บทวิเคราะห์: GDPไทยและความไม่สมดุลที่ซุกซ่อน

ดร.ชยงการ ภมรมาศ 10 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 12572 ครั้ง

ขณะที่ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2556 สูงถึงร้อยละ 82.3 ต่อจีดีพี และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็นร้อยละ 84 ในสิ้นปีนี้ การใช้จ่ายของครัวเรือนจึงอาจยังไม่ใช่หนทางที่เหมาะสมในการปรับสมดุลเศรษฐกิจอีกเช่นกัน การอนุมัติแผนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาท ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่อมเปรียบได้กับการเพิ่มบทบาทของภาครัฐในการกระตุ้นการเติบโตและปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ

เหตุใดจึงจำเป็นต้องปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ

เรามักได้ยินหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาพยากรณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าจะโตกันได้สักกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งเวลาพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์มักจะหมายถึงอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือที่นิยมเรียกชื่อย่อภาษาอังกฤษกันว่า GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งคำตอบของคำถามข้างต้น ก็ซุกซ่อนอยู่ในตัวเลข GDP

เนื่องจาก GDP คือผลรวมของมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ นักเศรษฐศาสตร์มีวิธีวัด GDP หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือการวัด GDP ด้านรายจ่าย ซึ่งแบ่ง GDP ออกเป็น 4 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่

1.การใช้จ่ายของครัวเรือน (Consumption: C) หมายถึงการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและบริการของประชาชน เช่น การซื้อเสื้อผ้า อาหาร ยา ตลอดจนการทานข้าวและดูภาพยนตร์

2.การลงทุนของภาคธุรกิจ (Investment: I) หมายถึงรายจ่ายลงทุนของภาคธุรกิจ เช่น การซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิต

3.การใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure: G) หมายถึงการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของรัฐบาล เช่น เงินเดือนข้าราชการ การสร้างถนนหนทาง

4.การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (Net Export of Good and Services: X-M) หมายถึงส่วนต่างระหว่างยอดการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการของประเทศ โดยหากตัวเลขส่วนนี้ออกมาเป็นบวก หมายความว่า ประเทศมีการส่งออกสินค้าและบริการได้มากกว่าที่ต้องนำเข้า และในทางกลับกัน หากมีค่าเป็นลบก็หมายความว่าประเทศมีการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าที่ส่งออกได้

เมื่อนำทั้ง 4 องค์ประกอบข้างต้นมารวมกันก็จะได้ GDP หรือมูลค่าของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตได้ของประเทศ  ซึ่งสามารถสะท้อนขนาดของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี เวลาที่นักเศรษฐศาสตร์จัดอันดับทางเศรษฐกิจของประเทศในแต่ละปี ว่าประเทศใดมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขนาดไหนก็วัดจาก GDP ตัวนี้ เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ ขนาดของเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศญี่ปุ่นตกจากอันดับ 2 มาเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยถูกประเทศจีนแซงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 แทน

แต่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่ได้แตกต่างกันแค่ขนาดของ GDP ว่าเล็กหรือใหญ่เท่านั้น แต่ยังแตกต่างกันที่องค์ประกอบของ GDP ด้วย นั่นคือต้องสำรวจด้วยว่าองค์ประกอบไหนเป็นองค์ประกอบใหญ่สุดของ GDP แต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยในการวางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดเสถียรภาพ เช่น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีการบริโภค (C) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะมีการลงทุน (I) เป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุด คำถามสำคัญคือ องค์ประกอบใดของ GDP ของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญที่สุด?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแข่งขันของพรรคการเมืองผ่านชุดนโยบายสาธารณะต่าง ๆ อาจทำให้เข้าใจว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลไทย (G) น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดใน GDP ของประเทศ ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว การใช้จ่ายของรัฐบาล (G) กลับเป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุด ในขณะที่องค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดคือการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ (X)

หากไล่ขนาดองค์ประกอบของ GDP ประเทศไทยจากขนาดใหญ่ไปถึงขนาดเล็กที่สุด จะได้ตามลำดับดังนี้ การส่งออกและการนำเข้า (รวมเรียกว่าภาคต่างประเทศ), การใช้จ่ายของครัวเรือน, การลงทุนภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายของรัฐบาล เมื่อถึงตรงนี้จะเห็นว่า ทำไมผู้บริหารประเทศตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์จึงสนใจกับตัวเลขการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์มากเหลือเกิน

เมื่อองค์ประกอบของจีดีพีข้างต้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ดูเหมือนต้องพึ่งพาภาคต่างประเทศสูง จุดนี้เป็นสิ่งที่ควรกังวลหรือไม่?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เวลานักเศรษฐศาสตร์จะดูว่าภาคต่างประเทศมีความสำคัญกับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากน้อยขนาดไหน เขาจะดูกันที่ระดับการเปิดประเทศ (Degree of Openness) ซึ่งวัดจากสัดส่วนของภาคการส่งออกและนำเข้าต่อ GDP ของประเทศ ยกตัวอย่างประเทศไทย จะพบว่าเมื่อคำนวณ Degree of Openness ออกมาจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 140-150 แต่เมื่อเปรียบเทียบ Degree of Openness ของประเทศไทยเทียบกับประเทศซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน กลับพบว่าประเทศไทยมี Degree of Openness มากกว่า

*คำนวณโดยผู้เขียน

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายหรือไม่?

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศแทบทุกรัฐบาล ล้วนแล้วแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะชักชวนให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนและมีนโยบายส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลผลิตที่มากมายมหาศาลของศูนย์กลางการผลิตเหล่านี้มีขนาดมากเกินกว่าที่ตลาดในประเทศ (กำลังซื้อของประชาชนในประเทศ) จะรองรับไว้ได้หมด ดังนั้น การลงทุนขนาดใหญ่เหล่านี้จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตเพื่อสนองตอบต่อกำลังซื้อในประเทศ แต่เป็นการผลิตเพื่อสนองตอบต่อตลาดโลกเป็นหลัก ซึ่งก็สอดคล้องกับการเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้การพึ่งพิงการส่งออกของไทยจึงเป็นเรื่องที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้

อาจมีข้อสงสัยว่า สรุปแล้วประเทศไทยกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้วจริงหรือ? แล้วเหตุใดยังได้ยินปัญหาข้าวไทยล้นตลาดโลก? ตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มากกว่าสินค้าเกษตรกรรมกว่า 10 เท่าคงช่วยตอบคำถามนี้ได้ชัดเจนขึ้น

 *คำนวณโดยผู้เขียน

อย่างไรก็ตาม จะยังไม่ลงไปในประเด็นที่ว่า ประเทศไทยควรส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมมากกว่ากัน เพราะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมาก และเกี่ยวพันกับประเด็นสำคัญหลายประเด็น เช่น คนไทยได้อะไรจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ปัญหาสังคมซึ่งมีที่มาจากการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม ตลอดจนความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เป็นต้น

หากพิจารณาต่อไปว่า ประเทศไทยมีพื้นฐานอะไรถึงจะเป็นประเทศอุตสาหกรรม ถ้าเป็นในอดีตก็ต้องตอบว่าแทบไม่มี ส่วนใหญ่ประเทศไทยมีบทบาทเพียงการประกอบชิ้นส่วนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนักธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นมาก จนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) สำหรับบางอุตสาหกรรมได้ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนขึ้นมาได้เป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเพียงการผลิตชิ้นส่วนที่มีลักษณะของงานฝีมือ มากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้นประเทศไทยแม้จะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้มากก็จริง แต่ก็ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงในการผลิต ตลอดจนต้องนำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสัดส่วนของการนำเข้าสินค้าและบริการของไทย (M) จึงมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ

ขอบคุณภาพจากไทยรัฐ

คำถามมีอยู่ว่า แล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์อันตรายหรือไม่? ซึ่งก็ดังที่กล่าวไปแล้วในช่วงต้นว่า ประเทศที่เป็นประเทศเล็กๆ แต่ต้องการพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางการค้า ย่อมหนีไม่พ้นการพึ่งพิงภาคต่างประเทศ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วก็ไม่อาจนำอัตราการพึ่งพิงภาคต่างประเทศมาเป็นตัวชี้วัดได้ว่าแต่ละประเทศดีหรือไม่ดี ดังเห็นตัวอย่างได้จากประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งมี Degree of Openness สูงถึงร้อยละ 368 และคงไม่มีใครปฏิเสธว่า สิงคโปร์เป็นชาติที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุดในอาเซียนและอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกตลอดมา

แต่หลังจากเศรษฐกิจโลกในช่วงหลังเริ่มมีความผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยกลับต้องพึ่งพิงโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หากเปรียบก็คงเสมือนเรือลำน้อยท่ามกลางคลื่นลมของมหาสมุทรกว้าง รัฐบาลในช่วงหลังจึงเริ่มดำเนินนโยบายที่จะปรับสมดุลเศรษฐกิจในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเพิ่มบทบาทของการใช้จ่ายของครัวเรือน (C)  และการใช้จ่ายของรัฐบาล (G) ซึ่งคงต้องติดตามดูว่า หลังจากเริ่มปรับสมดุลเศรษฐกิจของประเทศแล้วจะเป็นอย่างไร และทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: