นักวิทยาศาสตร์-ยูเอ็น หวั่นภาวะโลกร้อนเกินแก้ จี้ใช้มาตรการเข้มลดความรุนแรง

กองบรรณาธิการ TCIJ 25 ก.ย. 2564 | อ่านแล้ว 1983 ครั้ง

นักวิทยาศาสตร์-ยูเอ็น หวั่นภาวะโลกร้อนเกินแก้ จี้ใช้มาตรการเข้มลดความรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์จากหลายองค์กรที่ทำหน้าที่ติดตามและประเมินสภาพและระบบสภาพภูมิอากาศ ระบุว่าปัจจุบั ประเทศทั่วโลกไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีสที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 | ที่มาภาพประกอบ: NASA Climate Change

VOA รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2021 ว่าในรายงาน United in Science 2021 เตือนว่า ความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศนั้นยังคงเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ ทำให้เป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดภาวะโลกร้อนยิ่งขึ้นในอนาคต รายงานดังกล่าวระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของโลก ตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติในปี ค.ศ. 1850

นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้กล่าวว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกระทำของมนุษย์นั้นทำให้อุณหภูมิในบริเวณขั้วโลกเหนือ ทวีปยุโรปและเอเชียเพิ่มสูงขึ้นกว่าระดับปกติ ซึ่งมีผลทำให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า พายุ และสภาพอากาศรุนแรงอื่น ๆ ทั่วโลก มากขึ้น และถี่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ทาลาส เพทเทอรี่ (Taalas Petteri) เลขาธิการขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก กล่าวว่าเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่ก่อนหน้านี้เคยเกิดขึ้นทุก ๆ 100 ปีนั้น ปัจจุบันได้เกิดขึ้นทุก ๆ 20 ปี เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือ climate change เพทเทอรี่เตือนว่า สภาพอากาศที่รุนแรงเหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้นในอนาคตหากนานาประเทศทั่วโลกไม่ร่วมกันป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2 องศาภายในอีก 30 ปีข้างหน้า

เลขาธิการขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ยังกล่าวว่าขณะนี้ อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก 3 องศาเซลเซียส แทนที่จะเป็น 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียส ตามเป้าที่ตั้งไว้ในข้อตกลงปารีส

รายงาน United in Science 2021 ยังระบุด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การล็อคดาวน์และการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดนั้นได้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากที่หลายเมืองในหลายประเทศกลับมาเปิดอีกครั้ง ปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็กลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง

ทาลาสบอกว่ามาตรการบางอย่างสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ และช่วยลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ แต่ในการจะไปถึงจุดนั้น ทุกคนต้องร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่เช่นนั้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะกลายเป็นปัญหาถาวรยาวนานหลายร้อย หรือหลายพันปี ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์จะยิ่งใหญ่กว่าปัจจุบันหลายเท่า ยิ่งกว่าผลกระทบของโควิด-19

นอกจากนี้ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ นาย อันโตนิโอ กูเทียเรส ยังเตือนว่าเวลาที่จะป้องกันปัญหาโลกร้อนใกล้จะหมดลงแล้ว และทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ก่อนที่จะไม่สามารถแก้ไขได้

นายกูเทียเรสยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ด้วยว่า การประชุมครั้งสำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในปลายปีนี้ ที่ประเทศสก็อตแลนด์ หรือ U.N. COP26 มีความเสี่ยงที่จะคว้าน้ำเหลว เพราะความไม่เชื่อใจกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ตลอดจนการที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไม่ตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากพอ

การประชุม U.N. COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน เพื่อที่จะกดดันให้นานาประเทศลงมือทำตามมาตรการที่ใหญ่ท้าทาย และระดมเงินทุนจากหลายประเทศรอบโลกที่เข้าร่วม หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่าภาวะโลกร้อนกำลังเข้าใกล้ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้

กูเทียเรสและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน จะเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดประชุมผู้นำโลกขนานไปกับการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้เพื่อพยายามหาโอกาสสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และทำความเข้าใจระหว่างแต่ละประเทศ ว่าแต่ละประเทศต้องลงมือทำมากขึ้น เพื่อให้การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์มีโอกาสสำเร็จ

เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจำเป็นต้องทำมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนประเทศที่กำลังพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำมากกว่าเดิม และมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเพื่อลดการปล่อยก๊าสในชั้นบรรยากาศ

ประเทศที่กำลังพัฒนานั้นเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงต้องรับผลกระทบสูงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และขณะเดียวกันก็มีทรัพยากรน้อยที่สุดในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว เป็นเวลาหลายปีแล่้วที่ประเทศเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเตรียมตัวรับมือกับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งประเทศร่ำรวยได้ประกาศเมื่อปี 2009 ว่าจะระดมเงินเข้ากองทุนให้ได้ถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

เงินทุนที่ระดมได้ในช่วงที่ผ่านมา เป็นเงินทุนที่มุ่งไปที่การลดการปล่อยก๊าซในชั้นบรรยากาศ มีเพียง 21% ของเงินทุน 78,900 ล้านดอลลาร์เท่านั้นที่เป็นการช่วยประเทศกำลังพัฒนาปรับตัว

อย่างไรก็ตาม นายกูเทียเรส ไม่ให้น้ำหนักความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ และผลกระทบต่อการให้ความร่วมมือของสองประเทศในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก จีนและสหรัฐฯ เป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยนายกูเทียเรสกล่าวแต่เพียงว่า เขาอยากขอร้องให้สหรัฐฯ และจีน ทำหน้าที่ของตัวเองก็พอ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: