เพลินกับวันว่างในป่า‘ห้วยขาแข้ง’ ท่ามกลางหมู่นกหายากหลากชนิด วันที่มีความหมายใน 'มรดกโลก'

ราชพล เหรียญศิริ 1 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4720 ครั้ง

 

ตัวผมเองก็มีวิธีการจัดการวันว่างของตัวเอง ที่ไม่แตกต่างจากที่เขียนมาทั้งหมดแต่อย่างใด ทุกกิจกรรมที่เขียนเกริ่นมานั้นผมไม่พลาดเลยสักกิจกรรม แต่มีอยู่หนึ่งกิจกรรมที่หลาย ๆ คนเมื่อรู้ก็มักจะถามว่าทำไมถึงได้ชอบกิจกรรมนี้นัก มันมีดีอะไร และทำไปทำไม กิจกรรมที่ว่านั้นก็คือ การดูนกและถ่ายภาพนกครับ

 

ต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ ว่าผมเป็นนักดูนกและถ่ายภาพนกมือใหม่ ที่ยังต้องฝึก ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อไต่เพดานบิน สั่งสมประสบการณ์ให้สูงขึ้น ไปเรื่อย ๆ

 

 

หากอยากจะดูนก ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องออกเดินทางเสาะแสวงหาสถานที่ที่มีต้นไม้หนาแน่นมากพอให้นกหลากหลายสายพันธุ์ได้เข้าพักอาศัยและหากิน ผมจึงต้องออกเดินทาง เพื่อเสาะหาสถานที่ที่จะเจอต้นไม้ได้มากมาย ปลายทางของการเดินทางของผมและเพื่อนในทริปนี้ จึงเป็นการเดินทางมุ่งหน้าสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกหลากหลายสายพันธุ์ ตั้งแต่นกขนาดเล็ก จำพวกนกจับแมลง นกกระจิ๊ด หรือนกขนาดกลาง เช่น นกหัวขวานชนิดต่าง ๆ นกขมิ้นหัวดำใหญ่ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง ไปจนถึงนกขนาดใหญ่อย่าง นกขุนแผน นกบั้งรอก และ เหยี่ยวพันธุ์ต่าง ๆ

 

ผมออกจากที่พักเพื่อเดินทางไปสมทบกับเพื่อนร่วมทริป ตั้งแต่ตีสาม เพื่อให้เดินทางไปถึงห้วยขาแข้งได้ทันแสงแดดยามอรุณรุ่งในช่วงเวลาเจ็ดโมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพแสงกำลังพอดี เหมาะแก่การถ่ายภาพ  และเป็นช่วงเวลาที่นกนานาพันธุ์ออกหากิน ซึ่งถ้าหากอยากพบเจอนกดังที่เขียนเกริ่นมานั้นก็ต้องออกมาพบเขาในช่วงเวลาของพวกเขาด้วยเช่นกัน

 

ระหว่างช่วงเวลา กว่า 3 ชั่วโมง กับ 200 กิโลเมตร ผมและเพื่อนต่างก็จินตนาการถึงนกที่คาดว่าจะได้เจอและอยากเจอ ซึ่งถือว่าเป็นการฆ่าเวลาช่วงเดินทางได้อย่างดีทีเดียว และในที่สุดการรอคอยก็สิ้นสุด ผมและเพื่อนเดินทางถึงห้วยขาแข้งช้ากว่าที่ตั้งใจไว้เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการถ่ายภาพนกแต่อย่างใด

 

 

 

 

                                   

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                      ปากทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง   

 

เมื่อขับรถมาถึงด่านตรวจแรก ก่อนเข้าสู่เขตที่ทำการฯ เจ้าหน้าที่ประจำด่านทักทายด้วยรอยยิ้มที่เป็นมิตรพร้อมสอดส่ายสายตาตรวจสอบความผิดปกติในรถตามหน้าที่

 

 

เหยื่อตัวแรกที่ไม่คาดคิด

 

 

เหยื่อตัวแรกที่เราพบ ถึงตรงนี้ท่านคงคิดว่าเจ้าหน้าที่ชี้เป้าให้เราไปถ่ายนกกันใช่ไหมครับ ผมเอง ตอนนั้นก็คิดแบบเดียวกันครับว่า คงได้ถ่ายภาพนกหายากแบบชัด ๆ เต็ม ๆ ตัวเป็นแน่ แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ชี้เป้าให้เราไปถ่าย กลับเป็นดังที่เห็นในภาพนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ได้พบกันง่าย ๆ เพราะนี่คือ “งูเห่ามาเลย์”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เห็นตัวเป็น ๆ แบบนี้ก็วงแตกสิครับ แต่พอเจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นงูที่ยึดมาได้เมื่อคืน ก็เบาใจ อย่างน้อยก็คงพอจะคุ้นกลิ่นคนอยู่บ้าง ไม่เท่านั้นยังจับไปคล้องคอเล่นโชว์ในทันที ทำให้เราสองคนกล้าเข้าไปถ่ายรูปใกล้ ๆ แม้เจ้าตัวยาวจะแผ่แม่เบี้ยขู่ มาให้ได้ดูกันอย่างที่เห็นนี่แหละครับ

 

ถ่ายงูกันจนพอใจแล้วก็โบกมือล่ำลาพี่เจ้าหน้าที่ที่ด่านแรก มุ่งหน้าสู่ที่ทำการฯ ก่อนขับรถออกมาพี่ท่านตะโกนตามท้ายมาว่า “ถ้าอยากเห็นนกยูงพันธุ์ไทย ให้สังเกตด้านซ้ายมือนะ จะมีโป่งชื่อ โป่งช้างเผือกอยู่ ตรงนั้นแหละ ถ้าโชคดีจะได้เห็นนกยูงพันธุ์ไทย ที่ปัจจุบันถือว่าหาดูได้ยากมากแล้ว ออกมายืนรำแพนหางอวดสาว ๆ อยู่แถว ๆ นั้น”

 

 

ผิดหวังกับ ‘นกยูง’ ‘กระเบื้องผา’ มาชดเชย

 

 

นกยูงพันธุ์ไทย หรือ นกยูงสีเขียว เป็นญาติใกล้ชิดกับนกยูงพันธุ์อินเดีย หรือ นกยูงสีฟ้า ซึ่งเป็นนกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ นกตัวผู้เมื่อรวมหางแล้ว อาจยาวได้ถึง 3 เมตร และหนักได้สูงสุดถึง 5 กิโลกรัม ปกติชอบออกมายืนลำแพนหางตามหาดทรายและสันทรายริมลำธารในตอนเช้าจนกระทั่งบ่าย และจะบินกลับไปเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ปกติจะอยู่เป็นฝูงเล็กตั้งแต่ 2-6 ตัว แต่ที่ห้วยขาแข้งนี้มีการพบนกยูงอยู่รวมฝูงถึง 10 ตัว ซึ่งถือว่าฝูงใหญ่มาก สะท้อนให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้เป็นอย่างมาก

 

เราออกรถด้วยความหวังเต็มเปี่ยมว่า วันนี้คงได้ภาพนกยูงกลับบ้านเป็นแน่ แต่ก็อย่างว่านะครับ นกมีปีก จะบินไปไหนก็ได้ ป่าก็ออกจะกว้างใหญ่ เราก็เลยขับผ่านโป่งช้างเผือกไป โดยไม่พบนกยูงแม้แต่ตัวเดียว

 

เมื่อเข้าถึงที่ทำการฯ ผมก็ได้พบกับนกตัวใหม่ บินมาเกาะหลังคา ที่สร้างคร่อมเพื่อบังฝนบังแดดให้กับพระพุทธรูปที่หน้าสำนักงานฯ เข้าอย่างจัง เจ้าตัวนี้ จริง ๆ ก็ไม่ใช่เพื่อนใหม่แปลกหน้าแต่อย่างใด เพราะผมมีโอกาสได้เจอมาแล้วหลายครั้ง แต่ก่อนหน้านี้เป็นตัวผู้ แต่ครั้งนี้ผมเจอตัวเมีย ซึ่งไม่ได้มีสีสันสะดุดตาอะไรเป็นพิเศษ แต่ผมยังไม่เคยเห็นตัวเป็น ๆ อย่างนี้มาก่อน จึงนับว่าเป็นเพื่อนใหม่ จึงต้องเก็บภาพเอาไว้ให้เต็มที่ เธอคือ นกกระเบื้องผา Blue Rock Thrush ซึ่งเป็นนกอพยพหนีอากาศหนาว มาพักอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ช่วงที่จะพบเห็นได้บ่อย คือ ตุลาคมถึงมีนาคมของทุกปี ก็เพราะพฤติกรรม ชอบโฉบมาเกาะตามก้อนหินหรือยอดไม้ หรือ กระเบื้องหลังคา อวดสรีระอันผอมเพรียวโดดเด่นเป็นสง่าอย่างที่เห็นนี่แหละครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกกระเบื้องผา เพศเมีย Blue Rock Thrush Female

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กลิ่นป่ายามเช้ากับสายลมพัดโชยอ่อน และนกหลากหลายสายพันธุ์ ที่ออกมาส่งเสียงทักทายเพื่อนแปลกหน้าจากเมืองกรุง ทำเอาผมเพลินกับการเดินไปทางโน้นทีทางนี้ที ตามกลุ่มนกที่บินไปมา จนลืมเวลา เหลือบมองดูนาฬิกาอีกที ก็ถึงเวลาพักเติมพลัง ว่าแล้วก็มุ่งหน้าสู่ร้านค้าสวัสดิการ หลังจากเติมพลังกันเรียบร้อย ผมและเพื่อนก็เริ่มสอดส่ายสายตาหานกในฝันของแต่ละคนกันต่อไป

 

สำหรับผม การมาที่นี่เป้าหมายคือนกหัวขวานครับ ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นชนิดไหน ขอให้เป็นนกหัวขวานเป็นพอ แต่ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายจนบ่ายแก่ ๆ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะออกมาต้อนรับกันสักตัวเลย ก็เลยเดินเตร่ไปเรื่อย ๆ มุดเข้าพงนี้ทีพงนั้นที และแล้วผมก็ได้มาเจอ นกจาบดินอกลาย Puff-throated Babbler เดินดุ่ม ๆ หากินอยู่ในพุ่มไม้ สารภาพว่าตอนเดินเข้าไป ผมมองไม่เห็นว่ามีนกอยู่ จนเดินเข้าไปใกล้ ๆ จึงเห็นว่า มีนกกำลังเดินหากินอยู่ที่พื้น

 

นกจาบดินอกลาย เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่าย เป็นนกสีค่อนข้างเรียบ มีกระหม่อมสีน้ำตาลแดง คอสีขาว อกไปจนถึงสีข้างเป็นลายขีดประเป็นทาง ซึ่งลายขีดนี้จะเข้มขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์ คือช่วงเมษายน ถึง มิถุนายน ของทุกปี ขนที่คอซึ่งเป็นสีขาวนี้สามารถพองได้ โดยตัวผู้จะพองขน เพื่อเกี้ยวพาราสีตัวเมีย

นกชนิดนี้ไม่ค่อยตื่นคน ขนาดผมยืนถ่ายอยู่ใกล้ ๆ ยังไม่บินหนี ถ่ายไปถ่ายมาชักสงสัยว่า ตกลงที่ไม่หนี เพราะไม่ตื่นคนหรืออยากเป็นดาราหน้ากล้องกันแน่

 

 

 

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                                               จาบดินอกลาย Puff-Throated Babbler

 

 

กำลังมีสมาธิกับการถ่ายอยู่ดีดี ก็มีอันให้ต้องเสียสมาธิจนได้ เมื่อมีเสียงกระพือปีกอย่างแรงโฉบผ่านเหนือหัวผมไป ทำให้ต้องแหงนหน้าขึ้นไปมอง เพราะเสียงกระพือปีกดังขนาดนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่ เมื่อเห็นเป้าหมาย ก็รีบคว้ากล้องเปลี่ยนเป้าทันที เพราะนกที่โฉบผ่านหัวผมไปนั้น ตัวใหญ่ หางยาว แถมส่งเสียงโหวกเหวก เหมือนท้าทายว่าแน่จริงก็ตามมาสิ มีหรือผมจะยอมได้ รีบสาวเท้าก้าวยาว ๆ ตามไปทันที เมื่อเห็นหางยาว ขนปีกสีฟ้าและแถบสีขาวพาดกลางกระหม่อม เหมือนไอ้หนุ่มที่ตัดผมทรงโมฮ็อก ก็รู้ได้ในทันที ว่าเจอกับจอมเจ้าชู้ตัวพ่อเข้าซะแล้ว จะเป็นนกอะไรไปไม่ได้นอกจาก นกขุนแผน Red-billed Blue Magpie

 

นกขุนแผนเป็นนกวงศ์กามีสีสันสวยงาม บริเวณหัวถึงลำคอสีดำ ขนบริเวณลำตัวมีสีฟ้าแกมม่วง ส่วนโคนปีกมีสีฟ้าแกมม่วง ด้านปลายปีกสีขาว มีหางสวยงามและยาวมาก มีสีฟ้าแกมม่วงส่วนบริเวณปลายหางมีสีขาว มีขนหางคู่บนยาวกว่าคู่อื่น ๆ 1 คู่ ปากสีแดง ขาสีแดงส้มและตาสีดำ ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก จนยากที่จะแยกได้ออกจากการมองแค่ภายนอก

 

คงสงสัยกันใช่ไหมละครับ ว่าทำไมถึงตั้งชื่อนกชนิดนี้เป็นชื่อเดียวกับจอมเจ้าชู้ตัวพ่อในวรรณคดีไทย สำหรับชื่อภาษาไทยนั้น นอกจากชื่อ นกขุนแผน แล้ว บางคนยังเรียกว่า นกสาลิกาดง อีกด้วย คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ได้กล่าวถึงชื่อภาษาไทยของนกชนิดนี้ไว้ในหนังสือ ธรรมชาติของนานาสัตว์ ชุดที่ 3 ในหน้า 107-108 ไว้ว่า ‘ทำไมนกนี้จึงได้ชื่อว่า นกขุนแผน ก็ไม่รู้ คิดไม่ออกจริง ๆ ขุนแผนรูปหล่อก็จริง แต่ตัวเขาไม่ดุร้ายขี้ขโมยลูกเขากินแบบนี้เลย เคยขโมยนางวันทองจากขุนช้างก็เพียงครั้งเดียว แต่จะเรียกว่าขโมยก็ไม่ถูก จะว่าเป็นขมายก็ไม่ใช่ เพราะเป็นของเดิมของตัว เจ้าของเขาตามมาพบ เขาเอาคืนไปโดยไม่บอกเท่านั้น ส่วนที่บางคนชอบเรียกมันว่า นกสาลิกาดง นั่นก็แปลก ไม่เห็นมันมีอะไรที่ตรงไหนเหมือนกับนกสาลิกาบ้านสักอย่าง แต่ทำไมเขาจึงเรียกมันเช่นนั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน’

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                                                   

 

                   

 

                                   นกขุนแผน Red billed Blue Magpile

 

 

ผมเดาเอาเองนะครับ ด้วยนกขุนแผนนั้นเป็นนกที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับ อีกา ที่ตัวดำเป็นถ่าน แถมตัวก็ใหญ่เทอะทะ ไม่ได้มีรูปร่างสะโอดสะองสวยสง่าราวกับเทพบุตรจุติลงมาจากสวรรค์ ด้วยความแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเช่นนี้เลยเป็นที่มาของชื่อ ขุนแผน

 

ถ่ายเจ้านกขุนแผนจนเหนื่อย ที่เหนื่อยเพราะต้องคอยเดินตามอยู่ตลอด กว่าจะนิ่งให้ถ่ายได้แบบนี้ เดินจนขาขวิดกันเลยทีเดียว เพราะพอเกาะกิ่งได้ ก็จะรีบหลบเข้าพุ่มไม้ไม่ยอมให้ถ่ายได้ง่าย ๆ เสียที กะว่าจะนั่งพักเอาแรงสักหน่อย นกรับแขกประจำถิ่นที่รอคอยก็ปรากฏตัวออกมาให้ยลโฉมกันจนได้

 

 

เจอเป้าหมายที่หมายปอง

 

 

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง Black-headed Woodpecker ออกมาให้เห็นกันทั้งฝูงขนาดนี้ มีเหรอครับที่ผมจะนั่งพักเหนื่อยนิ่ง ๆ ดูพวกมันได้ จัดแจงหามุมเดินเข้าหานก มองหาฉากหลังสวย ๆ ที่จะไม่ทำให้ภาพที่ถ่ายออกมาแล้วสว่างจ้าเกินไป รวมถึง เดินเข้าไปถ่ายแบบเห็นกันจะ ๆ เต็ม ๆ โดยนกไม่ตื่น เมื่อได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว นิ้วโป้งข้างซ้ายก็ทำงานอีกครั้ง เสียงชัตเตอร์รัวเร็วราวกับเสียงปืนกล นี่หากเป็นปืนจริงคงได้ขึ้นหน้าหนึ่งข้อหาฆาตกรรมหมู่เป็นแน่

 

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง Black-headed Woodpecker ตามปกติจะพบได้ค่อนข้างน้อย แต่กลับพบได้ชุกชุมที่ป่าห้วยขาแข้ง นกหัวขวานชนิดนี้เป็นนกที่พบได้เฉพาะในป่าผลัดใบ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ทำรังและวางไข่ในโพรงไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ อุปนิสัยต่างจากนกหัวขวานทั่วไปในสกุล นกหัวขวานเขียวด้วยกัน เพราะมันเป็นชนิดเดียวที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตลอดทั้งปี สาเหตุก็มาจากการที่พ่อแม่นกมีนกตัวอื่น ๆ มาทำหน้าที่ผู้ช่วยเลี้ยงลูกด้วย ด้วยการอยู่ร่วมกันเป็นฝูง เราจึงมักได้ยินเสียงร้องเอะอะโวยวายของฝูงนกหัวขวานเขียวตะโพกแดง ก่อนเห็นตัวมันอยู่บ่อย ๆ นกหัวขวานชนิดนี้ชอบเลียกินมดและปลวกบนพื้นดิน แต่บางครั้งก็มากินเศษอาหารที่มนุษย์ทิ้งไว้ด้วย

 

ลักษณะเด่นคือหัวสีดำ คอและอกสีเหลือง ใต้ท้องสีนวลและมีลายซิกแซกสีเขียวไพล ขนตะโพกสีแดง ตัวผู้มีสีแดงที่กลางกระหม่อม ส่วนตัวเมียหัวจะเป็นสีดำล้วน ในประเทศไทยพบในป่าผลัดใบและป่าสนทางภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคอีสาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง เพศผู้ Black-headed Woodpecker Male

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง เพศผู้ Black-headed Woodpecker Male

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง เพศเมีย Black-headed Woodpecker Female

 

 

กดชัตเตอร์ถ่ายนกหัวขวานจนเมื่อยนิ้วแล้ว ยังพอมีเวลาเดินเตร่อยู่ได้อีกสักพักก่อนจะมืด ก็เลยเดินเตร็ดเตร่ไปมา เผื่อโชคดีได้เจอนกใหม่ ๆ มาเพิ่มอีก แล้วโชคก็เข้าข้างผม อยู่ดีดี สายตาก็เหลือบไปเห็นนกตัวสีน้ำเ งิน บินหายวับเข้าไปในพุ่มไม้ ไม่รอช้ารีบเดินมุดเข้าพงไม้ตามเข้าไปทันที แล้วก็จริงอย่างที่เห็น ผมได้พบกับนกจับแมลงอกสีฟ้า (Hainan Blue Flycatcher)

 

นกจับแมลงอกสีฟ้า (Hainan Blue Flycatcher) มีสถานะทั้งเป็นนกประจำถิ่นและอพยพ ตัวผู้มีอกสีน้ำเงินเข้ม ส่วนตัวเมียนั้นตัวสีน้ำตาลและอกสีส้ม ที่ว่าประจำถิ่นนี่ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นเจ้าถิ่นหรือขาใหญ่อะไรหรอกนะครับ แต่หมายถึงว่า เป็นนกที่พบเห็นได้ตลอดทั้งปี ถ้าเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ในป่าหลายประเภท ยกเว้นภาคใต้ มีนิสัยชอบบินโฉบจับแมลงกินไปมา และจะบินกลับมาเกาะที่กิ่งเดิมทุกครั้ง

 

ซุ่มถ่ายเจ้าตัวนี้อยู่นาน เห็บก็เกาะยุงก็กัด เลยเดินออกจากพุ่มไม้ไปหาอากาศโล่ง ๆ หายใจพักเหนื่อยเสียหน่อย เดินอยู่ดีดีรู้สึกเหมือนมีอะไรสักอย่างอยู่บนต้นไม้เหนือหัวผมขึ้นไป แหงนขึ้นไปมองก็เกิดอาการตกหลุมรักขึ้นมาทันใด เมื่อสายตาสองคู่ประสานกันความรักก็เกิดในบัดดล จะไม่ให้รักได้อย่างไรกันหละครับ ก็สายตาที่ประสานมา เป็นตาคู่งามของ นกคัคคูลาย (Banded bay Cuckoo) นอกจากนั้นยังพบนกพื้น ๆทั่วไป ที่ออกมาทักทายในละแวกเดียวกันอีกทั้ง นกบั้งรอกใหญ่ (Green-billed Malkoha) รวมถึงนกโพระดกธรรมดา Lineated Barbet อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกคัคคูลาย Banded bay Cuckoo

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกบั้งรอกใหญ่ Green-billed Malkoha

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นกโพระดกธรรมดา Lineated Barbet

 

เมื่อความมืดเริ่มคล้อยเคลื่อนมาเยือน เจ้าโพระดกก็ส่งเสียงร้อง เหมือนจะบอกเชิงเยาะเย้ยอยู่เป็นนัย ฟังแล้วเหมือนได้ยินมันร้องบอกว่า “หมดเวลาสนุกแล้วสิ หมดเวลาสนุกแล้วสิ กลับบ้านกันได้แล้วสิ” เลยทำให้ผมนึกย้อนไปถึงผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่เคยอบรมบ่มนิสัย หาคำสั่งสอนและแง่คิดดีดีมาคอยสอนผมอยู่เสมอว่า “มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตเดียวที่เป็นสิ่งแปลกปลอมของป่าและสัตว์ป่า เมื่อเราเข้าหาป่า จงฟังเสียงป่า และอยู่กับป่าอย่างถ่อมตนที่สุด” เมื่อเขามาเตือนขนาดนี้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะโบกมือร่ำลาพร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณให้กับผืนป่า ที่ทำให้วันว่างของผมผ่านไปอย่างมีความสุข

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: