จับตา: การ 'ปิดกั้น-แทรกแซง' กิจกรรมสาธารณะของ คสช. ในรอบ 3 ปี

ทีมข่าว TCIJ : 1 ก.ย. 2560 | อ่านแล้ว 3230 ครั้ง


ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ เผยภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ 3 ปี ยุค คสช. พบมีไม่น้อยกว่า 157 ครั้ง ใช้มาตรการในระดับต่าง ๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่ให้จัด เข้ามากดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัด หรืออนุญาตให้จัดแต่ตั้งเงื่อนไข ฯลฯ

เมื่อเดือน ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ เผยแพร่รายงาน ภาพรวมการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะยุค คสช. โดย ระบุว่า การปิดกั้นและแทรกแซงการจัดกิจกรรมสาธารณะเป็นสิ่งที่ คสช. ได้ทำตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลที่ไอลอว์รวบรวมไว้จนถึงวันที่ 10 ก.ค. 2560 พบว่ามีไม่น้อยกว่า 157 ครั้งที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ แต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ เช่น ขอให้เปลี่ยนวิทยากรที่เข้ามาพูดในงาน, กำหนดไม่ให้ใช้คำที่อ่อนไหวในบริบทของสังคม เช่น "เผด็จการ" และ "กบฏ" เป็นต้น และการสร้างความไม่สะดวกทางอ้อม เช่น การไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง การตัดไฟฟ้า เป็นต้น

กิจกรรมสาธารณะที่ถูกจับตามองจากภาครัฐมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือ ประเด็นที่เปราะบางในเวลานั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ กิจกรรมสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับ การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2559 โดยกิจกรรมเกือบทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อพูดคุยถึงเนื้อหารายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และสร้างความตระหนักรู้และองค์ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและให้ความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ แต่อย่างไรก็ดีกิจกรรมสาธารณะเหล่านั้นถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากรัฐไม่น้อยกว่า 20 กิจกรรม

ไอลอว์ ระบุอีกว่า บรรดานักกิจกรรมหรือผู้จัดงานกิจกรรมเหล่านี้ยังถูกดำเนินคดีอีกด้วยดังนี้ เช่น กรณีกลุ่ม นปช. ที่ถูกดำเนินคดีฐานขัดคำสั่งที่ 3/2558 จากการแถลงข่าวเปิดศูนย์ปราบโกง, สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติฯ จากการแจกใบปลิวโหวตโน ที่ชุมชนเคหะบางพลี และกลุ่มพลเมืองคนรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 จากการจัดกิจกรรม "พูดเพื่อเสรีภาพ ร่างรัฐธรรมนูญกับคนอีสาน " เป็นต้น

ไอลอว์ ชี้ด้วยว่า ฐานอำนาจที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้หลัก ๆ คือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยตามหลักกฎหมายแล้วหากมีกฎหมายใหม่คือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ออกมาบังคับใช้กฎหมายเดิมคือ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จะต้องยกเลิกไป แต่สิ่งที่ปรากฏ คือ อำนาจทั้งสองยังคงถูกใช้ควบคู่กันเรื่อยมา โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ข่มขู่เพื่อให้การชุมนุมหรือการจัดกิจกรรมถูกยกเลิกให้ได้ เห็นได้ชัดเจนในกรณีของการชุมนุมคัดค้านถ่านหินที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 โดย ในวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากบริเวณ กพร. เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องขอศาลแพ่งไต่สวนให้ยกเลิกการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เหตุเคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ วันถัดมาเจ้าหน้าที่ทยอยจับกุมแกนนำทั้งห้า กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมในกพร. 12 คนและนักศึกษา ม.รังสิตอีก 2 คนโดยไม่มีการแจ้งข้อหาหรือชี้แจงอำนาจการจับกุม ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. 60 ทหารแถลงว่า ผู้ชุมนุมกระทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯจากการที่ผู้ชุมนุมออกมาชุมนุมนอกพื้นที่กพร. ตามที่ขออนุญาตไว้

แต่ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุมต่อเมื่อศาลมีคำสั่งเลิกการชุมนุมและให้พื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งไม่ได้เขียนให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการจับกุม แล้วนำตัวไปพูดคุยในค่ายทหาร เมื่อทนายความได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ทหารที่ ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวแกนนำ กลับได้รับแจ้งว่า เป็นการจับกุมโดยใช้อำนาจตาม ม.44 (คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558) ที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ฝ่าฝืนคำสั่งหรือประกาศ คสช. ได้

ไอลอว์ ระบุอีกว่า รัฐยังมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ เข้ามาเพื่อปิดกั้นหรือรบกวนการจัดกิจกรรมด้วย เช่น พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ความสะอาดฯ) ในกรณีที่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) แขวนป้ายรำลึกรัฐประหารปี 2549 และนวมทอง ไพรวัลย์ และ กิจกรรมทวงความเป็นธรรม เหตุไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลอาญายกฟ้อง 'อภิสิทธิ์-สุเทพ' ที่ผู้จัดถูกแจ้งความกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ความสะอาดฯ และถูกสั่งปรับ 5,000 บาท หรือการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ กรณีขบวนการประชาธิปไตยใหม่เดินรณรงค์แจกเอกสารเพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตพื้นที่และโหวตโนที่บริเวณอิมพีเรียล สำโรง

ในท้ายของรายงาน ไอลอว์ ยังได้ประเมินแนวโน้มกิจกรรมสาธารณะในปีที่ 4 ของ คสช. ด้วยว่า จากการรวบรวมตัวเลขกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงโดยคสช. เห็นได้ว่า ในปี 2557 มีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงทั้งหมด 39 กิจกรรม ปี 2558 มีทั้งหมด 66 กิจกรรม ปี 2559 มีทั้งหมด 37 กิจกรรม และช่วงหกเดือนแรกของปี 2560 มีทั้งหมด 13 กิจกรรม ตัวเลขของกิจกรรมที่ถูกปิดกั้นและแทรกแซงมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ เช่นนี้ อาจสะท้อนความหมายของสถานการณ์สังคมการเมืองไทยยุค คสช. ได้พอสมควร

ดูเหตุการณ์การปิดกั้นทั้งหมดที่ไอลอว์รวบรวมไว้ได้ที่ ตารางการปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: