เผย สปป.ลาว เป็นหนี้ค่าไฟ กฟผ. เกือบ 6 พันล้านบาท

22 ก.ย. 2559 | อ่านแล้ว 5291 ครั้ง


	เผย สปป.ลาว เป็นหนี้ค่าไฟ กฟผ. เกือบ 6 พันล้านบาท

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานเผย สปป.ลาว เป็นหนี้ค่าไฟ กฟผ.เกือบ 6,000 ล้านบาท โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแนวทางปลดหนี้ให้โดยเฉพาะ ระบุยังมีโครงการที่มีศักยภาพที่อยู่ในระหว่างการเจรจาอีก 6 โครงการกำลังการผลิตรวมประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ (ที่มาภาพประกอบ: crossed-flag-pins.com)

เว็บไซต์ Energy News Center รายงานเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2559 ที่ผ่านมาว่านายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยภายหลังการร่วมสัมมนาเรื่อง "คุณูปการของศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ต่อสังคมไทย" ที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดโดยมูลนิธินิสิตเก่า จุฬาฯ เมื่อวันที่ 21ก.ย.2559 ที่ผ่านมาว่า ศ.ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยคนแรกของประเทศไทย เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติและอดีตเลขาธิการสำนักงานพลังงานแห่งชาติ ถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานและไฟฟ้า โดยเฉพาะการรวมกิจการ 3 การไฟฟ้าก่อตั้งเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2512 และพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง กฟผ.และการไฟฟ้าลาว จนนำไปสู่การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน

โดยปัจจุบันไทยมีการลงนามเอ็มโอยูกับสปป.ลาวเพื่อขยายปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก 7,000 เมกะวัตต์เป็น 9,000 เมกะวัตต์เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2559  โดยมีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว 5 โครงการได้แก่โครงการเทิน-หินบุน โครงการห้วยเฮาะ โครงการน้ำเทิน 2 โครงการน้ำงึม 2 และโครงการหงสาลิกไนต์ ซึ่งเป็นโรงฟ้าถ่านหิน  รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 3,578 เมกะวัตต์

 

 

นอกเหนือจากการรับซื้อไฟฟ้าภายใต้กรอบเอ็มโอยู 9,000 เมกะวัตต์แล้ว ไทยกับสปป.ลาว ยังมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างกฟผ.และการไฟฟ้าลาว อีกรวม494เมกะวัตต์ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว หากสปป.ลาวผลิตไฟฟ้าได้มากเกินกว่าความต้องการใช้ในประเทศ ก็จะส่งไฟฟ้าส่วนที่เหลือขายมายังประเทศไทยผ่านระบบสายส่ง  ในขณะเดียวกัน หากสปป.ขาดแคลนไฟฟ้า ไทยก็จะส่งไฟฟ้าขายกลับคืนไปให้สปป.ลาว ผ่านระบบสายส่งเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามภายใต้กรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าดังกล่าวทำให้สปป.ลาวมีภาระหนี้สะสมต่อ กฟผ.อยู่ประมาณเกือบ 6,000 ล้านบาท  เนื่องจากอัตราค่าไฟฟ้าที่ไทยส่งขายให้กับสปป.ลาวนั้นสูงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่สปป.ลาวขายให้กับไทย เพราะต้องบวกค่าต้นทุนของระบบสายส่งเข้าไปด้วย เพราะจุดขายไฟฟ้าที่ สปป.ลาวส่งให้กับไทยนั้นมีเพียง เพียง 2 จุด แต่จุดที่ทางสปป.ลาวต้องการซื้อไฟฟ้ากลับไปใช้ มีถึง 6 จุด ซึ่ง กฟผ.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบสายส่งโดยประเด็นดังกล่าว ทางการไฟฟ้าลาวมีความเข้าใจดี

นายทวารัฐ กล่าวว่า ประเด็นภาระหนี้เกือบ 6,000 ล้านบาทนั้น จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อทบทวนกรอบความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับการไฟฟ้าลาว เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยปลดภาระหนี้ดังกล่าว โดยอาจจะเปิดให้ทางสปป.ลาวขายไฟฟ้าผ่านจุดที่มีระบบสายส่ง2จุดในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อไปชดเชยกับค่าไฟฟ้าที่สปป.ลาวต้องซื้อไฟฟ้ากลับคืนในอัตราที่สูงกว่า เป็นต้น 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: