ประวัติศาสตร์โดยย่อของเตาผิงและปล่องไฟ กับวัตถุวัฒนธรรมในชีวิตประจำวัน

พงษ์ นีติวัฒนพงษ์ School of Humanity (History) University of Glasgow 21 มิ.ย. 2559 | อ่านแล้ว 8578 ครั้ง


ในโลกตะวันออก ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีการสร้างความอบอุ่นในที่พักอาศัยจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่เตาผิงกับปล่องควันนั้นไม่ใช่ของที่มีมาก่อนในภูมิภาคนี้ แม้แต่ในวัฒนธรรมที่อยู่ในเขตสภาพภูมิอากาศอบอุ่นก็ตาม  เตาผิงเข้ามาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ยุโรปก่อนที่จะแพร่หลายต่อไปยังอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และภูมิภาคอื่นๆ นับจากนั้นภาพของเตาผิงและปล่องไฟก็กลายเป็นภาพชินตา และเป็นองค์ประกอบมาตรฐานอย่างหนึ่งสำหรับบ้านที่ดีที่จะต้องมีเอาไว้ ทั้งด้วยเหตุผลในทางปฏิบัติที่เป็นเครื่องสร้างความอบอุ่นท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น และเหตุผลในทางสุนทรียะที่เป็นเครื่องแสดงฐานะและรสนิยมอย่างหนึ่งของเจ้าของบ้าน รวมไปถึงยังเป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ของบ้าน “ครอบครัว” ในอุดมคติที่ควรจะต้องมี “ความอบอุ่น” ตามคติของชาวเมืองหนาวอีกด้วย

นับตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา กองไฟเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวในการสร้างความอบอุ่นในบ้านเรือนท่ามกลางอากาศหนาวเย็นภายนอก ตำแหน่งที่ตั้งของกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่น (มักเป็นกองไฟเดียวกันกับที่ใช้ทำอาหาร แต่ก็ไม่เสมอไป) มักจะเป็นบริเวณตรงกลางของถ้ำหรืออาคาร เพื่อให้ความร้อนจากกองไฟได้กระจายตัวออกไปรอบๆ สร้างความอบอุ่นให้ทั้งบริเวณ ลักษณะเช่นนี้แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนกระทั่งถึงยุคโรมัน ซึ่งชาวโรมันเป็นพวกแรกๆ ที่ใช้ระบบทำความอุ่นใต้พื้น (underfloor heating) แทนกองไฟ ระบบนี้อาศัยลมร้อนจากกองไฟซึ่งจุดไว้นอกบ้านให้พัดไปตามช่องที่ทำเอาไว้ใต้พื้นบ้านซึ่งมักจะทำจากหิน อาคารจึงได้รับความอบอุ่นในขณะที่ควันไฟก็ไม่เป็นปัญหารบกวนผู้อยู่อาศัย อย่างไรก็ดีด้วยความที่ระบบนี้ต้องใช้วัสดุที่ดีและมีการออกแบบโครงสร้างพื้นบ้านอย่างซับซ้อน จึงเป็นระบบทำความอบอุ่นที่มีแต่ชนชั้นสูงเท่านั้นจึงจะมีได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นอาคารสาธารณะ เช่น โรงอาบน้ำสาธารณะ (public bath) ในปัจจุบัน นักโบราณคดีที่ศึกษาอาคารยุคโรมันยังต้องใช้รากฐานของอาคารที่มีระบบทำความร้อนดังกล่าวซึ่งมักมีสภาพสมบูรณ์เป็นจุดสังเกตเพื่อจะระบุประเภทของอาคาร

วิลล่า (บ้านชนชั้นสูง) ยุคโรมัน ใกล้เมืองก็อง (Cean) ประเทศฝรั่งเศส
มีช่องใต้พื้นให้ความร้อนจากเตาไฟ (ด้านซ้ายในภาพ) ไหลผ่านเพื่อสร้างความอบอุ่นภายในอาคาร

ซากโบราณสถานยุคโรมันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงแอนโทนีน (Antonine Wall) ในสกอตแลนด์
ปัจจุบันอยู่ในเขตแบร์สเดน (Bearsden) ในเมืองกลาสโกว์ (Glasgow) แม้ว่าเมื่อแรกค้นพบอาคารทั้งหลังจะเหลือแต่รากฐาน แต่นักโบราณคดีก็สามารถระบุได้ว่าอาคารหลังนี้เป็นอาคารอาบน้ำสาธารณะโดยสันนิษฐานจากสระน้ำรูปครึ่งวงกลม (ปีกอาคารด้านบนในภาพ) และระบบทำความร้อนใต้พื้น (บริเวณที่เป็นสีขาวในภาพ)
ซึ่งเชื่อมต่อกับเตาที่ก่อไฟให้ความร้อนซึ่งอยู่ภายนอกกำแพงอาคาร

หลังจากจักรวรรดิโรมัน (ตะวันตก) ล่มสลายลงก็ดูเหมือนว่าระบบทำความอบอุ่นใต้พื้นดังกล่าวก็จะหายไปด้วย ในยุคกลางชาวยุโรปมักอาศัยในบ้านที่มีลักษณะเป็นโรงยาว (hall) หรือไม่เช่นนั้นสำหรับพวกที่ทำงานให้ขุนนาง ก็จะอยู่อาศัยรวมกันในโถงปราสาทของขุนนางนั่นเอง อาคารทั้งสองลักษณะนี้มีลักษณะเป็นอาคารโล่งโถงไม่มีการกั้นห้อง สมาชิกทุกคนในพื้นที่นั้นต้องทำกิจกรรมแทบทุกอย่างในพื้นที่เดียวกัน โดยมีระบบทำความอบอุ่นเป็นกองไฟแบบพื้นๆ อยู่ตรงกลางเพื่อให้ความอบอุ่นกับทั้งพื้นที่เหมือนในยุคโบราณ และมีช่องที่เจาะเอาไว้บนหลังคาตรงกับกองไฟเพื่อระบายควันให้ออกไปจากตัวอาคาร แต่หลายครั้งระบบระบายอากาศแบบช่องบนหลังคานี้ระบายอากาศได้ไม่ดีนักและควันจากกองไฟก็มักจะตลบอบอวลอยู่ภายใน ซึ่งสร้างทั้งปัญหาสุขภาพกายและจิตใจให้กับผู้ที่ (จำเป็นต้อง) อยู่อาศัยในอาคารเช่นนี้อยู่เนืองๆ

การจำลองบ้านเรือนในยุคกลางของยุโรป จะเห็นกองไฟตรงกลางบ้านซึ่งใช้ประโยชน์
ทั้งให้ความอบอุ่นและประกอบอาหารไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ในยุคกลางคือคนที่ทำการเกษตรเป็นอาชีพและจะต้องมีปศุสัตว์ในการดูแลจำนวนหนึ่ง ทั้งสัตว์ใช้งานและสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร หลายครั้งคอกสัตว์ที่สร้างไว้ภายนอกก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันความหนาวเย็นให้แก่ปศุสัตว์ในฤดูหนาว ดังนั้นแล้วชาวบ้านจึงมักจะจำเป็นต้องนำสัตว์นานาชนิดเข้ามาอยู่รวมกันในบ้านเพื่อการอยู่รอดของสัตว์เหล่านั้นเอง รวมไปถึงช่วยให้บ้านมีความอบอุ่นมากขึ้นจากไออุ่นของสัตว์เหล่านั้น ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมนุษย์เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ เช่น แมว หมา ไก่ วัว หรือแม้กระทั่งหมู เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าสัตว์เหล่านี้เมื่อมาอยู่รวมกันจะส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ขนาดไหนแล้ว ชาวบ้านยุคกลางอาจยินดีที่มีควันไฟตลบอบอวลในบ้านช่วยดับกลิ่นสัตว์ต่างๆ (และผลผลิตจากสัตว์เหล่านั้นทั้งหนักทั้งเบา) มากกว่าที่จะรำคาญก็เป็นได้

ทางออกสำหรับปัญหาควันไฟในบ้านได้ถูกนำเสนอในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance - ราวศตวรรษที่ 15-16) โดยเลื่อนตำแหน่งกองไฟจากเดิมที่เคยเปิดโล่งอยู่กลางบ้านไปชิดผนัง และใช้ปล่องไฟ (chimney) ครอบกองไฟเอาไว้ กองไฟจึงกลายเป็นเตาผิง (fireplace) ซึ่งช่วยกำจัดปัญหาควันไฟรบกวนผู้อยู่อาศัยในบ้านให้หมดไป

การเลื่อนกองไฟไปชิดผนัง ทำให้ไม่จำเป็นต้องอาศัยระบบทำความอบอุ่นกลางอาคาร (central heating) อีกต่อไป การจัดการพื้นที่ภายในอาคารจึงสามารถทำได้หลากหลายยิ่งขึ้น สามารถซอยพื้นที่อาคารออกเป็นห้องๆ และทำความอุ่นในแต่ละห้องด้วยเตาผิง

นับแต่นั้นบ้านเรือนในยุโรปจึงสามารถมีห้องต่างๆ ที่ถูกแบ่งด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันได้ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ฯลฯ ผู้คนไม่จำเป็นต้องมาอยู่รวมกันในพื้นที่เดียวกันเพื่อทำกิจกรรมประจำวันอีกต่อไป แต่สามารถอยู่ในห้องต่างๆ ที่มีจุดประสงค์ในการใช้งานเฉพาะอย่างได้ แนวความคิดที่ว่าบ้านที่ดีควรมีความเป็นส่วนตัว (privacy) และความสะดวกสบาย (comfort) ก็เกิดมาจากยุคสมัยดังกล่าวนี่เอง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีจุดเริ่มต้นส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาเตาผิงและปล่องไฟ

นับจากศตวรรศที่ 16 เป็นต้นมา ปล่องไฟและเตาผิงก็เป็นของสามัญประจำบ้านสำหรับชาวยุโรปไปเรียบร้อยแล้ว ในปราสาทราชวังก็มักจะมีปล่องไฟและเตาผิงจำนวนมากซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้นๆ ได้ด้วย พระราชวังในอังกฤษหลายแห่งก็ขึ้นชื่อเรื่องปล่องไฟและเตาผิงอย่างมาก เช่นแฮมพ์ตันคอร์ท (Hampton Court) ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของกษัตริย์เฮนรี่ที่แปดมีปล่องไฟทำจากดินเผา (terracotta) ที่ถูกตกแต่งอย่างสวยงามจำนวนมาก ส่วนประกอบเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความสำคัญของตัวพระราชวังและอำนาจราชศักดิ์ของเจ้าของ ทั้งในฐานะที่เป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารจำนวนมาก (กว่าครึ่งของปล่องไฟทั้งหมดเป็นปล่องของเตาทำอาหาร ทำให้ทราบถึงจำนวนผู้คนในที่นั้นได้อย่างคร่าวๆ) และในฐานะที่เป็นที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจึงต้องประดับประดาปล่องไฟให้สวยงามสมฐานะของพระมหากษัตริย์ 

พระราชวังแฮมพ์ตันคอร์ท (Hampton Court) ใกล้นครลอนดอน
เต็มไปด้วยปล่องไฟที่ตกแต่งอย่างงดงามหลากหลายรูปทรง

สำหรับนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ปล่องไฟและเตาผิงก็อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยทำให้เห็นสภาพที่เคยรุ่งเรืองของอาคารสถานที่บางแห่งซึ่งเสียหายร่วงโรยไปตามกาลสมัยเช่นเดียวกันกับระบบความร้อนใต้ดินในยุคโรมัน เนื่องจากเตาผิงมักสร้างด้วยหินซึ่งเป็นวัสดุที่ทนทานมาก พระราชวังลินลิธเกาว์ (Linlithgow) ใกล้เมืองเอดินบระในสกอตแลนด์เคยเป็นที่แปรราชฐานสำคัญมากของกษัตริย์สกอตในศตวรรษที่ 16 มีบันทึกมากมายกล่าวถึงสภาพครั้งที่พระราชวังแห่งนี้ยังรุ่งเรือง เมื่อพระราชวังถูกไฟไหม้เสียหายในศตวรรษที่ 18 โครงสร้างทั้งหมดเสียหายไม่เหลือสภาพยกเว้นโครงสร้างที่เป็นหินเท่านั้น คนในปัจจุบันจึงไม่สามารถจะเห็นสภาพของความรุ่งเรืองและจำนวนห้องหับที่มีอยู่มากมายในอดีตได้ เว้นแต่จะจินตนาการจากข้อมูลในเอกสาร และดูร่องรอยของเตาผิงปล่องไฟที่หลงเหลืออยู่มากมายบนฝาผนังเท่านั้น

ตัวอย่างเตาผิงและปล่องไฟที่หลงเหลืออยู่ในพระราชวังลินลิธเกาว์, สกอตแลนด์ แม้โครงสร้างพื้นและผนังรวมถึงหลังคาซึ่งเป็นไม้จะถูกไฟไหม้ไปหมดแล้วแต่คนในปัจจุบันยังสามารถจินตนาการรูปแบบการออกแบบภายในได้จากเตาผิงที่เหลืออยู่

ถึงแม้ว่าปล่องไฟและเตาผิงจะเป็นประดิษฐกรรมที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นสิ่งที่อันตรายได้มากๆ เช่นกัน เอกสารจากอังกฤษศตวรรษที่ 16 จำนวนมากระบุถึงอัคคีภัยจำนวนมากที่เกิดจากปล่องไฟที่ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุที่ไม่เหมาะสม เช่น ไม้ซุงพอกด้วยดินเหนียว ซึ่งเป็นวัสดุที่ติดไฟได้ นอกจากนี้ ควันไฟที่สะสมอยู่ในปล่องควันก็อาจทำให้ก๊าซต่างๆ ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์สะสมอยู่ภายในและลุกไหม้ได้ แม้ว่าตัวปล่องจะไม่ติดไฟ แต่เปลวไฟที่ลุกออกมาจากปากปล่องสามารถไปติดหญ้าแห้งที่ใช้มุงหลังคาและลุกลามกลายเป็นอัคคีภัยระดับเมืองได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลานับเป็นสิบปีกว่าที่คนจะตระหนักว่าการทำความสะอาดปล่องไฟบ่อยๆ จะสามารถป้องกันอัคคีภัยในลักษณะเช่นนี้ได้อย่างได้ผล

ตัวอย่างบ้านในยุคทิวเดอร์ (Tudor - ราวศตวรรษที่ 16) นิยมสร้างด้วยไม้ซุงฉาบผนังด้วยดินเหนียว
แล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าแห้ง (thatched roof) หลังคาในลักษณะนี้ติดไฟได้ง่ายมากหากมีเปลวหรือสะเก็ดไฟออกมาจากปากปล่องไฟ

การทำความสะอาดปล่องไฟเป็นกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนแต่อย่างใด เพียงแค่กวาดให้เขม่าและฝุ่นผงหลุดออกก็เป็นใช้ได้ แต่การทำความสะอาดปล่องไฟกลับเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในอังกฤษ ตั้งแต่มีการใช้ปล่องไฟในศตวรรษที่ 16 ก็มีบริการทำความสะอาดปล่องไฟเกิดขึ้น และพวกคนทำความสะอาดปล่องไฟหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าคนกวาดปล่องไฟ (chimney sweeper) ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านชนชั้นกลางและชั้นสูงอย่างรวดเร็ว คนกวาดปล่องไฟจะทำงานครั้งละสองคน คนหนึ่งอยู่ที่ปลายด้านบนของปล่อง อีกคนหนึ่งอยู่ด้านล่างที่เตาผิง ทั้งสองคนจะถือเชือกที่มีแปรงผูกติดอยู่ตรงกลางคนละด้าน และเลื่อนขึ้นๆ ลงๆ จนกระทั่งด้านในของปล่องไฟสะอาดเรียบร้อย แต่ในศตวรรษที่ 18 จำนวนบ้านเรือนและปล่องไฟเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความต้องการใช้บริการทำความสะอาดปล่องไฟก็เพิ่มขึ้นตามไป เมื่อแรงงานมีไม่เพียงพอ คนกวาดปล่องไฟจึงเริ่มใช้แรงงานเด็กในการทำงานเนื่องจากเด็กตัวเล็กสามารถเข้าถึงด้านในของปล่องไฟได้ดีกว่าผู้ใหญ่ โดยเด็กจะต้องปีนเข้าไปในปล่องไปพร้อมกับแปรงด้ามยาวและกวาดด้านในของปล่องด้วยตัวคนเดียว ด้วยเหตุนี้ภาพของคนทำความสะอาดปล่องไฟในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาจึงเปลี่ยนจากผู้ใหญ่เป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่ทำงานภายใต้การดูแลของ “คนกวาดปล่องไฟ” ที่เป็นผู้ใหญ่แทน เด็กเหล่านี้ที่มักจะถูกเรียกด้วยอีกชื่อว่า “climbing boy” (เด็กปีนปล่อง?) อาจมีอายุตั้งแต่หก ห้า หรือแม้กระทั่งสี่ขวบ ถูกพ่อแม่ขายให้กับคนกวาดปล่องไฟด้วยราคาที่หลากหลาย ตั้งแต่สองชิลลิ่งไปจนถึงสองกินี (ชิลลิ่ง-shilling คือหน่วยเงินในอดีตของอังกฤษ มีค่า 1/20 ปอนด์สเตอร์ลิง กินี-guinea คือชื่อเรียกเงินเหรียญในอดีตของอังกฤษ มีค่าเท่ากับ 21 ชิลลิ่ง หรือเท่ากับ 1.05 ปอนด์สเตอร์ลิง) และเมื่อขายไปแล้วก็มักได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี หนังสือพิมพ์ในยุคนั้นมักรายงานเกี่ยวกับเด็กปีนปล่องที่ถูกทุบตี ถูกไฟลวก ได้รับบาดเจ็บ พิกลพิการ ติดโรค ไปจนถึงขั้นถูกฆ่าตาย และเด็กเหล่านี้ก็มักจะพัฒนาลักษณะนิสัยไปในทางที่ไม่ดีเมื่อเติบโตขึ้น กลายเป็นปัญหาสังคม ในอังกฤษได้มีความพยายามในการยกเลิกการใช้แรงงานเด็กในการทำความสะอาดปล่องไฟหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 1760 แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจนกระทั่งปี 1875 ที่รัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติกวาดปล่องไฟ (Chinmey Sweeper Act) การใช้แรงงานเด็กกวาดปล่องไฟจึงกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในที่สุด ปล่องไฟก็จึงเป็นพยานหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านทางความคิดของรัฐประชาชาติจากที่มองเด็กเป็นเพียงแรงงาน มาสู่การเป็นทรัพยากรอันควรที่จะต้องได้รับการพัฒนาด้วยเหตุนี้

สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของเด็กกวาดปล่องไฟ (“เด็กปีนปล่อง”) ในศตวรรษที่ 19

นอกจากการเป็นประเด็นทางสังคมแล้ว เตาผิงและปล่องไฟก็ปรากฎในวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) เช่นกัน หนึ่งในนั้นที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือบทบาทในเทศกาลคริสตมาส เทศกาลคริสมาสถูกให้ความหมายเป็นเทศกาลเกี่ยวกับครอบครัว ชุมชน และแม้กระทั่งเกี่ยวข้องกับชาติ ภาพของการชุมนุมกันรอบกองไฟในคืนที่หนาวเหน็บและมืดมิดเป็นภาพที่สร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับทุกคน ในแง่นี้เตาผิงจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นปล่องไฟยังไปสัมพันธ์กับตำนานซานตาคลอสซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากตำนานเทพีของชาวเยอรมันโบราณที่ว่ากันว่ามักจะมาเยี่ยมเยียนบ้านเรือนผู้คนในเทศกาลฤดูหนาว ทุกๆ ปีเด็กนับล้านๆ คนทั่วโลกจะเอาถุงเท้าไปแขวนไว้เหนือเตาผิงก่อนนอนในคืนคริสตมาสอีฟ เพื่อรอซานตาคลอสที่จะปีนลงมาจากปล่องไฟบนหลังคา และนำของขวัญมาให้เด็กๆ ที่ประพฤติตัวดี จากองค์ประกอบเหล่านี้ทำให้อาจกล่าวได้ว่าการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสตมาสอาจไม่สมบูรณ์ก็ได้ถ้าหากขาดเสียซึ่งเตาผิงและปล่องไฟ

ในโลกทุกวันนี้มีอุปกรณ์ไฟฟ้ามากมายที่ใช้ทำความอบอุ่นในบ้านเป็นตัวเลือกที่เข้ามาแทนที่การใช้เตาผิง เตาผิงและปล่องไฟจึงไม่ใช่องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับบ้านเรือนในเขตภูมิอากาศอบอุ่นอีกต่อไป แต่ถึงกระนั้นเจ้าของบ้านเรือนในปัจจุบันจำนวนมากก็ยังเลือกที่จะรักษาเตาผิงเอาไว้ในบ้านด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรมและสุนทรียะมากกว่าเหตุผลด้านความจำเป็นในการใช้งาน บางบ้านเลือกที่จะเก็บเตาผิงเอาไว้เฉยๆ เพื่อความสวยงาม ในขณะที่บางบ้านก็เลือกที่จะใช้ระบบแก๊สสร้างเปลวไฟในเตาผิงเพื่อสร้างทั้งความหรูหราและบรรยากาศแบบโหยหาอดีต ทั้งนี้ก็เพราะว่าเตาผิงและปล่องไฟนั้นไม่ได้มีคุณค่าเพียงแค่การสร้างความอบอุ่น หากแต่ยังเป็นวัตถุที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและความทรงจำมากมายที่มาพร้อมกันด้วยนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

George L. Phillips. England's climbing-boys: a history of the long struggle to abolish child labor in chimney-sweeping. Boston, Mass.: Baker Library, Harvard Graduate School of Business Administration, 1949.

Ian Colquhoun. RIBA book of 20th century British housing. Oxford: Butterworth Heinemann, 1999.

R.W. Brunskill. Traditional buildings of Britain : an introduction to vernacular architecture and its revival. London: Cassell in association with Peter Crawley, 2004.

Stephen Mosley. The chimney of the world: a history of smoke pollution in Victorian and Edwardian Manchester. Cambridge: White Horse, 2001.

Terry Deary. Horrible Christmas. London: Scholastic Children's Books, 2000.

Tony Bennett, John Golby, Ruth Finnegan. Popular culture: themes and issues (1). Units 1/2 Christmas: a case study. Milton Keynes: Open University Press, 1981.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: