อิสรภาพ‘โลกออนไลน์’ในประเทศพม่า สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพกันแน่

เฉิน เชา ฟุย 20 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2799 ครั้ง

ทุกวันนี้เยาวชนพม่าจำนวนมากขึ้นทุกที ก็เหมือนกับคนรุ่นเดียวกันทั่วโลก ที่ต้องมีสมาร์ทโฟนเคียงกายไว้ตลอด เป็นคนรุ่นที่ไม่สามารถจินตนาการชีวิตตนเอง ที่ไม่มีโทรศัพท์ประเภทที่มีทุกอย่างอยู่ในตัวเครื่องตัวเดียวกันได้

ท่ามกลางบรรยากาศที่ออกไปทางย้อนเวลาหาอดีต ผู้มาเยือนจากต่างแดนอาจจะรู้สึกว่า พม่ากำลังเร่งก้าวให้ทันโลกภายนอก หลังจากตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองทหารที่เข้มงวดมากว่าห้าทศวรรษ

การเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมเปิดโอกาสให้ประชาชนที่นี่ มีโอกาสเชื่อมต่อกับโลกใบนี้ ผู้คนที่นี่ต่างมีความคาดหวังว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กับค่านิยมที่ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกนั้นจะช่วยพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ

อย่างไรก็ดีหลายกลุ่มเกรงกันว่าแพลทฟอร์มใหม่ที่น่าตื่นเต้นนี้ ได้กลับกลายเป็นเครื่องมือในทางที่ไม่ดีของบุคคลบางกลุ่ม ที่ฉวยโอกาสใช้ช่องทางนี้ เพื่อเผยแพร่ถ้อยคำและเนื้อหาที่ยุให้เกิดความเกลียดชังฝ่ายที่ไม่ใช่ตน (hate speech)

ความขัดแย้งที่มีมานานแล้วในพม่า ระหว่างชาวพุทธซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กับชาวมุสลิมและโรฮิงยาที่เป็นชนกลุ่มน้อย (ชาวพม่าส่วนใหญ่จะเรียกชาวโรฮิงยาว่า ชาวเบงกอล) กับอีกเรื่องคือ ความขัดแย้งระหว่างคนเชื้อสายพม่า ซึ่งเป็นชาติพันธุ์หลักกับกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มเล็กกว่าอื่น ๆ เป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้ใช้ออนไลน์เลือกข้าง ทำให้เกิดการแสดงความเห็นที่โกรธแค้นต่อเหตุปะทะรุนแรงระหว่างคนต่างศาสนาที่ปะทุขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา

บทเรียนจากประวัติศาสตร์ทำให้นักสังเกตการณ์ทางการเมืองสงสัยว่า ความขัดแย้งทางศาสนากำลังซ้ำรอยรูปแบบในอดีต เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ครองอำนาจรู้สึกว่าตนกำลังถูกคุกคามหรือท้าทาย เรื่องแนวนี้มีให้เห็นทั่วไปในยุคที่อังกฤษปกครองพม่าเป็นอาณานิคมจนกระทั่งช่วงระบอบทหารปกครองหลังจากที่พม่าได้รับอิสรภาพ

แนวคิดที่ผู้คนส่วนใหญ่มองก็คือ พวกขั้วอำนาจเก่าอาจตั้งใจสร้างความแตกแยกมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยบาดแผลรอยร้าวที่มีอยู่แล้วมานาน ในขณะเดียวกันกับที่ฟากนิยมประชาธิปไตยกำลังพยายามที่จะประคับประคองทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียว

เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียไซต์ยอดนิยมที่สุดในเมียนมาร์ได้กลายเป็นสนามประลองกำลังทางการเมืองแห่งใหม่ระหว่างพรรคยูเอสดีพี (Union Solidarity and Development Party) พรรครัฐบาลกับพรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy) ต่างฝ่ายต่างกำลังเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในปี 2015

คนนอกประเทศพม่าอาจประหลาดใจเล็กน้อย เมื่อพบว่าเราจะติดต่อเพื่อนชาวพม่าได้ทางเฟซบุ๊คได้ง่ายกว่าทางอีเมล์ เพราะชาวพม่าทั้งหลายเข้าไปใช้เฟซบุ๊คได้ทางสมาร์ทโฟน จากตัวเลขประเมิน ประชากรราวร้อยละ 1 จาก 60 ล้านคนในพม่าใช้เฟซบุ๊ค ตามข้อมูลของเนย์ พง ลัต ผู้อำนวยการบริหารของมิโด (Myanmar ICT for Development Organisation, MIDO) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน

ในมุมมองของ เย เนง โม ผู้อำนวยการของ Yangon Journalism School แม้ประชากรไม่ถึงร้อยละ 1 ในพม่าจะมีอินเทอร์เน็ตใช้ก็จริง แต่ว่าคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้นเป็นคนที่มีอิทธิพล กิจกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นในแวดวงชนชั้นปกครอง สื่อสารมวลชน นายทหาร พระที่มีการศึกษา ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้คือคนที่สามารถจะเปลี่ยนรูปโฉมทางการเมืองและสังคมของประเทศ

               “คนที่ออนไลน์คือคนที่มีอิทธิพล พวกเขาสามารถกำหนดสังคมได้ ในเมืองเล็กๆก็จะมีอยู่ไม่กี่คนที่ออนไลน์ได้ และคนที่ออนไลน์ได้นี่เองก็จะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับชุมชน” เยกล่าว

ประธานาธิบดีอู เต็ง เส่ง สื่อสารกับประชาชน โพสต์ภาพถ่ายกับคำปราศรัยในโอกาสต่างๆผ่านทางหน้าเฟซบุ๊คของเขา เขามีผู้ติดตามหน้าเขาอยู่ 11,800 คน

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข่าวสาร เย ธุต ซึ่งเป็นผู้นำพรรค USDP อีกคนหนึ่งก็มีผู้ติดตามเขาทางเฟซบุ๊คอยู่ 47,000 ราย ส่วนหน้าแฟนเพจของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ของนางอองซานซูจี มีผู้ติดตามอยู่ 221,000 คน

สถิติจากแหล่งต่างๆเมื่อปีที่แล้วระบุว่า 29.7 เปอร์เซนต์ ของผู้ใช้เฟซบุ๊คทั่วโลกอายุ 25-34 ปี และ 50 เปอร์เซนต์ ของกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊คที่มีอายุ 18-24 ปีบอกว่าต้องเข้าเฟซบุ๊คเป็นกิจวัตรประจำวันหลังตื่นนอน ถึงแม้ว่าจะไม่มีสถิติในส่วนของเมียนมาร์แต่การใช้อินเทอร์เน็ตกำลังมาแรงในประเทศนี้แน่นอน

ธินซาร์ ชุนเล ยี วัย 21 เป็นหนึ่งในบรรดาผู้เกาะกระแสการเปิดเสรีบริการโทรคมนาคมในพม่าอย่างเหนียวแน่น เธอเซิร์ฟอินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟนของเธอและคอยเช็คเฟซบุ๊คกับอีเมล์ทุกเช้า

อย่างไรก็ตามชีวิตออนไลน์นั้นเป็นความเป็นจริงที่ห่างไกลตัวมากสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมพม่า

ผู้คนในย่างกุ้งจำนวนมากมีรายได้เฉลี่ยวันละ 1 เหรียญสหรัฐขณะที่คอมพิวเตอร์ที่มีจอแอลซีดีกับระบบปฏิบัติการราคาประมาณ 400,000 จั๊ต (หรือราว 400 เหรียญ) และราคาของลีโนโวธิงค์แพดอยู่ที่รว 1,300 เหรียญ

กระทั่งชุนเล บัณฑิตหมาด ๆ จากสถาบันด้านการศึกษาจากครอบครัวข้าราชการทหาร โทรศัพท์ตัวแรกของเธอเป็นแอนดรอยด์ 2.1 เอแคลร์ ราคาพอประมาณคือ 100 เหรียญ ซึ่งลุงของเธอให้เป็นของขวัญเมื่อปีที่แล้ว

“แย่หน่อยที่เป็นรุ่น 2.1 ใช้งานได้ไม่ดีเท่ากับรุ่นที่วัยรุ่นทั่วไปเขาใช้กัน” ชุนเลว่า เธอต้องควักกระเป๋าจ่ายประมาณ 10 เหรียญเพื่อเปิดใช้บริการ 2G ทุกวันนี้ผู้ใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ส่วนใหญ่ใช้เวอร์ชั่น 4.3 เจลลี่บีน ถ้าไปเดินเล่นย่านถนนโบจกอองซาน เราจะรู้สึกถึงบรรยากาศที่คึกคัก ผู้คนมากมายนั่งยอง ๆ สำรวจแผงเสื่อแบกะดิน บางคนก็เสาะหาชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หลายคนก็ทดลองใช้สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด

ก่อนปี 2010 ซิมการ์ดสำหรับโทรศัพท์หนึ่งใบมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 เหรียญ ปัจจุบันผู้คนสามารถที่จะซื้อซิมรุ่นที่มี 3G ด้วยในราคา 400 เหรียญ แม้ว่าจะเป็นราคาที่แพงสุดโต่งก็ตาม ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเป็นเจ้าของซิมการ์ดได้

เมื่อการสื่อสารอินเทอร์เน็ตไร้สายกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ ประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้องก็ตามมาเป็นพรวนสำหรับประเทศเมียนมาร์ด้วยเช่นกัน

อินเทอร์เน็ต ดาบสองคมสำหรับเมียนมาร์

แม้เมียนมาร์จะเป็น “น้องใหม่” ในเรื่องการสื่อสารออนไลน์ อินเตอร์เน็ตกำลังเป็นกระแสที่มาเร็วและแรง และก็เช่นเดียวกันกับที่อื่นทั่วโลก อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศทางการเมืองด้วยการกระจายข่าวสารและปลุกปั่นอารมณ์ ความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมบางส่วน ซึ่งได้ก่อตัวจนปะทุเป็นเหตุรุนแรงร้ายแรงในรัฐยะไข่ ก่อนที่จะลามไปทั่วภาคกลางของเมียนมาร์ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมปีก่อน ได้เยื้องกรายเข้ามาเป็นประเด็นร้อนในพื้นที่ออนไลน์

ถ้อยความยุยงให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย (hate speech) ที่วนเวียนอยู่ในเฟซบุ๊คทำให้หลายคนกังวล ชาวพุทธกับมุสลิมกล่าวหาว่าร้ายกันอย่างเปิดเผยในเวทีออนไลน์ บางครั้งก็มีการยุยงปลุกปั่นให้กระทำการรุนแรงต่อคนที่นับถือต่างศาสนา การที่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการหยุดยั้งความรุนแรงก็เป็นเรื่องที่หลายคนสงสัยเช่นกัน

ข้อมูลจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ระบุว่ามีการปะทะเกิดขึ้นในแถบสะแกง ห่างจากมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาร์รองจากย่างกุ้งไปประมาณหนึ่งชั่วโมง มีบ้านชาวมุสลิมหนึ่งหลังถูกเผา

ข้อมูลจากองค์กรเอกชนชื่อ Physicians for Human Rights (หมอเพื่อสิทธิมนุษยชน) อ้างรายงานข่าวในช่วงตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนปีนี้ว่า เหตุการณ์รุนแรงต่อต้ามุสลิมและการโต้ตอบเอาคืนทำให้ประชาชนกว่า 250,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย บ้านเรือน 10,000 กว่าหลังถูกทำลาย มัสยิดและวัดอีกหลายสิบแห่งก็ถูกทำลายเสียหายด้วย

              “มีคนพูดว่าโซเชียลมีเดียหรือว่าเฟซบุ๊คเหมือนกับข้างฝาห้องส้วม ในพื้นที่ยากจนในประเทศเรา ข้างฝาห้องส้วมนั้นสกปรกมาก ใครนึกอยากเขียนอะไรก็เขียนไว้บนข้างฝานั่นแหละ” นั่นเป็นคำพูดของคิน เลย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Triangle Women Support Group

การที่อินเทอร์เน็ตกับสมาร์ทโฟนราคาถูกและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นได้กลายเป็น “ใบอนุญาต”ให้คนจากทุกชนชั้นในสังคม ไม่ว่าจะมีพื้นเพหรือการศึกษาอย่างไร ก็สามารถที่จะโพสต์คำพูด “สกปรก”ออนไลน์ได้ คินกล่าว

ผู้ใช้ออนไลน์จำนวนมากที่เกลียดชังคนที่นับถือคนละศาสนากับตนตอนนี้ก็มีช่องทางที่จะระบายความโกรธแค้น ปลุกปั่นอารมณ์ โดยปราศจากเหตุผล

การเผยแพร่ถ้อยคำที่ยุให้เกิดความเกลียดชังทางออนไลน์ เป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ผู้คนในแวดวงสื่อและนักกิจกรรมสังคมที่ผู้สื่อข่าวรายนี้ ได้สนทนาด้วยในย่างกุ้งมีความรู้สึกว่า เรื่องนี้มีเบื้องหลัง พวกเขามองว่าอาจมีมือที่มองไม่เห็นคอยวางหมากสกัดความคืบหน้า ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศ

เนย์ พง ลัต ผู้อำนวยการบริหาร Myanmar ICT for Development Organisation หรือ MIDO กล่าวว่ามีกลุ่มใหญ่ๆที่มีทุนหนากับมีพื้นเพ ที่จงใจสร้างและเผยแพร่วาทกรรมสร้างความเกลียดชังเพื่อปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศ

“รัฐธรรมนูญของเราระบุไว้ว่า ทหารสามารถที่จะยึดอำนาจได้ในกรณีที่เกิดความรุนแรง” เนย์กล่าว

จริงหรือว่าปั่น?

เนย์ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่อง”แหล่งที่มา”ของถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังฝ่ายอื่น เนื่องจากทุกครั้งที่มียูสเซอร์สักรายโพสท์ถ้อยคำยุยงแนวนี้ออกมา ยูสเซอร์รายนั้นก็จะมีคนเข้ามาแชร์อีก 150 รายในชั่วหนึ่งถึงสองนาที อันนับเป็นความเร็วที่น่าเหลือเชื่อ

        “ต้นตอแห่งแรก (ของถ้อยคำที่ทำให้คนเกลียดกันดังกล่าว) ไม่ได้มาจากคนธรรมดาทั่วไป” เขาขยายความ

ธิฮา หม่อง หม่อง ผู้ประสานงานโครงการของ Yangon Journalism School มีข้อสังเกตถึงรูปแบบความเป็นไปของหน้าเฟซบุ๊คบางหน้า ที่ยืนยันความเชื่อของเขาว่ากระแสการเผยแพร่ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหลายกรณีนั้นมีวางแผนล่วงหน้า

เขาอธิบายว่าเฟซบุ๊คบางหน้าตบตาว่าเป็นหน้าแฟนฟุตบอลบ้าง หรือว่าโรยหน้าด้วยเนื้อหาอารมณ์ขำขันเพื่อดึงให้มีคนมาติดตาม จากนั้นหน้าเหล่านั้นก็เริ่มกลาย “บุคลิกภาพ” มีการสอดแทรกเนื้อหาที่ออกแนวรักชาติมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป

            “หน้าหรือแอ๊คเคานท์เฟซบุ๊คลักษณะที่ว่านี้จะมีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกันมาก สเตตัสหรือรูปภาพที่พวกเขาโพสท์ไว้จะเหมือนกัน ดูราวกับว่าเป็นผลงานของบุคคลคนเดียวกันหรือว่าคนกลุ่มเดียวกัน” ธิฮาอธิบาย

ตัวชุนเลเองก็รู้สึกไม่สบายใจ เวลาที่เธอเห็นภาพของดอว์อองซานซูจี (ดอว์ หรือ”คุณป้า”เป็นคำเรียกให้เกียรติ) ที่ถูกตัดต่อให้ใบหน้าของเธอไปแปะกับเรือนร่างโป๊ของผู้หญิงคนอื่น

             “มีคนอยู่สองประเภท คือกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มที่สนับสนุนอองซานซูจี พวกเขาต่อสู้ห้ำหั่นกัน ประธานาธิบดีกับอองซานซูจีเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ เวลามีใครสักคนโพสท์อะไรสักอย่างจากฟากของอองซานซูจี กลุ่มยูสเซอร์จากฟากรัฐบาลจะออกมาพูดอะไรที่ไม่ดี พวกเขาเกลียดเธอจริงๆ” ชุนเลกล่าว

ความที่มาจากครอบครัวทหาร ชุนเลจึงมีเพื่อนอยู่สองกลุ่มในหน้าเฟซบุ๊คของเธอ เพื่อนรักจากรั้วมหาวิทยาลัยของเธอ มีทั้งชาวพม่าและจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น เพื่อนวัยมัธยมของเธอส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นคนในครอบครัวทหารที่เรียนในโรงเรียนมัธยมของทหาร

จากการที่เธอเข้าร่วมกิจกรรมจัดงานวันสันติภาพสากลและเข้าร่วมเดินขบวนสันติภาพเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วเพื่อนเก่าของเธอหลายตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำกิจกรรมของเธอ มีเพื่อนวัยมัธยมของเธอคนหนึ่งเลือกออกจากกลุ่มของเธอไปด้วยเหตุผลว่าอยู่ไกลๆการเมืองไว้ดีกว่า

             “เขาอาจคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเลยดีกว่า ไม่ใช่ว่าเขาหวาดกลัวนะ แต่ว่าด้วยวิธีคิดของเขาว่าห่างการเมืองไว้เป็นดีที่สุด”

             “พ่อแม่เขายังรับราชการอยู่ แต่พ่อแม่ฉันก็ยังรับราชการอยู่เหมือนกัน บางครั้งฉันก็รู้สึกผิดถ้าหากว่ากิจกรรมที่ฉันทำจะไปมีผลกับหน้าที่การงานของพ่อ ฉันยังไม่แน่ใจนะ ดังนั้นฉันก็ตัดสินใจว่าจะไม่พาตัวไปออกสื่อ แม้ว่าในฐานะเยาวชนฉันยังทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเมืองบ้างก็ตาม” ชุนเลเล่าความในใจของเธอให้เราฟัง

ปีเตอร์วัย 33 ปีทำงานในภาคประชาสังคม เขาแสดงความกังวลเช่นกันเกี่ยวกับการเผยแพร่ hate speech ทางออนไลน์ที่เติมเชื้อไฟให้อารมณ์ผู้คนคุกรุ่น ตัวเขาเองเคยโดนโจมตี (ในโลกไซเบอร์) เมื่อเขาออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายถกประเด็นกันโดยใช้เหตุผล

แม้กระนั้นปีเตอร์ก็มองว่าโลกออนไลน์ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เขาเชื่อว่าคนที่นับถือศาสนาต่างกันและมีความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน สามารถที่จะใช้สื่อออนไลน์เป็นเวทีในการพูดคุย และมีปฏิสัมพันธ์กัน แทนที่ด่าทอกันด้วยถ้อยคำหยาบคายเวลาจะแสดงความเห็น

            “พวกเขาน่าจะใช้สื่อออนไลน์ในการหาจุดร่วมท่ามกลางความแตกต่าง แต่ที่ว่ามานี้ก็ยังไม่เกิด พวกเขาหาจุดร่วมกันไม่เจอเลยทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาได้แต่โพสท์วาจาหยาบคาย และถ้าเกิดมีใครที่พยายามพูดจาเรื่องเหตุผล พวกเขาก็จะโต้กลับมาเช่นว่า “อย่าพูดชุ่ยๆ ไม่เชื่อหรอก” เขาเล่า

ปีเตอร์ผู้ได้รับการศึกษาจากประเทศอังกฤษชี้ว่า วิกฤตไม่ว่าจะศาสนาหรือการเมือง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองหรือว่ามีคนชักใยให้เกิด เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมีมาตั้งแต่ยุคที่พม่าเป็นอาณานิคม

           “เมื่อประชาชนต่อต้าน หรือเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รัฐบาลก็จะเริ่มเปิดบทวิกฤตระหว่างพุทธกับมุสลิม ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ ในช่วงทศวรรษ 1930 และหลังจากที่พม่าได้รับอิสรภาพแล้ว จะเห็นว่าเกิดวิกฤตทั้งด้านศาสนาและการเมืองหลายครั้ง”

           “ด้วยเหตุนี้เราจึงสงสัยว่าวิกฤตเกี่ยวกับศาสนาเมื่อไม่นานมานี้เกิดขึ้นมาจากน้ำมือของคนบางกลุ่มที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาร์ และสื่อออนไลน์ก็ได้ตกเป็นเครื่องมือของปฏิบัติการที่ไม่ซื่อสัตย์นั้น” ปีเตอร์กล่าว

คิน เล ที่ทำงานองค์กรด้านผู้หญิงกล่าวว่า รากเหง้าแห่งปัญหาระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมที่เกิดมายาวนานนั้นอาจมีต้นตอมาจากการต่อสู้เพื่ออำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ชาวมุสลิมที่ร่ำรวยกว่ากดขี่ชาวพุทธ ที่มักจะยากจนกว่า คินยกตัวอย่างหลายกรณีที่ผู้หญิงพุทธแต่งงานกับชายมุสลิมแล้วเปลี่ยนไปนับถืออิสลามเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นอกจากนี้สูตรผสมระหว่างความเป็นชาตินิยมกับพุทธศาสนาโดยกลุ่ม 969 นำโพยพระอชิน วิราธู ซึ่งอ้างว่าชาวมุสลิมเป็นคนนอก ดังนั้นต้องถูกผลักดันให้ออกไปจากดินแดนสุวรรณภูมินั้น ประสบความสำเร็จในแง่ที่ปลุกปั่นอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก

           “ทุกวันนี้ชาวพม่าส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเราไม่ต้องการประชาธิปไตย เราต้องการศาสนาของเรา ในอดีตพรรคเอ็นแอลดีได้รับความนิยมมาก แต่ตอนนี้ความนิยมของพรรคตกต่ำลง เพราะอะไร? เพราะว่า hate speech ที่เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นทั้งเครื่องมือและอาวุธของทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านอย่างเอ็นแอลดี ในการที่จะบั่นทอนศักดิ์ศรีและทำให้ความนิยมถดถอย

           “ก่อนวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2012 พรรค NLD ได้รับชัยชนะท่วมท้น จากนั้นก็บังเอิญเกิดวิกฤตที่รัฐยะไข่”เขาตั้งข้อสังเกต NLD ชนะได้ที่นั่งมากกว่า 90 เปอร์เซนต์ ในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อปีนั้น

เยยังสังเกตเห็นแนวโน้มลักษณะเดียวกัน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ประชาชนวิพากษ์พรรครัฐบาลหนักมาก แต่ตอนนี้การณ์กลับกลายเป็นว่า พระสงฆ์ต่างหันมารวมตัวกันหนุนรัฐบาล

ปีเตอร์กล่าวว่าดอว์อองซานซูจีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักยิ่งขึ้น จากการที่ทั้งตัวเธอกับพรรค NLD ไม่ออกมาแสดงจุดยืนใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิด­ขึ้นทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้ความนิยมในตัวเธอจึงได้รับผลกระทบเนื่องจากผู้คนคาดหวังให้เธอเป็นตัวแทนแห่งสำนึกที่ดี

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการที่นางซูจีเลือกที่จะนิ่งเงียบเป็นเพราะว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นนั้น ผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ

ประธานาธิบดีอู เต็ง เส่งกลับมีปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว โดยออกมาพูดว่าชาวมุสลิมโรฮิงยาควรถูกเนรเทศออกนอกประเทศ จุดยืนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์ 5,000 กว่ารูปในมัณฑะเลย์ ที่รวมตัวกันออกมาเดินสนับสนุนท่าทีดังกล่าวของประธานาธิบดี

อย่างไรก็ดีโฆษกของพรรค NLD อู ญาณ วิน ออกมาปฏิเสธแนวคิดที่ว่าวิกฤตครั้งนี้บั่นทอนความนิยมต่อพรรค

ความยากเข็นแห่งการเชื่อมต่อออนไลน์

แม้จะขุ่นเคืองกับปรากฏการณ์ hate speech โญ โอ มินท์ นักสันติวิธีแห่งศูนย์สันติภาพเมียนมาร์ ซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักประธานาธิบดี กล่าวปกป้องการแลกเปลี่ยนความเห็นกันทางออนไลน์ว่า ชาวพม่าแค่กำลังใช้เสรีภาพออนไลน์ที่พวกเขาเพิ่งได้มีกันอยู่เต็มที่เท่านั้น ภายหลังจากที่ดูกดขี่ทางการเมืองมากว่าห้าทศวรรษ

            “คนพม่ามักจะอนุรักษ์นิยมในแง่สังคม แต่ในเรื่องการเมืองพวกเขาจะล้ำหน้ามากกว่าในเรื่องเสรีภาพ พวกเขากล้าแสดงออกและอาจไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่ตามมา ดังนั้นที่เราเรียกกันว่า hate speech นั้นที่จริงอาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะว่าพวกเขาไม่ได้มีวาระอื่นแอบแฝง” โญกล่าว

“หลายคนกำลังใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อแสดงออกซื่งความรู้สึกส่วนตัว”เขาอธิบาย

อย่างไรก็ตามเขากังวลเกี่ยวกับข่าวสารที่ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแพร่กระจายได้อย่างเร็วดังไฟป่าทางโซเชียลมีเดีย

ประชาธิปไตยที่กำลังเติบโตและยังเปราะบางอยู่ของเมียนมาร์ กับธรรมชาติของช่องทางออนไลน์กับโซเชียลมีเดียกำลังเป็น “ความเจ็บปวดที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกที” ของดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ พัฒนาการนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญที่ต้องอภิปรายเรื่องสมดุลระหว่างการรักษาความกลมเกลียวทางสังคมขณะเดียวกันกับที่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมากยิ่งขึ้น

สมดุลแห่งออนไลน์ในเมียนมาร์

             “ตอนนี้เรามีเสรีภาพมากขึ้น แต่ว่าเรายังไม่ปลอดภัย” นั่นเป็นข้อสังเกตของ เนย์ พง ลัต ผู้อำนวยการบริหารของ Myanmar ICT for Development Organisation, MIDO เขามองว่า ร่างกฎหมายโทรคมนาคมที่กำหนดให้มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลอุตสาหกรรมไอซีทีขึ้นมานั้นเป็นการสะท้อนวิธีคิดแบบเก่าของรัฐบาล “ใหม่” ที่ต้องการขยายอำนาจในการควบคุมและลงโทษผู้ใช้ปลายทาง

ร่างกฎหมายดังกล่าวลอกเลียนแบบกฎหมายธุรกรรมอิเล็คทรอนิคปี 2004 มาทั้งดุ้น กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษหนักสำหรับผู้ใช้ที่โพสท์เนื้อหาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหรือต่อสาธารณประโยชน์ คำนิยามต่างๆก็กว้างและคลุมเครือ

เนย์ถูกจับในสมัยรัฐบาลชุดเก่าในข้อหาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการปราบปราม “ปฏิวัติผ้าเหลือง” โดยกองทัพเมื่อปี 2007 ให้กับโลกภายนอก ภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวเขาโดนตัดสินลงโทษจำคุก 15 ปี แต่เขาได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดี จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อปี 2012

MIDO ได้ส่งข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่ โดยหลัก ๆ แล้วทางองค์กรเสนอให้มีการตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระขึ้นมา พร้อมทั้งให้ตัดข้อความเรื่องโทษจำคุก 7-15 ปีออกไป เมื่อเร็วๆนี้รัฐสภาทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฏหมายนี้ไปแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีลงนาม เนย์ยังไม่ได้เห็นตัวร่างฉบับแก้ไขสุดท้ายที่สภาผ่านไป

ในอีเมล์ที่ตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวรายนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข่าวสาร เย ธุต กล่าวว่า “รัฐบาลสังเกตเห็นว่า เมื่อเรายกเลิกข้อการปิดกั้นอินเตอร์เน็ต ก็เกิดการเผยแพร่ข้อความที่ยุให้เกิดความเกลียดชังทั้งในเรื่องศาสนาและการเมืองขึ้นมา จนกลายเป็นปัญหาสังคมในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรุนแรงช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันเรากำลังทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในการรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในเรื่อง hate speech”

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีเย ธุตไม่ได้ให้รายละเอียดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการควบคุมโซเชียลมีเดียหรือไม่ ต่อคำถามเรื่องชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวชาวมุสลิมโรฮิงยาชื่อทัน ส่วย ที่ถูกจับไปเมื่อเดือนสิงหาคมในข้อหาโพสต์รูปภาพเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงปะทะกับชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ เขาตอบว่า ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญา การเผยแพร่ข้อความที่สร้างความเกลียดชังเกี่ยวกับศาสนาหรือการกระทำดังว่าเป็นโทษทางอาญา ดังนั้นทัน ส่วยจึงต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย

            “วิธีที่เราต้องการมากกว่าก็คือ เคมเปญการสร้างความตระหนัก ไม่ใช่ออกกฎหมายอีกฉบับออกมาเพื่อควบคุมโซเชียลมีเดีย” เย ธุตกล่าว พร้อมย้ำด้วยว่าทางกระทรวงข่าวสารกับสถานทูตสหรัฐประจำเมียนมาร์ร่วมกันจัดสัมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง hate speech บนโซเชียลมีเดียไปเมื่อเดือนกรกฎาคม

แม้ว่าวุฒิภาวะของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหลาย ยังไม่ค่อยได้ระดับที่เขาต้องการเห็น เนย์ พง ลัต มองว่า รัฐบาลไม่ควรปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออนไลน์ เพราะว่าประชาชนสามารถกำกับดูแลกันเองได้

        “เรากำกับดูแลซึ่งกันและกันเอง เราสามารถที่จะสร้างวัฒนธรรมการใช้สื่อออนไลน์ด้วยตัวเรากันเองได้”

         “ผมมีเพื่อนเฟซบุ๊ค 5,000 กว่าราย ถ้าพวกเขาจะเผยแพร่เนื้อความที่ยุให้เกลียดกัน ผมก็จะเตือนพวกเขา ถ้าพวกเขาพยายามทำซ้ำอีก ผมก็จะอันเฟรนด์เขา ตอนนี้ผมพูดได้ว่าเพื่อนผมไม่ได้เป็นผู้แพร่ hate speech”

ขณะเดียวกันเนย์เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายและระบบยุติธรรมของเมียนมาร์ยังไม่มีขีดความสามารถที่จะจัดการกับคดีอาชญากรรมไซเบอร์

          “ถ้าหากคุณตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ขึ้นมา แล้วก็ไปแจ้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่เข้าใจว่าคุณพูดเรื่องอะไร”เนย์กล่าว

ด้วยกลุ่มประชากรออนไลน์ที่จำนวนเล็กน้อยมากในเมียนมาร์ บางคนอาจมองว่านัยในเรื่องที่เกี่ยวกับ hate speech นั้นยังไม่ได้มีผลกระทบมาก

อย่างไรก็ดีการที่ไม่มีสถาบันหรือองค์กรที่จะเผชิญกับความท้าทายที่นับวันจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ออนไลน์ในอนาคตเมื่อคำนึงถึงว่าบริการสื่อสารโทรคมนาคมกำลังจะเติบโตแบบก้าวกระโดด

เทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์จะเปิดตัวบริการวอยซ์และดาต้าในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2014 ครอบคลุมบริการ 78 เปอร์เซนต์ ของประชากร ในขณะที่บริษัท Ooredoo จากกาตาร์ก็จะสร้างจุดเชื่อมต่อสาธารณะ 10,000 จุดทั่วประเทศ หมายความว่าประชากร 84% จะมีอินเทอร์เน็ตใช้ภายในปี 2019

อินเตอร์เน็ตอาจเป็นหน้าต่างสู่โลกสำหรับคนจำนวนมาก แต่ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับคนบางกลุ่ม หากว่าประชาชนยังไม่มีความตื่นรู้ตระหนักรู้ พื้นที่ออนไลน์อาจจะตกอยู่ในกุมมือของกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวเพื่อตอบสนองประโยชน์เฉพาะกลุ่มเขาเท่านั้น

นักวิพากษ์กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ในโลกไซเบอร์ไม่ควรเป็นภารกิจที่ไม่ต่อเนื่อง การเปิดเสรีพื้นที่นี้ควรจะเป็นไปอย่างเปิดเผยและโปร่งใส เพื่อติดพลังให้กับประชาชนในทางสร้างสรรค์ ทุกฝ่ายควรมีความรับผิดชอบเท่าเทียมกันในการที่จะตัดสินใจว่า พื้นที่ออนไลน์เป็นเวทีสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กันในวงกว้าง หรือว่าเป็นพื้นที่ประลองกำลังของชนชั้นปกครองอภิสิทธิชนเพื่อโกยคะแนนทางการเมือง

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวบางส่วนจาก Google

เฉิน เชา ฟุย เป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ได้รับทุนในโครงการ SEAPA Fellowship 2013 ซึ่งในปีนี้ว่าด้วยประเด็นความท้าทายด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการกำกับดูแล บทความต้นฉบับภาษาอังกฤษชิ้นนี้เผยแพร่เป็นครั้งแรกทาง www.fz.com ดูฉบับภาษาอังกฤษได้ทางลิงค์ต่อไปนี้

http://www.fz.com/content/internet-–-new-wave-sweeping-myanmar (Main-Part I)

http://www.fz.com/content/internet-–-double-edged-sword-myanmar (Main-Part II)

http://www.fz.com/content/striking-delicate-online-balance-myanmar (Main- Part III)

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: