'ดีเอสไอ'ลุยช่วยเหยื่อหนี้ ตั้งศูนย์ฯช่วย-รับร้องเรียน

16 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2379 ครั้ง

 

การผลักดันให้เกิดกระบวนการยุติธรรมขึ้นในสังคมอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กรของภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันความเดือดร้อนของประชาชนจะเพิ่มขึ้นหากคนผิดยังลอยนวล โดยเฉพาะในคดีที่มีความซับซ้อนพิสูจน์ได้ยาก ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) จึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นตาข่ายความยุติธรรมอีกชั้นหนึ่งที่จะทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่แค่คำพูดนามธรรมที่ฟังดูดี

 

สำหรับชุดปฏิบัติการขับเคลื่อนภารกิจหลัก 3 ด้านของศูนย์ฯ ล้วนมีหัวขบวนมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ  ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ประกอบด้วยความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาความไม่เป็นธรรมในด้านอื่น ๆ ที่ร้องมายังศูนย์ช่วยเหลือประชาชนฯ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ผู้บริหารกระทรวงแต่ละระดับชั้นเห็นชอบ และมอบหมายให้ดำเนินการ

 

พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เชี่ยวชาญด้านปัญหาหนี้สินภาคประชาชนโดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ในฐานะเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ กล่าวถึงภารกิจจัดการปัญหาหนี้นอกระบบว่า หนี้นอกระบบเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสินภาคประชาชน และหนี้นอกระบบก็ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ภารกิจของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จึงเริ่มต้นขึ้นจากการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องหนี้นอกระบบ กลโกงของเจ้าหนี้ การยึดที่ดินทำกิน ด้วยการหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อมูลของลูกหนี้ ในการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม คือเข้าไปสืบสวนค้นหาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อคลี่คลายคดีตามขั้นตอนและรวดเร็ว เชื่อว่าภารกิจของศูนย์ฯเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น

 

พ.ต.ท.วิชัยกล่าวต่อว่า บทบาทของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ พบว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินนอกระบบ ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าและเสี่ยงต่อกลโกง รวมถึงการถูกทวงหนี้จากเจ้าหนี้ด้วยวิธีที่รุนแรง ด้วยการสนับสนุนสืบหาข้อเท็จจริงของฝ่ายลูกหนี้ในการต่อสู้คดี ประสานกองทุนยุติธรรมจัดหาปรึกษากฎหมาย และการให้ความรู้ทางกฎหมาย เพื่อให้รู้เท่าทันและเกิดความยุติธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ด้านปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการตรวจสอบการบุกรุกที่ดิน และพื้นที่ป่าของรัฐ จากนายทุนหรือผู้มีอิทธิพล จำเป็นต้องมีหลักฐานข้อมูลที่รัดกุม และมีความแม่นยำในข้อกฎหมายในแต่ละฉบับของเจ้าหน้าที่ด้วย ทำให้การทำงานของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือในส่วนของกระบวนการ ในการใช้วิธีการเจรจาและทำความเข้าใจกับประชาชนในการพิสูจน์หลักฐานการครอบครองที่ดิน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีอย่าง DSI MAP ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการตรวจสอบขอบเขตการครอบครองพื้นที่ในประเทศไทย ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลในการตรวจสอบกรณีการบุกรุกพื้นที่ป่า ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น DSI MAP ช่วยในการทำงานส่งผลให้เกิดความแม่นยำทางข้อมูลมากยิ่งขึ้น

 

นายนิธิต ภูริคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ด้านปัญหาความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ กล่าวว่า การแก้ปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมในด้านอื่น ๆ จะเน้นให้การช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในปัญหาที่นอกเหนือจากหนี้นอกระบบและที่ดิน ซึ่งในคดีความต่าง ๆ พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเรื่องอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีแพะ ที่ผู้เสียหายเป็นเหยื่อถูกจับคุมขังในคดีอาญาโดยไม่ได้กระทำผิด ปัญหาทุจริตฉ้อโกง ถูกยึดทรัพย์ ยึดที่ทำกิน ปัญหาหนี้สินชาวนา ฯลฯ  นอกจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทางศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมที่ถูกต้อง

 

พ.ต.ท.วิชัยกล่าวด้วยว่า จากข้อมูลการร้องเรียนของประชาชนพบว่า ส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องการเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุด โดยเฉพาะถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าหนี้เงินกู้ที่เรียกดอกเบี้ย เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด บางรายอาจถูกประทุษร้าย ซึ่งปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมาย และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นในบางครั้งนอกจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของคดีแล้ว ยังจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้กฎหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เสียหาย กลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไปได้เข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะข้อกฎหมายในการต่อสู้คดีเมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี พร้อมทั้งรับฟังปัญหาจากภาคประชาชน เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยบูรณาการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมทนายความ และองค์กรในแต่ละจังหวัดที่จะให้ความช่วยเหลือในกรณีต่าง ๆ หากประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

ขณะที่ นางอุมาพร แพรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ลำพังการช่วยเหลือในด้านติดตามจับกุมดำเนินคดี อาจช่วยได้ไม่มากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีจำนวนจำกัดและการพิสูจน์ความผิดในการยุติคดีต้องใช้เวลา กิจกรรมให้ความรู้จึงเป็นการตัดตอนปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นและยั่งยืนกว่า ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯจึงมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านกฎหมายโดยเน้นการกู้ยืมเงิน รวมถึงการออกไปแนะนำการใช้ DSI MAP ลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือนเคลื่อนที่ไปในจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ และเป็นจุด One Stop Service ติดตามคดีและรับเรื่องร้องทุกข์ ให้คำแนะนำช่วยเหลือแก่ประชาชนเบื้องต้น

 

อย่างไรก็ตาม ศนธ.ยธ.เชื่อว่าการที่ประชาชนรู้เท่าทันกลโกง และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายเบื้องต้น จะส่งผลให้ประชาชนรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ สำหรับประชาชนที่เดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ได้ที่โทรศัพท์  02-141-5440 หรืออีเมล์ ladvi@moj.go.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: