'โซรยา จามจุรี'พูดแทนแม่บ้านมุสลิม ผู้หญิงคือเหยื่อของสถานการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 17 มี.ค. 2555


 

ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เรื้อรังถึงปี 2555 สถานการณ์ความรุนแรงยังแทบไม่บรรเทาเบาบางลงในความรู้สึกของผู้คนทั้งประเทศ แม้ฝ่ายความมั่นคงจะพยายามบอกไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

หลายชีวิตสูญเสีย เจ็บปวดมากกว่าคือผู้ที่ยังต้องอยู่กับความสูญเสีย สถิติตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2554 รายงานว่า ผู้หญิงมุสลิมที่ต้องเป็นหม้ายจากการสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ มีทั้งสิ้น 2,295 ราย แยกเป็นปัตตานี  849 ราย นราธิวาส 714 ราย ยะลา 657 ราย และสงขลา 75 ราย ส่งผลให้มีเด็กกำพร้าพ่อสูงถึง 4,455 คน บ่าบางๆ ของผู้หญิงจึงต้องแบกรับภาระจิตใจ สังคม เศรษฐกิจ และครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว

 

โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาสังคม สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำงานเยียวยากับกลุ่มผู้หญิงมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า 2 สิ่งที่ค้ำยันให้พวกเธอยืนหยัดคือหลักธรรมคำสอนของอิสลามและลูก

 

“ผู้หญิงหลายคนมีชีวิตอยู่ได้ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูก จะเห็นว่าผู้หญิงที่สูญเสียและมีลูกจะเข้มแข็งมากกว่าคนที่ไม่มีลูก ลูกจะเป็นกำลังใจให้ผู้หญิง”

 

ร่วมรับรู้เรื่องราวภายใต้ฮิญาบสีสดของผู้หญิงชายแดนใต้บนเส้นทางการสูญเสีย จากปากคำคนทำงานเยียวยาในพื้นที่

 

ผู้หญิง เหยื่อทางอ้อม

 

โซรยา ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ผู้หญิงคือเหยื่อทางอ้อมของเหตุการณ์ที่ต้องแบกรับทุกอย่างแทนผู้ชายที่เสียชีวิต ยิ่งฝ่ายชายถูกจับหรือถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวที่อยู่หลังยิ่งตกระกำลำบาก เนื่องจากเกิดความหวาดระแวงจากคนในชุมชน การเข้าไปข้องเกี่ยวอาจถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ความช่วยเหลือจากชุมชนและสังคมภายนอกจึงเข้าไม่ถึง และครอบครัวของคนกลุ่มนี้จะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่รัฐให้การเยียวยาช่วยเหลือ ไม่เหมือนกับกลุ่มที่เจ้าหน้าที่รัฐ 3 ฝ่ายคือฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร เห็นพ้องกันว่าเสียชีวิตจากสถานการณ์ ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยามาแบ่งเบาภาระ

 

ประเด็นนี้โซรยาได้พยายามบอกกล่าวแก่สังคมเสมอว่า ไม่ว่าฝ่ายชายจะผิดจริงหรือไม่ คำพิพากษาจะเป็นเช่นไร ภรรยาและลูกถือเป็นผู้บริสุทธิ์ที่รัฐจะต้องดูแล ทั้งเป็นการคลี่คลายความคับแค้นในหัวใจที่อาจก่อตัวเป็นความรุนแรงในอนาคต

 

โซรยายกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งที่เธอลงไปเยียวยาเด็กกำพร้าที่พ่อเสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เธอบอกว่าก่อนเสียชีวิต พ่อของเด็กเป็นอุสตาซหรือครูสอนศาสนา ได้รับเงินเดือน 5 พันบาท เมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตของครูสอนศาสนาในมาเลเซียซึ่งถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติแล้ว มันได้สร้างบาดแผลแห่งการเปรียบเทียบขึ้นในหัวใจ นี่อาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงและต่อต้านรัฐ

 

“สมัยพ่อ เขาคับแค้นต่อรัฐ แต่ลูกจะต้องไม่โตมาโดยมีความคับแค้นใจต่อรัฐเหมือนกับพ่อ ถ้าเราสามารถคลี่คลายความรู้สึกคับแค้นขมขื่นในลูกได้ เราคิดว่าโอกาสที่ความรุนแรงจะปะทุขึ้นมาอีกจะไม่เกิด งานเยียวยาคืองานที่พยายามยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า เราอาจจะไม่สามารถยับยั้งในวันนี้ แต่เราเยียวยาและพยายามคลี่คลายปมในใจ”

 

ความรุนแรงระยะหลังๆ โซรยาเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความคับแค้นขมขื่นที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือคลี่คลายบาดแผลในอดีต เมื่อแรงบีบอัดเลยจุดประนีประนอม มันจึงระเบิดออกมาเป็นระลอก

 

ผู้หญิงเป็นเหยื่อทางตรงมากขึ้น ดัชนีชี้วัดความรุนแรง

 

สิ่งที่โซรยาเป็นห่วงก็คือ ในระยะหลังๆ เธอสังเกตพบว่า การทำร้ายในลักษณะจำเพาะเจาะจงที่เดิมไม่ทำกับผู้หญิง ปัจจุบัน กลับเป็นว่าผู้หญิงเริ่มเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรงมากขึ้น หมายความว่าเกิดการลงมือกับผู้หญิง เช่น การบุกยิงผู้หญิงถึงบ้าน หรือการยิงทั้งสามีและภรรยา ซึ่งบางเหตุการณ์เด็กก็กลายเป็นเหยื่อด้วย

 

โซรยายอมรับว่าเรื่องนี้วิเคราะห์ได้ยากว่าทำไม แต่ต้องไม่ลืมว่าความรุนแรงส่วนหนึ่งถูกผสมโรงด้วยเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว ชู้สาว ยาเสพติด ซึ่งปนเปเข้ามาภายหลังค่อนข้างมาก

 

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะวิธีการใช้ความรุนแรงมีความโหดร้ายมากขึ้น ไม่เลือกเพศ เลือกวัย มีการใช้ระเบิดมากขึ้น สถิติการใช้ระเบิดที่ดูจากศูนย์ข่าวอิสราประมาณ 2,000 กว่าลูก แต่ระยะหลังถี่ขึ้น บางกรณีเป็นคาร์บอมบ์ ซึ่งโอกาสที่ผู้หญิง เด็ก และคนแก่จะตกเป็นเหยื่อจะมีมากขึ้น บางทีเป้าหมายของผู้ก่อเหตุคือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มักจะพลาดเสมอ โดนพลเรือนด้วย ปีที่แล้วเรามีผู้หญิงที่รับบาดเจ็บมากกว่า 1,400 คน เสียชีวิตมากกว่า 300 คน ตอนนี้คงมากขึ้นแล้ว

 

ไม่แน่ใจว่าต้องการให้เห็นว่าสถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงกระทำกับเหยื่อที่เปราะบาง หรือต้องการให้เป็นประเด็น เป็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่คุมไม่อยู่ อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกเป็นห่วงเป็นใย เพราะผู้หญิงและเด็กเป็นดัชนีชี้วัดความรุนแรงที่ค่อยๆ ไต่ระดับ แม้จะไม่มาก แต่ถือว่าเป็นความรุนแรงในเชิงคุณภาพ และอาจถูกขยายผลในทางการเมืองของฝ่ายก่อเหตุ

 

ยาเสพติดทำลายชุมชน ผลักภาระให้ผู้หญิง

 

การแย่งชิงทรัพยากรโดยเฉพาะในอ่าวปัตตานีเป็นปัญหาดั้งเดิมในพื้นที่ที่ดำรงอยู่ก่อนสถานการณ์ความรุนแรงปี 2547 เมื่อความรุนแรงปะทุ เสียงจากชาวประมงพื้นบ้านจึงถูกกลบใต้เสียงปืน ขณะที่ความรุนแรงกลับไม่ทำให้การรุกรานของเรือประมงพาณิชย์หรือโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียเกรงกลัวและหยุดชะงักเลย ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์แห่งอ่าวปัตตานีถูกชำเราจนเสื่อมโทรม อาชีพประมงแทบจะล้มหายตายดับจากชุมชนรอบอ่านปัตตานี แต่กลับไม่มีใครพูดถึง

 

เมื่อปลาหายไป ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ ผลกระทบหนักหนาจึงตกแก่ผู้หญิงรอบอ่าวปัตตานีชนิดที่ผู้คนนอกพื้นที่นึกไม่ถึง สถานการณ์ ณ ขณะนี้คือ แรงงานผู้ชายจำนวนหนึ่งอพยพไปทำงานในมาเลเซีย ลูกๆ จึงต้องอยู่กับแม่ บางกรณีภรรยาต้องติดตามสามีไปหาเงินมาชักหน้าให้ถึงหลัง เด็กๆ อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงยิ่งที่เด็กกลุ่มนี้จะหันเข้าหายาเสพติด เหล่านี้ยังไม่นับกรณีที่ฝ่ายชายไม่ทำงานเนื่องจากหวาดกลัว ผลักไสให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องออกจากชุมชนเข้าสู่โรงงาน

 

“ผู้หญิงจะรู้สึกว่าตนเองมีความรับผิดชอบสูง ถ้าสามีไม่มีรายได้ ก็ทนเห็นลูกไม่มีเงินไปโรงเรียนหรือไม่มีข้าวกินไม่ได้ ก็ต้องทำ เกิดปัญหาอีกเหมือนกัน เพราะทำงานเป็นกะ กระทบกับเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ก็ไม่มีทางเลือก และยาเสพติดก็จะสูงในชุมชนประมง”

 

ปัญหายาเสพติดหนักหน่วงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุความรุนแรง แต่ช่วง 8 ปีมานี้ เรียกได้ว่าสาหัส โซรยา เผยข้อมูลว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดสูงกว่าที่อื่นๆ ของประเทศ ในประชากร 4 คน จะมีคนติดยา 1 คน

 

“ที่น่าห่วงคือกลุ่มเยาวชนที่มีอยู่ในพื้นที่ประมาณ 3 แสนคน เยาวชนนอกระบบโรงเรียนกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก มีความสุ่มเสี่ยงสูงที่สุด มันมีจุดเริ่มต้นจากกระท่อม ต้มกระท่อมกิน แล้วเอาไปผสมปนเปให้เมามากขึ้น ไต่ระดับไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามฝ่ายเจ้าหน้าที่ รัฐบาลชุดใหม่จับกุมมากขึ้น แต่ก็เข้าใจว่าได้เฉพาะผู้เสพกับผู้ค้ารายย่อย ค้ารายใหญ่ยังไปไม่ถึง”

 

7.5 ล้าน สถานการณ์ใหม่ที่ผู้หญิงต้องรับมือ

 

เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท เป็นสถานการณ์ใหม่ที่อาจสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ หากขาดหลักเกณฑ์และการจัดการที่ทุกฝ่ายยอมรับ โซรยากล่าวว่า ถึงขณะนี้ คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติใดๆ ออกมา แต่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายสร้างหลักเกณฑ์การเยียวยาร่วมกันเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งโซรยาชมเชยว่าเป็นกระบวนการที่ดี

ถึงกระนั้น เงินล้านก็ยังมีพลังพอจะบ่มเพาะความขัดแย้ง เช่น กรณีที่ภรรยาของผู้เสียชีวิตแต่งงานใหม่ หรือพ่อแม่ของผู้เสียชีวิตควรจะมีสิทธิได้รับการเยียวยาหรือไม่ กรณีเหล่านี้ โซรยากับกลุ่มผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จึงเริ่มทำการเก็บประวัติผู้หญิงมุสลิมที่อาจอยู่ในเกณฑ์ได้รับการเยียวยา และเตรียมพูดคุยสร้างความเข้าใจ

 

“ไม่ว่ารัฐจะจ่ายยังไงก็ตาม เมื่อจ่ายให้แล้ว เราจะคุยกันวงในก่อน หลักๆ ผู้หญิงและลูกต้องได้ แต่ก็ยังมีพ่อแม่ของผู้เสียชีวิตอีก แม้การจ่ายของรัฐไม่ครอบคลุมถึง แต่ก็ควรคุยกันภายในว่าจะช่วยแบ่งเบายังไง เป็นสิ่งที่กำลังเก็บข้อมูล เคลียร์กันก่อนที่เงินจะมา ต้องไม่ลืมว่า บางครอบครัวมีลูก 8-9 คน เมื่อต้องแบ่งสันปันส่วนกันแล้ว ตัวเงินที่ได้ก็ไม่มาก”

 

รัฐต้องไม่ใช้เงินปิดปากชาวบ้าน ต้องหาความจริง-สร้างความยุติธรรม

 

อย่างไรก็ตาม โซรยาเน้นย้ำไปถึงภาครัฐว่า 7.5 ล้านบาทจะต้องไม่ใช่เงินปิดปาก ปิดเสียงชาวบ้าน ไม่ว่าจะอย่างไร 7.5 ล้านบาทก็เทียบไม่ได้กับชีวิตที่สูญเสีย เพียงแต่ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ และยอมรับว่ามีการกระทำความรุนแรงจากน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐอยู่จริง ดังนั้น กระบวนการหาความจริงและอำนวยความยุติธรรมแก่ชาวบ้านจะต้องดำเนินคู่ขนานกันไป มิใช่ว่าจ่ายเงินเยียวยาแล้ว ความอยุติธรรมที่ชาวบ้านต้องเผชิญถือว่าจบ

 

ต้องยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมในพื้นที่อ่อนแอมาก 5,000 คนที่ตายไป คดีส่วนใหญ่ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์หาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ ถามว่ายากหรือเปล่า ก็ยากอยู่ที่จะหาผู้กระทำผิด เราเข้าใจ แต่ก็ต้องพยายาม แต่ดูเหมือนว่ามันไม่ทำงานเอาเสียเลย เมื่อเป็นอย่างนี้ บางทีนำไปสู่การล้างแค้นกันเองโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เริ่มมีแล้วนะ บางกรณีเขารู้หรือถ้าเขาสงสัย บางครั้งเขาจัดการกันเองโดยไม่พึ่งกระบวนการยุติธรรม เพราะคิดว่าพึ่งพาไม่ได้ ไม่สามารถเอาคนกระทำผิดมาลงโทษไม่ได้ ซึ่งเราเป็นห่วง ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะมันจะไม่จบ

 

บางกรณีที่เราไปเยียวยา บอกว่าตอนนี้ครอบครัวเขาเหลือแต่ผู้หญิงแล้ว จนเขาบอกว่าคงไม่เป็นไรแล้ว เพราะผู้ชายโดนเอาไปหมดแล้ว บางทีมีลูกชายก็ต้องเอาออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่นไกลๆ ไม่ให้ถูกล้างแค้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเป็นที่พึ่งพา ผลพวงคือแบบนี้แหละ แล้วผู้หญิงก็ได้รับผลกระทบอีก

 

สังคม-รัฐ ต้องสนับสนุนผู้หญิงในพื้นที่

 

ที่ผ่านมา บริบทวัฒนธรรมอิสลามในพื้นที่ ทำให้สถานะภาพของผู้หญิงในทางสังคมถูกปิดกั้น ที่โดดเด่นที่สุดมีเพียงสถานะเชิงเศรษฐกิจการทำมาหากินและพื้นที่ในครัวเรือนเท่านั้น หากมีโอกาสเดินตลาดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะพบแม่ค้ามากกว่าพ่อค้าซึ่งแทบไม่มีเลย

 

ภาพที่ปรากฏจึงเหมือนกับว่า ผู้หญิงต้องแบกรับในเชิงเศรษฐกิจร่วมกับผู้ชาย จนบางครั้ง บางกรณี ฝ่ายชายถึงกับผลักภาระให้ฝ่ายหญิงแต่เพียงผู้เดียว

 

“ผู้หญิงเราเห็นปัญหานานแล้ว เข้าใจว่าผู้ชายก็เห็นปัญหาอยู่ในหมู่ผู้ชายที่เป็นนักเคลื่อนไหวที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เราก็ยังรู้สึกว่าเขายังตื่นตัวที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้อยไป ไม่ได้หมายความผู้ชายต้องออกมาข้างหน้า ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแบบที่ผู้หญิงทำตอนนี้ เพราะผู้ชายมีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า แต่ในมิติทางเศรษฐกิจผู้ชายต้องเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวมากกว่า”

 

โซรยากล่าวว่า จากบทบาทของผู้หญิงที่ก้าวมาอยู่แถวหน้าเพื่อร่วมคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรง สังคม ชุมชน ในพื้นที่เริ่มให้การยอมรับผู้หญิงมากขึ้น จากเดิมที่เห็นว่าผู้หญิงไม่ควรมีบทบาทเชิงสังคม แต่ตอนนี้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงทำงานเชิงสังคมมากขึ้น

 

แต่สิ่งที่โซรยาอยากจะกระตุ้นเตือนสังคมและภาครัฐก็คือ จะอย่างไรเสีย ด้วยวัฒนธรรมอิสลามบ่มเพาะให้ผู้หญิงไม่อาจทิ้งครอบครัวได้ ไม่ว่างานทางสังคมจะหนักหน่วงเพียงใดก็ตาม ดังนั้น โซรยาจึงเห็นว่าสังคมและภาครัฐจะเพียงแค่ยอมรับบทบาทของผู้หญิงเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องหาทางหนุนเสริมที่เป็นรูปธรรมให้แก่ผู้หญิงมุสลิมไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง บทบาทของผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้ยั่งยืนและเป็นกำลังสำคัญต่อการคลี่คลายสถานการณ์และเยียวยาบาดแผลในใจของผู้คน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: