการพนัน 10.มีความพยายามใช้เป็นช่องทาง ในการแสวงหารายได้เข้ารัฐ พัฒนาการของวัวชนเช่นนี้ จึงนำมาสู่การจัดตั้งสมาคมวัวชนภาคใต้ขึ้น

 

 

ระบุมีนักพนันวัวชนกว่า 2 แสนราย เงินหมุนเวียนกว่า 7 หมื่นล้าน

 

 

ดร.รงค์ระบุว่า มีบ่อนถูกกฎหมายในภาคใต้ถึง 28 แห่ง มากที่สุดคือ ที่จ.สงขลา 12 แห่ง รองมาคือนครศรีธรรมราช 7 แห่ง พัทลุง ตรัง จังหวัดละ 3 แห่ง กระบี่ สุราษฎร์ สตูล จังหวัดละ 1 แห่ง รวมนักพนันน้อยใหญ่มีถึง 205,000 คน เดินสายพนันได้ทุกวันทั่วภาคใต้ ซึ่งหากเจ้าของบ่อนต้องการจัดเกินวันที่ได้รับอนุญาต ก็เพียงแค่จ่ายเงินเพิ่มก็สามารถชนวัวต่อไปได้ ส่วนลักษณะการเล่นพนัน เป็นการพนันแบบเดิมพัน เฉลี่ยแล้ววันละ 2,000,000 บาทต่อบ่อน ซึ่งจากการสำรวจเก็บข้อมูล 24 วัน ที่มีการอนุญาตให้ชนวัวพบว่า มีเงินหมุนเวียนถึง 1,344,000,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ใน 1 ปี มีเงินพนันหมุนเวียนถึง 71,769,600,000 บาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยของบ่อนวัวชนเพียง 2 วัน มีมากถึง 422,933 บาท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

งานวิจัยแนะผลิตวัวหน้าใหม่เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์

 

 

นอกจากนี้ การรุกรานด้วยนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงวัวเศรษฐกิจ ทำให้วัวพื้นเมืองดั้งเดิมใกล้สูญหาย จึงขอผลิตเซียนวัวหน้าใหม่ โดยเสนอให้จัดทำข้อมูลสารสนเทศวัวชน ด้วยเชื่อว่า การพนันวัวชนช่วยรักษาพันธุ์ให้คงอยู่ นอกจากนั้นยังมีข้อเสนออื่น ๆ ดังนี้ ให้มีแบบแผนการเลี้ยงวัวชนอย่างชัดเจน ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญากับศาสตร์สมัยใหม่ สร้างมาตรฐานการชนวัวและมาตรฐานการบริหารจัดการ เพราะไม่ต้องการให้การบริหารบ่อนวัวชนผกผันไปตามบุคลิกภาพของนายบ่อน หรือพฤติกรรมของนายสนาม

 

บ่อนมีการลงทุนสูง แต่สามารถเก็บเงินจากผู้เข้าชมในสนามได้เพียง 30-50 เปอร์เซ็นต์ หากมีประสิทธิภาพในการเก็บ ก็จะทำให้เกิดความพร้อมในการลงทะเบียนในการชนที่ถูกต้อง ดังนั้นจึงให้ซื้อตั๋วต่อการเข้าชม 1 คู่ โดยตั๋วออกจากทางราชการภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ แล้วนำไปขึ้นทะเบียนสามารถใช้จ่ายภาษีได้ เพื่อนำเงินไปใช้ในสาธารณะประโยชน์ ทางบ่อนก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย และสุดท้ายให้มีการพักยกระหว่างชน

 

 

นักวิชาการถามจะสนับสนุนการพนันแลกกับรักษาธรรมเนียมหรือ

 

 

ในช่วงสุดท้ายของการนำเสนอ รศ.ดร.ไชยันต์  รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  กล่าววิจารณ์งานวิจัยฉบับดังกล่าวว่า ตนไม่นิยมการพนันชนิดไหน ๆ โดยเฉพาะการพนันประเภทการปะทะ แต่ข้อมูลวิจัยเศรษฐกิจการเมืองวัวชนภาคใต้นี้ เป็นหน้าต่างที่ทำให้ไปมองสังคมปักษ์ใต้ได้ ชวนให้คิดเรื่องลักษณะสังคมปักษ์ใต้ และประเด็นทฤษฎีอีกด้วย ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้คือ สามารถมองธุรกิจการพนันวัวชนเป็นลักษณะ Prestige domain เช่น มีงานวิจัยในสมัยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่รัฐมีการจัดตั้งการปกครองท้องถิ่นในระดับผู้ใหญ่บ้านขึ้นในจ.พะเยา เห็นได้ว่า อำนาจรัฐไปไม่ถึงระดับอำเภอ ไม่ถึงระดับหมู่บ้านด้วยซ้ำ ผู้ใหญ่บ้านจะร่วมมือกับนายอำเภอ เฉพาะที่เป็นประโยชน์กับหมู่บ้าน เช่น กรณีอาชญากรรม เป็นต้น

 

 

แต่เรื่องที่ขัดต่อผลประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น ภาษี การพนัน ผู้ใหญ่บ้านก็จะไม่รายงานต่อนายอำเภอ เช่นเดียวกัน วัวชนมีระดับฐานนักพนันที่ใหญ่มาก คือคนที่เล่นครั้งคราวตามเทศกาล ผู้ที่สนใจวัวชน ขณะที่นักพนันมืออาชีพมีจำนวนไม่มาก มีข้อสงสัยว่า ตัวเลขเงินสะพัดมากขนาดนั้นเลยหรือ แล้วรู้ได้อย่างไร

 

                   “เราจะสนับสนุนการพนันประเภทนี้ หรือทำเรื่องนี้ในนามของการรักษาธรรมเนียมวัฒนธรรมพื้นบ้าน เราควรจะรักษาไว้ หรือชั่งกันได้ แลกอย่างหนึ่งเพื่ออย่างได้อีกอย่างหนึ่ง ผมเคยไปฟิลิปปินส์ก็มีการถ่ายทอดตีไก่เอามีดติดเดือยให้มันสู้กันจนบาดเจ็บ บ่อนเสรีเองก็มีการพูดว่าประเทศอื่นเขาก็ทำกัน ทำไมอารยะเขาทำ เราจึงควรทำ พอดำเนินมาเรื่อยไม่ใช่ประเทศอารยะก็เปิดได้ ใครก็เปิดได้ เราต้องการเพียงแค่ไม่ให้เสียเงินแก่ประเทศอื่นเท่านั้นหรือ..เราสับสนศีลธรรม กฎหมาย ผิดศีลธรรม ไม่ได้หมายความว่าผิดกฎหมาย มีกฎหมายควบคุมมีการขออนุญาต..นอกจากนี้ยังเห็นว่าพ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ล้าสมัยไปมาก การบังคับใช้ไม่พอ คนในภาคใต้เองก็มีที่ไม่เห็นด้วยกับกีฬาวัวชน ที่เป็นการทรมานสัตว์” ดร.ไชยันต์กล่าววิจารณ์

 

 

วิจัยไก่ชนระบุเหมือนกัน ยิ่งจำกัดพนันยิ่งทำลายสายพันธุ์

 

 

ทางด้านงานวิจัยการพนันไก่ชน จากคณะนักวิจัย 4 ภาค เปิดเผยข้อมูลดังนี้ โดยกลุ่มภาคเหนือตอนบน โดย วิเศษ สุจินพรหม จ.ลำพูนและเชียงใหม่ระบุว่า เชียงใหม่ มี 25 อำเภอ มีบ่อนไก่ชน  38 แห่ง เป็นบ่อนถูกกฎหมาย 11 แห่ง หรือใน 1 อำเภอ จะมีบ่อนไก่ชน 1.52 แห่ง และ จ.ลำพูน มี 8 อำเภอ มีบ่อนไก่ชน 28 แห่ง เป็นบ่อนถูกกฎหมาย 18 แห่ง หรือ ใน 1 อำเภอ จะมีบ่อนถึง 3.50 แห่ง ซึ่งพบว่า ลำพูนมีนักพนัน 250 คน เงินเดิมพันหมุนเวียนสูงถึงเดือนละ 35,248,000 บาท

 

นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุด้วยว่า การปรับปรุงพระราชบัญญัติการพนัน และระเบียบที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย ให้ทันสมัย โดยเน้นหนักไปที่การควบคุม และจำกัดการพนันจนเกินไป อาจส่งผลย้อนกลับมาทำลายไก่ชนไปด้วย นั่นคือ การทำลายพันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย เปิดโอกาสให้มีการผูกขาดสายพันธุ์ไก่ฟาร์ม โดยกลุ่มทุนการเกษตรไม่กี่บริษัท ทิศทางของไก่ชนไทย ควรมุ่งไปที่การสร้างอำนาจต่อรองลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนท้องถิ่น และเกิดการมีส่วนร่วมในการควบคุมบ่อนชนไก่ โดยชุมชนด้วยการให้อำนาจควบคุมอยู่ที่คณะกรรมการหมู่บ้าน ในการดูแลและติดตามตรวจสอบ จัดสรรผลประโยชน์สู่ชุมชน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วอนแยกกฎหมายกีฬาพื้นบ้านกับพ.ร.บ.การพนัน

 

 

บุญยืน วงศ์สงวน นักวิจัยไก่ชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พบว่า สนามระดับชุมชน ที่จ.พิจิตร มี 8 สนาม จ.พิษณุโลก 9 สนาม รายจ่ายหมุนเวียนปีละ 189,600 – 332,820 บาท รายรับหมุนเวียนปีละ 149,000 – 657,600 บาท สนามระดับจังหวัด มีเพียงจ.พิษณุโลก 1 สนามเท่านั้น รายจ่ายหมุนเวียน 599,200 ปีละ619,200 บาท เป็นค่าธรรมเนียมปีละ 6,000 บาท จ่ายเจ้าหน้าที่ปีละ 192,000 บาท ค่าสังคมปีละ 30,000-42,000 บาท แต่รายรับหมุนเวียนก็ไม่น้อยปีละ 1,184800-1,410,400 บาท ซึ่งทางภาคเหนือตอนล่างเกิดข้อเสนอแนะ ให้มีการอนุญาตการเล่นกีฬาชนไก่ระยะยาว ให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะไม่เปิดช่องทางที่จะคอร์รัปชั่นในระบบราชการ โดยเฉพาะขั้นตอนการอนุญาตการเปิดสนามกีฬาชนไก่ และให้มีพ.ร.บ.การละเล่นพื้นบ้าน แยกต่างหากจากพ.ร.บ.การพนัน ทั้งยังให้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.2552 อีกด้วย

 

ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่จ.อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด วิจัยโดย ดร.เรวัต สิงห์เรือง ระบุว่า ไก่ชนส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม มองว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรม จนเป็นข้อเสนอให้เกิดองค์ความรู้วิถีไก่ชนเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา และปัจจุบันมีการถ่ายทอดรายการไก่ชนในช่องดาวเทียม รัฐควรมีการควบคุมกีฬาพื้นเมืองทุกประเภทอย่างเท่าเทียมกัน ให้สื่อมวลชนเสนอข่าวในเชิงอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ มากกว่าเชิญชวนเซียนไก่มาพนันกัน

 

 

จี้ถามถึง ‘สิทธิไก่’ ทำไมการทารุณสัตว์จึงถูกกฎหมาย

 

 

จากนั้น ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ นักวิชาการ ตั้งคำถามขึ้นกลางวงเสวนาว่า “ทำไมจึงมีการละเมิดสิทธิของไก่ ในเมื่อคนมีสิทธิของคน ไก่ก็ควรมีสิทธิของไก่สิทธิของสรรพสัตว์เช่นกัน และเหตุใดการทารุณกรรมจึงเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือพื้นที่ชนไก่เป็นพื้นที่ที่ใช้สำหรับทำธุรกิจทางสังคม ของกลุ่มอิทธิพลการเมืองท้องถิ่น เป็นการใช้แสวงหาผลประโยชน์เพื่อการเลือกตั้ง ระดมทรัพยากร ระดมคนมาเลือกตั้ง”

 

ขณะที่ รศ.ดร.ไพฑูรย์ มีกุศล บอกว่า แม้การพนันเป็นอบายมุขผิดศีลธรรม แต่ประเทศที่เป็นเมืองพุทธ เช่นประเทศเพื่อนบ้านของเรา กลับมีการตั้งบ่อนการพนันกันครึกโครม เชื่อว่าปัญหาอยู่ที่การจัดการมากกว่า

 

 

คนสุพรรณฯกว่า 130,000 ครอบครัว ลงทุนไก่ชน

 

 

ขณะที่งานวิจัยพบว่า ประชาชนในจ.สุพรรณบุรี เลี้ยงไก่ชนร้อยละ 65 หรือประมาณ 130,000 ครอบครัว ลงทุนตัวละ 2,000 บาท ซุ้มไก่เตรียมไก่ไว้พร้อมชน 15 ตัว ซุ้มลงทุนตัวละ 5,000 บาท บ่อนป่าหรือบ่อนบ้าน 77 แห่ง ใช้พื้นที่บริเวณบ้านของเจ้าของบ่อนเป็นที่ตั้ง วงเงินลงทุน 10,000 บาทแถมจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่เดือนละ 3,000 บาท ก็ตั้งบ่อนได้ไม่ยาก บ่อนถูกกฎหมายที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมี 7 แห่ง ลงทุน 5 - 6 ล้านบาท เปิดชนเดือนละ 2 ครั้ง สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรวมทั้งจังหวัดไม่น้อยกว่าปีละ18,991,000 บาท เกิดผลกำไรทั้งสิ้นปีละ 13,917,960 บาท

 

บ่อนป่าแม้มีกำลังเงินเดิมพันไม่มากนัก แต่บ่อนประเภทนี้จะตั้งกระจายอยู่ทั่วแทบทุกตำบล คาดว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ตำบลทั้งหมด ที่มีจำนวนสูงคือเงินพนันที่นักพนันเล่นกันเอง ระหว่างที่ไก่กำลังชนกันเรียกว่า เล่นนอก โดยเฉพาะบ่อนป่า สูงถึงปีละ 73,920,000 บาท คนเล่นในบ่อนแบบนี้เป็นนักพนันสมัครเล่น พนันครั้งละไม่มาก แต่ต้องการฝึกทักษะไก่ผ่านความสนุกสนานของการเชียร์ไก่ชน ในบ่อนธุรกิจมีเงินเล่นนอกสูงถึงปีละ 103,320 ,000 บาท

 

ทองใบ สิงสีทา ผู้วิจัย กล่าวว่า คนที่ได้เงินหรือชนะการพนัน มีแต่เจ้าของบ่อน เซียนพนันเจ้าของไก่ที่เก่ง และเจ้าของร้านเวชภัณฑ์สำหรับไก่ คนเสียเห็นจะมีแต่เจ้าของไก่ที่แพ้ และนักพนันสมัครสมัครเล่นเท่านั้น

 

 

‘สมุทรปราการ’สวนทาง ไม่มีบ่อนไก่ ไม่หนุนพนัน

 

 

ในทางกลับกันจากการวิจัยของ สุวรรณา กลั่นแสง บอกว่า จ.สมุทรปราการกลับไม่มีบ่อนถูกกฎหมายเลยแม้แต่ที่เดียว แต่มีซุ้มหรือชมรมที่ได้รับหนังสือรับรองจากปศุสัตว์จังหวัด และมีบ่อนป่าที่หมุนเวียนกันในจังหวัด  ปีพ.ศ.2552 มีผู้มาขออนุญาตเปิดสนามชนไก่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพนันชนไก่และกัดปลา พ.ศ.2552 ปรากฏว่า พื้นที่ไม่เพียงพอในการจัดตั้งสนามชนไก่ มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ข้อจำกัดในการสร้างบ่อนชนไก่ต้องอยู่ห่างจากวัด โรงเรียน สถานพยาบาล และศาสนสถาน ด้วยนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ไม่ส่งเสริมให้มีบ่อนการพนันและค่าใช้จ่ายนอกระบบที่มีจำนวนมาก ทำให้ไม่มีการตั้งบ่อนอย่างถูกกฎหมายจนทุกวันนี้

 

 

ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีการเลี้ยงไก่ชนและเล่นพนันน้อย อาจเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการทำนาข้าว จึงเป็นการทำสวนมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวที่ต้องใช้เวลามาก จนไม่มีเวลาไปดูแลไก่ ประกอบกับภูมิอากาศร้อนชื้น ไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงไก่ อาหารไก่ชนก็หายาก ราคาแพง หรือมีสารเคมีเจือปน ทำให้ผู้เลี้ยงในจังหวัดมีน้อยมาก

 

ดังนั้นสำหรับคนที่สนใจไก่ชน ก็มักจะรวมกลุ่มตามไก่เก่งไปเล่นจังหวัดอื่น ใช้วิธีรวบรวมเงินจากสมาชิกเพื่อเป็นเงินค่าเดิมพันประมาณ 5,000-10,000 บาท ส่วนการเล่นพนันที่แอบเล่นกันตามบ่อนซ้อม ประมาณ 300-500 บาท ที่บ่อนป่า 500-2,000 บาท สำหรับพื้นที่ที่พอจะเลี้ยงไก่ชนได้คือ ต.แพรกหนามแดง ต.วัดประดู่ อ.อัมพวา มีการทำนาข้าว มีแสงแดดมากพอจะกราดแดดให้ไก่ได้ สุดท้ายทีมวิจัยเห็นว่าควรมีการกำหนดโซนการอนุญาตการเปิดบ่อนไก่ เฉพาะในจังหวัดที่มีนักชนไก่เกิน 1,500 รายขึ้นไป เพื่อลดการขยายตัวของธุรกิจชนไก่ แม้จะไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งบ่อนก็ตาม

 

 

บั้งไฟทำเงิน 5 หมื่นล้าน เล่นง่ายรายได้มาก

 

นอกจากนี้ยังมีการพนันในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชาวอีสาน นั่นคือ “บั้งไฟ” สดใส สร่างโศรก ผู้วิจัยโครงการวิจัยการพนันบั้งไฟ เก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่อีสานใต้อันเป็นพื้นที่เริ่มต้นการจัดบั้งไฟ โดยมีศูนย์กลางของการศึกษาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อทางอีสานใต้มีความเข้มงวดเรื่องการพนันบั้งไฟมากขึ้น การแข่งขันก็ย้ายไปสู่อีกพื้นที่คืออีสานเหนือ ศูนย์กลางอยู่ที่จ.อุดรธานี พบว่า

 

 

การแข่งขันบั้งไฟไม่มีในกฎหมาย ในทางปฏิบัติหมู่บ้านที่จัดงานบุญบั้งไฟ และเป็นสนามแข่งขันบั้งไฟต้องทำประชาคมหมู่บ้านก่อน และมีการเปิดให้เล่นได้ตลอดทั้งปี เกณฑ์การเล่นก็แสนง่ายตัดสินกันที่ระยะเวลาที่อยู่ในอากาศ เริ่มด้วย “การเปิดราคาหน้าฐาน” คือ การกำหนดตัวเลขของระยะเวลาที่บั้งไฟจะขึ้นได้สูงสุด หากบั้งไฟอยู่นานกว่าที่กำหนด นักพนันจะชนะพนันและได้เงินจากผู้จัดไป ส่วนการพนันบั้งไฟใหญ่ ไม่มีการเปิดราคาหน้าฐาน แต่คู่พนันจะตกลงกันเอง เป็นการเปิดโอกาสให้นักพนันมีความหลากหลายมากขึ้นทำให้ทั่วทั้งภาคอีสานมีวงเงินเดิมพันถึง 56,529,400,000 บาท (ห้าหมื่นหกพันห้าร้อยยี่สิบเก้าล้านสี่แสนบาท) เลยทีเดียว

 

ในขณะที่มีการพัฒนาบั้งไฟเป็นท่อพีวีซี บดอัดด้วยแรงไฮโดรลิก จากฐานจุดก็ถูกเปลี่ยนเป็นเหล็ก ซึ่งสามารถจุดทีเดียวพร้อมกันนับสิบบั้ง เอื้อให้การพนันทำได้มากและถี่ขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักวิชาการถามพนันบั้งไฟ “ไร้อารยธรรมหรือมีวัฒนธรรม”

 

 

แม้บั้งไฟจะนำมาสู่เป็นการสร้างอาชีพ และเป็นแหล่งรายได้ เป็นการระดมทุน เพื่อนำเงินไปใช้ในสาธารณะประโยชน์หรืองานบุญงานกุศล เป็นการสืบทอดประเพณี และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม

แต่สนามแข่งบั้งไฟก็กลายเป็นตลาดที่รับ-ส่งยาเสพติด มีคดีอาชญากรรม มีการขายบริการทางเพศนอกจากคนที่ตั้งใจมาขายแล้ว ผู้หญิงบางคนที่แข่งบั้งไฟจนหมดตัว ก็หันมาขายบริการทางเพศในสนามนั่นเอง จนมีการเปรียบเทียบกันว่า คนที่เล่นพนันบั้งไฟจนหมดเนื้อหมดตัว เหมือนกับคนที่ถูกบั้งไฟตกใส่นา เพราะเสียทั้งข้าว ทั้งนา ทั้งบ้าน คนในครอบครัวเดือดร้อนไปตามๆกัน

 

ผู้วิจัยจึงเสนอแนะว่า ควรฟื้นฟูประเพณีโดยการเปลี่ยนทัศนคติ ไม่ใช้บุญบั้งไฟในการระดมทุนเข้าสู่ชุมชนหรือวัด ให้กลับไปสู่การบูชาพระยาแถน ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพนันบั้งไฟก็เห็นว่า ให้นำการพนันบั้งไฟ “ขึ้นบนโต๊ะ” เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งยังควรแยกบั้งไฟออกจากประเพณี และการพนันโดยถือว่าบั้งไฟเป็นนวัตกรรมที่จะต้องมีการพัฒนาต่อยอดต่อไป

 

ด้านสมพันธ์  เตชะอธิก อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอให้มีการค้นคว้าเพิ่มเติม เรื่องประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ สู่การเล่นเป็นการพนันขันต่อ รวมไปถึงระบบอุปถัมภ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของแต่ละฝ่ายยังไม่เพียงพอ จากที่หลายฝ่ายอ้างว่าการพนันเป็นช่องทางในการรักษาวัฒนธรรมชาวบ้านของไทย สมพันธ์ทิ้งท้ายชวนคิดว่า “การพนันแสดงถึงการไร้อารยธรรมหรือมีวัฒนธรรมกันแน่ และเป็นเรื่องเราเห็นว่าผิดปกติหรือปกติอย่างไร”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: