เตือนคนไทยเลิกวิตกสินค้าแพงตามค่าแรง พ่อค้าแม่ค้ายันแค่ขยับขึ้นลงเป็นช่วงปกติ ชี้ธงฟ้าเอาใจผู้ค้ารายใหญ่-จี้รัฐตรึงให้นิ่ง นักวิชาการระบุเป็นกลไกตลาดแนะปรับตัว

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 2 เม.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3936 ครั้ง

 

พลันที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายประชานิยม ด้วยการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาท โดยเริ่มจาก 7 จังหวัดก่อน ความวิตกตามมาของประชาชนก็คือ นับแต่นี้ไปสินค้าต่างๆ จะมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วแน่นอน แล้วปรากฎการณ์นั้นก็เป็นจริง เมื่อมีการสำรวจร้านข้าวแกงพบว่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 30 บาท ไปจนถึง 50 บาท ขณะที่ไม่นานข่าวราคาก๊าซหุงต้นภาคครัวเรือนก็แว่วว่า จะขยับราคาขึ้นไปอีกในปลายปี และสินค้าอื่นๆ อีกมากมายที่จะพุ่งตามไปด้วย นั่นหมายความว่าค่าแรงที่เพิ่งขึ้นเป็น 300 บาท เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป ศูนย์ข่าว TCIJ จึงเดินสำรวจตลาด เพื่อตรวจสอบราคาสินค้า โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จะมาประกอบอาหารเลี้ยงปากท้องกับคนเดินดินกินข้าวแกง ว่ามีอะไรขยับขึ้นไปแล้วบ้าง อะไรคงที่ หรือลดลง อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ ผักผลไม้ น้ำมันพืช น้ำตาล ฯลฯ

 

ตลาดสดกทม.ราคาหมู-ไก่ลดลง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายปี 2554 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เคยระบุราคาเนื้อหมู-เนื้อไก่ ไว้ว่า ราคาปลีกเนื้อหมู เฉพาะเนื้อแดง เนื้อสะโพก เนื้อไหล่ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ในตลาดสด ไม่เกินก.ก.ละ 125 บาท ส่วนพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่เกินก.ก.ละ 130 บาท และพื้นที่ภาคใต้ ไม่เกินก.ก.ละ 135 บาท  (วันที่ 5 ต.ค.2554)

ส่วนราคาขายปลีกไก่สดทั้งตัว (รวมเครื่องใน) ไม่เกินก.ก.ละ 60-65 บาท ซึ่งไก่สดทั้งตัว (ไม่รวมเครื่องใน) ไม่เกินก.ก.ละ 65-70 บาท เนื้อไก่ ไม่เกินก.ก.ละ 70-80 บาท (วันที่ 29 ส.ค.2554) ทั้งนี้ยังกำหนดให้แต่ละภาคขายเกินราคาได้ระหว่างก.ก.ละ 2-5 บาท

จากการตรวจสอบราคาขายปลีกอาหารสด ที่ตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า ในช่วงวันที่ 19-23 มี.ค. เนื้อหมู (เนื้อสะโพก) ก.ก.ละ 106.5 บาท ราคาขึ้นลงในแต่ละวันก.ก.ละ 100-115 บาท ก่อนจะปรับขึ้นล่าสุด เมื่อวันที่ 26 มี.ค. เป็นก.ก.ละ 110-115 บาท หากเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อเดือนมี.ค.2554 พบว่า ราคาเนื้อหมูก.ก.ละ 118.15 บาท ขณะที่ราคาเดือนก.พ.2555 ก.ก.ละ 112.98 บาท

ส่วนราคาเนื้อไก่สด (ทั้งตัวรวมเครื่องใน) ในเดือนก.พ.2555 กิโลกรัมละ 62.26 บาท ต่อมาช่วงวันที่ 19-23 มี.ค.2555 ขยับเป็นกิโลกรัมละ 53.50 บาท ปัจจุบันก.ก.ละ 52-55 บาท ลดลง  8.76 บาท ขณะที่ราคาเมื่อเดือนมี.ค.2554 ก.ก.ละ 69 บาท

ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 3 เมื่อเดือนก.พ.2555 ฟองละ 3.03 บาท ต่อมาวันที่ 19-23 มี.ค.2555 ฟองละ 2.89 บาท ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค.ฟองละ 2.7-2.8 บาท ลดลงฟองละ 3.03 บาท ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมี.ค.2554 ฟองละ 3.25 บาท

 

ผักลดลงจากก.พ.-มี.ค.ทรงตัวแต่ไม่นิ่ง

 

สำหรับราคาผัดสดชนิดต่างๆ พบว่า ราคาเมื่อเดือนก.พ.2555 ขยับตัวสูงขึ้นจากเมื่อเดือนมี.ค.2554 มากพอสมควร แต่ต่อมาในเดือนมี.ค.2555 ราคากลับลดลง เช่น ผักคะน้า ราคาเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ก.ก.ละ 36.12 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 23.5 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 18-20 บาท ผักบุ้งจีน เดือนก.พ. ก.ก.ละ 17.45 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 14.7 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 18-20 บาท ผักกวางตุ้ง เดือนก.พ. ก.ก.ละ 22.79 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 21 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 20-22 บาท ผักกาดขาวปลี เดือนก.พ. ก.ก.ละ 20.10 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 17.5 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 15-18 บาท กำหล่ำปลี เดือนก.พ. ก.ก.ละ 9.57 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 11 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 8-10 บาท ผักชี เดือนก.พ. ก.ก.ละ 8.93 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 9.5 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 7-8 บาท ต้นหอม เดือนก.พ. ก.ก.ละ 6.5 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 6.7 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 6-7 บาท พริกขี้หนู เดือนก.พ. ก.ก.ละ 3.5 บาท เดือนมี.ค. ก.ก.ละ 3.5 บาท วันที่ 27 มี.ค. ก.ก.ละ 3-4 บาท มะนาวแป้น เบอร์ 1-2 เดือนก.พ. ผลละ 4.2 บาท เดือนมี.ค. ผลละ 5.68 บาท วันที่ 27 มี.ค. ผลละ 5.5-6.25 บาท มะนาวแป้น เบอร์ 3-4 เดือนก.พ. ผลละ 3.14 บาท เดือนมี.ค. ผลละ 4.6 บาท วันที่ 27 มี.ค. ผลละ 4.5-5 บาท

 

หมูหน้าร้อนแพงเพราะไม่ยอมกินอาหาร-โตช้า

 

นายปรีชา ทรัพย์อุดมชัย  เจ้าของแผงขายหมูในตลาดสดนนทบุรี ที่มีอาชีพขายหมูมากว่า 28 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ราคาเนื้อหมูขึ้นอยู่กับฟาร์มหมูเป็นผู้กำหนด ซึ่งราคาจากฟาร์มบริษัทซี.พี. ก.ก.ละ 53 บาท  รับมาวันละ 9 ตัว หรือประมาณ 800-900 กิโลกรัม ขายหน้าเขียงก.ก.ละ 105 บาท เนื้อสะโพก ก.ก.ละ 110 บาท  เป็นธรรมดาที่ลูกค้ามองว่าเนื้อหมูมีราคาแพง  ลูกค้าบางคนก็รับได้บางคนก็รับไม่ได้ แต่ก็ยังมีคนซื้อ

ส่วนสาเหตุการขึ้นราคาของเนื้อหมูในช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค. เพราะในช่วงฤดูร้อน หมูจะไม่ยอมกินอาหาร ทำให้เจริญเติบโตช้า ทำให้ราคาหมูแพงขึ้น แต่ในฐานะคนขายก็รับได้ ตอนนี้ราคาขายทั่วไป ก.ก.ละ 115-120 บาท ซึ่งเมื่อเราได้ราคาฟาร์มมาแล้ว เราก็จะบวกเพิ่มอีก 2-3 บาท เป็นราคาหน้าเขียง

 

ไก่ถูกลงแต่คนซื้อน้อย-ชี้ธงฟ้าช่วยผู้ประกอบการรายใหญ่

 

ด้านนายสุภัทรชัย อินทร์หงส์  เจ้าของร้านขายไก่สดวนิดา ตลาดนนทบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาไก่สดทั้งตัว ลดลงจากเมื่อ 3 เดือนที่แล้วถึง 20 บาท ราคาไก่สดทั้งตัวก.ก.ละ 40 บาท ถ้ารวมเครื่องในก.ก.ละ 36 บาท ซึ่งในช่วงที่น้ำท่วมราคาจะแตกต่างมาก มีส่วนต่างถึงก.ก.ละ 30 บาท เนื่องจากการขนส่ง  ซึ่งทางร้านรับไก่มาจากสหฟาร์ม มียี่ปั๊วส่งมาให้ ราคาที่ขายจะแตกต่างจากราคาที่รับมาจากฟาร์มก.ก.ละ 3 บาท เดิมก่อนน้ำท่วมรับมาขายวันละ 4-6 ตัน  ปัจจุบันรับมาขายเพียงวันละ 2-3 ตัน ทุกวันนี้ราคาไก่ไม่แพงและถือว่าถูกที่สุดในรอบ 10 ปี แต่คนบริโภคไก่น้อยลงกว่าเก่า อาจเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี  ทำให้คนไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย ทั้งที่สินค้าราคาถูกลงกว่าสมัยก่อน แต่แต่คนไม่ซื้อกิน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร

 

“อาจเป็นปัญหาที่ราคาค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลขึ้นเป็นวันละ 300 บาท พอขึ้นค่าแรง ราคาสินค้าก็ขึ้นสูงตามไปด้วย ผมว่าช่วงนี้ราคาของถูก ต้นทุนสูง สภาวะการเงินฝืด คนไม่ค่อยซื้อของ อยากจะฝากให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้คนจับจ่ายใช้สอย  ส่วนเรื่องราคาธงฟ้ามันเป็นมาตรการที่ช่วยเหลือสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของที่ตลาดเลย อยากให้รัฐบาลดูแลตรงนี้ด้วย” นายสุภัทรชัยกล่าว

 

พ่อปลีกชี้รัฐขึ้นค่าแรงแต่ไม่คุมราคาสินค้า

 

นายประภัทร เมตตาจิตโต ผู้ค้าปลีกย่านตลาดบางซื่อ กล่าวว่า ราคาสินค้าเริ่มทยอยขึ้นราคา ตั้งแต่ช่วงที่มีปัญหาราคาน้ำมันปาล์ม ขึ้นสูงในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันพืชจะทรงตัวและมีการปรับขึ้นลิตรละ 1-2 บาท ขณะนี้ลิตรละ 30-45 บาท ราคาน้ำมันปาล์มขวดละ 42 บาท  ส่วนน้ำตาลทรายขาวก.ก.ละ 25 บาท  นอกจากนี้สินค้าที่ทางโรงงานแจ้งว่าจะขาดตลาด สินค้าชนิดนั้นมีราคาแพงขึ้น เช่น เกล็ดขนมปัง นมข้นหวาน  นมสด กระป๋องละ 24 บาท ส่วนนมข้นหวานกระป๋องละ 27 บาท และที่มีขายอยู่ก็เหลือเฉพาะนมข้นหวาน ตรามะลิ ส่วนนมสดเหลือเพียงตราคาร์เนชั่น ส่วนน้ำมะนาวขึ้นราคาเป็นบางยี่ห้อขวดละ 20 บาท

นายประภัทรเล่าว่า ซื้อน้ำมันปาล์มครั้งละ 20-30 ลัง ราคาขวดละ 39 บาท น้ำตาลทรายซื้อครั้งละ 10-20 กระสอบ เพื่อนำมาเก็บไว้ขาย หากมองการขึ้นราคาสินค้าครั้งนี้ถือว่าขยับขึ้นก่อนที่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น ในฐานะพ่อค้าคนกลางคิดว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการมารองรับการขึ้นราคาสินค้า รวมถึงมีการควบคุมการขึ้นราคาอย่างเป็นระบบ กรณีที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ก็ถือว่าไม่มีประโยชน์กับประชาชน เพราะประชาชนจะต้องซื้อสินค้าราคาแพง

 

“เราได้รับผลกระทบมากเหมือนกัน ทำให้คนซื้อของน้อยลง แต่ก่อนครอบครัวหนึ่งๆ ซื้อสินค้าไม่ต่ำกว่า 500-600 บาท แต่วันนี้เหลือเพียงคนละ 300-400 บาทเท่านั้น ลดลงเยอะ ปริมาณการซื้อลดลง เวลาเราไปซื้อของกินก็รู้สึกว่าราคามันแพงข้าวแกงจานละ 40-50 บาท ทั้งที่ต้นทุนไม่แพง คิดว่ารัฐบาลน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้” นายประภัทรกล่าว

 

ไข่ราคาลงเพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม

 

นางสมพร แป้นกลม แม่ค้าขายไข่ไก่ ระบุว่า ราคาไข่ไก่วันนี้ลดลงมาก จากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ราคา ณ วันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา ไข่ไก่ เบอร์ 0 ราคาฟองละ 3.5 บาท, เบอร์ 1 ฟองละ 3.2 บาท เบอร์ 2 ฟองละ 2.9 บาท เบอร์ 3 ฟองละ 2.7 บาท เบอร์ 4 ฟองละ 2.5 บาท และเบอร์ 5 ฟองละ 2.3 บาท ไข่เป็ดราคาฟองละ 3-4 บาท ซึ่งราคาไข่เดือนมี.ค.ลดลงจากเดือนก.พ. เพราะอยู่ในช่วงปิดเทอม ปกติจะสั่งไข่ไก่จากฟาร์มที่จ.ชลบุรีและฉะเชิงเทราครั้งละ 20-30 ตั้ง  สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง  แต่ปัจจุบันลดเหลือครั้งละ 15-20 ตั้ง ในฐานะพ่อค้าคนกลางจะไม่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่จะได้รับผลกระทบโดยตรงกับผู้บริโภค คิดว่าน่าจะมีการกำหนดมาตรฐานราคากลางอย่างเป็นธรรมทั้งกับผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อลดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ การขึ้นราคาเกินควร ทำให้สินค้ามีราคาแพง

 

ชี้ราคาสินค้าไม่นิ่งทำคนซื้อน้อย-ห้างใหญ่ชิงคนเดินตลาด

 

ด้าน น.ส.ปิยมาศ นิรัติศัยสกุล แม่ค้าขายผักสดในตลาดเทเวศร์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ราคาผักไม่คงที่เหมือนเดิม ราคาแกว่งมากโดยเฉพาะผักชี-คึ่นฉ่าย ก.ก.ละ 60-70 บาท เดิมก.ก.ละ 40-100 บาท  ซึ่งหน้าหนาวราคาจะถูกมากก.ก.ละ 10-20 บาท อาจจะมีผลจากน้ำท่วมและค่าครองชีพที่จะสูงขึ้น พ่อค้าแม่ค้าที่ขายส่งจะฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ปกติจะไปซื้อผักที่ปากคลองตลาด เพราะอยู่ใกล้ แต่ต้นทุนราคาซื้อขายจะแพงกว่าราคาที่ตลาดสี่มุมเมือง ส่วนสาเหตุที่ทำให้ผักราคาแพง ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพราะในฤดูร้อน ผักจะเหี่ยวเร็ว น้ำหนักจะลดลง ทำให้ต้องรีบขายแม้ว่าจะได้กำไรน้อยลงก็ตาม น้ำมันขึ้นราคาก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบ เพราะการขนส่งมีราคาสูงขึ้นในบางวันก็ต้องจ่ายทุนเพิ่ม

 

“เดิมทีตลาดเทเวศร์ มีคนเดินจนถึง 20.00 น. แต่ปัจจุบันเวลา 14.00น.ตลาดก็เงียบแล้ว ซึ่งพบว่า คนกินน้อยลงจากเดิม ขณะที่วัตถุดิบราคาสูงขึ้น  เช่นกับข้าว 1 มื้อ ถ้าซื้อวัตถุดิบไปทำเอง ราคาจะไม่ต่ำกว่า 100-200 บาท คนส่วนใหญ่ก็เลยหันมาซื้อกับข้าวใส่ถุง หรืออาหารสำเร็จรูปไปกินแทน อยากให้รัฐบาลนึกถึงคนรากหญ้าจริงๆ  เพราะคนรากหญ้าไม่ได้ไปกินอาหารในห้าง การที่มีโชว์ห่วยขนาดย่อมของแม็คโคร โลตัส เอ็กซ์เพรส มากขึ้น ทำให้คนเดินตลาดสดน้อยลง คนไม่เข้าใจว่าการเดินตลาด ราคาสินค้าที่ขึ้นลงมันขึ้นอยู่กับกลไกตลาดจริงๆ  แต่ของในโลตัส แม็คโคร มาจากการกำหนดราคาผูกขาด”

 

ส่วนโครงการธงฟ้าที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ น.ส.ปิยะมาศมองว่า เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพียงกลุ่มเดียวไม่ได้ช่วยเหลือทุกกลุ่ม อยากให้รัฐบาลตรวจสอบกลไกตลาดให้นิ่ง ไม่ใช่ราคาสินค้ากระโดดขึ้นลงในแต่ละวัน ซึ่งกลไกตลาดในแต่ละวันจะขึ้นอยู่กับสินค้าแต่ละประเภท ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน  เช่น บางวันสินค้าชนิดไหนที่มีความต้องการสูง ราคาจะถีบตัวสูงตามไปด้วย ไม่มีการควบคุม ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมาก อย่างไรก็ตามช่วงเวลาก็ส่งผลให้ราคาสินค้าไม่เท่ากันอีกด้วย ทำให้ผู้ซื้อ ซื้อสินค้าในราคาที่แตกต่างกัน สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ทุกวันนี้ผู้บริโภคมักซื้อสินค้าโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ แต่ซื้อสินค้าเพราะมีราคาถูก ทำให้มาตรฐานการกินที่ดีของคนไทยลดลง

 

ร้านข้าวแกงยันรับไหวแต่ต้องปรับตัว

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่า ราคาทั้งหมู ไก่ และผัก ขยับขึ้นลงไม่นิ่ง แต่แม่ค้าขายข้าวแกงเป็นอาชีพหลัก ก็ยังคงต้องซื้อหาอยู่เป็นประจำทุกวัน เพื่อนำมาประกอบอาหารขาย นางนันทนัช อ่อนแช่ม  อายุ 65 ปี แม่ค้าข้าวราดแกง ย่านบางซื่อ กล่าวว่า เมื่อก่อนไปซื้อผักจากตลาดสี่มุมเมือง และจ.ราชบุรี มาทำกับข้าวขายพบว่า ขณะนี้ราคาถูกลงกว่าช่วงน้ำท่วม เช่น ไก่สด ราคาถูกลง ปัจจุบันก.ก.ละ 50 บาท จากเดิมก.ก.ละ 90-100 บาท  ส่วนเนื้อหมู ราคาเดือนก.พ. ก.ก.ละ 100 บาท พอเข้าสู่เดือนมี.ค. ราคาก.ก.ละ 105 บาท  ซึ่งเราซื้อขั้นต่ำวันละ 7 ก.ก. ส่วนอุปกรณ์ประกอบอาหารอื่นๆ เช่น ราคาน้ำมันปาล์มราคาคงที่ ราคาผัก ถั่วฝักยาว ก.ก.ละ 10 บาท แตงกวา ก.ก.ละ10 บาท ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นราคาที่มาจากตลาดกลาง ถ้าวันไหนสินค้ามีราคาแพงก็จะหลีกเลี่ยง ในกรณีที่มีผู้ค้าจากต่างประเทศสั่งซื้อจำนวนมากเพื่อส่งออก ก็จะทำให้ราคาสินค้าชนิดนั้นๆ ขึ้นราคาสูง เนื่องจากมีความต้องการสูง โดยเฉพาะผักที่อาจจะขึ้นราคาเป็นเท่าตัว

นางนันทนัชกล่าวว่า เราซื้อมาขายไป ไม่ได้ลำบาก เพราะราคากับข้าว ราคาข้าวราดแกง กับข้าว 1 อย่างราคาจานละ 20 บาท  กับข้าว 2 อย่างจานละ 25 บาท ส่วนกับข้าวหรือแกงถุง ถุงละ 25-30 บาท ในกรณีที่ปรุงจากเนื้อหมู เพราะราคาหมูแพง ส่วนกับข้าวที่ทำมาจากผักจะคิดราคาตามสถานะ  ส่วนราคาน้ำปลา ซีอิ้ว ขึ้นขวดละ 2-3 บาท น้ำตาลขึ้นราคาก.ก.ละ 4 บาท  ส่วนราคาผักไม่ขึ้นราคามาเป็นเวลา 2 เดือน ปัจจุบันราคาคงที่ อย่างไรก็ตามราคาหมูจะได้ราคาส่งก.ก.ละ 105 บาท ขณะที่หน้าเขียงก.ก.ละ 120 บาท

 

“เดิมเมื่อปี 2554 ใช้ต้นทุนวันละ 10,000-15,000 บาท ปัจจุบันต้องเพิ่มราคาทุนอีกวันละ 5,000-7,000 บาท แต่ไม่เคยขาดทุน หรือขึ้นราคาข้าวแกง เพราะเป็นการถัวเฉลี่ยราคาสินค้ากับต้นทุน มีเงินเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายประมาณ 700-3,000 บาท จึงไม่ค่อยมีปัญหากับราคาสินค้าราคาสูง แต่ลูกค้าส่วนที่มาซื้อกับข้าวมีจำนวนลดลงกว่าเดิม คนที่มีเงินใช้วันละ 200 บาท ถ้าจะซื้อปลาทูทอดตัวละ 60 บาท ซึ่งมีขนาดใหญ่ ก็จะไม่ซื้อเพราะมองว่าราคาแพง เพราะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ภายในบ้านอีก จะทำให้เงินไม่พอใช้”

 

นักวิชาการระบุราคาสินค้าขยับเป็นกลไกตลาด

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาด ว่า ขณะนี้สินค้ามีราคาลดลงในบางส่วน ทั้งเนื้อหมู มะนาว เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า สาเหตุที่สินค้าราคาแพงเกิดจากช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ รวมถึงผลกระทบจากการเพาะปลูก หรือการเลี้ยงสัตว์อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น ภัยแล้ง  ภาคการผลิตยังไม่เต็มที่ นอกจากนี้เกิดวิกฤติน้ำมันแพง ทั้งการขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ที่ขยับขึ้นราคาหลังจากน้ำท่วม รวมไปถึงแก๊สโซฮอล์ ประเด็นนี้อาจเป็นปัจจัยทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสินค้าการเกษตรบางชนิดไม่ขึ้นราคามานาน จึงถือโอกาสขึ้นราคาเตรียมรับกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

 

 

“รัฐบาลได้ร้องขอไม่ให้มีการขึ้นราคาสินค้ามาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะราคาข้าวแกง ที่ราคาคงที่ 25-30 บาท มาหลายปี จึงถือโอกาสขึ้นราคา ไม่ได้ขึ้นราคาเพราะกลไกตลาดผิดเพี้ยน แต่เพราะเป็นไปตามอุปสงค์อุปทาน หากสังเกตจะพบว่า มะนาวราคาลูกละ 3-5 บาท ก็ยังมีคนซื้อ ข้าวราดแกงจานละ 30-40 บาท ก็ยังมีคนซื้อ จะเห็นว่าผู้บริโภคยังคงมีอยู่ แต่ระหว่างทางที่จะมาถึงผู้บริโภค มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการบิดเบือนกลไกตลาดนั้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นกว่าความเป็นจริง คิดว่ายังไม่มีการตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่า มีคนไปตั้งราคาเกินจริง เอากำไรส่วนต่างเกินจริง แต่ต้องพิจารณาว่า มีการแข่งขันระหว่างโมเดิร์นเทรด กับร้านโชว์ห่วยทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ บิ๊กซี โลตัส แม็คโคร แข่งขันกับโชว์ห่วย ส่วนร้านโมเดิร์นเทรดก็มีการแข่งขันกับร้านขายข้าวแกงทั่วไป จะเห็นว่ากลไกไม่ได้ผิดเพี้ยน”

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงสร้างการตลาดที่เกิดการแข่งขันสูง มีผลกระทบกับโชว์ห่วยหรือผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ นายธนวรรธน์กล่าวว่า ราคาสินค้าไม่ถูกบิดเบือน แต่การแข่งขันมีสูง ผู้บริโภคมีหลายทางเลือก เช่นหากไม่เลือกรับประทานร้านค้าโมเดิร์นเทรด ก็ไปรับประทานอาหารร้านข้าวแกง หากไม่เลือกสินค้าแบรนด์เนมก็เลือกสินค้าเฮ้าส์เมด นี่คือการไม่บิดเบือนกลไก เมื่อมีการแข่งขันสูง ผู้ค้าปลีกต้องปรับตัว เพราะปัจจุบันคนเลือกใช้สินค้าโมเดิร์นเทรด ถือว่าการปรับราคาสินค้าไม่กระเทือนต่อกลไกตลาดอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: