ชี้ผลเลือกตั้งพลิกพม่า-ทหารถอยรับลงทุน แนะไทยเปิดผ่านแดน-ทำสายป่านให้ยาว ข้อมูลดีอย่าโกง-คาด'จีดีพี'ขยับอีกเพียบ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 3 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2625 ครั้ง

 

การตื่นขึ้นของ ‘ฤษีแห่งเอเชีย’ หรือพม่า จากประเทศที่ปกครองด้วยปากกระบอกปืน เปลี่ยนเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และเพิ่งจากผ่านพ้นการเลือกตั้งซ่อมไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปิดทางให้นางอองซาน ซูจี แห่งพรรคพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี มีพื้นที่ในสภา

 

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของพม่าภายในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ถูกจับจ้องจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด ทว่า สิ่งที่นักธุรกิจทั่วโลกจับจ้องเสียยิ่งกว่า คือโอกาสทางการลงทุนในพม่า ด้วยประชากรประมาณ 50 ล้านคน และทรัพยากรธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ผนวกกับอภิโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่จะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางเศรษฐกิจของภูมิภาค พม่าจึงเป็นประเทศเนื้อหอมที่หลายประเทศเริ่มเดินหน้าสานสัมพันธ์

 

ประเทศไทยเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับพม่ามายาวนานและพรมแดนติดกันกว่า 2,000กิโลเมตร จึงมีโอกาสทางการลงทุนไม่ยิ่งหย่อนประเทศใด ธนาคารไทยพาณิชย์จึงจัดการประชุม MYANMAR: The New Frontier Market ขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพม่าด้านต่างๆ ได้แบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อให้นักธุรกิจไทยสามารถต่อสู้ทางธุรกิจในสังเวียนใหม่แห่งนี้ได้อย่างเท่าทัน

 

เชื่อพม่าจะไม่ย้อนกลับไปเหมือนเดิมอีก

 

คำถามสำคัญที่ดูเหมือนว่ายังค้างคาใจประชาคมโลกและนักธุรกิจก็คือ การเปลี่ยนแปลงหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ของพม่าจะยั่งยืนเพียงใด เพราะความเอาแน่เอานอนไม่ได้ถือต้นทุนที่สูงเอาการสำหรับภาคธุรกิจ ดร.สุเนตร ชุติธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เพื่อตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

 

ดร.สุเนตรกล่าวว่า หากจะค้นหาคำตอบข้างต้นก็ต้องก่อนดูว่า ปัจจัยสำคัญการเปิดประเทศของพม่าครั้งนี้คืออะไร ดร.สุเนตรเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือความต้องการของพม่า ที่จะพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ซึ่งเป็นความตั้งใจที่มีมานานแล้ว รูปธรรมที่แสดงชัดเจนว่า พม่าต้องการการเปลี่ยนแปลงคือการเลือกตั้งในปี 1990 แต่ผลการเลือกตั้งไม่เป็นหลักประกันความมั่นคง ในความรู้สึกนึกคิดของรัฐบาลพม่าในขณะนั้น จึงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการถูกคว่ำบาตร ผลที่ตามมาทำให้พม่าต้องหันไปพึ่งจีนมากขึ้น แม้ระยะแรกจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อต้องพึ่งพาสูงขึ้นเรื่อยๆ แรงกดดันตรงนี้ ดร.สุเนตรชี้ว่าเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พม่าต้องเปลี่ยนแปลง

 

เมื่อมองในเชิงประวัติศาสตร์ ดร.สุเนตรย้ำว่า จะต้องไม่ลืมถึงสถานะภาพของพม่าในอดีต ที่ถือเป็นประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งของภูมิภาคอุษาคเนย์ ตั้งแต่ก่อนอังกฤษจะเข้ามา รัฐบาลและประชาชนพม่ามีความภาคภูมิใจในอดีตอันยิ่งใหญ่ของตน ความรู้สึกตรงนี้เองที่ผลักดันให้พม่าต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อกลับมาผงาดบนเวทีโลกอีกครั้งหนึ่ง

 

“ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ผมคิดว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้พม่าต้องเปิดประเทศ”

 

ทหารจะยอมรับเศรษฐกิจใหม่แต่คุมการเมืองในสภา

 

หลังจากอธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้พม่าต้องเปิดประเทศแล้ว ดร.สุเนตร ได้วิเคราะห์ต่อว่า แล้วการเปิดประเทศรอบนี้จะยั่งยืนหรือไม่ ดร.สุเนตร กล่าวว่ามีปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่จะการันตีความยั่งยืนของการเปลี่ยนแปลงรอบนี้

 

1.กองทัพสามารถกุมสภาพการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ซึ่งในโลกทัศน์ของกองทัพพม่า แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นความจำเป็น แต่ความมั่นคงก็ถือเป็นความจำเป็นด้วยเช่นกัน โลกทัศน์นี้จึงเป็นที่มาให้เกิดโรดแม็ปที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ดร.สุเนตรวิเคราะห์ว่า ขณะนี้กองทัพสามารถกุมสภาพการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการเมืองในระบบรัฐสภา

 

2.กองทัพตระหนักแล้วว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง นอกเหนือความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร ที่ส่งผลต่อความอยู่รอดและการพัฒนาของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสัมพันธ์กับการเปิดประเทศและระบอบประชาธิปไตย หมายความว่าหากพม่าจะกลับไปสู่ระบบเดิมย่อมต้องกลับไปเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

 

“เมื่อพม่าเดินทางมาไกลถึงขนาดนี้แล้ว ผมยังอยากที่จะเชื่อว่า โอกาสที่จะย้อนกลับไปสู่จุดเดิมคงจะยากเต็มที และหากต่อไป ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นตัวแปรที่นำความมั่นคงทางทหารและการเมือง โอกาสที่พม่าจะกลับไปเป็นอย่างเดิมคงเป็นไปไม่ได้”

 

ขณะที่ นายอภิรัฐ เหวียนระวี อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ก็มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับ ดร.สุเนตร ว่า ทิศทางของพม่ากำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง โดยอธิบายผ่านตัวตนของ เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีของพม่า อดีตนายทหารคุมพื้นที่สามเหลี่ยมคือบริเวณลาว ไทย และจีน นายอภิรัฐกล่าวว่า นายทหารที่จะคุมพื้นที่จุดนี้ได้ต้องมีความสามารถสูง และในเชิงการเมือง เต็ง เส่ง ถือเป็นผู้ที่มีแนวทางประนีประนอม นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่ทำให้พม่าไม่อาจเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม

 

“ผมคิดว่าคนเคยกินดีแล้ว คงไม่อยากเปลี่ยนกลับไปเหมือนเดิม นอกจากนั้นยังมีแรงกดดันจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในรัฐสภามีกลุ่มชาติพันธุ์ เขามีปากมีเสียงในสภาแล้ว ดังนั้นจึงยากที่เขาจะยอมให้ไม่มีรัฐสภา ผมจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงรอบนี้น่าจะมีความต่อเนื่อง” นายอภิรัฐกล่าว

 

ทวายดันพม่าโต คาดขยับถึง 15 เปอร์เซนต์

 

เมื่อมั่นอกมั่นใจได้แล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของพม่าจะยั่งยืน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของพม่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร โดยเฉพาะผลพวงจากโครงการทวาย ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551

 

เดิมทีเศรษฐกิจพม่าการเติบโตราวๆ 4-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในอนาคตอาจจะเพิ่มเป็น 6-7 เปอร์เซ็นต์ และในระยะยาวก็มีโอกาสจะโตถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากโครงการพัฒนาต่างๆ ดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ภาคธุรกิจของไทยเองก็เข้าไปลงทุนในพม่าอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงการค้าขายบริเวณชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ในอนาคตอาจเติบโตได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

 

นายอาคมอธิบายโครงการทวายว่า มี 3 ระยะ เหมือนกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทย ซึ่งภายในระยะแรกจะต้องดำเนินการก่อสร้างหลายเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงไฟฟ้า บ่อบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งที่พักอาศัย นายอาคมคาดว่า ท่าเรือทวายด้านใต้น่าจะเสร็จในปี พ.ศ.2558 เพื่อรับการเปิดเสรีอาเซียน พร้อมกับถนนเชื่อมชายแดนไทย ระยะที่ 2 จะทอดเวลาออกไปเล็กน้อย เพราะจะต้องพัฒนาในเรื่องนิคมอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เวลาทำการตลาดพอสมควร อาคมกล่าวว่า ประเทศไทยมุ่งหวังให้โครงการทวายแห่งนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมต้นน้ำของไทย

 

ไทยต้องเตรียมพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากทวาย

 

เพราะความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของโครงการทวายต่อไทย คือความต้องการท่าเรือเพื่อส่งออกสินค้าไปยังฝั่งยุโรป ไทยจึงจำเป็นต้องมี West Gate ซึ่งปัจจุบันต้องพึ่งท่าเรือในประเทศสิงคโปร์เป็นหลัก

 

“แต่อาจมีคำถามว่า พึ่งสิงคโปร์น้อยลง แต่กลับมาพึ่งพม่าอีก ตรงนี้ก็ขึ้นกับการเมืองว่าจะรักษาความสัมพันธ์อันดีไว้ได้อย่างไร แต่ถ้าหากสังเกตดูโครงการที่เราทำร่วมกับพม่า เช่น การซื้อก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร”

 

จากการศึกษาพบว่า หากประเทศไทยใช้ประโยชน์จากโครงการทวายได้ จะช่วยเพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ ทั้งจะเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต้นน้ำ เปิดประตูการค้าสู่ฝั่งตะวันตก และเป็นโอกาสของจ.กาญจนบุรี ซึ่งกำลังเตรียมการศึกษาการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

อย่างไรก็ตาม นายอาคมคิดว่า ความเป็นไปได้ของโครงการทวายจำเป็นต้องขึ้นกับเงื่อนไขบางประการ ข้อแรกคือต้องมีความชัดเจนในแง่แหล่งเงินและผู้ร่วมทุน ข้อ 2 คำมั่นสัญญาของรัฐบาลพม่าต่อโครงการนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบการเงิน การแลกเปลี่ยน การจัดเก็บภาษี และข้อที่ 3 โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็น

ในส่วนของประเทศไทย หากต้องการตักตวงผลประโยชน์จากโครงการทวาย ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่ไทยต้องทำในระยะเร่งด่วนคือ ปรับปรุงการอำนวยความสะดวกจากด่านพุน้ำร้อน ไปยังจุดผ่านแดนชั่วคราว เพื่อขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือทวาย และการหาข้อยุติเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน ซึ่งปัจจุบันมีอนุกรรมการดูแลอยู่

 

ส่วนในระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญมากคือ การพัฒนาด่านพุน้ำร้อนให้เป็นด่านถาวร ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าได้ทั้ง 3 โหมด ถนน รถไฟ และก๊าซธรรมชาติ-ไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเมืองกาญจนบุรี ที่จะเป็นเมืองหน้าด่าน ซึ่งจะเชื่อมต่อถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ที่กำลังมีการทบทวนการก่อสร้างทางเชื่อม เพื่อให้เส้นทางสั้นลง มูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท

 

สุดท้าย นายอาคมมองว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของไทยกับโครงการทวาย จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการคือ ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐและเอกชน, รัฐจะต้องช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่น และภาคเอกชนเองจะต้องเป็นผู้บุกเบิกตลาด ขยายฐานการลงทุนในประเทศพม่า

 

ลงทุนในพม่าต้องรอบคอบ สายป่านยาว อย่าเอาเปรียบ

 

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปรียบเทียบพม่าเป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของประเทศไทย ของการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะที่ผ่านมาเวียดนามพัฒนาไล่หลังเรามามาก ขณะที่กัมพูชาเองช่วงที่ผ่านมาก็เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ ดังนั้นพม่าจึงถือเป็นโอกาสที่เข้ามาเสริมรอยต่ออย่างพอดี

 

ปัจจุบันมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ดร.ธนิต ถือว่าสูงมาก สูงกว่าสหรัฐฯ และยุโรปบางประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน พม่าเปิดประเทศในจังหวะที่ไทยต้องการแหล่งลงทุนพอดี แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ภาคธุรกิจจะเข้าไปทำลายสิ่งแวดล้อมในพม่า อีกประการที่ ดร.ธนิต คิดว่าจะช่วยด้านเศรษฐกิจของไทยคือสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประเทศตะวันตก เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยถูกตัดสิทธิประโยชน์ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากพม่าถูกปลดล็อกการคว่ำบาตร นักลงทุนของไทยน่าจะได้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ของพม่า

 

“อุตสาหกรรมที่ไม่ต้องใช้ความรู้หรือเทคโนโลยีมาก รองเท้า อาหาร ประมง เครื่องนุ่งห่ม เกษตร พม่าถือเป็นโอกาส แต่ถ้าอุตสาหกรรมต้นน้ำต้องรอโครงการทวาย” ดร.ธนิต กล่าวถึงโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในพม่า

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ธนิตย้ำเตือนนักธุรกิจไทยว่า อย่าตื่นตูมตามกระแส ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อนการลงทุน เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมหลายด้าน เช่น ด้านกฎหมายการลงทุน อัตราแลกเปลี่ยนที่ยังกันถึง 5 เท่า ระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนของทางการกับตลาดมืด โครงสร้างพื้นฐาน และแม้ค่าแรงจะต่ำ แต่ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ยังสูง

 

“ผู้ประกอบการที่จะไปลงทุนในพม่า วิสัยทัศน์เป็นสิ่งสำคัญ ต้องชัดเจน หาจุดแข็งให้เจอ รอบคอบ สายป่านต้องยาว การหาคู่ค้าก็สำคัญ ต้องได้ตัวจริงเสียงจริง ต้องรู้จักคน ทหาร ตำรวจ จำเป็นต้องมีเกราะรอบตัวเหมือนกัน ที่สำคัญอย่าเอาเปรียบ และอย่าไปทำลายสิ่งแวดล้อม”

ด้าน นายบุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเข้าไปลงทุนในพม่าของซีพีตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า ซีพีถือเป็นบริษัทหัวหอกของนโยบายครัวไทยครัวโลก จึงใช้วิสัยทัศน์ข้อนี้เป็นฐานการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาดพม่า ซึ่งพบว่ามี 2 ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการลงทุน

 

ประการแรก ประชากรพม่ามีประมาณ 50 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารคล้ายๆ คนไทย และประการที่ 2 คือพม่าเป็นประเทศเกษตรกรรม พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของซีพี

 

จากประสบการณ์ตรงนี้ บุญเกียรติได้สรุปออกมาเป็นกุญแจความสำเร็จของซีพีในการลงทุนในพม่าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาลู่ทางในพม่าคือ เข้าถูกประเทศ ซึ่งถือว่าถูกสำหรับซีพี เนื่องจากพม่ามีความอุดมสมบูรณ์ดังที่กล่าวข้างต้น, ถูกตลาด ซีพีเข้าไปลงทุนในพม่าขณะที่ยังถูกคว่ำบาตรการส่งออกเป็นเรื่องลำบาก จึงต้องพุ่งเป้าไปที่ตลาดภายในประเทศพม่าเป็นหลัก, เข้าถูกวิธี เมื่อระบบการเงินของพม่ายังไม่พร้อม วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการค้าขายคือการขายเงินสด, จ้างถูกคน ต้องดูว่าสถาบันการศึกษาของพม่าสามารถผลิตบุคลากรให้แก่ซีพีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งซีพีแก้ปัญหานี้โดยการส่งคนพม่ามาฝึกงานในเมืองไทย, ต้องมีเพื่อนในหลายระดับและหลายวงการ

 

การเปิดประเทศของพม่ากำลังเป็นโอกาสของนักลงทุนจากไทย ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงรอบนี้จะถูกประเมินว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน แต่ก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงจากความไม่พร้อมหลายๆ ด้าน ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ การลงทุนจากนานาประเทศที่กำลังเดินหน้าเข้าพม่า ถึงที่สุดแล้วชาวพม่าจะได้รับอานิสงส์มากน้อยเพียงใด โดยที่ไม่ต้องแลกด้วยต้นทุนที่สูงจนเทียบไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาได้รับ ประชาชนจะได้ประโยชน์ก่อน แล้วทุนจึงได้ประโยชน์ภายหลัง จะเป็นจริงหรือไม่ในระบบทุนนิยม

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: