งามหน้า‘สภาไทย’แย่งซีนวงประชุมWEF ส.ส.ฮือยกพวกตะลุมบอน-ม็อบเกลื่อนถนน ชี้ต่างชาติมุ่งพัฒนาศก.แต่ไทยทิ้งโอกาส

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 2 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1026 ครั้ง

ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่ม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 21 ที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเป็นครั้งแรก ภายใต้หัวข้อ “การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง” นับเป็นการประชุมระดับโลกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมในครั้งนี้มีผู้นำสำคัญตบเท้าเข้าร่วมประชุมคึกคัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบรับเข้าร่วมประชุมของนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ซึ่งถือเป็นการออกเยือนต่างประเทศในรอบ 24 ปี สร้างความคึกคักในการประชุมเป็นอย่างมาก

 

เอเชียตะวันออกเป็นความหวังเศรษฐกิจโลก

 

นายสุชันต์ พาลาเคอร์ธีราโอ ผู้อำนวยการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายเอเชียประจำเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม  ระบุว่า จุดประสงค์สำคัญของการจัดการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 21 อยู่ที่การหารือถึงแนวทางสานต่อความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งหมายถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน + 3 คือ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่วันนี้กล่าวได้ว่า มีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นภูมิภาคเดียวที่เศรษฐกิจยังเติบโตอยู่ ทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากทุนมนุษย์ที่มีมากกว่า 600 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) สูงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ จึงน่าจะเป็นความหวัง ที่จะไม่ฉุดเศรษฐกิจโลก เข้าสู่การถดถอย

โดยการประชุมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก Shaping The Region’s Future through Connectivity หรือ “กำหนดอนาคตของภูมิภาคด้วยการเชื่อมโยง” เพื่อช่วยกันสร้างโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านสมดุลโลกกับเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเติบโตสูงขึ้น, นโยบายการเงินต่อเงินเฟ้อ เงินทุนไหลออก ราคาโภคภัณฑ์ผันผวน, การสมดุลเติบโตในประเทศกับภูมิภาค และการเติบโตภูมิภาค ส่งผลยกระดับรายได้ ประชากร พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรียกกันว่า “เออีซี” ในปี 2558 แล้วจะทำอย่างไรให้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ล้มเหลวและเป็นปัญหาเหมือนที่กลุ่มยูโรโซนกำลังเผชิญอยู่

 

แนะไทยเปิดตัวเป็นตัวเชื่อมภูมิภาค

 

“ประเทศไทยถือว่ามีบทบาททางเศรษฐกิจสูงมาก ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และยังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางในหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และโลจิสติกส์ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นตัวเชื่อมโยงทั้งภูมิภาคเข้าด้วยกัน ให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญจากการศึกษาสภาพโดยรวมของไทยปัจจุบันและอนาคตยังมีบรรยากาศการลงทุนของธุรกิจระดับสากลโดดเด่นมากในภูมิภาคนี้” นายสุชันต์กล่าว

 

เผยประเด็นหารือครอบคลุมทุกด้าน

 

สำหรับประเด็นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในที่ประชุมครั้งนี้  ประเทศสมาชิกมีการแสดงมุมมองครอบคลุมในทุกด้านของเศรษฐกิจ อาทิ ด้านเกษตรกรรม ซึ่งมีการพูดถึงการเพิ่มพื้นที่ และรอบการผลิตที่มากขึ้น  ด้วยเทคโนโลยีและการให้ความรู้เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และการเข้าถึงตลาดให้เกษตรกร  ในขณะที่ ด้านการค้า การลงทุน หลายประเทศมองว่า การลดค่าใช้จ่ายในการคมนาคมขนส่ง เพื่อขยายการเชื่อมโยงในภูมิภาคให้มากขึ้น จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุน ขณะที่การเข้ามามีบทบาทสำคัญของจีน ซึ่งเป็นประเทศบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์สูงถึงร้อยละ 30 ของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งโลก จะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตการเงินของสหภาพยุโรป (EU) ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในภูมิภาคนี้ แต่บางประเทศในอาเซียนเอง ก็ได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พร้อมกับการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ซึ่งการรวมตัวของอาเซียนจะเป็นภูมิคุ้มกันวิกฤตนอกภูมิภาคได้ด้วย

 

นอกจากนี้ในส่วนด้านการเงิน ในที่ประชุมยังมีการเสนอให้หลีกเลี่ยงโมเดลของ EU โดยเฉพาะในเรื่องการรวมสกุลเงินเป็นสกุลเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเพิ่มหนี้สาธารณะ  และด้านท่องเที่ยว ก็มุ่งเน้นการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น การทำวีซ่าเดียวเข้าได้ทุกประเทศในอาเซียน (ซิงเกิล วีซ่า) หรือ ทำวีซ่าผ่านทางออนไลน์ (อี-วีซ่า) เชื่อมโยงการเดินทางและระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ข้อมูลสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งผู้ร่วมประชุมได้ยกตัวอย่างประเทศไทย ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่น รวมทั้งเว็บไซต์ ไปมาก เพื่อให้ข้อมูลนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกการจอง รวมทั้งใช้ช่องทางนี้ให้นักท่องเที่ยวได้แบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยว

สำหรับประเด็นปัญหาที่ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจ และหลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากคือ ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งมีการเสนอว่าการรวมตัวกันจะต้องไม่ได้มุ่งหวังที่จะรวมตัวให้ได้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจภายใน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันประเทศของตน ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อหาจุดสมดุล

 

หารือปัญหาพลังงานในฐานะกลุ่มผู้ใช้

 

ส่วนประเด็นด้าน “พลังงาน” ซึ่งถูกกำหนดเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เพราะมีความเชื่อร่วมกันว่า ความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนที่อยู่ในฐานะของ “ผู้ใช้” พลังงานไม่ใช่แหล่งผลิต เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาค

ซึ่งในวันนี้ทุกประเทศกำลังเผชิญปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ และกรณีราคาพลังงานที่นับวันมีแต่จะสูงขึ้น เนื่องจากต่างใช้นโยบายชดเชยราคาพลังงาน แต่ก็เริ่มส่งผลกับสถานะการเงิน และยิ่งรัฐจ่ายชดเชยไม่ให้ราคาแพง แต่กลับทำให้เกิดการใช้ฟุ่มเฟือย มากกว่าจะช่วยกันประหยัด และยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

 

ในการหารือได้มุ่งเน้นไปที่แนวทางความร่วมมือ และทิศทางพลังงานที่จะเกิดขึ้นในปี2558  เมื่อเกิดประชาคมอาเซียนคือ สถาปัตยกรรมใหม่ โครงสร้างพลังงานความจำเป็นของอนาคตอาเซียนในด้านความร่วมมือ ทั้งบนโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาระดับโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ของภูมิภาค เช่น โครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้า (Asean Power Grid) และโครงข่ายท่อก๊าซแห่งภูมิภาค (Trans Asean Gas Pipeline) การจัดเก็บสต็อกน้ำมันในคลังสำหรับภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนผลวิจัย อาทิ ด้านพลังงานทดแทน ก๊าซแอลเอ็นจี จนถึงทิศทางนโยบาย พลังงานระดับประเทศ อย่างกรณีสหภาพพม่า ที่ต่อไปจะไม่ขายพลังงานเพิ่มเพราะมีแนวโน้มว่าจะไม่พอใช้ในประเทศ

 

เสียดายโอกาส-เวทีระดับโลกแต่ไทยใช้ไม่เป็น

 

อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งนี้ แม้ว่าจะเป็นกรอบการประชุมในระดับโลกที่ได้รับความสนใจอย่างสูง ทั้งจากผู้นำประเทศต่างๆ ที่หวังจะใช้เวทีนี้ในการเปิดฉากเศรษฐกิจหน้าใหม่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น พม่า เวียดนาม หรือแม้กระทั่ง ลาว  โดยต่างให้ความสำคัญ ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมประชุมคึกคัก ท่ามกลางสื่อมวลชนจากทั่วโลกที่พากันเดินทางมารายงานข่าว  ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาไปสู่โลกเศรษฐกิจยุคใหม่

แต่สำหรับประเทศไทยเอง ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการประชุมในครั้งนี้ กลับดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เมื่อจุดสนใจสำคัญถูกเพ่งเล็งไปที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....ซึ่งถูกนำเสนอข่าวสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเวลาเดียวกัน จนเกิดเหตุความวุ่นวายขึ้นในห้องประชุมรัฐสภา กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก กลบข่าวการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 21 นี้ ไปอย่างบนน่าเสียดาย จนกระทั่งหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อการประชุม แต่ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุม และอาจจะส่งผลยาวนานต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยด้วย

 

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าวว่า  รู้สึกเป็นห่วงปัญหาการชุมนุมประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการจัดการประชุม ซึ่งอยากให้อยู่ในกรอบและไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น จึงขอให้คนไทยเป็นเจ้าภาพที่ดีไม่ต้องการให้ผู้ใดเอาประเทศชาติมาเป็นตัวประกัน เพราะการประชุมเวิลด์ อีโคโน มิก ฟอรัม ถือว่ามีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศ และความพร้อมหลังเกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีก่อน

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเป็นห่วงในประเด็นนี้เช่นเดียวกันว่า การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ชาวโลกจับตามอง เนื่องจากมีผู้นำคนสำคัญจากหลายประเทศเข้าร่วมประชุม และทุกคนล้วนมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์ต่อประเทศของตนในการจะพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเองเพื่อเดินไปข้างหน้า เช่น นางออง ซาน ซู จี ซึ่งทั่วโลกจับตามอง และเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ดังนั้นหากการประชุมในครั้งนี้ สามารถร่วมกันผลักดันความร่วมมือของอาเซียน และการเชื่อมโยงกับพม่า ซึ่งเพิ่งจะเปิดประเทศได้ ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่น และความแข็งแกร่งของอาเซียนที่กำลังจะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 3 ปี ข้างหน้าได้

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: