แฟนโปรเจกต์: การสื่อสารของแฟนคลับ รักแค่ไหน? รักอย่างไร? จึงเหมาะสม

กองบรรณาธิการ TCIJ 30 ก.ย. 2567 | อ่านแล้ว 1552 ครั้ง

รายงานพิเศษจาก "Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์" ว่าด้วย "แฟนโปรเจกต์" กิจกรรมที่แฟนคลับจัดทำเพื่อสร้างความประทับใจแก่ศิลปิน โดยแฟนด้อมและบ้านเบสมีบทบาทสำคัญในการระดมทุนและดำเนินการ แม้มีเจตนาดี แต่อาจสร้างภาระและความกดดันแก่ผู้ชมบางส่วน จึงควรคำนึงถึงความสมัครใจ ความโปร่งใส และไม่สร้างแรงกดดันมากเกินไปแก่ผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ต

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินจากทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศิลปิน K-pop ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่แฟนเพลงชาวไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับฉายาจากกลุ่มแฟนคลับด้วยกันเอง ว่าเป็น “ไทยแลนด์แดนคอนเสิร์ต” โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินต่างประเทศในประเทศไทยมากถึง 200 คอนเสิร์ต โดยมีศิลปินเอเชียประกอบด้วย เกาหลี ญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 46% เติบโตถึง 160%[1] ทำให้ในแต่ละเดือนเราจะพบกับศิลปิน มาจัดคอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติ้ง ในบ้านเราอย่างไม่ขาดสาย

นอกจากจะมีคอนเสิร์ตบ่อยครั้งแล้ว ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีฐานแฟนคลับ K-pop ที่แข็งแกร่งเป็นอย่างมาก จึงทำให้เกิดการรวมตัวของแฟนคลับ หรือที่เรียกกันว่า “แฟนด้อม”  ในประเทศไทยที่ทุ่มเทสนับสนุนศิลปินโปรดในแต่ละคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง หรือกิจกรรมต่าง ๆ ของศิลปินผ่าน “แฟนโปรเจกต์” (Fan Project) เพื่อสร้างความประทับใจและความยิ่งใหญ่ ทั้งในมุมมองของศิลปินและคนดู

[1] คอนเสิร์ตระเบิดความมัน! ไทยจัด 900 งานในปีเดียว สร้างเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท https://thestandard.co/thailand-900-concerts-in-one-year/

แฟนโปรเจกต์ (Fan Project) คืออะไร ทำไมทุกคอนเสิร์ตศิลปินเอเชียถึงมี ?

แฟนโปรเจกต์ (Fan Project) คือ กิจกรรมการสื่อสารของแฟนคลับที่จัดทำขึ้นให้แก่ศิลปินเพื่อสร้างความประทับใจและความทรงจำที่ดี เป็นประสบการณ์พิเศษระหว่างแฟนคลับกับศิลปินในโอกาศพิเศษต่าง ๆ อาทิ วันเกิดของศิลปิน คอนเสิร์ต หรือแฟนมีตติ้ง เป็นต้น[1] การทำโปรเจกต์ในช่วงแรกส่วนใหญ่ถูกยึดโยงเข้ากับการเรียกร้องสิทธิบางประการให้แก่ศิลปิน ผลงาน หรือสิ่งที่แฟนคลับสนับสนุนเห็นชอบ โดยโปรเจกต์ของแฟนคลับจะผ่านการรวมกันภายในกลุ่มแฟนคลับเพื่อทำบางสิ่งที่แสดงถึงอัตลักษณ์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแสดงออกถึงจุดยืนของกลุ่มแฟนคลับ[2] ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มแฟนคลับศิลปิน K-pop

ถึงแม้จะไม่มีกฎตายตัวหรือข้อบังคับในการจัดทำแฟนโปรเจกต์ในกิจกรรมของศิลปิน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อมีการประกาศกิจกรรมต่าง ๆ ของศิลปิน ที่มาเยือนในประเทศไทย เราจะเห็นเหล่าแฟนด้อม[3] (มีที่มาจากการรวมคำระหว่าง Fanclub และ Kingdom หมายถึง อาณาจักรของแฟนคลับ หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย คือ ชุมชนหรือที่รวมตัวของแฟนคลับ) ที่รวมตัวกันคิดทำแฟนโปรเจกต์ ที่จะทำร่วมกันในกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านบ้านเบส (บ้านเบสคือ แฟนคลับผู้ที่เป็นศูนย์กลาง หรือแฟนคลับที่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่คอยติดตามและเป็นผู้คอยอัพเดตผลงานที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ) ของศิลปินนั้น ๆ และประกาศแจ้งให้แฟนด้อมที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทราบผ่านช่องทางโซเซียลมีเดีย ตัวอย่างที่ชาวไทยน่าจะคุ้นชินในการทำแฟนโปรเจกต์มากที่สุด เช่น การทำไฟป้ายขนาดใหญ่ การแปรอักษรกล่องไฟในคอนเสิร์ตโดยเลือกคำที่มีความหมายพิเศษให้แก่ศิลปิน หรือระยะหลังเราจะเห็น บ้านเบสต่าง ๆ มีการแจกสโลแกนกระดาษ (สโลแกนกระดาษ คือ ป้ายกระดาษที่ระบุข้อความพิเศษต่าง ๆ ที่จะสื่อสารให้กับศิลปิน เช่น ข้อความให้กำลังใจ ข้อความแสดงความยินดี) ให้แก่แฟนคลับก่อนเข้าคอนเสิร์ตให้กับแฟนคลับ เพื่อชูสโลแกนกระดาษในช่วงเพลงต่าง ๆ ที่มีความหมายพิเศษตรงกับคำสโลแกนที่เตรียมไว้ ซึ่งเราจะเห็นสโลแกนเหล่านี้ในช่วงที่ศิลปินถ่ายรูปกับแฟนคลับในคอนเสิร์ตเกือบทุกครั้ง

ฉะนั้นการทำแฟนโปรเจกต์ในทุกคอนเสิร์ตของศิลปินเอเชีย โดยเฉพาะศิลปิน K-pop จึงเป็นที่นิยมในการจัดทำในคอนเสิร์ต หรือแฟนมิตติ้ง เนื่องจากถือเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงการสนับสนุนและความรักที่แฟนคลับมีต่อศิลปิน โดยการทำแฟนโปรเจกต์นั้นมีการทำสืบทอดกันมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของแฟนคลับ ทำให้วัฒนธรรมการสื่อสารในแฟนด้อมมีความซับซ้อนและหลากหลาย การจัดแฟนโปรเจกต์ กลายเป็นเรื่องที่คาดหวังหรือเป็นเรื่องปกติในสังคมแฟนด้อม ทำให้การมีส่วนร่วมในโปรเจกต์ต่าง ๆ กลายเป็นการสื่อสารถึงความจงรักภักดี (Loyalty) และความเป็นหนึ่งเดียวกับแฟนด้อม การสื่อสารความภักดีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การทำโปรเจกต์ในงานคอนเสิร์ต แต่ยังรวมถึงการติดตามผลงาน การสนับสนุนสินค้าของศิลปิน การร่วมกิจกรรมออนไลน์ และการปกป้องศิลปินจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำให้แฟนคลับรู้สึกว่าพวกเขามีบทบาทในการสนับสนุนและปกป้องศิลปินของตน

และการทำแฟนโปรเจกต์นั้นยังเป็นการสื่อสารทางวัฒนธรรมผ่านการแสดงอัตลักษณ์เพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางสังคม เพราะแฟนคลับชาวไทยมักรู้สึกว่าตนเองโดนเอาเปรียบ ละเลย หรือไม่ได้รับความใส่ใจจากบริษัทต้นสังกัด หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานอยู่เสมอ จนมีการเปรียบเปรยจากแฟนคลับชาวไทยกันเองว่าเป็นเหมือน “เมียน้อย” เมื่อเปรียบเทียบกับแฟนคลับชาติอื่นๆ โดยเฉพาะในเกาหลี และญี่ปุ่น ที่มักถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “เมียหลวง” การทำแฟนโปรเจคของแฟนคลับชาวไทยจึงยิ่งเป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งความสนใจ หรือพื้นที่ทางสังคมบนสื่อออนไลน์  จึงทำให้ในบางครั้งที่มีการนำเสนอเชิงสติถิเกี่ยวกับการสนับสนุนศิลปินของแต่ละประเทศ ประเทศไทยมักจะเป็นประเทศที่อยู่อันดับ 1 หรืออันดับสูงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้แฟนคลับชาวไทยมองว่าตนเองก็ให้การสนับสนุนศิลปินได้ไม่ต่างจากแฟนคลับประเทศอื่น ๆ นำไปสู่การแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องความเท่าเทียมในการให้ความสำคัญแก่ตนเองต่อบริษัทต้นสังกัดของศิลปินอยู่เสมอ[4]   แม้ว่าการสื่อสารดังกล่าวอาจมิได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับระดับชั้นของแฟนคลับชาวไทยเมื่อเปรียบเทียบกับแฟนคลับชาติอื่น ๆ

[1] บุณยนุช นาคะ (2560) แฟนคลับเกาหลี อัตลักษณ์เชิงวัตถุและชุมชนแฟนคลับ
[2] ปภาดา ราญรอน (2562) แฟนคลับศิลปินเกาหลีกับการทำแฟนโปรเจกต์ : การเป็นเจ้าแม่แฟนโปรเจคของแฟนคลับชาวไทย
[3] ชวนรู้จัก “แฟนด้อม” คืออะไร? https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/968947
[4] บุณยนุช นาคะ (2560) แฟนคลับเกาหลี อัตลักษณ์เชิงวัตถุและชุมชนแฟนคลับ

ขั้นตอนไปสู่ความสำเร็จในการรวมพลังทำแฟนโปรเจกต์ของแฟนด้อม

ก่อนจะเป็นหนึ่งแฟนโปรเจกต์ ของแต่ละคอนเสิร์ตนั้น มีหลายขั้นตอนที่เหล่าแฟนด้อมและบ้านเบสต้องทำ เรียกได้ว่าศิลปินหนึ่งวงหากมีการเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศไทยหลายวัน จะมีแฟนโปรเจกต์ ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันเลยทีเดียว โดยขั้นตอนการที่จะทำให้โปรเจกต์ ประสบความสำเร็จได้ ผู้เขียนขอแบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้  

1.บ้านเบสเป็นหัวเรือใหญ่ในการทำแฟนโปรเจกต์  บ้านเบสของศิลปินที่ปัจจุบันเป็นศูนย์รวมข่าวสารต่าง ๆ ของศิลปิน ผ่านทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น Facebook และ X โดยหน้าที่หลัก ๆ ของบ้านเบสคือการแปลข่าวสารให้เหล่าแฟนด้อม อัพเดทกิจกรรมต่าง ๆ และรวมไปถึงการโปรโมตศิลปินหลาย ๆ ด้อมจึงใช้บ้านเบสในการรวมตัวของแฟนคลับในการช่วยกันคิดแฟนโปรเจกต์ ให้กับคอนเสิร์ตต่าง ๆ โดยการทำแฟนโปรเจกต์ หนึ่งงานจะประกอบด้วย 1) การคิดโปรเจกต์ 2) การโหวตโปรเจกต์จากเหล่าแฟนด้อมว่าจะทำอะไรบ้าง เช่น Food Support (การสนับสนุนศิลปินด้วยอาหารในโอกาสต่าง ๆ)  การแปรอักษร การชูสโลแกนกระดาษ หรือการแต่งตัวของผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตตามเดรสโค้ด (dress code) ที่กำหนด 3) นำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ ให้กับค่ายต้นสังกัดของศิลปิน หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานคอนเสิร์ตในประเทศไทย 4) รอการอนุมัติว่าโปรเจกต์ใดสามารถดำเนินการในคอนเสิร์ตได้บ้าง 5) เมื่อโปรเจกต์ผ่านการอนุมัติแล้วหน้าที่ที่สำคัญของบ้านเบสอีกอย่างคือ การร่วมระดมทุนเหล่าแฟนด้อมเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโปรเจกต์ และผลิตออกมาเพื่อใช้ในงานคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมต่าง ๆ

2.พลังเล็ก ๆ ของแฟนด้อมที่เข้าร่วมคอนเสิร์ต เมื่อโปรเจกต์ผ่านการอนุมัติแล้ว จะต่อด้วยการเตรียมพร้อมในคอนเสิร์ต สิ่งที่แฟนคลับให้ความสนใจ คือ การสร้างโปรเจกต์ให้ประสบความสำเร็จ เช่น แฟนคลับบางคนจะมีส่วนร่วมตั้งแต่การระดมทุนให้กับโปรเจกต์นั้น ๆ การเป็นอาสาสมัครในการช่วยจัดทำอุปกรณ์ การกระจายข่าวสาร การช่วยกันติดแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียล เพื่อให้ชื่อคอนเสิร์ตอยู่ในเทรนด์โซเซียลมีเดีย รวมถึงในวันสำคัญที่มีการแสดงคอนเสิร์ต แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตจะเป็นกำลังหลักให้โปรเจกต์ที่เตรียมไว้สำเร็จลุล่วง โดยให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามข้อกำหนดของบ้านเบสหรือต้นสังกัดของศิลปิน

  

เงิน-ความโปร่งใส-ความเชื่อใจ เรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบแฟนโปรเจกต์

ทุก ๆ กิจกรรมที่ได้รับการอนุมัติจากต้นสังกัดให้สามารถทำโปรเจกต์ในคอนเสิร์ตได้ ล้วนสำเร็จได้จากการระดมทุน (Donate) ของเหล่าแฟนคลับ ที่มีการตั้งเป้าหมายของยอดเงินในการระดมทุนไว้ เพื่อที่จะให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จะทำ ยิ่งด้อมใหญ่ยิ่งใช้เงินเยอะ ตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ตของวง TREASURE ศิลปิน   K-POP ที่ได้จัดคอนเสิร์ตชื่อ 2024 TREASURE RELAY TOUR [ REBOOT ] IN BANGKOK ในประเทศไทย เป็นเวลา 4 วัน ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม–26 พฤษภาคม 2567 ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ที่มีหนึ่งในแอดมินของบ้านเบสนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในการทำแฟนโปรเจกต์ ไปใช้โดยพลการเป็นการส่วนตัวและผิดวัตถุประสงค์ จึงทำให้เหล่าแฟนคลับหลายคนเกิดความไม่พอใจและนำไปสู่การนำเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ถึงแม้นี่จะไม่ใช่กรณีแรกที่บ้านเบสมีการฉ้อโกง แต่ทำให้เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของการบริหารจัดการของบ้านเบสที่รับหน้าที่ในการเป็นตัวกลางการประสานทั้งแฟนคลับและต้นสังกัด

เหตุการณ์ฉ้อโกงที่เกิดขึ้น ทำให้เหล่าแฟนคลับเริ่มคิดหนักในการระดมทุนแต่ละครั้ง ว่าบ้านเบสที่ระดมทุนไปนั้นนำไปใช้อย่างถูกวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่นอกจากใช้ความเชื่อใจของเหล่าแฟนคลับต่อบ้านเบสแล้ว ประเทศไทยควรมีมาตรการที่มีส่วนช่วยให้เกิดไม่มีการฉ้อโกงในการทำแฟนโปรเจกต์ เช่น ต้นสังกัดของศิลปิน หรือเอเจนซี่ผู้จัดงานในประเทศไทยควรมีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนบ้านเบส และประกาศข้อกำหนดที่ชัดเจน ประกอบด้วยขอบเขตแฟนโปรเจกต์ ไม่ให้มีการจัดโปรเจกต์ที่มากเกินไปในกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตของศิลปิน และการกำกับการดูแลเรื่องความโปร่งใส

ภาระคนดู ? สิ่งที่หลายคนรู้สึกแต่พูดได้ไม่เต็มปาก

แม้ว่าแฟนโปรเจกต์จะมีเจตนาดี แต่ก็อาจกลายเป็นภาระสำหรับคนดูบางส่วนที่ไม่ได้มีความสนใจหรือไม่ได้เตรียมตัวเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ บางครั้งแฟนโปรเจกต์ที่ต้องการการเข้าร่วมจากคนดูทุกคน อาจทำให้เกิดความกดดันหรือความไม่สะดวกในกลุ่มคนดูที่ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มใจ นอกจากนี้ การจัดแฟนโปรเจกต์ที่ซับซ้อนหรือมีค่าใช้จ่ายสูง อาจเป็นภาระที่หนักสำหรับแฟนคลับที่มีทรัพยากรจำกัด ความคาดหวังในการสนับสนุนโปรเจกต์อาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกว่าตนเองถูกบังคับให้เข้าร่วม

เช่น คุณบีม แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นเรื่องการมีแฟนโปรเจกต์ว่า “ไม่ได้กดดันในการมีแฟนโปรเจกต์ แต่เราจะไม่รู้จังหวะเค้าที่แบบว่าจะต้องทำอะไร ตอนไหน เราต้องคอยมองรอบข้างว่าตรงนี้ใช่ไหม ตรงนั้นใช่ไหม แบบเก้ ๆ กัง ๆ บ้าง พอเป็นแบบนี้ก็ทำให้การดูคอนเสิร์ตเราเสียอรรถรส เราก็ไม่ได้โฟกัสศิลปินเราเต็มที่ ต้องมากังวล พะวงอีกว่าจะต้องถืออะไรขึ้นตอนไหน” หรือคุณเจมส์ แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า “ที่ไม่เห็นด้วยคือบางทีบางโปรเจกต์มันส่งผลกระทบต่อผู้ชม เช่น บางทีเราตั้งใจไปดูศิลปินโดยตรง บางทีในโมเม้นต์นั้นเราอาจไม่ได้อยากทำโปรเจกต์ขนาดนั้น อาจจะอยากตั้งใจฟัง ตั้งใจดูศิลปินมากกว่า

แล้วแฟนโปรเจกต์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้ ?

เป็นคำถามที่ท้าทายในการทำแฟนโปรเจกต์แต่ละครั้งที่มักมีเสียงแตกออกเป็นสองฝั่งเสมอ ระหว่างการทุ่มสุดตัวให้กับการทำแฟนโปรเจกต์ กับอีกหนึ่งคำถามว่าทำไมเราต้องทำอะไรมากมายกับการมาดูคอนเสิร์ตที่เราจ่ายเงินเพื่ออยากไปฮิลใจไม่ใช่ไปทำอะไรที่ยุ่งยากมากมาย ซึ่งในผู้ชมบางท่านไม่ได้คาดหวังการมีอยู่ของแฟนโปรเจกต์ คุณเจมส์ แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า “ไม่คาดหวังในฐานะที่ไปคอนมาคือจะไปดูศิลปิน ไม่ได้ตั้งใจจะไปทำอะไรให้ศิลปิน เรารู้สึกว่าเราไปเสพโมเม้นต์อะไรแบบนั้น มากกว่าที่ไปนั่งทำอะไรที่งุ้งงิ้งแบบนั้น ทำได้นะแต่โฟกัสที่เราไปคอนเสิร์ตอ่ะ เราอยากไปเจอศิลปิน ไปฟังเพลง ไปเสพบรรยากาศ

แต่ในแฟนคลับบางคนก็คาดหวังและสนับสนุนการมีแฟนโปรเจกต์ด้วย เช่น คุณอ้อม แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า “การมีแฟนโปรเจกต์ในคอนเสิร์ตมันเป็นการที่ให้ศิลปินประทับใจในตัวแฟนคลับที่เราพยายามทำบางสิ่งบางอย่างด้วยความรักให้เขาค่ะ” และ คุณโดนัท แฟนคลับผู้เข้าร่วมคอนเสิร์ตศิลปิน K-pop ให้ความเห็นว่า “การทำแฟนโปรเจกต์เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่ารักดีนะ เพราะว่ามันเป็นความทรงจำของศิลปินด้วย แล้วก็เวลาเราทำศิลปินเขาแฮปปี้ เราก็รู้สึกแบบคอมพลีท

นอกจากจะสร้างความประทับใจให้ศิลปินแล้ว การทำแฟนโปรเจกต์ก็เป็นอีกใบเบิกทางหนึ่ง ที่สื่อให้เห็นว่าฐานแฟนคลับที่แข็งแรงนั้นนำมาด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจ และความนิยมของศิลปินที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ศิลปินที่เราชอบมาทำกิจกรรมในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

แม้จะเป็นความสมัครใจ ไม่มีการบังคับจากต้นสังกัดหรือบ้านเบสโดยตรง แต่การทำแฟนโปรเจกต์ ต้องไม่เป็นการกดดันผู้คนที่มาดูคอนเสิร์ตมากเกินไป โดยทั้งต้นสังกัด ศิลปิน หรือกระทั่งแฟนคลับควรมีส่วนร่วมในการสร้างข้อกำหนดหรือกฎระเบียบในการทำแฟนโปรเจกต์ ให้มีความโปร่งใส ผ่านการบริหารจัดการที่ดี และสามารถตรวจสอบได้ รวมไปถึงการคำนึงถึงความยินยอมในการการทำแฟนโปรเจกต์ของผู้เข้าร่วม เช่น การกรอกแบบฟอร์มความยินยอมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการบังคับในทางอ้อมต่อผู้เข้าร่วม จะทำให้แฟนโปรเจกต์เป็นกิจกรรมการสื่อสารความรัก ที่สร้างความรู้สึกและความทรงจำที่ประทับใจระหว่างศิลปินและแฟนคลับ รวมถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตนั้น ๆ ด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: