จับตาสอบทุจริตซื้อ ‘ครุภัณฑ์อาชีวะ’ ป.ป.ช.จะหมดวาระแต่คดียังไม่คืบหน้า

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 10 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 5376 ครั้ง

 

 

การทุจริตการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษาตาม “โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง” หรือที่เรียกกันว่า "SP2” ของ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วงเงินกว่า 5,300 ล้านบาท ถูกเปิดโปงจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างกว้างขวาง มาตั้งแต่ปลายปี 2555 ถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ดังกล่าวในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนค่อย ๆ เลือนหายไป

 

หวั่นป.ป.ช.หมดวาระคดีไม่คืบ

 

มาถึงทุกวันนี้ถึงการสอบสวนหรือความคืบหน้ากรณีทุจริตครุภัณฑ์อาชีวศึกษาจะเงียบหายไปจากกระแสสังคม แต่จากการติดตามของศูนย์ข่าว TCIJ ทราบว่า คดีนี้มีความคืบหน้าไปไม่น้อย โดยในส่วนของการชี้มูลนั้น ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่งและคงต้องจับตาดูอย่างไม่อาจคลาดสายตาได้ เนื่องจาก ป.ป.ช.ชุดนี้กำลังจะหมดวาระในวันที่ 20 กันยายน 2556 คำถามคือ ป.ป.ช.ชุดใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร เมื่อเข้ามาแล้วจะเร่งรัดคดีนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องชี้มูล แต่กลับนิ่งจนเรื่องค่อย ๆ เงียบหายไป

 

ส่วนคดีทางวินัยแม้ว่าจะล่าช้า แต่ก็ไม่ได้ขึ้นหิ้งเสียทีเดียว เพราะหลังจาก น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการ สอศ.ในขณะนั้น และนายภูมิพิชญ์ วโรดมรุจิรานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สอศ. ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว ถึงทั้งสองจะต่อสู้ด้วยการร้องเรียนกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) จนส่งผลให้การสอบสวนต้องหยุดชะงักไปนานถึง 7 เดือน แต่ที่สุดแล้ว ก.พ.ค.ก็พิจารณาวินิจฉัยยกคำร้องผู้ถูกกล่าวหา ทำให้คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงกลับมาเร่งเครื่องสางปมทุจริตต่อได้

 

 

สอบวินัยยังใกล้สิ้นสุด

 

อย่างไรก็ตาม การสอบสวนวินัยฯ ยังมีเงื่อนไขของเวลา ตามกฎของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนฯ อีกครั้ง จึงมีการคาดการกันว่า คณะกรรมการจะขอขยายเวลาสอบสวนออกไปอีก สาเหตุเพราะหลังจากที่เริ่มสอบคดี จะมีหน่วยงานที่อ้างว่า มีการประกวดราคาของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงจำเป็นต้องทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลไปที่ส่วนราชการเหล่านั้น ว่าเป็นจริงตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ จากนั้นจึงจะสรุปข้อกล่าวหาพร้อมพยานหลักฐาน ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบ เพื่อหาหลักฐานโต้แย้งกลับมาให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณา

 

 

เริ่มต้นอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างไม่ปกติ

 

ย้อนกลับไประหว่างปี 2552-2555 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการอนุมัติจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อการเรียนการสอน ให้กับสถานศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ  ซึ่งมองเผิน ๆ อาจคิดว่ารัฐบาลเกาถูกที่คัน เพราะกำลังคนสายอาชีพ คือความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรและผู้เรียนสายนี้ โดยเฉพาะการยกระดับขีดความสามารถ ซึ่งการจัดหาครุภัณฑ์ระดับพรีเมียมไว้สำหรับจัดการเรียนการสอน จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ที่น่าตบมือให้ดัง ๆ

 

แต่เรื่องที่กลับตาลปัด หลังปรากฏว่า เมื่อสถานศึกษาได้ครุภัณฑ์ไปแล้ว กลับใช้การอะไรไม่ได้เลย เมื่อครูอาจารย์ ในวิทยาลัยอาชีวะหลายแห่งออกมาร้องเรียนว่า ครุภัณฑ์ที่ได้รับนั้น ไม่ตรงกับความต้องการ และแผนการเรียนที่แต่ละสถาบันเปิดสอน เช่น สาขาวิชาเกษตรกรรม แต่กลับได้รับอุปกรณ์ทำครัวของภาควิชาคหกรรม เรื่องจึงแดงขึ้นมา

 

การร้องเรียนของกลุ่มครูอาจารย์ ยังขยายความไปถึงคุณภาพหรือสเปคของครุภัณฑ์ โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพ ที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาแพงเกินจริง เช่น ครุภัณฑ์บางชิ้นเขียนสเปคเป็นหมุดทองคำ ราคาหลักแสน ทำให้ผู้ประกวดราคารายอื่นไม่กล้าเสนอราคาแข่งขัน แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับพบว่าเป็นทองปลอมราคาเพียงไม่กี่สิบบาทเท่านั้น

 

กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานราชการที่เสียหาย จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น และพบข้อพิรุธในหลายเรื่อง เช่น ราคาครุภัณฑ์ แพงกว่าราคาท้องตลาดหลายเท่าตัว ไม่ตรงตามสเปค ที่กำหนดไว้ในรายละเอียดข้อกำหนดสำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ทั้งด้านคุณภาพและจำนวน ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งรีบใช้งบประมาณ

 

ที่สำคัญเกิดพิรุธที่ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และผู้ได้รับการประมูล เนื่องจากเอกสารประกวดราคาสูญหาย โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน

 

 

เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงศึกษาธิการ ตรวจสอบพยานหลักฐานจนได้ข้อมูลสำคัญหลายประการ จึงส่งหลักฐานดังกล่าวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะผลการสอบสวนสรุปตรงกันว่า การจัดซื้อครุภัณฑ์ของอาชีวะไม่โปรงใส มีอดีตข้าราชการระดับสูงของ สอศ. 2 รายคือ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการ สอศ.ในขณะนั้น และนายภูมิพิชญ์ วโรดมรุจิรานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สอศ. เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 

ชี้มีความผิดทั้งอาญา-วินัยร้ายแรง

 

ความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว ถือเป็น “ความผิดวินัยร้ายแรง” และ “ความผิดทางอาญา” เนื่องจากทำให้ระบบราชการเกิดความเสียหาย ซึ่งในส่วนของคดีอาญานั้น เมื่อดีเอสไอมีมติชี้มูลความผิด จึงส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อเดือนตุลาคม 2555 โดย ป.ป.ช.ได้ตั้ง นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบคดี ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ เรื่องยังคาอยู่ในขั้นตอนของกฎหมาย และไม่มีใครรู้ว่า ป.ป.ช.จะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะชี้มูลคดีนี้

 

ขณะที่การสอบสวนวินัยร้ายแรงอดีตข้าราชการระดับสูง ซึ่งดูเหมือนจะใช้เวลาพิจารณาเร็วกว่าคดีอาญา ก็ยังเดินหน้าต่อไป โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงน.ส.ศศิธารา และนายภูมิพิชญ์ ขึ้น พร้อมใช้บริการมือเคร่งครัดระเบียบและกฎหมายอย่าง นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนฯ

 อย่างไรก็ตาม การสอบสวนข้างต้นไม่ได้รวดเร็วเหมือนที่หลายฝ่ายคาดคิด เพราะเนื่องจากเป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจ ทางคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ จึงต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ เพราะต้องยึดแนวปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด

 

 

 

เริ่มต้นฟ้องจากเช็คใบเดียว

 

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าว TCIJ รายงานว่า เนื่องจากการทุจริตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีถึง 200 สัญญา (ใช้วิธีประมูลเป็นชุด ๆ จนครบ) และการจะรอ ป.ป.ช.ชี้มูล ก็อาจต้องใช้เวลานาน ฉะนั้นหากจะเอาผิดทางวินัยร้ายแรง จำเป็นต้องยึดเฉพาะเช็คใบแรกที่มีมูลค่า 122 ล้านบาท (เช็คใบแรกประมูล 8 สัญญา) เท่านั้น แต่ทั้งนี้หากเช็คใบแรกมีการชี้ขาดคดีไปทางใดทางหนึ่งแล้ว ก็จะสามารถสาวไปถึงเช็คใบสุดท้ายได้

 

อย่างไรก็ดี หากที่สุดแล้วหาก ดีเอสไอ และ ป.ป.ช.ไม่สามารถเอาผิดผู้ถูกกล่าวหาได้ ทั้งๆ ที่เรื่องมีมูลความผิดจริง กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานราชการที่เสียหาย จะต้องดำเนินการฟ้องคดีอาญาเอง เพราะถือเป็นความเสียหายที่เกิดกับกระทรวง ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะลงนามในคำสั่งฟ้องร้องคดีอาญา หรือมอบให้อัยการสูงสุดดำเนินการเป็นโจทย์ฟ้องแทน ซึ่งกล่าวได้ว่าขั้นตอนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ส่วนราชการจะดำเนินการกัน

 

เปิดรายชื่อวิทยาลัยที่รับครุภัณฑ์

 

สำหรับข้อมูลรายชื่อวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ได้รับจัดสรรครุภัณฑ์ในส่วนเช็คใบแรก วงเงิน 122 ล้านบาท ครอบคลุม 8 สัญญา ที่มีการฟ้องร้องกันนั้น ประกอบด้วย

 

1.จัดซื้อกับบริษัท อินเตอร์โฟนิค (ประเทศไทย) จำกัด ในรายการชุดคอมพิวเตอร์สำหรับงานเขียนแบบพร้อมอุปกรณ์ มีวิทยาลัยเทคนิคลำพูน, วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคพะเยา, และวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ได้วิทยาลัยละ 1 ชุด ๆ ละ 2,364,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 11,820,000 บาท

 

2.จัดซื้อกับบริษัท มีเทค อินทรูเม้นท์ จำกัด ในรายการชุดฝึกปฏิบัติการแผ่นวงจรแม่พิมพ์ มีวิทยาลัยเทคนิคลำพูน, วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้วิทยาลัยละ 1 ชุด ชุดละ 2,938,800 บาท รวมทั้งสิ้น 3 ชุด เป็นเงิน 8,816,400 บาท และรายการชุดห้องปฏิบัติการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีวิทยาลัยเทคนิคลำพูน, วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 1,208,500 บาท รวมทั้งสิ้น 3 ชุด เป็นเงิน 6,042,500 บาท

 

 

3.จัดซื้อกับบริษัท เอส.อี.เอ.เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในรายการชุดครุภัณฑ์ปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม มีวิทยาลัยเทคนิคแพร่, วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร, วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ, วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี, วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 3,937,500 บาท รวมทั้งสิ้น 8 ชุด เป็นเงิน 31,500,000 บาท

 

4.จัดซื้อกับบริษัท แพนไดเด็กติก จำกัด ในรายการชุดครุภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ยางและโพลิเมอร์ แบ่งเป็นแอมมิเตอร์ มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 5,400 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 27,000 บาท, เครื่องจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 9,400 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 47,000 บาท เครื่องกวนสารระลายระบบแม่เหล็กและระบบให้ความร้อนในตัว มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 78,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 390,000 บาท

 

5.จัดซื้อกับบริษัท เอส.อี.เอ.เอ็นจีเนียริ่ง จำกัด ในรายการครุภัณฑ์กลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยางและโพลิเมอร์ ในชุดหม้อนึ่งไอน้ำสำหรับห้องปฏิบัติการ มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุด ๆ ละ 890,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 4,450,000 บาท

 

6.จัดซื้อกับบริษัท บลูพอยด์ จำกัด ในรายการครุภัณฑ์กลุ่มยาง ผลิตภัณฑ์ยางและโพลิเมอร์ แบ่งเป็นตู้ดูดควันและไอสารพิษ มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 396,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 1,980,000 บาท เครื่องกวนของเหลว มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 48,600 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 243,000 บาท และเตาเผาอุณหภูมิสูง มีวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ, วิทยาลัยเทคนิคตรัง, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี, วิทยาลัยเทคนิคระยอง และวิทยาลัยเทคนิคจะนะ จ.สงขลา ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 688,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 3,440,000 บาท

 

7.จัดซื้อกับบริษัท อินเตอร์โฟนิค (ประเทศไทย) จำกัด ในรายการชุดคอมพิวเตอร์สำหรับงานเขียนแบบเฟอร์นิเจอร์ มีวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร, วิทยาลัยเทคนิคลำพูน, วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคพะเยา และวิทยาลัยเทคนิคหนองคาย ได้วิทยาลัยละ 1 ชุดๆ ละ 2,232,000 บาท รวมทั้งสิ้น 5 ชุด เป็นเงิน 11,155,000 บาท

 

และ 8.จัดซื้อกับบริษัท เมฆา อินดัสเทรียล จำกัด ในรายการชุดห้องปฏิบัติการทดลองเครื่องกลไฟฟ้า มีวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ได้ 1 ชุด เป็นเงิน 3,109,500 บาท

 

 

 

อุปกรณ์ไม่มีคุณภาพ-ไม่ตรงสเปค

 

หากยังมองไม่เห็นภาพว่าขบวนการนี้ทุจริตอย่างไร และทุจริตอะไรบ้าง ศูนย์ข่าว TCIJ ขอหยิบยก 2 กรณีตัวอย่าง ให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนี้

 

1.กรณีจัดซื้อไม่ตรงความต้องการ อาทิ จัดซื้อกับบริษัท โรลลิ่ง คอนเซปต์ อินโนเวชั่น จำกัด ในรายการครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการควบคุมกระบวนการอุตสาหกรรม ได้แก่ ห้องปฏิบัติการชุดควบคุมบำบัดน้ำเสีย ชุดบำบัดน้ำเสีย และชุดสาธิตเตาเผาขยะ ให้วิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี วงเงิน 29,800,000 บาท

 

แต่ครุภัณฑ์ราคาร่วม 30 ล้านบาทนี้ กลับถูกย้ายไปซ่อนไว้หลังอาคารแห่งหนึ่งในวิทยาลัย และไม่เคยถูกนำมาใช้แม้แต่ครั้งเดียว เพราะผู้บริหารวิทยาลัยชี้แจงว่า พื้นที่วิทยาลัยไม่มีน้ำเสียและการสาธิตเตาเผาขยะ จึงมีคำถามตามมาว่า “แล้วซื้อมาทำไม”

 

ขณะเดียวกันเมื่อลงลึกถึงชุดอุปกรณ์แล้ว ยิ่งเกิดคำถามต่อว่า ใช้งานจริงได้หรือไม่ คำตอบของผู้บริหารคือ ไม่มีใครรู้ เพราะเมื่อครั้งมาติดตั้งทางบริษัทคู่สัญญาก็ไม่เคยทดสอบระบบแต่อย่างใด ครั้นจะให้อาจารย์วิทยาลัยไปเปิดระบบเองก็กลัวไฟจะช็อต ไม่มั่นใจว่าระบบการทำงานของเครื่องมีมาตรฐานอะไร ใช้งานได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยทั้งหลายทำให้ชุดครุภัณฑ์ดังกล่าวถูกตั้งวางไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนฝุ่นเกาะ ไม่มีใครกล้าแตะต้อง ไม่กล้าเคลื่อนย้ายไปไหน เพราะเป็นครุภัณฑ์ที่ไม่ได้ต้องการใช้ และเป็นของกลางของการสอบสวน

 

2.กรณีจัดซื้อไม่ตรงตามสเปคที่กำหนดแต่แรก อาทิ จัดซื้อกับ บริษัท ช้างแก่น คิวลิเนรี่กัด ในรายการครุภัณฑ์อาหาร บริการอาหาร Food Safety และชุดปฏิบัติการครัวร้อน ให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง วิทยาลัยอาชีวศึกษาสระบุรี และวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี แห่งละ 1 ชุดๆ ละ 10,261,582 บาท รวมทั้งสิ้น 8 ชุด เป็นเงิน 82,092,656 บาท

 

ซึ่งครุภัณฑ์นี้ถึงจะจัดซื้อตรงความต้องการ เพราะเป็นกลุ่มวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ แต่ปัญหาคือ ครุภัณฑ์ที่ได้ไม่ตรงตามสเปค รวมถึงการติดตั้งครุภัณฑ์เป็นแบบสุกเอาเผากิน ไม่สมกับเป็นครุภัณฑ์ราคา 10 ล้านบาท

 

ยกตัวอย่างผู้บริหารวิทยาลัยได้สะท้อนปัญหาให้ฟังว่า ห้องปฏิบัติการดังกล่าวติดตั้งระบบไฟฟ้าโดยไม่มีแผนภูมิ เช่นเดียวกับระบบแก๊สก็ไม่มีแผนภูมิ ผังการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ อาจไม่เหมาะสมกับการเป็นห้องครัว รวมถึงติดตั้งเสร็จแล้วไม่มีการทดลองระบบต่าง ๆ ว่าใช้งานได้จริงหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ไม่มีใครกล้าใช้ และเคลื่อนย้ายห้องปฏิบัติการและชุดอุปกรณ์ครัวร้อนนี้ เพราะกลัวในเรื่องความปลอดภัย และเป็นของกลางการสอบสวนเช่นกัน

 

 

 

ผู้รับผิดชอบทำสเปคหาย-ต้องใช้สเปคผี

 

แหล่งข่าวในกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยว่า ปัญหาการจัดซื้อไม่ตรงตามสเปคนั้น สาเหตุที่แท้จริงคือ สเปคจริงไม่มี เนื่องจากส่วนราชการที่รับผิดชอบ ทำเอกสารรายละเอียด TOR สูญหาย จึงเกิดสเปคผีขึ้น มิหน่ำซ้ำยังมีของย้อมแมวหลอกขายอีก ที่สำคัญเมื่อเรื่องแดงขึ้นมาจนนายศักดา คงเพชร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งทีมงานขึ้นมาสุ่มตรวจสอบครุภัณฑ์ โดยแยกชิ้นส่วนของครุภัณฑ์ออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำไปเทียบกับราคาท้องตลาด ก็ถึงกับตะลึงเมื่อพบว่าราคาแพงเกินจริง แถมชิ้นส่วนต่างๆ ยังมีอักษร Made in Thailand โชว์หราอยู่ ทั้ง ๆ ที่รายละเอียด TOR กำหนดสเปคให้เป็นวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น

 

ดังนั้นหากดูตามหลักฐานเชิงประจักษ์ข้างต้น หลายคนจะเกิดคำถามว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และการจัดซื้อตามระบบราชการหละหลวม ทำให้เกิดช่องทุจริตได้ง่ายดายขนาดนี้เลยหรือ คำตอบคือเรื่องอย่างนี้ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นขบวนการ ไล่เรียงตั้งแต่ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ข้าราชการ และภาคเอกชนผู้ได้รับประมูล สุ่มหัวกันเสกให้เอกสาร TOR ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวะตรงตามสเปคอันตธานหายไป ก่อนลักไก่ดำเนินการตามที่ได้เรียบเรียงมาในข้างต้น

 

เพราะดูมุมไหน หากการจัดซื้อนี้เกิดขึ้นด้วยความโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจ ประเด็นเอกสารทางราชการที่สูญหายนั้น ในทางเทคนิคแล้วแก้ไขได้ไม่ยาก แค่ส่วนราชการทำเรื่องขอสำเนาเอกสาร TOR จากบริษัทคู่สัญญาที่ทำไว้ร่วมกัน ก็สามารถจัดซื้อครุภัณฑ์ได้ตรงตามสเปคแล้ว ฉะนั้นประเด็นเรื่องภาคเอกชนเข้ามามีส่วนทุจริตด้วยจึงมีน้ำหนัก

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการ ‘รู้กัน’ ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าเอกสาร TOR ฉบับจริงของฟากเอกชน อาจถูกปรับแก้รายละเอียดภายหลัง ซึ่งพฤติกรรมนี้ เป็นแนวทางที่บริษัทคู่สัญญาส่วนใหญ่นิยมทำกัน ฉะนั้นเมื่อทุกอย่างลงล็อคอย่างตั้งใจ จึงเริ่มจากครุภัณฑ์ถูกส่งมาตรวจรับที่สอศ. ก่อนกระจายส่งไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาต่าง ๆ ซึ่งมีภารกิจเพียงหาสถานที่วางครุภัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจรับแต่อย่างใด

 

 

ที่สำคัญคือ กรมบัญชีกลาง ก็คุมรายจ่ายอะไรไม่ได้ เมื่อพบรายชื่อครุภัณฑ์ที่ไม่เคยมีอยู่ในสารบบบัญชี ประกอบกับราคาครุภัณฑ์ที่ไม่สามารถตรวจสอบราคาที่แท้จริงได้ ทุกอย่างจึงผ่านไปได้อย่างง่ายดาย

 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สังคมอยากรู้เกี่ยวกับกรณีการทุจริตครุภัณฑ์อาชีวศึกษา งบประมาณ SP2 ของ สอศ.กว่า 200 สัญญา มูลค่าสูงถึง 5.3 พันล้านบาท คงไม่ใช่แค่บทสรุปที่ว่า ใครคือคนผิด หลักฐานสำนวนที่มีอยู่จะสาวไปถึงภาคเอกชน หรือฟากการเมืองที่หลายคนคลางแคลงใจว่าเป็นผู้ชักใยเบื้องหลังได้หรือไม่

 

คนผิดจะถูกพิพากษาทาง “อาญา” หรือ “วินัยร้ายแรง” อย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง หลักฐานชิ้นสำคัญอย่างเช็คมูลค่า 122 ล้านบาท จะเป็นหมัน หรือเป็นหมัดเด็ดเชื่อมโยงไปถึงเช็คใบสุดท้ายมูลค่า 5,300 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้คงอยู่ที่หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ในด้านการพิจารณาตรวจสอบการทุจริตอนาคตของชาติ ว่าจะคงศักดิ์ศรีและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องได้หรือไม่ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: